ประวัติ ของ โอซีเยก

สมัยโรมัน

ในบริเวณริมแม่น้ำดราวาอันเป็นที่ตั้งของเมืองโอซีเยกนั้น ปรากฏหลักฐานมีการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์มาช้านานนับตั้งแต่สมัยยุคหินใหม่ ทว่าครั้งแรกที่ได้มีการบันทึกทางประวัติศาสตร์ถึงชุมนุมนั้นได้เกิดขึ้นในสมัยที่โรมันได้แผ่อิทธิพลเข้ามาในแถบที่ราบแพนโนเนียน ชุมชนชาวอิลลีเรียน-เคลต์ซึ่งตั้งอยู่มาก่อนถูกรวมเข้าเป็นส่วนนึงของอาณาจักรโรมันและก่อตั้งเป็นเมืองในชื่อ มูร์ซา (อังกฤษ: Mursa) โดยปัจจุบันนี้ซากสิ่งก่อสร้างโบราณของมูร์ซาอยู่ในเขตดอนยิ กราด (โครเอเชีย: Donji Grad; อังกฤษ: Lower Town)[3][4] ห่างไปจากทเวอร์จา (โครเอเชีย: Tvrđa) หรือหมู่ป้อมปราการเก่าของโอซีเยกทางปลายแม่น้ำดราวาทิศตะวันออก

ด้วยความสำคัญของตำแหน่งที่ตั้งซึ่งเป็นจุดที่ข้ามลำน้ำดราวาได้ง่ายกว่าจุดอื่นๆ ทำให้มูร์ซาพัฒนาเป็นเมืองซึ่งมีความโดดเด่นในฐานะจุดยุทธศาสตร์ทางการทหาร การบริหารปกครองและการค้าขาย ในปี ค.ศ. 133 จักรพรรดิ์ฮาเดรียนแห่งโรมันได้มอบสถานะโคโลเนียอันหมายถึงชุมชมโรมันซึ่งมีความแข็งแกร่งใหญ่โตระดับสูงสุดให้กับมูร์ซา และต่อมาได้มีการก่อสร้างสะพานด้วยอิฐเพื่อข้ามแม่น้ำดราวาเป็นครั้งแรก จากหลักฐานการขุดค้นทางโบราณคดีพบว่า มูร์ซามีการก่อสร้างสิ่งก่อสร้างสำคัญอันบ่งบอกถึงความเจริญอย่างสูง ไม่ว่าจะเป็นโรงอาบน้ำสาธารณะตามวัฒนธรรมโรมันหรือโรงละครกลางแจ้ง

ภายหลังยุคสมัยของจักรพรรดิ์ฮาเดรียน สถานะภาพของมูร์ซาก็ตกอยู่ในช่วงเวลาแห่งความวุ่นวาย มีทั้งการยึดอำนาจ การรบที่มีการสูญเสียเลือดเนื้อมหาศาลในบริเวณอาณาเขตของเมืองโดยเฉพาะ Battle of Mursa Major ในปี ค.ศ. 351 จนท้ายที่สุดเมื่อโรมันเริ่มเสื่อมอำนาจลง มูร์ซาก็ตกเป็นเป้าหมายของกลุ่มอนารยชนหลายกลุ่มซึ่งเข้ามารุกรานท้าทายอำนาจของโรมัน ในปี ค.ศ. 441 ถูกชาวฮันทำลายเมืองจนเสียหายหนัก ก่อนจะถูกรุกรานซ้ำโดยชาวอวาร์และถูกทำลายโดยสิ้นเชิงจากน้ำมือของชาวสลาฟที่เริ่มอพยพเข้ามาในคาบสมุทรบัลข่านช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 7-8[4]

การปรากฏขึ้นของโอซีเยกในราชอาณาจักรฮังการี

ช่วงเวลาระหว่างการล่มสลายโดยสิ้นเชิงของเมืองมูร์ซาจนถึงบันทึกทางประวัติศาสตร์ครั้งแรกของโอซีเยก มีร่องรอยของการอยู่อาศัยของมนุษย์ในบริเวณอาณาเขตของเมืองแต่ยังไม่มีหลักฐานถึงการเป็นชุมชนที่ปักหลักถาวร ในปี ค.ศ. 1196 ได้มีการบันทึกกล่าวถึงชุมชนที่ชื่อโอซีเยกเป็นครั้งแรกโดยเป็นการกล่าวถึงในสารของกษัตริย์เอเมริคแห่งราชอาณาจักรฮังการี ซึ่งในเวลานั้นโครเอเชียมีฐานะเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรฮังการีหลังจากการสิ้นราชวงศ์ของกษัตริย์ที่ปกครองอาณาจักรโครเอเชียโบราณและได้มีการยอมรับกษัตริย์ของราชอาณาจักรฮังการีให้มาปกครองดินแดนโครเอเชียตั้งแต่ราวๆ ค.ศ. 1100 กล่าวถึงการอนุญาตให้นักบวชซิสเตอร์เชียนผู้มีอำนาจดูแลในแถบนี้สามารถเก็บภาษีการค้าและการขนส่งทางเรือได้[5] ในทุกวันนี้ทางเมืองโอซีเยกได้ถือเอาปีที่บันทึกในสารนั้นเป็นปีของการก่อตั้งเมือง

แม้ว่าดินแดนบางส่วนของโครเอเชียโดยเฉพาะแถบซาเกร็บจะมีสิทธิ์ในการปกครองตัวเองบ้างด้วยการมีที่ประชุมสภา(อังกฤษ: Sabor)ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1273 การปกครองโอซีเยกในระยะเวลานั้นอยู่ใต้อำนาจของตระกูลขุนนางจากฝั่งฮังการีเป็นหลักโดยเฉพาะตระกูล คอรอก(อังกฤษ: Korog)เป็นสายตระกูลขุนนางที่ปกครองเมืองยาวนานที่สุดตั้งแต่ ค.ศ. 1353 ถึง 1472 จวบจนทายาทคนสุดท้ายของตระกูลสิ้นชีวิตไปในช่วงสงครามกับฝ่ายอาณาจักรออตโตมัน

