ต้นกำเนิด ของ 90377_เซดนา

ในรายงานการค้นพบเซดนา ไมก์ บราวน์ และเพื่อนร่วมงานของเขาบรรยายไว้ว่าเซดนาเป็นวัตถุแรกที่อยู่ในบริเวณเมฆออร์ต ซึ่งเป็นเมฆสมมติของดาวหางที่เชื่อกันว่ามีอยู่ไปไกลถึงเกือบหนึ่งปีแสงจากดวงอาทิตย์ พวกเขาสังเกตว่าจุดใกล้ที่สุดของเซดนา (76 AU) นั้นไกลเกินกว่าที่อิทธิพลความโน้มถ่วงจากดาวเนปจูนจะกระจายเซตนาได้ แตกต่างจากวัตถุแถบหินกระจาย เช่น อีริส[15] เนื่องจากเซดนาอยู่ใกล้ดวงอาทิตย์เกินกว่าที่คาดไว้สำหรับวัตถุเมฆออร์ต ประกอบกับมีวงโคจรที่เอียงในระนาบใกล้เคียงกับวัตถุอื่นในแถบไคเปอร์และดาวเคราะห์ พวกเขาจึงบรรยายวัตถุค้นพบใหม่ชิ้นนี้เป็น "วัตถุเมฆออร์ตชั้นใน" ซึ่งเริ่มตั้งแต่บริเวณแถบหินกระจายในแถบไคเปอร์ไปจนถึงบริเวณที่เป็นทรงกลมของเมฆออร์ต[43][44]

ถ้าเซดนากำเนิดขึ้นในตำแหน่งปัจจุบัน จานดาวเคราะห์ก่อนเกิดดั้งเดิมของดวงอาทิตย์ต้องแผ่ออกไปไกลถึง 75 หน่วยดาราศาสตร์ (AU) ในอวกาศ[45] วงโคจรดั้งเดิมของเซดนาก็ต้องเกือบเป็นวงกลมเช่นกัน มิเช่นนั้นการกำเนิดโดยการชนกันจากวัตถุขนาดเล็กกว่าจะเป็นไปไม่ได้ เพราะว่าจะรบกวนความเร็วสัมพัทธ์ที่มากระหว่างชิ้นส่วนเล็ก ๆ มากเกินไป ดังนั้นจะต้องเหวี่ยงเซดนามายังวงโคจรปัจจุบันด้วยแรงโน้มถ่วงของวัตถุบางอย่าง[46] ในรายงานแรกของพวกเขานั้น บราวน์ ราบิโนวิตซ์ และเพื่อนร่วมงานเสนอว่ามีสามตัวเลือกที่เป็นไปได้ที่จะเป็นวัตถุที่มารบกวนนี้ ได้แก่ ดาวเคราะห์ที่ยังไม่ค้นพบที่อยู่ถัดออกไปจากแถบไคเปอร์ ดาวฤกษ์ที่โคจรผ่านมา หรือหนึ่งในดาวฤกษ์แรกเกิดที่ตรึงอยู่กับดวงอาทิตย์ในกระจุกดาวฤกษ์ครั้งที่ดวงอาทิตย์กำเนิดขึ้น[15]

ไมก์ บราวน์ และทีมงานของเขาสนับสนุนสมมติฐานที่ว่า "การเหวี่ยงเซดนามาให้อยู่ในวงโคจรปัจจุบันทำได้ด้วยดาวฤกษ์จากกระจุกดาวเปิดของดวงอาทิตย์" ให้เหตุผลด้วยว่าจุดที่ไกลที่สุดของเซดนาที่ประมาณ 1,000 AU ซึ่งใกล้มากเมื่อเทียบกับจุดที่ไกลที่สุดของดาวหางคาบยาวทั้งหลาย ไม่ไกลเพียงพอที่จะได้รับผลกระทบจากดาวฤกษ์ที่โคจรผ่านมา ณ ตำแหน่งปัจจุบันจากดวงอาทิตย์ พวกเขาเสนอว่าวงโคจรของเซดนาสามารถอธิบายได้ดีที่สุดด้วยการที่ดวงอาทิตย์กำเนิดในกระจุกดาวเปิดของดาวฤกษ์จำนวนมากที่ค่อย ๆ แยกจากกันไปตามเวลา[15][47][48] สมมติฐานนั้นพัฒนาต่อไปโดยทั้งอาเลสซานโดร มอร์บีเดลลี และสกอตต์ เจย์ เคนยอน[49][50] แบบจำลองคอมพิวเตอร์โดยฮูลิโอ เอ. เฟร์นันเดซและเอเดรียน บรูนีนี เสนอว่าการโคจรผ่านของดาวฤกษ์แรกเกิดหลายครั้งในกระจุกดาวเปิดแบบนั้นอาจดึงวัตถุต่าง ๆ จนมีวงโคจรแบบเซดนา[15] การศึกษาของมอร์บีเดลลี และเลวิสันเสนอว่าคำอธิบายที่เป็นไปได้มากที่สุดเกี่ยวกับวงโคจรของเซดนา คือ ดาวฤกษ์อีกดวงหนึ่งต้องเคยรบกวนเซตนาจากในระยะใกล้ (ประมาณ 800 AU) ใน 100 ร้อยล้านปีแรกหรือมากกว่านั้นจากตอนที่ระบบสุริยะกำเนิดขึ้น[49][51]

