การจัดสรรพื้นที่ ของ ไอคอนสยาม

ศูนย์การค้าไอคอนสยาม ถ่ายจากฝั่งตรงข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา

โครงการไอคอนสยาม ออกแบบโดยใช้แนวคิด "เมืองแห่งความรุ่งโรจน์อันเป็นนิรันดร์" (The Icon of Eternal Prosperity) มีพื้นที่โครงการรวมทั้งหมด 750,000 ตารางเมตร ประกอบด้วย

ศูนย์การค้า

ภายในร้านแอปเปิลสโตร์แห่งแรกในประเทศไทย

ไอคอนสยาม ประกอบไปด้วยอาคารศูนย์การค้าจำนวน 2 อาคาร คือ ไอคอนสยาม (ICONSIAM) และไอคอนลักซ์ (ICONLUXE) โดยมีพื้นที่เฉพาะส่วนศูนย์การค้ารวม 525,000 ตารางเมตร ตัวอาคารออกแบบโดยได้แรงบันดาลใจจากกระทง บายศรี และสไบ ประกอบด้วยพื้นที่สำคัญดังนี้

  • สยามทาคาชิมาย่า (Siam Takashimaya) ห้างสรรพสินค้าในกลุ่มทาคาชิมาย่าสาขาแรกในประเทศไทย พื้นที่ 36,000 ตารางเมตร[21][22] โดยเป็นสาขานอกประเทศญี่ปุ่นที่มีขนาดพื้นที่ใหญ่ที่สุด ภายในนอกจากจะมีการแบ่งเป็นแผนกต่าง ๆ เช่นเดียวกับห้างสรรพสินค้าโดยทั่วไปแล้ว ยังมีศูนย์อาหารโรส ฟู้ด อเวนิว ตลาดทากะ มาร์เช ฮอกไกโด โดซังโกะ พลาซา และโซนรวมร้านอาหารเอเชีย โรส ไดน์นิ่ง อีกด้วย[23]
  • สุขสยาม (SOOK Siam) พื้นที่สำหรับนำเสนอผลิตภัณฑ์และวัฒนธรรมไทย[24]
  • เดียร์ ทัมมี (Dear Tummy) ซูเปอร์มาร์เก็ตและฟู้ดมาร์เก็ตที่นำเสนอสินค้าและร้านอาหารระดับพรีเมียม
  • เซเว่น อีเลฟเว่น ร้านสะดวกซื้อรูปแบบพรีเมียมแห่งแรกในศูนย์การค้า[25]
  • แอปเปิลสโตร์ (Apple Store) สาขาแรกในประเทศไทย และเป็นสาขาที่สองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ต่อจากประเทศสิงคโปร์[26][27]
  • ไอคอนคราฟต์ (ICONCRAFT) แหล่งรวมงานหัตถศิลป์และนวัตศิลป์ฝีมือคนไทย โดยความร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงอุตสาหกรรม และศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน)[28]
  • ไอคอน ซีเนคอนิค (Icon Cineconic) โรงภาพยนตร์ในเครือเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ๊ป[29] จำนวน 14 โรง[23] ในจำนวนนี้มีโรงภาพยนตร์ไอแมกซ์ โฟร์ดีเอ็กซ์ และดอลบี แอทมอส ระบบละ 1 โรง
  • ซุปเปอร์พาร์ค (SuperPark) สวนสนุกจากประเทศฟินแลนด์ โดยเป็นสาขาที่สามในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่อจากประเทศสิงคโปร์และมาเลเซีย[30] นอกจากนี้ยังเป็นสาขาที่มีขนาดใหญ่อันดับสามรองจากสาขาในประเทศฟินแลนด์และฮ่องกง[31]
  • ทรู ไอคอน ฮอลล์ (True Icon Hall) ศูนย์ประชุมและโรงมหรสพอเนกประสงค์ ประกอบด้วยโถงประชุมหลัก พื้นที่ 2,775 ตารางเมตร ความจุสูงสุด 2,700 ที่นั่ง และห้องประชุมย่อยอีก 14 ห้อง (ร่วมทุนกับ ทรู คอร์ปอเรชั่น)[32]
  • คลับไอคอน บาย ฟิตเนส เฟิร์สท์ (ClubICON by Fitness First) สถานออกกำลังกายภายในศูนย์การค้า โดยเป็นฟิตเนส เฟิร์สท์ สาขาใหญ่ที่สุดในทวีปเอเชีย[33][34]
  • ริเวอร์ มิวเซียม แบงค็อก (River Museum Bangkok) พิพิธภัณฑ์มาตรฐานสากลแห่งแรกของประเทศไทยที่ตั้งอยู่ภายในศูนย์การค้า โดยได้รับความร่วมมือจากกรมธนารักษ์ และกรมศิลปากร[32][35]

อาคารชุดเพื่อการพักอาศัย

อาคารชุดเพื่อการพักอาศัยของไอคอนสยาม

ไอคอนสยาม ประกอบด้วยอาคารที่พักอาศัย 2 อาคาร ได้แก่

  • แมกโนเลียส์ วอเตอร์ฟร้อนท์ เรสซิเดนเซส แอท ไอคอนสยาม (Magnolias Waterfront Residences at ICONSIAM) เป็นอาคารที่พักอาศัยโดยแมกโนเลีย ควอลิตี้ ดิเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น มีความสูง 317.95 เมตร ทำลายสถิติอาคารที่สูงที่สุดในประเทศไทยของตึกคิง เพาเวอร์ มหานคร ที่ 314.2 เมตร ลงเมื่อวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2561[36]
  • เดอะ เรสซิเดนเซส แอท แมนดาริน โอเรียนเต็ล แบงค็อก อิน ไอคอนสยาม (The Residences at Mandarin Oriental Bangkok in ICONSIAM) ความสูง 272.20 เมตร เป็นอาคารที่พักอาศัยโดยกลุ่มโรงแรมและรีสอร์ทแมนดาริน โอเรียนเต็ล แห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นอาคารที่มีความสูงเป็นอันดับ 5 ของประเทศไทย[37]

พื้นที่จัดกิจกรรม

วิวของเขตบางรัก และแม่น้ำเจ้าพระยาเมื่อมองจากไอคอนสยาม
  • ริเวอร์พาร์ค (River Park) ทางเดินริมแม่น้ำและลานกิจกรรม ความยาวเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา 500 เมตร นับเป็นทางเดินริมแม่น้ำที่ยาวที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งพื้นที่บริเวณนี้ยังมี The Iconic Multimedia Water Features ซึ่งเป็นการแสดงระบำน้ำพุผสมแสง สี เสียง และสื่อผสม ที่มีความยาวมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เช่นกัน โดยมีความยาว 240 เมตร
  • ไอคอนสยามพาร์ค (ICONSIAM Park) สวนลอยฟ้าและจุดชมวิวแม่น้ำเจ้าพระยาภายในศูนย์การค้า ตั้งอยู่หน้าแอปเปิลสโตร์

โครงการไอซีเอส

ไอคอนสยามมีแผนก่อสร้างอาคารในระยะที่ 2 บนพื้นที่ 5 ไร่ ฝั่งตรงข้ามของถนนเจริญนครในชื่อ ไอซีเอส (ICS) ประกอบด้วยร้านค้าและร้านอาหารเพิ่มเติมจากอาคารหลัก ซูเปอร์มาร์เก็ต และโรงแรมฮิลตัน การ์เดน อินน์ กรุงเทพ โดยกำหนดเปิดให้บริการเต็มรูปแบบในปี พ.ศ. 2565[34]