หลังการเปลี่ยนมือไปอยู่ใต้การปกครองของขุนนางตระกูลอื่น โอซีเยกยังคงอยู่ในอำนาจของราชอาณาจักรฮังการีที่กำลังระส่ำระสายจากความขัดแย้งภายในของการสืบทอดอำนาจราชวงศ์และการทำศึกกับออตโตมัน ในที่สุดหลังจากกษัตริย์หลุยส์ที่ 2 ของฮังการีสิ้นพระชนม์ไปจากศึกโมฮัทส์(อังกฤษ: Battle of Mohács)ในปี ค.ศ. 1526 หลังจากศึกนั้นทางอาณาจักรออตโตมันก็รุกคืบเข้ามายึดดินแดนของฮังการีเป็นบริเวณกว้างอย่างรวดเร็วและโอซีเยกเองก็ตกไปอยู่ใต้เงื้อมมือของออตโตมันโดยสิ้นเชิง

ถูกยึดครองโดยออตโตมัน

โอซีเยก(โอสเซก) ภายในSanjak of Pojega ปี ค.ศ. 1606

แม้ว่าโอซีเยกจะเปลี่ยนมือไปอยู่กับทางออตโตมันโดยแทบไม่มีการต่อสู้ กระนั้นทางออตโตมันก็ได้ดำเนินการทำลายเมืองอย่างกว้างขวางเพื่อกำจัดเอาสถาปัตยกรรมเดิมของเมืองออกไปและสร้างเมืองขึ้นมาใหม่ในสถาปัตยกรรมตามอิทธิพลอิสลามและได้เปลี่ยนชื่อเรียกของเมืองเป็น โอสเซก(ตุรกี: Ösek) ในชั้นแรกโอซึเยกถูกรวมอยู่ใน ฺBudin Eyalet อันเป็นการแบ่งเขตปกครองใหม่ของอาณาจักรออตโตมันจากดินแดนซึ่งยึดมาได้จากทางฮังการี ก่อนในภายหลังจากมีการแบ่งเขตปกครองใหม่เมื่อทางออตโตมันยึดดินแดนได้เพิ่มขึ้น ภายหลังโอซีเยกจึงถูกเอาไปรวมเข้ากับ Kanije eyalet ซึ่งตั้งขึ้นมาใหม่ในแขวงย่อย Sanjak of Pojega(ตุรกี: Pojega Sancağı; โครเอเชีย: Požeški sandžak) ซึ่งเป็น 1 ใน 6 แขวงย่อยในเขตทวีปยุโรปของอาณาจักรออตโตมันที่มีความเชี่ยวชาญทางอุตสาหกรรมการต่อเรือมากที่สุด

ภาพพิมพ์แสดงเมืองโอซีเยกและสะพานสุลัยมานในอดีต

สิ่งก่อสร้างที่เชิดหน้าชูตาที่สุดของโอซีเยกในระยะเวลาที่อยู่ใต้การปกครองของออตโตมันคือ สะพานสุลัยมาน(อังกฤษ: Suleiman Bridge; โครเอเชีย: Most Sulejmana I) เป็นสะพานไม้ความกว้าง 6 เมตร ยาวกว่า 7 กิโลเมตร สร้างขึ้นเชื่อมโอซีเยกกับชุมชนดาร์ดา(อังกฤษ: Darda) ทางเหนือซึ่งต้องผ่านที่ลุ่มน้ำขัง สุลต่านสุลัยมานที่สองจึงได้มีพระดำริให้ก่อสร้างสะพานนี้ขึ้นเพื่อเป็นทางสัญจรใช้เคลื่อนย้ายกองทัพได้โดยสะดวกในประมาณปี ค.ศ. 1566 ต่อมามีความพยายามทำลายสะพานนี้หลายครั้งในช่วงสงครามระหว่างกองทัพยุโรปภายใต้การนำของออสเตรียและทัพของออตโตมัน จนในที่สุดสะพานก็ถูกเผาหมดสิ้นโดยฝ่ายออสเตรียในปี ค.ศ. 1686 ก่อนที่ออสเตรียจะเข้ามายึดครองโอซีเยกในปีต่อมาและเริ่มยุคสมัยความเจริญของเมืองในวัฒนธรรมยุโรปอีกครั้ง

ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ มีความพยายามจากประชากรของโอซีเยกจำนวนหนึ่งซึ่งต้องการจะสร้างสะพานโดยจำลองจากสะพานสุลัยมานขึ้นมาใหม่ แต่จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีความคืบหน้า[6] และในวันก่อตั้งเมืองในปี ค.ศ. 2013 ทางเอกอัครราชทูตตุรกีประจำประเทศโครเอเชียได้มีการมอบ"ของขวัญ"ให้แก่โอซีเยกเป็นภาพพิมพ์ของสะพานสุลัยมานเพื่อจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์สลาโวเนียในเมืองอีกด้วย[7]

แผนที่การเปลี่ยนแปลงเขตแดนหลังสนธิสัญญาคาร์โลวิทซ์

สนธิสัญญาคาร์โลวิทซ์

สถานภาพของโอซีเยกในมือของอาณาจักรฮับส์บูร์กอยู่ในฐานะเป็นเมืองของออตโตมันที่ถูกทางออสเตรียยึดไปในสงครามออสโตร-ออตโตมันที่กินระยะเวลาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1683 จนถึง ค.ศ. 1699 เมื่อได้มีการเซ็นสนธิสัญญาคาร์โลวิทซ์(อังกฤษ: Treaty of Karlowitz) ขึ้นที่เมืองเซเรมสกี้ คาร์ลอฟทซี(ปัจจุบันอยู่ในเขตวอยโวดีนาของเซอร์เบียใกล้กับนอวีซาด) ซึ่งคู่กรณีในสงครามทั้งสองฝ่ายได้ตกลงปักปันเขตแดนกันใหม่ ส่งผลให้ออตโตมันสูญเสียดินแดนแถบสลาโวเนียไปทั้งหมดให้แก่ทางออสเตรีย

