ประวัติ ของ ไถหนาน

ประวัติศาสตร์ช่วงต้น

การขุดค้นทางโบราณคดีที่อำเภอสั่วเจิ้นทำให้ได้ข้อสันนิษฐานว่า มีผู้คนอยู่อาศัยในบริเวณไถหนานมาแล้วอย่างน้อยสองหมื่นปีถึงสามหมื่นหนึ่งพันปี จนคริสต์ศตวรรษที่ 16 ชาวซีลาหย่า (西拉雅 Xīlāyǎ ?; Siraya) ซึ่งเป็นชนพื้นเมือง จึงได้เถลิงอำนาจเหนือกลุ่มอื่น ๆ ในบริเวณนี้ ในท้องที่นี้ยังมีชนพื้นเมืองอีกหลายกลุ่ม คือ ชาวซินกั่ง (新港 Xīngǎng ?; Sinckan) ซึ่งตั้งถิ่นฐานกันอยู่ในพื้นที่ที่ปัจจุบันเป็นใจเมือง[4] ตลอดจนชาวเซียวหลง (蕭瓏 Xiāolóng ?; Soelangh) ชาวหมาโต้ว (麻豆 Mádòu ?; Mattauw) และชาวมู่เจียลิว (目加溜 Mùjiāliū ?; Baccloangh) ซึ่งรวมกลุ่มกันอยู่บริเวณชานเมือง

ครั้นปลายคริสต์ศตวรรษที่ 16 พ่อค้าและชาวประมงจากจีนแผ่นดินใหญ่เริ่มตั้งที่อยู่ที่ทำกินริมฝั่งตะวันตกของเกาะไต้หวัน รวมถึงบริเวณสันดอนคั่นหาดซินกั่ง และชาวจีนเหล่านั้นเรียกสันดอนดังกล่าวว่า "ต้า-ยฺเหวียน" มาจากภาษาซีลาหย่าแปลว่า ต่างชาติ ต่อมาชื่อนี้จึงใช้เรียกเกาะไต้หวันทั้งเกาะ ภายหลังมีผู้ถือว่า คำว่า "ไต้หวัน" มาจาก "ต้า-ยฺเหวียน" นี้เอง[4][5][6] นอกจากชาวจีนดังกล่าวแล้ว ยังมีชาวญี่ปุ่นเข้ามาตั้งนิคมการค้าอยู่ด้านเหนือสันดอนต้า-ยฺเหวียน[5] ชาวจีนและชาวญี่ปุ่นทั้งหลายเหล่านั้นพากันค้าขายกับชนพื้นเมือง โดยเฉพาะเกลือ เขากวาง และเนื้อกวางแห้ง ชนพื้นเมืองจึงค่อย ๆ ได้รับอิทธิพลในความเป็นอยู่มาจากชนชาติทั้งสอง เช่น รับคำจีนเข้ามาในภาษาพวกตน และใช้มีดหมอญี่ปุ่นในพิธีกรรมของกลุ่ม เมื่อชนต่างชาติหลั่งไหลเข้ามาเรื่อย ๆ ชนพื้นเมืองจึงเคลื่อนเข้ามาในพื้นที่บกมากขึ้น ครั้นเมื่อฝรั่งเข้ามาก็ปรากฏว่า วัฒนธรรมจีนและญี่ปุ่นกลืนกินเกาะซึ่งเคยเป็นบ้านป่าเมืองเถื่อนนี้ไปทั้งสิ้นแล้ว[5][7]

