การยกเลิกสัมปทาน ของ ไอทีวี

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2550 ว่า หากไอทีวีไม่สามารถจ่ายค่าปรับและค่าสัมปทานค้างจ่าย คิดเป็นเงินประมาณ 1 แสนล้านบาทได้ภายในวันที่ 7 มีนาคม ให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเลิกสัมปทานกับไอทีวี

ในวันเดียวกัน นายบุญคลี ปลั่งศิริ ในฐานะตำแหน่งประธานกรรมการบริษัท ยื่นใบลาออกจากตำแหน่ง ส่วนนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล ประธานกรรมการบริหาร ออกแถลงข่าวว่า ไอทีวีพร้อมให้ความร่วมมือ ที่รัฐจะให้หน่วยงานใหม่เข้ามาใช้สถานที่ และอุปกรณ์เพื่อออกอากาศสถานีโทรทัศน์ยูเอชเอฟ อย่างต่อเนื่อง หากไอทีวีถูกยกเลิกสัญญาสัมปทาน

คณะกรรมการบริหารชุดใหม่ของไอทีวี จำนวน 9 คน ประชุมเป็นนัดแรกเมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2550 มีมติเปลี่ยนชื่อสถานีเป็น ทีไอทีวี (Thailand Independent Television) และประชุมหาข้อยุติเรื่องกฎหมายและแผนดำเนินงานเข้าบริหารสถานี ภายหลังการยกเลิกสัมปทานในวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2550[10]

คณะกรรมการบริหารชุดใหม่ ประกอบด้วย

พร้อมกันนี้ ได้แต่งตั้ง นายจีระ หงส์ลดารมภ์ เป็นผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์ช่องใหม่ด้วย

คณะรัฐมนตรี มีมติเมื่อวันอังคารที่ 6 มีนาคม ว่าหากไอทีวีไม่สามารถจ่ายค่าปรับ และค่าสัมปทานค้างจ่าย รวมประมาณ 1 แสนล้านบาท ภายใน 7 มีนาคม ได้ ให้ยุติการออกอากาศเป็นการชั่วคราว เพื่อส่งเรื่องให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความว่า รัฐสามารถดำเนินการออกอากาศต่อเนื่องได้หรือไม่ ในวันที่ 9 มีนาคม ขณะเดียวกัน ให้ยึดเครื่องส่งโทรทัศน์ยูเอชเอฟ มาเก็บรักษาไว้ที่กรมประชาสัมพันธ์

หลังจากมีมติคณะรัฐมนตรี ประชาชนจำนวนมาก ได้เดินทางไปแสดงความเสียใจ และให้กำลังใจ พนักงานไอทีวี ที่สถานีโทรทัศน์ไอทีวี จำนวนมาก ในจำนวนนี้ มีบุคคลในวงการโทรทัศน์หลายท่าน อาทิ นายสรยุทธ สุทัศนะจินดา, นางปนัดดา (วงศ์ผู้ดี) พิพิธสุขสันต์, นายสาธิต ยุวนันทการุญ, นายนิธิ สมุทรโคจร, นายสำราญ ช่วยจำแนก (อี๊ด วงฟลาย) เป็นต้น

ในช่วงเย็น นายจาตุรงค์ สุขเอียด ผู้แทนพนักงานไอทีวี เข้ายื่นไต่สวนฉุกเฉินต่อศาลปกครอง เพื่อให้สถานีโทรทัศน์ไอทีวีสามารถออกอากาศต่อไปได้ โดยศาลปกครองรับเรื่องไว้ และจะให้มารับทราบผลการวินิจฉัย ในเวลา 13.00 น. วันที่ 7 มีนาคม

คณะกรรมการกฤษฎีกา มีมติเมื่อวันที่ 7 มีนาคม ตีความข้อกฎหมายในกรณีดังกล่าวว่า กรมประชาสัมพันธ์ สามารถดำเนินการออกอากาศโทรทัศน์ระบบยูเอชเอฟต่อเนื่องไปได้ หลังจากนั้น ศาลปกครองมีคำวินิจฉัยให้คุ้มครองฉุกเฉินสถานีโทรทัศน์ไอทีวี ให้สามารถออกอากาศต่อไปอย่างต่อเนื่องเช่นกัน

หลังจากการที่ถูก สปน.บอกเลิกสัญญาสัมปทานว่าด้วยการบริหารกิจการสถานีโทรทัศน์ระบบยูเอชเอฟไปแล้วนั้น ทำให้ปัจจุบัน บริษัทฯ ไม่ได้ประกอบธุรกิจหรือกิจการใดๆ​เลยทั้งสิ้น ส่วนในด้านของกิจการสถานีโทรทัศน์ระบบยูเอชเอฟ คือสถานีโทรทัศน์ไอทีวีนั้น ก็ได้โอนกิจการย้ายไปสังกัดที่กรมประชาสัมพันธ์ ในวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2550 และ องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ในวันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2551 ตามลำดับ (ผลที่ตามมาก็คือสถานีโทรทัศน์ได้เปลี่ยนชื่อเป็น สถานีโทรทัศน์ทีไอทีวี และในปัจจุบันใช้ชื่อว่า สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส) นอกเหนือจากนี้แล้ว เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2557 คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้มีมติให้เพิกถอนหุ้นสามัญของบริษัทฯที่เคยทำการซื้อขาย ออกจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ทำให้บริษัทฯต้องพ้นจากการเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ดังกล่าว[11]