ในชั้นแรกนั้น ทางออสเตรียได้สั่งให้ชาวเมืองโอซีเยกอพยพออกจากใจกลางเมืองดั้งเดิมซึ่งตั้งอยู่สืบทอดมาตั้งแต่ก่อนการเมาของออตโตมัน โดยให้ประชากรแบ่งไปตั้งถิ่นฐานใหม่เป็นสองจุดคือ กอร์นยิ กราด อยู่ห่างขึ้นไปทางต้นแม่น้ำดราวาเหนือตัวเมืองเดิมประมาณ 1.5 กิโลเมตร[8] และ ดอนยิ กราด อยู่ห่างไปทางปลายน้ำดราวา โดยทางออสเตรียได้สั่งให้ดำเนินการก่อสร้างทเวอร์จา ซึ่งเป็นป้อมปราการริมแม่น้ำดราวาใช้เป็นศูนย์กลางการปัญชาการทางทหารและการปกครองของเมืองเนื่องด้วยในระยะนั้นโอซีเยกยังมีความเสี่ยงที่จะถูกออตโตมันรุกกลับเข้ามาโจมตีได้อีก

เมืองหลวงของราชอาณาจักรสลาโวเนีย

หลังจากตกไปอยู่ใต้การปกครองของออสเตรียโดยสิ้นเชิง ทางออสเตรียได้นำชาวเยอรมันอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในโอซีเยก ทำให้ช่วงเวลาตั้งแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 จนถึงสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง โอซีเยกมีชนเชื้อสายเยอรมันเป็นหนึ่งในประชากรกลุ่มหลักของเมือง

หลังจากสนธิสัญญาคาร์โลวิทซ์ได้ยืนยันอำนาจของออสเตรียเหนือโอซีเยกอย่างเป็นทางการ ทางออสเตรียก็ได้กำหนดให้โอซีเยกเป็นเมืองหลวงของราชอาณาจักรสลาโวเนีย(อังกฤษ: Kingdom of Slavonia; โครเอเชีย: Kraljevina Slavonija) มีฐานะเป็นแคว้นถือเป็นส่วนหนึ่งของทั้งราชอาณาจักรโครเอเชียและอาณาจักรฮังการี(ซึ่งตอนนั้นก็ต่างถูกปกครองโดยอาณาจักรออสเตรียเป็นหลัก) ตั้งขึ้นจากดินแดนที่ได้รับมาจากการออตโตมันในช่วงสงครามออสโตร-ออตโตมัน แม้จะได้ชื่อว่าอยู่เป็นส่วนหนึ่งของโครเอเชียและฮังการี ทว่าในเวลานั้นออสเตรียเป็นผู้มีอำนาจในการปกครองพัฒนาเมืองโอซีเยกโดยแท้ ทำให้โอซีเยกได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องจนเริ่มก้าวขึ้นมาเป็นศูนย์กลางในด้านต่างๆของภูมิภาคสลาโวเนียนับแต่บัดนั้น ในปี ค.ศ. 1786 ที่สุดแล้วชุมชนของโอซีเยกทั้งสามส่วนในเวลานั้นคือ กอร์นยิ กราด ทเวอร์จา และ ดอนยิ กราดก็ได้รวมเข้ามาเป็นเมืองอันหนึ่งอันเดียวกัน

โปสการ์ดเมืองโอซีเยกในปี ค.ศ. 1900

ในปี ค.ศ. 1809 โอซีเยกได้รับสิทธิ์เป็น Free Royal City ทำให้เมืองมีอำนาจในการจัดการเรื่องการบริหารปกครองและพัฒนาเมืองได้เองโดยไม่ต้องผ่านความเห็นชอบจากกษัตริย์ และในเวลานั้นโอซีเยกมีฐานะเป็นถึงเมืองซึ่งมีประชากรมากที่สุดเป็นอันดับที่ 1 ภายในดินแดนส่วนโครเอเชียทั้งหมด[8] ด้วยเหตุนั้นโอซีเยกจึงมีชื่อเสียงในด้านเป็นแหล่งศูนย์กลางการค้าขายและงานช่างฝีมือแขนงต่างๆ รวมถึงเริ่มมีการก่อตั้งอุตสาหกรรมขึ้นภายในเมืองเช่น อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์จากเส้นไหมตั้งแต่ปี ค.ศ. 1774 และเริ่มเป็นศูนย์กลางทางการคมนาคมไปยังส่วนต่างๆของสลาโวเนียตะวันออกและบารานยา

ระหว่างการปฏิวัติปี ค.ศ. 1848-1849 ซึ่งทางฮังการีได้พยายามแยกตัวออกจากอาณาจักรฮับส์บูร์ก ราชอาณาจักรสลาโวเนียได้ตัดสินใจเข้าไปอยู่ฝ่ายเดียวกับทางราชอาณาจักรโครเอเชียซึ่งสนับสนุนฝั่งฮับส์บูร์กในการรบกับฝ่ายฮังการีซึ่งจะแยกตัวออก จนในที่สุดทางฝั่งฮังการีก็พ่ายแพ้ไม่สามารถแยกตัวออกไปได้และต่อมาเมื่อมีข้อตกลงออสเตรีย-ฮังการี ค.ศ. 1867อันเปลี่ยนแปลงให้อาณาจักรออสเตรียกลายเป็นออสเตรีย-ฮังการี ทางฝ่ายโครเอเชียก็ได้มีการเจรจากับทางฮังการีโดยยอมรับให้ฮังการีเข้ามาถือเอาดินแดนของราชอาณาจักรโครเอเชียและราชอาณาจักรสลาโวเนียเข้าเป็นดินแดนในปกครองโดยตรงของฮังการี ด้วยเหตุนั้นจึงเป็นการสิ้นสุดการมีอยู่ของราชอาณาจักรเมื่อได้ถูกรวมเข้าเป็นราชอาณาจักรโครเอเชีย-สลาโวเนียในปี ค.ศ. 1868[9] หลังจากช่วงเวลานี้เองที่ซาเกร็บได้แซงหน้าโอซีเยกขึ้นมาเป็นเมืองที่มีความสำคัญมากที่สุดของโครเอเชียในขณะที่โอซีเยกค่อยๆได้รับความสนใจในการพัฒนาเมืองน้อยลง กระนั้นก็ยังคงเป็นเมืองใหญ่ที่สุดของภูมิภาคสลาโวเนียและเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจและวัฒนธรรม โดยเฉพาะช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ได้มีการเปิดสาขาโรงละครแห่งชาติของโครเอเชียขึ้น และช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ก็ยังถือเป็นเมืองอุตสาหกรรมอันดับหนึ่งของฝั่งโครเอเชียอีกด้วย