เมืองขึ้นวิลันดา

ดูบทความหลักที่: ดัชต์ฟอร์โมซา
ป้อมอันผิง สร้างบนพื้นที่ป้อมวิลันดาเดิม

ฝรั่งพวกแรก ๆ ที่เข้ามา คือ ชาววิลันดาซึ่งเดิมประสงค์จะยึดครองเกาะมาเก๊า (馬交 Mǎjiāo ?; Macao) และเกาะเผิงหู (澎湖 Pénghú ?) แต่ไม่สำเร็จ ในเดือนกรกฎาคม 1622 คอร์เนลิส เรเยิร์ซ (Cornelis Reyersz) พ่อค้าชาววิลันดาจากบริษัทอินเดียตะวันออก จึงล่องเรือมายังเกาะไต้หวันเพื่อหาชัยภูมิสำหรับตั้งนิคมการค้า จนปี 1624 เขาได้ตั้งป้อมเล็ก ๆ บนสันดอนต้า-ยฺเหวียนดังกล่าว เรียกชื่อว่า "ป้อมออเรนจ์" (Orange) เพื่อใช้เป็นที่มั่นต่อต้านคู่แข่งชาวสเปนและเป็นแหล่งค้าขายกับชาวจีนและชาวปัตตาเวียในอินโดนีเซีย ภายหลัง ป้อมดังกล่าวได้ขยายไปมากและเปลี่ยนชื่อเป็น "ป้อมวิลันดา" ป้อมนี้จึงกลายเป็นศูนย๋กลางการค้าของชาววิลันดากับชาวจีน ญี่ปุ่น และฝรั่งชาติอื่น[5][7]

เมื่อวิลันดาสถาปนาการปกครองขึ้นในนิคมการค้านั้นแล้ว ปีเตอร์ นุยส์ (Pieter Nuyts) ได้เป็นผู้ว่าการตั้งแต่ปี 1627 ถึง 1629 เวลานั้น เกิดความบาดหมางระหว่างพ่อค้าวิลันดากับพ่อค้าญี่ปุ่น นุยส์จึงถูกฮะมะดะ ยะเฮ (Hamada Yahee) พ่อค้าญี่ปุ่น จับเป็นตัวประกันไว้คราวหนึ่ง[7][8] ครั้นช่วงปี 1635 ถึง 1636 จึงมีกิจกรรมทางทูตเพื่อหย่าศึกบนเกาะ และปราบปรามชนพื้นเมืองทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ นอกจากนี้ ในปี 1642 กองทัพวิลันดาจึงเข้ายึดป้อมสเปนที่เมืองจีหลง (基隆 Jīlóng ?; Keelung) ไว้ได้ เป็นเหตุให้ชาววิลันดามีอำนาจสิทธิ์ขาดเหนือเกาะไต้หวันทุกหย่อมหญ้า และใช้ป้อมวิลันดาเป็นกองบัญชาการ[9]

แต่การที่ชาววิลันดาเข้าปกครองชนอื่น ๆ บนเกาะไต้หวันนั้นเป็นไปอย่างรีดนาทาเร้น ประกอบกับที่ชาววิลันดาร่วมปล้นแผ่นดินจีนในระหว่างราชวงศ์หมิงล่มสลาย ชาวจีนซึ่งอาศัยอยู่บนเกาะไต้หวันจึงจงเกลียดจงชังวิลันดา นำไปสู่การนองเลือดในเหตุการณ์กบฏกัว ไหฺวอี (郭懷一 Guō Huáiyī ?; Kuo Huai-i) เมื่อปี 1652 ครั้งนั้น ชาววิลันดามีชัยเหนือชาวจีนเพราะได้ความช่วยเหลือจากชาวซินกั่งชนพื้นเมือง[7] การปกครองก็ดำเนินต่อไปอย่างสงบราบคาบ การค้าขายก็เป็นล่ำเป็นสันมากขึ้น ครัวเรือนบริเวณป้อมวิลันดาจึงขยายตัวด้วย ฉะนั้น ในปี 1653 ชาววิลันดาจึงตั้งป้อมใหม่ ณ ที่อยู่ของชาวซินกั่ง เรียก "ป้อมโปรวินเทีย" (Fort Provintia) เพื่อเป็นนิคมเกษตรกรรม และเชื้อเชิญให้ชาวไร่ชาวสวนจากจีนแผ่นดินใหญ่ย้ายมาตั้งรกรากที่นั้นเพื่อปลูกข้าวและอ้อย กิจกรรมของชาววิลันดาในภาคใต้ของเกาะไต้หวันนี้ประสบความสำเร็จมาก เป็นเหตุให้ชาววิลันดาสามารถยึดครองอินโดนีเซียได้ในคริสต์ทศวรรษที่ 1650 นั้นเอง[5]

