ประวัติ ของ ไซโง_ทากาโมริ

ปฐมวัย

ไซโง ทากาโมริ เกิดเมื่อวันที่ 7 เดือน 12 ปีบุงเซที่ 10 ตามปฏิทินจันทรคติเก่าของญี่ปุ่น (ตรงกับวันที่ 23 มกราคม ค.ศ. 1828 ตามปฏิทินเกรกอเรียน) ที่เมืองคาโงชิมะ แคว้นซัตสึมะ (ปัจจุบันคือจังหวัดคาโงชิมะของญี่ปุ่น) เป็นบุตรชายของไซโง คิจิเบ (ญี่ปุ่น: 西郷 吉兵衛 โรมาจิSaigō Kichibei) ซึ่งเป็นซามุไรระดับล่าง และนางชีอีฮาระ มาซะ (ญี่ปุ่น: 椎原政佐 โรมาจิShiihara Masa) ไซโง ทากาโมริ เมื่อแรกเกิดได้รับชื่อว่า โคกิจิ (ญี่ปุ่น: 小吉 โรมาจิKokichi) โคกิจิเป็นบุตรชายคนโตสุดมีน้องชายสามคนและน้องสาวสามคนในบรรดาพี่น้องทั้งหมดเจ็ดคนใน เมื่อเข้าสู่วัยรุ่นโคกิจิได้รับชื่อว่า คิจิโนซุเกะ (ญี่ปุ่น: 吉之助 โรมาจิKichi-no-suke) ค.ศ. 1841 คิจิโนซุกะผ่านพิธีเง็มปุกุได้รับชื่อว่า ไซโง ทากานางะ (ญี่ปุ่น: 西郷 隆永 โรมาจิSaigō Takanaga) ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นไซโง ทากาโมริ

ในช่วงวัยเยาว์ไซโง ทากาโมริ ได้รับการศึกษาเกี่ยวลัทธิขงจื้อสำนักของหวังหยางหมิงที่วัดในเมืองคาโงชิมะ เพื่อนร่วมชั้นเรียนคนสำคัญในวัยเยาว์ของทากาโมริได้แก่โอกูโบะ โทชิมิจิ ในค.ศ. 1852 บิดามารดาของไซโง ทากาโมริ จัดการให้ทากาโมริสมรสกับนางอีจูอิง ซูงะ (ญี่ปุ่น: 伊集院 須賀 โรมาจิIjūin Suga) เป็นภรรยาคนแรกของไซโง ทากาโมริ ไซโง คิจิเบ บิดาของทากาโมริเสียชีวิตในค.ศ. 1852 และนางมาซะมารดาของทากาโมริเสียชีวิตในปีต่อมาค.ศ. 1853 ทำให้ไซโง ทากาโมริ ต้องเป็นหัวหน้าของครอบครัว ในค.ศ. 1854 ไซโง ทากาโมริ แสดงความเห็นเกี่ยวกับการเกษตรภายในแคว้นซัตสึมะ ทำให้ทากาโมริได้รับความสนใจจากชิมาซุ นาริอากิระ ไดเมียวแห่งแคว้นซัตสึมะในขณะนั้น ชิมาซุ นาริอากิระ จึงเรียกตัวไซโง ทากาโมริ เข้ารับราชการในแคว้นซัตสึมะ

ในค.ศ. 1854 นางอัตสึฮิเมะซึ่งเป็นบุตรสาวบุญธรรมของชิมาซุ นาริอากิระ ได้สมรสกับโชกุนโทกูงาวะ อิเอซาดะ ไซโง ทากาโมริ จึงได้ร่วมเดินทางจากเมืองคาโงชิมะยังยังนครเอโดะเพื่อช่วยเหลือไดเมียวนาริอากิระในการดำเนินนโยบาย "โคบูกัตไต" (公武合体) หรือการประสานราชสำนักและรัฐบาลโชกุนโทกูงาวะให้เกิดความปรองดอง รัฐบาลโชกุนบากุฟุขณะนั้นแบ่งออกเป็นสองฝ่ายได้แก่ ฝ่ายอนุรักษ์นิยมสนับสนุนการปกครองของรัฐบาลโชกุนแบบเดิมมีผู้นำคือไทโรอิอิ นาโอซูเกะ และฝ่ายสนับสนุนการปฏิรูปซึ่งชิมาซุ นาริอากิระเป็นผู้นำ