ทางรถไฟสายแรกได้เชื่อมมายังโอซีเยกในปี ค.ศ. 1884 โดยใช้สำหรับเดินทางไปยังเมือง บีเยโลวาร์ ผ่าน นาซิทเซ่ และในปีเดียวกันนั้นโอซีเยกได้เป็นเมืองแรกในเขตโครเอเชียซึ่งมีรถรางบริการวิ่งในเมือง

เขตปกครองย่อยโอซีเยก ช่วงปี ค.ศ. 1922-1929

ผลกระทบจากสงครามโลกทั้งสองครั้ง

หลังจากการล่มสลายของอาณาจักรออสเตรีย-ฮังการีหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 โอซีเยกซึ่งอยู่ในส่วนซึ่งแยกออกมาเป็นรัฐของชาวเซิร์บ โครแอท และสโลวีน(อังกฤษ: State of Serbs, Croats and Slovenes) ได้เข้ารวมกับราชอาณาจักรเซอร์เบียเพื่อก่อตั้งรัฐรวมของชาวสลาฟใต้โดยเฉพาะ ในขณะโอซีเยกถือว่าเป็นเมืองหนึ่งซึ่งมีความพร้อมทางด้านอุตสาหกรรมอย่างสูง หากแต่การช่วงชิงความเป็นใหญ่กันระหว่างฝ่ายชาวโครแอทกับชาวเซิร์บซึ่งชาวเซิร์บยึดเอาอำนาจการปกครองส่วนใหญ่ของรัฐใหม่แห่งนี้ไปอยู่ในมือได้มากกว่า ทำให้โอซีเยกขาดการพัฒนาที่ต่อเนื่องต่างจากก่อนหน้าในสมัยอยู่ใต้การปกครองของออสเตรีย-ฮังการี และค่อยๆเริ่มต้นเข้าสู่ยุคที่ความสำคัญของเมืองเริ่มตกต่ำลงอย่างเห็นได้ชัด

ในช่วงแรกนั้นโอซีเยกถูกรวมไว้ในส่วนการแบ่งดินแดนปกครองย่อยร่วมกับดินแดนโครเอเชียส่วนใหญ่ที่ไม่ได้อยู่ติดทะเลอาเดรียติก จนกระทั่งปี ค.ศ. 1922 จึงได้มีการแบ่งเขตการปกครองใหม่ภายในราชอาณาจักรชาวเซิร์บ โครแอท และสโลวีนขึ้นอีกครั้ง โดยโอซีเยกได้แยกออกมาเป็นเมืองเอกของเขตปกครองย่อยซึ่งมีนามตามชื่อของเมืองคือ เขตปกครองย่อยโอซีเยก (อังกฤษ: Osijek Oblast) แต่เพียง 7 ปี ก็มีการเปลี่ยนแปลงการแบ่งเขตปกครองย่อยอีกครั้งโดยใช้ลุ่มแม่น้ำใหญ่ของแต่ละพื้นที่เป็นตัวกำหนดเขต ครานี้โอซีเยกถูกจัดให้ไปอยู่ในเขตปกครองย่อยซาวา(อังกฤษ: Sava Banovina)

ในปี ค.ศ. 1941 เจ้าชายพอล ผู้สำเร็จราชการแทนมกุฏราชกุมารปีเตอร์ซึ่งยังทรงพระเยาว์เกินกว่าจะปกครองราชอาณาจักรยูโกสลาเวีย ถูกทางนาซีเยอรมันบีบบังคับให้ต้องลงนามในสัญญาเป็นพันธมิตรกับฝ่ายอักษะในสงครามโลกครั้งที่ 2หลังจากวางตัวเป็นกลางมาตลอด ทว่าในสัปดาห์ต่อมาเจ้าชายพอลก็ถูกปฏิวัติโค่นอำนาจในกรุงเบลเกรดและมกุฏราชกุมารปีเตอร์ก็ได้รับการเชิญขึ้นเป็นผู้ปกครองราชอาณาจักรแทนและถือเป็นการฉีกสัญญาพันธมิตรที่ทำไว้กับฝ่ายอักษะ ฝ่ายอักษะจึงเริ่มการโจมตียูโกสลาเวียในวันที่ 6 เมษายน ปี ค.ศ. 1941 ก่อนที่กองกำลังของนาซีเยอรมันจะเข้ามายึดเมืองโอซีเยกได้ในวันที่ 11 เมษายน[10]

โอซีเยกในสงครามโลกครั้งที่ 2 กลายสภาพเป็นเมืองชายแดนระหว่างรัฐอิสระโครเอเชียกับฮังการี

