ผลกระทบต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม ของ ไนโตรเจนออกไซด์

ด้วยอัตราส่วนผสมที่แตกต่างในแต่ละตัวของไนโตรเจน จึงส่งผลต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อมที่แตกต่างกัน และก๊าซในกลุ่มนี้สามารถเคลื่อนที่ไปจากแหล่งกำเนิดได้เป็นระยะทางไกลกว่าร้อยกิโลเมตร

  1. โอโซน เมื่อไนโตรเจนออกไซด์ทำปฏิกิริยากับสารระเหยอินทรีย์ (Volatile Organic Compound) และมีพลังงานจากแสงอาทิตย์ช่วยเร่งปฏิกิริยา จะทำให้เกิดหมอกควัน (Smog) ในระดับภาคพื้นดิน เมื่อมนุษย์สูดดมก๊าซนี้เข้าไปเป็นเวลานาน เนื้อปอดจะถูกทำลาย ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของปอดลดลงโดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง เช่น เด็ก ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคปอดหรือระบบทางเดินหายใจ แม้พื้นที่ไกลจากจุดกำเนิดก๊าซก็ได้รับผลกระทบได้เนื่องจากก๊าซสามารถเคลื่อนที่ไปสู่ที่ต่าง ๆ ได้ด้วยการพัดพาของกระแสลม
  2. ฝนกรด เมื่อไนโตรเจนออกไซด์ หรือ ก๊าซในกลุ่มซัลเฟอร์ออกไซด์ ทำปฏิกิริยากับสารตัวอื่นที่อยู่ในชั้นบรรยากาศของโลก หากตกลงสู่พื้นดินในรูปแบบ ฝน หมอก หิมะ หรืออนุภาคอื่น ๆ ที่ไม่มีองค์ประกอบของน้ำ หากวัตถุใดสัมผัสจะทำให้เกิดภาวะการกัดกร่อน หากตกลงในแหล่งน้ำจะทำให้เกิดภาวะความเป็นกรด ส่งผลต่อสภาพแวดล้อมเหล่านั้นทำให้ไม่เหมาะสำหรับการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิตทั้งพืชและสัตว์
  3. กรดไนตริก เกิดจากก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ ทำปฏิกิริยากับสารประกอบตัวอื่น ๆ เช่น แอมโมเนีย หรือ ไอน้ำ ทำให้เกิดฝุ่นละอองที่มีอนุภาคเล็ก หากสูดดมเข้าไปจะส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจ ทำลายปอด ส่วนผู้ที่มีภาวะโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจอยู่แล้วจะส่งผลกระทบรุนแรงขึ้น หรือกลุ่มผู้ป่วยโรคหัวใจ
  4. ไนเตรท หากอยู่ในแหล่งน้ำมากเกินไปจะทำพืชน้ำเจริญเติบโตมากจนทำลายระบบนิเวศในแหล่งน้ำนั้น
  5. ภาวะเรือนกระจก (Greenhouse effect) เกิดจากก๊าซไนตรัสออกไซด์ ทำให้อุณหภูมิของโลกสูงขึ้น
  6. สารประกอบทางเคมีเป็นพิษอื่น ๆ เช่น ไนเตรทเรดิคัล ไนโตรเรนส์ ไนโตรซาไมด์ ซึ่งอาจส่งผลต่อการกลายพันธุ์ของสิ่งมีชีวิต
  7. บดบังทัศนวิสัยการมองเห็น ไนเตรท และ ไนโตรเจนไดออกไซด์ บดบังหรือขัดขวางการเดินทางของแสงอาทิตย์ ส่งผลให้ทัศนวิสัยการมองเห็นสั้นลง