อาณาจักรตงหนิง

ดูบทความหลักที่: อาณาจักรตงหนิง

เมื่อราชวงศ์หมิงล่มสลายนั้น เจิ้ง เฉิงกง ขุนศึกจักรวรรดิหมิง ได้รวมกำลังหนีมายังเกาะไต้หวัน และเข้าโจมตีชาววิลันดาในปี 1661 หลังจากปิดล้อมป้อมวิลันดาไว้ถึงเก้าเดือน เฟรเดริก โกเย็ต (Frederik Coyett) ชาววิลันดาซึ่งเป็นผู้ว่าการไต้หวันอยู่ในขณะนั้น ก็ยอมแพ้เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 1662[5] เป็นอันสิ้นสุดการปกครองของวิลันดาซึ่งดำเนินมายาวนานสามสิบแปดปี จากนั้น เจิ้ง เฉิงกง ได้ใช้เกาะไต้หวันเป็นฐานที่มั่นสำหรับฟื้นฟูจักรวรรดิหมิงต่อไป เขาสถาปนาอาณาจักรขึ้นชื่อว่า "ตงตู" แปลว่า "กรุงบูรพา" (東都 Dōngdū ?; East Capital) โดยมีเมืองหลวงอยู่ที่ป้อมโปรวินเทีย แล้วตั้งป้อมวิลันดาเป็นตำบลชื่อ "อันผิง" (安平 Ānpíng ?) ซึ่งก็คืออำเภออันผิงในปัจจุบัน ครั้นแล้ว เขาก็ตั้งบ้านตั้งเมืองโดยรอบไว้เลี้ยงกองทัพ[5]

เมื่อเจิ้ง เฉิงกง ตายในปี 1662 เจิ้ง จิง (鄭經 Zhèng Jīng ?) บุตรของเขา สืบอำนาจต่อ และเปลี่ยนชื่ออาณาจักรเป็น "ตงหนิง" ในสมัยปกครองของเจิ้ง จิงนั้น เฉิง หย่งหฺวา (程永华 Chéng Yǒnghuá ?) อัครมหาเสนาบดี ได้จัดระเบียบการปกครองแบบจีนขึ้นบนเกาะไต้หวัน และก่อสร้างปูชนียสถานแห่งแรกซึ่งปัจจุบันเรียกว่า "วัดขงจื่อไต้หวัน" (台灣孔廟 Táiwān Kǒngmiào ?; Taiwan Confucian Temple) กับทั้งยังคิดค้นวิธีผลิตเกลือในบริเวณชายฝั่ง อนึ่ง ช่วงนั้นยังมีการชวนเชิญให้ชาวอังกฤษเข้ามาตั้งถิ่นค้ากับชาวพื้นเมือง ชาวจีน และชาวเอเชียตะวันตกเฉียงใต้ ที่ตำบลอันผิง เกาะไต้หวันจึงสามารถดำรงความเป็นศูนย์กลางการค้าในภูมิภาคนี้ไว้ได้ต่อไป[10]

เมืองขึ้นจีน

ประตูคลองห้า

เมื่อเจิ้ง จิง ตายในปี 1681 มีการชิงอำนาจกันสืบ ๆ มา ราชวงศ์ชิงจึงอาศัยความวุ่นวายนี้ส่งกำลังเข้ายึดครองเกาะไต้หวัน ชือ หลัง (施琅 Shī Láng ?) ผู้บัญชาการราชนาวีชิง นำทัพเรือเข้าหักเอาเกาะไต้หวัน และเอาชัยเหนือทัพเรือตงหนิงบนเกาะเผิงหูได้ในวันที่ 17 กรกฎาคม 1683 สองวันถัดมา กองทัพชิงจึงขึ้นบกเพื่อปราบปรามการแข็งข้อที่ยังมีอยู่อีกประปราย ในที่สุด จักรวรรดิชิงก็สามารถผนวกอาณาจักรตงหนิงเข้าเป็นส่วนหนึ่งของตนได้ในปี 1684 โดยรวมกับมณฑลฝูเจี้ยน (福建省 Fújiàn Shěng ?; Fujian Province) เป็นอันสิ้นสุดการปกครองของตระกูลเจิ้งซึ่งมีมาราวยี่สิบปี[7] จากนั้น จักรวรรดิชิงได้ตั้งเมืองไต้หวัน (臺灣府 Táiwān Fǔ ?; Taiwan Prefecture) ขึ้น ณ บริเวณซึ่งเป็นไถหนานปัจจุบัน