หลังเข้ายึดครองยูโกสลาเวียได้สำเร็จ ทางนาซีเยอรมันได้ให้การสนับสนุนกลุ่มชาตินิยมหัวรุนแรงชาวโครเอเชียในนาม อุสตาสชา (อังกฤษ: Ustasha; โครเอเชีย: Ustaša) ขึ้นมาเป็นรัฐบาลปกครองรัฐหุ่นเชิดโครเอเชียซึ่งแยกออกมาจากยูโกสลาเวียและอยู่ใต้อำนาจของนาซี ต่อมาได้มีการแบ่งสรรพื้นที่ของยูโกสลาเวียในหมู่พันธมิตรฝ่ายอักษะกันและทางเหนือของเมืองโอซีเยกที่เป็นฝั่งซ้ายแม่น้ำดราวาได้ถูกส่งให้ไปอยู่ในความดูแลของฮังการี ทำให้โอซีเยกกลายสภาพเป็นเมืองชายแดนระหว่างรัฐอิสระโครเอเชียใต้อำนาจของนาซีกับประเทศฮังการีในยามนั้น โดยชาวเมืองเชื้อสายเยอรมันได้ให้การสนับสนุนฝ่ายนาซีอย่างเต็มตัว ชุมชนชาวยิวในโอซีเยกที่ก่อนหน้าสงครามโลกครั้งที่ 2 เคยมีจำนวนชาวยิวถึง 2,584 คน[11] ได้ถูกกวาดล้างอย่างสิ้นเชิง โบสถ์ยิวของเมืองถูกทำลาย ชาวยิวในโอซีเยกถูกส่งออกไปที่ค่ายยาเซโนวัทส์ซึ่งเป็นค่ายสังหารที่ใหญ่ที่สุดในโครเอเชียในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งการกวาดล้างชาวเมืองนี้มิได้เกิดเฉพาะแก่ชาวยิวเพียงกลุ่มเดียว แม้แต่ชาวเมืองเชื้อสายโครแอทเองหากมีท่าทีต่อต้านฝ่ายอักษะหรือสนับสนุนกลุ่มปาร์ติซานที่เป็นขบวนการเคลื่อนไหวต่อต้านนาซีของพรรคคอมมูนิสต์ยูโกสลาเวียก็จะถูกส่งไปยังค่ายกักกันเช่นกัน

ภายใต้ช่วงเวลานั้น โรงกลั่นน้ำมันของโอซีเยกถูกมอบหมายหน้าที่ให้ทำการกลั่นน้ำมันผลิตเชื้อเพลิงให้แก่ฝ่ายอักษะ และในช่วงเดือนเมษายน-พฤศจิกายน ค.ศ. 1941 ในเมืองก็เป็นที่ตั้งของศูนย์บัญชาการส่วนภูมิภาคของกองทหารชาวโครแอทที่ทำการสู้รบให้กับฝ่ายรัฐอิสระโครเอเชีย[12] อย่างไรก็ตามนั่นก็ทำให้โอซีเยกตกเป็นเป้าหมายในปฏิบัติการของฝ่ายสัมพันธมิตรที่จะใช้เครื่องบินทิ้งระเบิดโจมตีทำลายแหล่งผลิตน้ำมันของฝ่ายนาซีเยอรมันในวันที่ 14 มิถุนายน ค.ศ. 1944 และในช่วงฤดูใบไม้ผลิของปี ค.ศ. 1945 หลังจากสามารถรุกไล่รวบรวมพื้นที่ของยูโกสลาเวียคืนจากฝ่ายอักษะได้เรื่อยๆ วันที่ 14 เมษายน ค.ศ. 1945 โอซีเยกก็ถูกกองกำลังปาร์ติซานของยูโกสลาเวียยึดได้ก่อนจะจบสงครามโลกครั้งที่ 2 เพียงไม่นาน

ประชากรของโอซีเยกที่เป็นคนเชื้อสายเยอรมันส่วนมากจะหลบหนีออกไปพร้อมๆกับการถอนกำลังทหารของนาซีออกจากยูโกสลาเวียช่วงที่กำลังถูกปาร์ติซานรุกไล่เข้ามาในช่วงปลายสงคราม และบางส่วนที่ไม่หลบหนีออกไปก็ถูกยึดทรัพย์สินและถูกส่งไปเป็นนักโทษในค่ายใช้แรงงานในข้อหาให้ความร่วมมือกับนาซี ดังนั้นสงครามโลกครั้งที่ 2 นี้ได้ทำให้องค์ประกอบของประชากรในโอซีเยกเปลี่ยนแปลงอย่างมากทั้งชาวยิวและชนเชื้อสายเยอรมัน โดยปัจจุบันทั้งสองกลุ่มมีจำนวนเพียงไม่ถึง 1% ของประชากรในเมืองทั้งหมด

ช่วงเวลาในสหพันธรัฐสังคมนิยมยูโกสลาเวีย

หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 บทบาทของโอซีเยกในฐานะเมืองซึ่งมีความเฟื่องฟูทางวัฒนธรรมมายาวนานแทบจะถูกแทนที่ความสำคัญด้วยหน้าที่ของการเป็นเมืองอุตสาหกรรมเพียงอย่างเดียว โดยอุตสาหกรรมหลักในเมืองยังคงเป็นโรงกลั่นน้ำมัน อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ทางเคมีภัณฑ์ โรงงานน้ำตาล เฟอร์นิเจอร์ อุตสาหกรรมแปรรูปอาหารต่างๆ

โรงแรมโอซีเยกที่เป็นตึกสูงที่สุดในเมือง ด้านหลังคือสะพานเดินเท้าข้ามแม่น้ำดราวา

โคปาชกี้ ริท ซึ่งเป็นป่าผสมบึงน้ำซึ่งอยู่ไม่ห่างโอซีเยกมากนัก กลายเป็นสถานที่โปรดที่หนึ่งของจอมพลตีโตในการมาพักผ่อนล่าสัตว์ ทำให้ถูกจัดเป็นเขตคุ้มครองทางธรรมชาติแห่งแรกในภูมิภาคสลาโวเนีย

หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นของสลาโวเนียคือ Glas Slavonije ได้ย้ายมาตั้งสำนักงานใหญ่ในโอซีเยกตั้งแต่ช่วงเวลานี้และปัจจุบันก็เป็นหนังสือพิมพ์ที่ตีพิมพ์จำหน่ายหลักๆในสลาโวเนีย