ในค.ศ. 1858 ไดเมียวชิมาซุ นาริอากิระถึงแก่กรรม ทำให้อำนาจของฝ่ายแคว้นซัตสึมะลดลง อิอิ นาโอซุเกะทำการกวาดล้างปีอันเซ (ญี่ปุ่น: 安政の大獄 โรมาจิAnsei no taigoku) เพื่อกำจัดคู่แข่งทางการเมืองฝ่ายปฏิรูปให้หมดสิ้นไป ไซโง ทากาโมริ หลบหนีกลับมายังแคว้นซัตสึมะ เมื่อสูญเสียอำนาจทางการเมือง ไซโง ทากาโมริ จึงกระโดดลงทะเลเพื่อฆ่าตัวตายและตามไปรับใช้ไดเมียวนาริอากิระผู้ล่วงลับในสัมปรายภพแต่ไม่สำเร็จ ไซโง ทากาโมริ รอดชีวิต ในค.ศ. 1859 ชิมาซุ ฮิซามิตสึ บิดาของไดเมียวคนใหม่แห่งแคว้ตซัตสึมะและผู้มีอำนาจปกครองซัตสึมะที่แท้จริง ทำการเนรเทศไซโง ทากาโมริ ไปยังเกาะอามามิโอชิมะ (ญี่ปุ่น: 奄美大島 โรมาจิAmami Ōshima) ซึ่งเป็นเกาะแห่งหนึ่งในหมู่เกาะรีวกีว (จังหวัดโอกินาวะในปัจจุบัน) ซึ่งอยู่ภายใต้การปกครองของแคว้นซัตสึมะ

เนรเทศไปหมู่เกาะอามามิ

เมื่อถูกเนรเทศมายังเกาะอามามิโอชิมะนั้น ไซโง ทากาโมริมีอายุ 31 ปี เมื่อถูกเนรเทศไซโง ทากาโมริ ขาดการติดต่อกับภรรยาคนแรกชื่อนางซูงะ ซึ่งไม่มีบุตรด้วยกันการสมรสครั้งแรกของทากาโมริจึงสิ้นสุดลง ทากาโมริสมรสใหม่กับสตรีชาวเกาะอามามิชื่อว่านางรีว ไอโกะ (ญี่ปุ่น: 龍愛子 โรมาจิRyū Aiko) หรือนางไอกานะ (ญี่ปุ่น: 愛加那 โรมาจิAikana) นางไอกานะให้กำเนิดบุตรชายคนแรกให้แก่ไซโง ทากาโมริ ชื่อว่า ไซโง คิกูจิโร่ (ญี่ปุ่น: 西郷 菊次郎 โรมาจิSaigō Kikujirō) และให้กำเนิดบุตรสาวชื่อว่าคิกูกูสะ (ญี่ปุ่น: 菊草 โรมาจิKikukusa) ไซโง ทากาโมริ ใช้ชีวิตอยู่บนเกาะอามามิโอชิมะเป็นเวลาสองปีแปดเดือน จนกระทั่งชิมาซุ ฮิซามิตสึ เรียกตัวไซโง ทากาโมริ กลับไปรับราชการที่แคว้นซัตสึมะอีกครั้งในค.ศ. 1861 ทากาโมริจึงเดินทางออกจากเกาะอามามิโอชิมะกลับไปยังแคว้นซัตสึมะโดยทิ้งภรรยาและบุตรทั้งสองไว้เบื้องหลัง

อย่างไรก็ตามเมื่อกลับมายังแคว้นซัตสึมะแล้วนั้นชิมาซุ ฮิซามิตสึ เกิดความแคลงใจต่อไซโง ทากาโมริ เนื่องจากทากาโมริให้การสนับสนุนแก่อดีตไดเมียวนาริอากิระซึ่งเป็นศัตรูทางการเมืองของฮิซามิตสึ หลังจากที่ไซโง ทากาโมริกลับซัตสึมะได้เพียงสี่เดือน ชิมาซุ ฮิซามิตสึจึงเนรเทศ ไซโง ทากาโมริ อีกครั้งไปยังเกาะโทกูโนชิมะ (ญี่ปุ่น: 徳之島 โรมาจิTokunoshima) ซึ่งอยู่ถัดจากเกาะอามามิโอชิมะไปทางใต้ และสองเดือนต่อมาทากาโมริถูกย้ายไปยังเกาะโอกิโนเอราบุ (ญี่ปุ่น: 沖永良部島 โรมาจิOkinoerabu-jima) ไซโง ทากาโมริ อาศัยอยู่ที่เกาะโอกิโนเอราบุเป็นเวลาสามปี จนกระทั่งได้รับการอภัยโทษและกลับสู่ซัตสึมะในค.ศ. 1864

แหล่งที่มา

WikiPedia: ไซโง_ทากาโมริ http://books.google.com/books?id=lwt587Ex_a4C&pg=P... http://www.emory.edu/EMORY_MAGAZINE/spring2004/pre... http://www.unu.edu/unupress/unupbooks/uu36je/uu36j... http://www.ndl.go.jp/portrait/e/datas/85.html?c=3 http://www.ndl.go.jp/portrait/e/index.html http://data.bibliotheken.nl/id/thes/p160215420 http://www.worldcat.org/title/japan-in-transition-... http://www.worldcat.org/title/last-samurai-the-lif... http://www.worldcat.org/title/making-of-modern-jap... http://mak.bn.org.pl/cgi-bin/KHW/makwww.exe?BM=1&N...