ครั้นปี 1721 ชนชั้นรากหญ้าชาวจีนและชาวพื้นเมืองบนเกาะไต้หวันลุกฮือขึ้นต่อต้านการปกครองของราชวงศ์ชิงซึ่งดำเนินไปอย่างกดขี่ข่มเหง จู อีกุ้ย (朱一貴 Zhū Yīguì ?; Tsu It-Kui) หัวหน้ากบฏ นำกำลังเข้ายึดเมืองไต้หวันได้โดยปราศจากการปะทะต่อสู้ แต่ภายหลังพวกกบฏแตกคอกันเอง ราชวงศ์ชิงจึงส่งกองทัพจากแผ่นดินใหญ่เข้ามาฟื้นฟูความสงบเรียบร้อยได้โดยสะดวก จู อีกุ้ย ถูกจับและประหารชีวิต ราชวงศ์ชิงตรากฎหมายห้ามสร้างกำแพงเมืองไต้หวัน แต่ก็ปลูกป่าไผ่รายรอบเมืองไว้เป็นแนวกันภัยแทน อย่างไรก็ดี มีกบฏเกิดขึ้นอีกหลายครั้ง ราชวงศ์ชิงจึงสร้างกำแพงเมืองไต้หวันขึ้นในปลายคริสต์ทศวรรษที่ 1780[4]

อุทกภัยในปี 1823 ทำให้โคลนเลนเจิ่งนองทั่วฝั่งแม่น้ำในเมืองไต้หวัน แต่นี้ก็ทำให้เกิดท้องดินกว้างขวางเหมาะแก่การเพาะปลูก ต่อมา มีการขุดลอกทะเลเพื่อสร้างระบบแม่น้ำเรียกว่า "คลองห้า" (五條港 Wǔtiáogǎng ?) สำหรับอำนวยความสะดวกแก่การสัญจรทางน้ำและกันมิให้เรือขนาดใหญ่เข้ามาได้[4]

หลังจากที่เกาะไต้หวันงดติดต่อกับฝรั่งมายาวนานถึงหนึ่งร้อยเจ็ดสิบสี่ปี ราชวงศ์ชิงได้เปิดท่าเรือที่ตำบลอันผิงตามสนธิสัญญาเทียนจิน (天津条约 Tiānjīn Tiáoyuē ?; Treaty of Tientsin) เมื่อปี 1858 ครั้นปี 1864 ก็ตั้งด่านศุลกากรที่ท่าเรือดังกล่าว เหล่าพ่อค้าฝรั่งจึงจับกลุ่มกันอยู่ในท้องที่ที่เดิมเป็นป้อมวิลันดา

ในเดือนธันวาคม 1871 ชาวไผวัน (排灣 Páiwān ?) ชนพื้นเมืองทางภาคใต้ของเกาะไต้หวัน สงสัยว่า ชาวญี่ปุ่นซึ่งเรือแตกเข้ามาอาศัยอยู่ด้วยนั้นคิดไม่ซื่อ และจับตัดศีรษะเสียห้าสิบสี่คน จักรวรรดิญี่ปุ่นจึงส่งกองทัพเข้ารุกรานเกาะไต้หวันในปี 1874 รัฐบาลชิงส่งเฉิน เป่าเจิน (沈葆楨 Chén Bǎozhēn ?; Shen Pao-chen) ข้าหลวงใหญ่ เข้ามาจัดการป้องกันบนเกาะ เฉินปรับปรุงระบบป้องกันหลายประการที่เมืองไต้หวัน โดยตั้งเครือข่ายโทรเลขระหว่างเมืองไต้หวันกับเซี่ยเหมิน (厦门 Xiàmén ?; Amoy) และให้ช่างฝรั่งเศสสร้างป้อมเรียก "หอทองคู่ฟ้า" (億載金城 Yìzǎi Jīnchéng ?; Eternal Golden Castle) ขึ้นที่ตำบลอันผิง[4][7] มีการรื้ออิฐจากป้อมวิลันดามาใช้สร้างบางป้อมดังกล่าวบางส่วนด้วย[11]