ช่วงยุค 1970-1980 ได้มีการพัฒนาสำคัญๆของเมือง ในปี ค.ศ. 1975 ได้มีการก่อตั้งมหาวิทยาลัยโอซีเยกขึ้น โดยนับเป็นมหาวิทยาลัยที่ตั้งขึ้นใหม่สุดในจำนวนมหาวิทยาลัยทั้งหมดในโครเอเชีย การก่อสร้างโรงแรมโอซีเยกซึ่งเป็นโรงแรมที่หรูหราที่สุดของเมืองและเป็นสิ่งก่อสร้างที่สูงที่สุดของเมืองรองจากโบสถ์เซนต์ปีเตอร์และพอลในปี ค.ศ. 1978 ต่อมาสถานีโทรทัศน์หลักของยูโกสลาเวียในเวลานั้นก็ได้มาเปิดสาขาภูมิภาคที่โอซีเยกซึ่งทุกวันนี้สืบทอดต่อมาเป็น HR Osijek (สถานีภูมิภาคของ HRT หรือสถานีวิทยุและโทรทัศน์หลักของโครเอเชียในปัจจุบัน) การสร้างและเปิดให้บริการสนามบินโอซีเยกซึ่งอยู่ห่างจากตัวเมืองไป 20 กิโลเมตร และ การสร้างสะพานคนเดินเท้าข้ามแม่น้ำดราวาซึ่งนับเป็นสัญลักษณ์ที่โดดเด่นอย่างหนึ่งของเมืองจนถึงทุกวันนี้

พื้นที่ภายในโครเอเชียที่ถูกชาวเซิร์บติดอาวุธยึดไป และตั้งเป็นสาธารณรัฐเซอร์เบียน ครายินา(สีแดง)

สงครามประกาศอิสรภาพของโครเอเชีย

หลังการถึงแก่อสัญกรรมของจอมพลตีโตในปี ค.ศ. 1980 สถานภาพทางการเมืองในยูโกสลาเวียเริ่มกลับมาตึงเครียดด้วยในแต่ละรัฐก็มีการเคลื่อนไหวทางแนวคิดชาตินิยมกันเพิ่มขึ้น ทางโครเอเชียและสโลเวเนียมีแนวโน้มที่จะแยกจนออกเป็นกลุ่มแรกๆด้วยไม่พอใจที่ทางเซอร์เบียพยายามจะดึงอำนาจไปอยู่ในมือตนมากเกินไป ในที่สุดช่วงปี ค.ศ. 1990 ทางโครเอเชียได้จัดการเลือกตั้งขึ้นครั้งแรกหลังจากล้มเลิกการปกครองแบบคอมมูนิสต์ภายในประเทศ ซึ่งก็ได้ ฟรานโย ทุจมาน (อังกฤษ: Franjo Tudjman) ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีคนแรกของโครเอเชีย โดยทุจมานเคยมีประวัติถูกจับกุมในสมัยจอมพลตีโตยังปกครองยูโกสลาเวียอยู่ในฐานที่ร่วมดำเนินการเคลื่อนไหวทางชาตินิยมของคนเชื้อสายโครแอทในทศวรรษที่ 70 เมื่อได้รับตำแหน่งประธานาธิบดี ทุจมานได้แสดงเจตจำนงอย่างเด่นชัดที่จะแยกโครเอเชียออกเป็นประเทศเอกราชจากสหพันธรัฐยูโกสลาเวีย

ท่าทีของทุจมานได้ก่อให้เกิดความตึงเครียดทางเชื้อชาติระหว่างชาวโครแอทและชาวเซิร์บที่อาศัยอยู่ในโครเอเชียในเวลานั้นซึ่งมีมากถึงราวๆ 12% ของประชากรในโครเอเชียทั้งหมด ในแถบต่างๆซึ่งมีชาวเซิร์บอาศัยเป็นจำนวนมาก เริ่มมีการต่อต้านอำนาจจากรัฐบาลกลางของโครเอเชียรวมถึงทางตะวันออกของภูมิภาคสลาโวเนียด้วย ในโอซีเยกเองซึ่งเวลานั้นมีประชากรในเมืองเป็นคนเชื้อสายเซิร์บถึงเกือบ 20% ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน แม้จะไม่เกิดความรุนแรงโดยตรงภายในเมืองโอซีเยกในช่วงก่อนการประกาศอิสรภาพของโครเอเชีย แต่ในชุมชมรอบๆบางที่นั้นได้เกิดการปะทะกันของชาวโครแอทกับชาวเซิร์บและเริ่มทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงปี ค.ศ. 1991 ก่อนโครเอเชียจะประกาศอิสรภาพอย่างเป็นทางการ ได้มีผู้บัญชาการตำรวจของเมืองโอซีเยกคือ โยซิป ไรห์ล-คีร์ (โครเอเชีย: Josip Reihl-Kir) ได้พยายามเป็นตัวกลางเจรจาให้ทั้งชาวโครแอทและชาวเซิร์บในชุมชนละแวกใกล้ๆเมืองโอซีเยกหันมาเจรจากันโดยสันติแทนที่จะปะทะกันด้วยอาวุธ ทว่าความพยายามของไรห์ล-คีร์ก็ไม่บังเกิดผล เมื่อเขาถูกสังหารพร้อมกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองของเมืองโอซีเยกสองคนโดยชาวโครแอทติดอาวุธหัวรุนแรงซึ่งไม่ต้องการเจรจากับฝ่ายชาวเซิร์บ ในขณะรถยนต์ของพวกเขาติดด่านตรวจก่อนจะเข้าไปยังชุมชนเทนยาทางด้านใต้ของโอซีเยกที่มีการนัดแนะให้ทั้งสองฝ่ายมาตกลงหยุดยิงกัน[13] หลังการเสียชีวิตของไรห์ล-คีร์ ผู้ซึ่งมีอำนาจในการดูแลความเรียบร้อยของเมืองโอซีเยกซึ่งในช่วงเดือนกรกฎาปีนั้นเริ่มเข้าสู่ภาวะสงครามคือ บรานิมีร์ กลาวาช (โครเอเชีย: Branimir Glavaš) ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนแนวคิดชาตินิยมโครแอทหัวรุนแรง

