กรณีกบฏไอทีวี ของ ไอทีวี

การเข้ามาถือหุ้นในไอทีวีของชินคอร์ป ถูกคัดค้านโดยพนักงานฝ่ายข่าวของไอทีวี นำโดยนายจิระ ห้องสำเริง บรรณาธิการบริหารขณะนั้น ต่อมาเมื่อชินคอร์ปเข้ามาถือหุ้นในไอทีวีเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2543 มีการเข้าแทรกแซงของฝ่ายผู้บริหาร ในการทำข่าวการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 6 มกราคม 2544 ซึ่งเป็นการรายงานร่วมระหว่าง ไอทีวี และเครือเนชั่น [5] ดังนี้ [6][7]

  • มีคำสั่งเปลี่ยนตัวนักข่าวที่ไปตั้งคำถาม พ.ต.ท.ทักษิณ เรื่องการโอนหุ้น
  • มีการสั่งไม่ให้ออกอากาศข่าวเรื่องสนามกอล์ฟอัลไพน์
  • มีความพยายามเข้ามากำหนดและชี้นำประเด็นในฝ่ายข่าวมากขึ้น สั่งห้ามผู้ประกาศข่าวในรายการสายตรงไอทีวี อ่านหนังสือพิมพ์ทุกฉบับที่ลงข่าวเรื่องการโอนหุ้น และที่ดินสนามกอล์ฟอัลไพน์
  • มีเหตุการณ์พรรคไทยรักไทยเช่ารถโอบีของไอทีวี เพื่อถ่ายทอดการปราศรัยของพรรค ในทางตรงกันข้าม เมื่อเจ้าหน้าที่ข่าวเข้าไปทำข่าวปราศรัยหาเสียงของพรรคประชาธิปัตย์ ที่จังหวัดชลบุรี กลับถูกสั่งเรียกรถโอบีกลับสถานีโดยผู้บริหารชินคอร์ป โดยไม่มีหนังสือหรือบันทึกถึงฝ่ายข่าว
  • กรณีเจ้าหน้าที่ข่าวบันเทิง ที่ไม่ได้ไปทำข่าวเปิดตัวนักร้องใหม่ในเครือของค่ายชินคอร์ป (ชยาภา วงศ์สวัสดิ์ บุตรสาว เยาวภา วงศ์สวัสดิ์) ได้สร้างความไม่พอใจให้กับฝ่ายบริหาร และมีคำสั่งให้ไปทำข่าวชิ้นนั้นออกอากาศในทันที
  • มีการสั่งให้กองบรรณาธิการยกเลิกการวิเคราะห์ข่าวของ นายสรยุทธ สุทัศนะจินดา ที่วิเคราะห์พาดพิงถึงหัวหน้าพรรคไทยรักไทย ติดต่อกัน 3 วัน เกี่ยวกับปัญหาการถือหุ้น
  • มีการสั่งถอดรายการวิเคราะห์ข่าวการเมือง เปรียบเทียบฟอร์มระหว่าง พ.ต.ท.ทักษิณ และ นายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น

ทั้งหมดนำมาสู่การออกแถลงการณ์ข้อเรียกร้องจำนวน 7 ข้อ ให้ พ.ต.ท.ทักษิณ, นายบุญคลี ปลั่งศิริ ผู้บริหารชินคอร์ป และ นายสรรค์ชัย เตียวประเสริฐกุล กรรมการผู้จัดการไอทีวี มีเนื้อหาโดยรวมคือให้ยุติการครอบงำ กดดัน กลั่นแกล้ง และแทรกแซงสื่อ ซึ่งถือเป็นการละเมิดรัฐธรรมนูญ มาตรา 41 นำโดยนายเทพชัย หย่อง ผู้อำนวยการฝ่ายข่าว ซึ่งลาออกในช่วงปลายปี พ.ศ. 2543 ในเวลาต่อมา

วันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2544 กลุ่มผู้สื่อข่าวไอทีวี นำโดยนายจิระ ห้องสำเริง บรรณาธิการบริหารออกแถลงการณ์ถึง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ขอให้ยุติการแทรกแซงการทำงานของฝ่ายข่าว โดยเชื่อว่าการแทรกแซงจะทำให้ไม่สามารถเสนอข่าวอย่างเป็นกลางและไม่สามารถรักษาความน่าเชื่อถือของสถานีโทรทัศน์ไอทีวีไว้ได้ จากนั้นไม่กี่วันนายจิระ ห้องสำเริงก็ได้ลาออก

มีการร่วมกันจัดตั้งสหภาพแรงงานและจัดการประชุมครั้งแรกเพื่อเลือกคณะกรรมการสหภาพ เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2544 ต่อมาวันที่ 7 กุมภาพันธ์ ผู้บริหารไอทีวี มีคำสั่งเลิกจ้างพนักงาน 23 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนที่ร่วมเคลื่อนไหว ประกอบด้วยกลุ่มแรก จำนวน 8 คน ถูกเลิกจ้างด้วยเหตุผลว่าไปร่วมแถลงข่าวต่อสาธารณชนทำให้บริษัทเสื่อมเสีย และกลุ่มหลังเป็นกรรมการสหภาพจำนวน 15 คน ด้วยสาเหตุว่าบริษัทมีนโยบายปรับลดพนักงาน เพราะประสบปัญหาขาดทุนต่อเนื่อง พนักงานที่ถูกเลิกจ้างประกอบด้วย

กลุ่มนักข่าวจำนวน 21 คน (มี 2 คนไม่ยื่นฟ้อง) ที่ถูกเรียกว่า “กบฏไอทีวี” ได้นำเรื่องการเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรมยื่นคำร้องไปยังคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ (ครส.) ว่าบริษัทกระทำการอันไม่เป็นธรรม ตามมาตรา 121 ของพ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์

ครส.วินิจฉัยว่าการกระทำของไอทีวีไม่เป็นธรรมต่อผู้ถูกเลิกจ้าง และมีคำสั่งเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2544 ให้บริษัทไอทีวีรับพนักงานทั้ง 21 คนกลับเข้าทำงานเช่นเดิม แต่บริษัทกลับปฏิเสธและได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลแรงงานกลาง ขอให้เพิกถอนคำสั่ง ครส.

กลุ่ม “กบฏไอทีวี” จึงได้ฟ้องคดีต่อศาลแรงงานกลางเพื่อให้ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายแรงงาน วันที่ 26 กันยายน 2545 ศาลแรงงานวินิจฉัยให้ ฝ่ายโจทก์ เป็นฝ่ายชนะคดี และให้บริษัทรับพนักงานกลับเข้าทำงานพร้อมทั้งจ่ายเงินเดือนในระหว่างที่ถูกเลิกจ้างชดเชยด้วย อย่างไรก็ดี บริษัทไอทีวีได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา และศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานได้พิพากษายืนตามคำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2548