พัฒนาการตลอดสองร้อยปีที่ผ่านมาทำให้เมืองไต้หวันกลายเป็นชุมชนใหญ่ที่สุดบนเกาะไต้หวัน วิลเลียม แคมป์เบล (William Campbell) อนุศาสนาจารย์ชาวสกอต พรรณนาสภาพเมืองในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1870 ไว้ว่า "เกี่ยวกับตัวเมืองไต้หวันนั้น ข้าพเจ้าขอกล่าวว่า กำแพงอิฐรอบเมืองหนาราวสิบห้าฟุต สูงยี่สิบห้าฟุต และมีปริมณฑลราวห้าไมล์ มีการสร้างหอตรวจการณ์สูงตระหง่านบนประตูเมืองทั้งสี่ ส่วนพื้นที่กว้างขวางภายในเมืองนั้นใช้ประดิษฐานวัดหลวง และจวนหรือสำนักราชการบ้านเมืองทั้งฝ่ายพลเรือนและทหาร แต่จำเป็นต้องดำเนินการตามแผนปรับปรุงเมืองไต้หวันอีกมาก แม้เดินทอดน่องไปเรื่อย ๆ ก็สุขใจได้อย่างไม่ต้องสงสัย ส่วนห้างร้านทั้งหลายก็ช่างตกแต่งงามตายิ่งนัก ทว่า กฎระเบียบที่วางไว้ทำให้ถนนแคบเหลือเกิน ทั้งยังคดเคี้ยว ขรุขระ และเหม็นสาบเหม็นเน่าคละคลุ้ง"[12]

ครั้นปี 1885 รัฐบาลชิงได้กำหนดให้เกาะไต้หวันเป็นมณฑลใหม่ต่างหากจากมณฑลฝูเจี้ยน เรียกว่า "มณฑลไต้หวัน" (臺灣省 Táiwān Shěng ?; Taiwan Province) เพื่อให้พัฒนาได้เร็วขึ้น แล้วย้ายเมืองเอกจากเมืองไต้หวันไปยังไถจง (臺中 Táizhōng ?; Taichung) ต่อมาในปี 1887 ก็เปลี่ยนเมืองเอกเป็นไทเป

เมืองขึ้นญี่ปุ่น

ยุทธศาลา (武徳殿 Butokuden ?; Court of Martial Art) ซึ่งญี่ปุ่นสร้างไว้ในไถหนาน

ในปี 1895 รัฐบาลชิงรบกับรัฐบาลญี่ปุ่น นำไปสู่สงครามจีนญี่ปุ่นครั้งแรก และจีนแพ้ศึก รัฐบาลชิงจึงทำสนธิสัญญาหม่ากวัน (馬關條約 Mǎguān Tiáoyuē ?) ยกเกาะไต้หวันและเกาะเผิงหูให้แก่จักรวรรดิญี่ปุ่น ข้าราชการไต้หวันจึงพร้อมใจกันประกาศเกาะไต้หวันเป็นรัฐเอกราชเรียกว่า "สาธารณรัฐไต้หวัน" (臺灣民主國 Táiwān Mínzhǔ Guó ?; Republic of Formosa) เพื่อไม่ยอมอยู่ในอำนาจญี่ปุ่น โดยตั้งเมืองหลวงในท้องที่ซึ่งปัจจุบันเป็นไถหนาน แต่เมื่อกองทัพบกญี่ปุ่นขึ้นเกาะในเดือนตุลาคม 1895 ข้าราชการดังกล่าวทั้งหลายก็หนีหายไปสิ้น ทิ้งให้เกาะไร้ผู้ปกครอง บรรดาผู้ดีท้องถิ่นและพ่อค้าฝรั่งในไถหนานจึงเลือกทอมัส บาร์เคลย์ (Thomas Barclay) อนุศาสนาจารย์ชาวอังกฤษ ไปเจรจากับกองทัพญี่ปุ่น ได้ความว่า ไถหนานยอมจำนนโดยไม่ขัดขืน[4]