แผนที่แสดงแนวการรบในฝั่งสลาโวเนียตะวันออก ค.ศ. 1991-92 เมืองโอซีเยกอยู่ทางมุมบนด้านซ้าย

ในวันที่ 27 มิถุนายน ค.ศ. 1991 สองวันหลังประธานาธิบดีทุจมานประกาศให้โครเอเชียเป็นเอกราชจากยูโกสลาเวีย เหตุการณ์ที่เป็นการเริ่มเปิดฉากภาวะสงครามในโอซีเยกได้เกิดขึ้น เมื่อได้มีการนำรถถังของหน่วยทหาร JNA (กองทัพร่วมของยูโกสลาเวีย) ออกมาวิ่งก่อความวุ่นวายข่มขวัญชาวเมืองบริเวณถนนเทอร์ปิมีร์กับถนนวูคอวาร์ ในเหตุการณ์นั้นไม่มีผู้เสียชีวิต แต่มีรถยนต์ได้รับความเสียหายและมีผู้บาดเจ็บบ้าง ขณะที่รถถังกำลังออกมาวิ่งบนถนนนั้น ได้มีทหารเชื้อสายโครแอทคนนึงตัดสินใจจอดรถของตนขวางรถถังกลางถนนซึ่งก็ถูกรถถังบดขยี้เสียหายไม่เหลือสภาพเดิม กระนั้นการแสดงออกนั้นก็ได้กลายเป็นภาพติดตาภาพหนึ่งของการต่อต้านการแสดงอำนาจทางทหารของกองทัพร่วมยูโกสลาเวียที่จะข่มขวัญชาวเมืองไม่ให้ลุกขึ้นมาสู้[14]

เมื่อไม่มีการสานต่อความพยายามของไรห์ล-คีร์ที่จะเจรจาอย่างสันติ ในที่สุดฝ่ายชาวเซิร์บซึ่งจับอาวุธขึ้นมาต่อต้านรัฐบาลโครเอเชียได้ร่วมมือกับกองทัพร่วมยูโกสลาเวียซึ่งข้ามฝั่งมาให้การช่วยเหลือฝ่ายชาวเซิร์บในการต่อสู้กับฝั่งโครเอเชียโดยอ้างว่าทำเพื่อรักษาอธิปไตยของยูโกสลาเวียและปกป้องชาวเซิร์บซึ่งเป็นพลเมืองของยูโกสลาเวีย ด้วยความเสียเปรียบของฝ่ายชาวโครแอทซึ่งถูกกองทัพร่วมยูโกสลาเวียเรียกคืนอาวุธไปก่อนหน้าจะเกิดสงครามไปจากกองกำลังทหารของโครเอเชีย ทำให้ถูกระดมโจมตีพร้อมกันหลายพื้นที่และเสียดินแดนไปให้ฝ่ายชาวเซิร์บซึ่งยึดพื้นที่ไปและประกาศก่อตั้งรัฐชาวเซิร์บซึ่งไม่ขึ้นกับรัฐบาลโครเอเชีย เรียกกันว่า สาธารณรัฐเซอร์เบียน ครายินา (อังกฤษ: Republic of Serbian Krajina; เซอร์เบีย: Republika Srpska Krajina) และเป็นการเปิดทางให้กองพันทหารจากยูโกสลาเวียซึ่งมีฐานทัพอยู่ที่เมืองนอวีซาดรุกเข้ามาในฝั่งโครเอเชียได้โดยสะดวก

ร่องรอยความเสียหายจากสงครามบนตัวอาคารบางแห่งยังคงมีให้เห็น

ในช่วงความตึงเครียดของสงครามถึงจุดสูงสุด โอซีเยกถูกล้อมโดยพื้นที่ของฝ่ายเซิร์บติดอาวุธตลอดแนวทิศเหนือ ตะวันออก และ ใต้ มีเพียงทิศตะวันตกเท่านั้นที่ยังเป็นเส้นทางใช้เดินทางติดต่อกันเมืองอื่นๆในโครเอเชียได้โดยผ่านทางรถไฟที่เชื่อมไปยังเมืองนาซิทเซ่ จากก่อนสงครามที่ประชากรในเมืองมีราวๆ 114,000 คน หลังจากเมืองถูกระดมโจมตีทั้งโดยรถถัง กระสุนปืนใหญ่ และแม้แต่ทิ้งระเบิดจากเครื่องบินรบ ทำให้ประชากรในเมืองพากันอพยพหนีออกไปจนมีประชากรในระยะนั้นเหลืออยู่เพียง 1/3 และส่วนมากต้องหลบอยู่ในที่หลบภัยชั้นใต้ดินจากการถูกระดมยิงใส่ไม่เว้นวันตั้งแต่ปลายเดือนกรกฎาคมจนถึงเดือนธันวาคมของปี ค.ศ. 1991 ผลจากการถูกโจมตีจากฝ่ายชาวเซิร์บติดอาวุธและกองทัพร่วมยูโกสลาเวียสร้างความเสียหายอย่างหนักให้แก่เมืองและมีคนเสียชีวิตไปเกือบพันคน เมื่อขึ้นปี ค.ศ. 1992 ได้มีการตกลงสนธิสัญญาหยุดยิง Vance Plan ที่ทำให้การระดมโจมตีโอซีเยกมีอัตราเบาบางลงแต่ก็มิได้หยุดโดยสิ้นเชิง ซึ่งหลังจากมีสนธิสัญญาหยุดยิงนี้ ทางสหประชาชาติก็ได้ทยอยส่งกองกำลังทหารต่างชาติเข้ามาดูแลความสงบไม่ให้ทั้งสองฝ่ายเผชิญหน้ากันโดยตรงอีก และทั้งทางโครเอเชียและยูโกสลาเวียต่างก็เบนเข็มส่งกำลังพลไปรบในสงครามในบอสเนียแทนเสียเป็นส่วนใหญ่หลังจากมีข้อตกลงหยุดยิงนี้

พื้นที่ที่ถูกชาวเซิร์บยึดไปในสงครามปี 1991-1995 ที่โครเอเชียไม่สามารถยึดคืนมาได้(สีฟ้า)

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าฝ่ายชาวโครแอทจะเป็นฝ่ายตั้งรับการรุกรานจากฝ่ายชาวเซิร์บติดอาวุธ แต่ในเวลานั้นเองที่กองกำลังชาวโครแอทที่ต่อสู้ป้องกันเมืองโอซีเยกเองก็ได้มีการก่ออาชญากรรมสงครามด้วยการคุมขังตัวพลเมืองเชื้อสายเซิร์บในเมืองโอซีเยกก่อนจะทำการทารุณกรรมและสังหาร ในปี ค.ศ. 2008 ศาลโครเอเชียได้ตัดสินว่า บรานิมีร์ กลาวาช มีความผิดในฐานะสั่งการให้กระทำทารุณชาวเซิร์บซึ่งเป็นพลเมืองธรรมดาภายในเมืองโอซีเยกในช่วงที่เป็นผู้บัญชาการกองทหารที่ป้องกันเมืองอยู่[15] [16] ปัจจุบันนี้กลาวาชถูกจำคุกอยู่ในบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนาหลังจากหลบหนีการจับกุมของทางโครเอเชียเข้าไปในบอสเนียซึ่งเขามีพาสปอร์ทถือสัญชาติร่วมกับสัญชาติโครเอเชียอยู่

แม้ว่าในช่วงซึ่งทางฝ่ายชาวเซิร์บและกองกำลังจากยูโกสลาเวียจะทวีการกดดันโจมตีถึงขั้นสูงสุดก่อนมีการตกลงหยุดยิงนั้น ฝ่ายกองกำลังชาวโครแอทจะสามารถป้องกันเมืองไว้ได้จนฝ่ายเซิร์บไม่สามารถบุกเข้ามาและยึดได้โดยสิ้นเชิงเช่นเมืองวูคอวาร์ที่อยู่ห่างออกไปราวๆ 30 กิโลเมตร ทำให้โอซีเยกได้รับสมญานามว่า โอซีเยก - เมืองซึ่งไม่พ่ายแพ้ (อังกฤษ: Osijek - Unconquered city; โครเอเชีย: Osijek - Nekoporeni Grad) กระนั้นบางส่วนของเมืองเช่น ย่านชุมชนเทนยาทางด้านใต้ และฝั่งซ้ายของแม่น้ำดราวาทางทิศเหนือของเมืองนั้นถูกรวมเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของเซอร์เบีย ครายินา และไม่สามารถเอากลับมาได้ในตลอดช่วงที่เหลือของสงครามประกาศอิสรภาพของโครเอเชียจนกระทั่งจบสงครามโดยสิ้นเชิงในปี ค.ศ. 1995 แม้ว่าดินแดนเซอร์เบียนครายินาส่วนอื่นๆในโครเอเชียจะถูกกองกำลังทหารโครเอเชียบุกยึดกลับมาได้หมดในยุทธการพายุ (อังกฤษ: Operation Storm) ที่ปฏิบัติการในต้นเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1995 โดยเซอร์เบียน ครายินาเพียงหนึ่งเดียวที่เหลืออยู่ในเขตสลาโวเนียตะวันออกนี้ได้กลายเป็น เขตปกครองสลาโวเนียตะวันออก บารานยา และ ซีร์เมียตะวันตก (อังกฤษ: Eastern Slavonia, Baranja and Western Syrmia; บอสเนีย-โครเอเชีย-มอนเตเนโกร-เซอร์เบีย: Istočna Slavonija, Baranja i Zapadni Srem) ซึ่งเป็นเขตปกครองที่ไม่ได้รับการยอมรับจากสากลโลกและไม่ได้อยู่ในอำนาจของทั้งโครเอเชียและยูโกสลาเวียในยามนั้น ด้วยการเข้ามาเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ยของสหประชาชาติ ทำให้ช่วงปี ค.ศ. 1995-1998 เขตปกครองนี้ได้อยู่ในความดูแลของสหประชาชาติและค่อยๆเจรจาเพื่อคืนดินแดนนี้ให้แก่ทางโครเอเชียโดยสันติ ในที่สุดดินแดนนี้ก็กลับเข้าเป็นส่วนหนึ่งของโครเอเชียในปี ค.ศ. 1998 หลังมีการเซ็นข้อตกลงเอร์ดุท (อังกฤษ: Erdut Agreement) ทว่าในระหว่างช่วงที่พื้นที่นี้อยู่ใต้ความควบคุมของกลุ่มชาวเซิร์บติดอาวุธ ประชากรเชื้อสายโครแอทส่วนมากหากไม่ถูกขับไล่ออกไปก็จะถูกสังหารไป ในทางกลับกัน ประชากรชาวเซิร์บของโอซีเยกจากที่เคยมีเกือบ 20% ช่วงก่อนสงครามก็กลับลดจำนวนลงเหลือแค่ไม่ถึง 8% ในการสำรวจปี ค.ศ. 2001

แหล่งที่มา

WikiPedia: โอซีเยก http://www.balkaninsight.com/en/article/croatian-a... http://www.balkaninsight.com/en/article/turkish-tv... http://exyuaviation.blogspot.com/2013/09/trade-air... http://exyuaviation.blogspot.com/2013/11/ryanair-l... http://www.croatiantimes.com/?id=10015 http://www.croatiaweek.com/croatias-greenest-city-... http://www.croatiaweek.com/first-croatian-tram-130... http://www.croatiaweek.com/first-ever-gay-pride-pa... http://www.croatiaweek.com/osijek-zagreb-flight-re... http://www.croatiaweek.com/ryanair-adds-london-osi...