ดังกล่าวมาแล้วว่า อาณาบริเวณซึ่งเป็นไถหนานในปัจจุบันนั้นเดิมมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า "ไต้หวัน" ก่อนที่ชื่อนี้จะกลายเป็นคำเรียกดินแดนทั้งเกาะ ส่วนชื่อ "ไถหนาน" นั้นใช้เรียกท้องที่ดังกล่าวอย่างเป็นทางการแต่เมื่อใดไม่ปรากฏชัด ทว่า เมื่อญี่ปุ่นได้ครองไต้หวัน ญี่ปุ่นใช้ไถหนานเป็นเมืองหลวงของเกาะไต้หวัน และเปลี่ยนชื่อเมืองนี้ในภาษาตนเองหลายครั้ง ในปี 1895 ใช้ว่า "ไทนังเก็ง" (Tainanken) ในปี 1901 ใช้ "ไทนันโช" (Tainanchō) และในปี 1920 ใช้ "ไทนันชู" (Tainanshū) ช่วงนั้น ไถหนานประกอบด้วยท้องที่ที่ปัจจุบันเป็นเทศมณฑลเจียอี้ (嘉義縣 Jiāyì Xiàn ?; Chiayi County) และเทศมณฑลหยุนหลิน (雲林縣 Yúnlín Xiàn ?; Yunlin County) นอกเหนือไปจากพื้นที่อื่น ๆ[8]

อย่างไรก็ดี แม้ชนชั้นสูงจะยอมจำนน แต่ชนชั้นล่างไม่เห็นด้วยและสะสมความไม่พอใจเรื่อยมา ภายหลังก็ปะทุเป็นการลุกฮือขึ้นต่อต้านญี่ปุ่นตั้งแต่วันที่ 9 เมษายน 1915 โดยเริ่มที่ตำบลเจี้ยวปาเหนียน (噍吧哖 Jiaòbānián ?; Tapani) ซึ่งปัจจุบันอยู่ในอำเภอยู่จิ่ง และมียฺหวี ชิงฟัง (余清芳 Yú Qīngfāng ?) เป็นหัวหน้า การลุกฮือดังกล่าวขยายวงอย่างรวดเร็ว ในไม่ช้าก็มีผู้ร่วมก่อการทั่วเกาะ ทั้งได้รับความสนับสนุนจากชาวจีนแผ่นดินใหญ่ซึ่งอาศัยอยู่บนเกาะและจากชาวพื้นเมืองของเกาะเอง จักรวรรดิญี่ปุ่นปราบปรามกบฏอย่างรุนแรง ผู้คนจำนวนมากถูกฆ่า และสถานที่หลายแห่งถูกทำลาย ยฺหวี ชิงฟัง ถูกจับได้ในวันที่ 22 สิงหาคม 1915 และถูกพิพากษาประหารชีวิตพร้อมกับชาวไถหนานอีกมากกว่าแปดร้อยคน เมื่อประหารไปได้แล้วกว่าหนึ่งร้อยคน พระเจ้าไทโช (大正 Taishō ?) แห่งญี่ปุ่นก็อภัยโทษคนที่เหลือ[4] เหตุการณ์นี้ทำให้ญี่ปุ่นเปลี่ยนนโยบายที่มีต่อไต้หวันจากการบีบให้จำนนเป็นการผนวกเข้ากับญี่ปุ่นและพัฒนาให้ทันสมัยไปพร้อมกัน รัฐบาลญี่ปุ่นจัดตั้งโครงสร้างพื้นฐานหลายประการขึ้นในเมืองไถหนาน เช่น การศึกษา การศาล การบริหารราชการแผ่นดิน การคมนาคม การขนส่งทางราง การขนส่งทางอากาศ การขนส่งทางน้ำ และการชลประทาน นอกจากนี้ ยังวางผังเมืองแบบสมัยใหม่ กับทั้งรื้อกำแพงเมืองเก่าทิ้ง และสร้างถนนอันกว้างขวางขึ้นแทน[8]

หลังสงครามโลก

ต่อมาในปี 1912 ประเทศจีนเปลี่ยนแปลงรูปแบบรัฐจากระบอบราชาธิปไตยเป็นระบอบสาธารณรัฐ พรรคชาตินิยม (國民黨 Guómíndǎng ?; Kuomintang) ได้เถลิงอำนาจในประเทศจีน และสามารถยึดเกาะไต้หวันคืนไปในปี 1945 หลังสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง เกาะไต้หวันจึงกลับไปเป็นมณฑลหนึ่งของประเทศจีน และไถหนานมีสถานะเป็นเทศมณฑลหนึ่งของมณฑลไต้หวัน

ครั้นปี 1947 เกิดเหตุการณ์ใหญ่ในเทศมณฑลไถหนาน คือ กบฏ 228 จนวันที่ 11 มีนาคม 1947 ทัง เต๋อจัง (湯德章 Tāng Dézhāng ?; Thng Tek-chiong) นักนิติศาสตร์ลูกครึ่งญี่ปุ่นซึ่งถูกกล่าวหาว่า เป็นสมาชิกกบฏ และลงรับเลือกตั้งเป็นนายกเทศมนตรีเมืองไถหนาน ถูกจับและตั้งข้อหาแบ่งแยกดินแดน วันรุ่งขึ้น เขาถูกทรมานและประหารชีวิตต่อหน้าธารกำนัลในศาลากลางไถหนาน แต่เมื่อเขาตายแล้ว ศาลก็พิพากษาว่า เขาไม่มีความผิด ศาลากลางนั้นจึงจัดตั้งเป็น "อนุสรณ์สถานทัง เต๋อจัง" (湯德章紀念公園 Tāng Dézhāng Jìniàn Gōngyuán ?; Tang Dezhang Memorial Park) ในภายหลัง[13]

ในปี 1949 เกิดสงครามกลางเมืองในประเทศจีน ส่งผลให้พรรคสังคมนิยม (共产党 Gòngchǎndǎng ?; Communist Party) ได้เป็นใหญ่ พรรคสังคมนิยมเปลี่ยนรูปแบบการปกครองจากระบอบประชาธิปไตยเป็นระบอบสังคมนิยม และเรียกประเทศเสียใหม่ว่า "สาธารณรัฐประชาชนจีน" พรรคชาตินิยมจึงหนีมายังเกาะไต้หวัน และจัดตั้งการปกครองบนพื้นที่ไต้หวันแยกเป็นประเทศต่างหากจากสาธารณรัฐประชาชนจีน เรียกว่า "สาธารณรัฐจีน" แต่พรรคสังคมนิยมยังคงถือว่า พื้นที่ไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของสาธารณรัฐประชาชนจีน กับทั้งสาธารณรัฐจีนเองก็ยังไม่เป็นที่ยอมรับของนานาชาติว่าเป็นประเทศเอกราชมาจนปัจจุบัน

เมื่อจัดตั้งสาธารณรัฐจีนแล้ว รัฐบาลที่สถาปนาขึ้นได้จัดระเบียบการปกครองบนเกาะไต้หวันเสียใหม่ เทศมณฑลไถหนานเลือกตั้งนายกเทศมนตรีและคณะเทศมนตรีจริง ๆ เป็นครั้งแรกในปี 1950 ต่อมาในช่วงทศวรรษที่ 1960 มีการปรับปรุงท่าเกาสยฺง ทำให้เมืองเกาสฺยง (高雄 Gāoxióng ?; Kaohsiung) เติบโตขึ้นเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจทางภาคใต้แทนไถหนาน แต่ไถหนานยังคงได้รับความสำคัญในลำดับต้น ๆ เพราะโครงการพัฒนาระดับชาติหลายโครงการเริ่มที่ไถหนานก่อน ความเจริญรุ่งเรืองขึ้นตามลำดับทำให้เทศมณฑลไถหนานได้รับการยกระดับขึ้นเป็นเทศบาลพิเศษ เขตปกครองชั้นสูงสุด มาจนปัจจุบัน

แหล่งที่มา

WikiPedia: ไถหนาน http://web.archive.org/web/20080501181411/http://c... //tools.wmflabs.org/geohack/geohack.php?pagename=%... http://www.uni-lions.com.tw/traffic-park.asp http://www.ncku.edu.tw/ver2006/en/ncku/history.htm http://confucius.cca.gov.tw/english/navigator/map0... http://foreigner.tainan.gov.tw/en/ http://tour.tainan.gov.tw/ http://www.tainan.gov.tw/tainan/default.asp http://www.tainan.gov.tw/tainan/defaulte.asp http://www.tnc.gov.tw/book/fron/index.html