สมมติฐานวัตถุพ้นดาวเนปจูนนั้นก้าวหน้าไปในหลากหลายรูปแบบโดยนักดาราศาสตร์จำนวนหนึ่ง รวมทั้ง รอดนีย์ โกเมส และปาทรึก ลือกาวกา สมมติฐานรูปแบบหนึ่งมีการรบกวนของวงโคจรเซดนาโดยวัตถุสมมติขนาดเท่าดาวเคราะห์ในเมฆฮิลล์เข้ามาเกี่ยวข้อง แบบจำลองล่าสุดแสดงให้เห็นว่าลักษณะการโคจรของเซดนาสามารถอธิบายด้วยการรบกวนจากวัตถุมวลเท่าดาวเนปจูน ณ ตำแหน่ง 2,000 AU หรือน้อยกว่า วัตถุมวลเท่าดาวพฤหัสบดี ณ ตำแหน่ง 5,000 AU หรือแม้กระทั่งวัตถุมวลเท่าโลก ณ ตำแหน่ง 1,000 AU[48][52] แบบจำลองคอมพิวเตอร์โดยปาทรึก ลือกาวกา เสนอว่าวงโคจรของเซดนาอาจเป็นผลมาจากวัตถุขนาดประมาณใกล้เคียงกับโลกที่ถูกเหวี่ยงออกมาข้างนอกโดยดาวเนปจูนในช่วงเริ่มแรกของระบบสุริยะ และขณะนี้ก็อยู่ในวงโคจรที่ยืดออกไปในช่วงระหว่าง 80 และ 170 AU จากดวงอาทิตย์[53] การสำรวจท้องฟ้าหลายครั้งของไมก์ บราวน์ตรวจไม่พบวัตถุขนาดเท่าโลกใด ๆ ในช่วงระยะทางถึงประมาณ 100 AU เป็นไปได้ว่าวัตถุนั้นอาจหลุดออกไปนอกระบบสุริยะหลังจากการก่อตัวของเมฆออร์ตชั้นใน[54]

คอนสแตนติน บาตีกิน นักวิจัยจากสถาบันเทคโนโลยีแคลิฟอร์เนีย และไมก์ บราวน์ตั้งสมมติฐานไว้เกี่ยวกับการมีตัวตนของดาวเคราะห์ยักษ์ในระบบสุริยะชั้นนอก พวกเขาให้ชื่อเล่นว่า ดาวเคราะห์เก้า ดาวเคราะห์ดวงนี้อาจมีมวลมากกว่าโลก 10 เท่า มีวงโคจรที่เยื้องมาก ๆ และมีระยะทางเฉลี่ยจากดวงอาทิตย์ประมาณ 20 เท่าของดาวเนปจูน (ซึ่งโคจรที่ระยะทางเฉลี่ยที่ 30.1 AU (4.50 × 109 กิโลเมตร)) คาบการโคจรอาจอยู่ที่ 10,000 ถึง 20,000 ปี การมีตัวตนของดาวเคราะห์ดวงนี้สมมติขึ้นจากแบบจำลองทางคณิตศาสตร์และแบบจำลองคอมพิวเตอร์แต่ยังไม่เคยสังเกตโดยตรง ดาวเคราะห์ดวงนี้อาจอธิบายลักษณะวงโคจรของกลุ่มของวัตถุที่รวมไปถึงเซดนา[55][56]

มีการเสนอว่าวงโคจรของเซดนานั้นเป็นผลมาจากอิทธิพลของดาวคู่ขนาดใหญ่ของดวงอาทิตย์ที่อยู่ห่างออกไปหลายพันหน่วยดาราศาสตร์ ดาวคู่สมมติหนึ่ง คือ เนเมซิส ดาวคู่มืดของดวงอาทิตย์ที่เชื่อกันว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับคาบการเกิดการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่บนโลกอันเกิดมาจากการพุ่งชนของดาวหาง ร่องรอยการพุ่งชนบนดวงจันทร์ และองค์ประกอบวงโคจรที่คล้าย ๆ กันของดาวหางคาบยาวจำนวนมาก[52][57] ไม่มีหลักฐานโดยตรงเกี่ยวกับเนเมซิสเลย และหลักฐานหลายอย่าง เช่น จำนวนหลุมอุกกาบาต ทำให้การมีตัวตนของดาวดวงนั้นกลายเป็นข้อกังขา[58][59] จอห์น เจ. มัลทีส และดาเนียล พี. วิทไมร์ ผู้ที่เสนอความเป็นไปได้ของดาวคู่ดวงอาทิตย์มาอย่างยาวนาน เสนอว่าวัตถุมวล 5 เท่าของดาวพฤหัสบดีที่อยู่ออกไปประมาณ 7,850 AU จากดวงอาทิตย์ อาจทำให้วัตถุหนึ่งมีวงโคจรแบบเซดนา[60]

มอร์บีเดลลี และเคนยอนยังเสนออีกว่าเซดนาอาจไม่ได้กำเนิดในระบบสุริยะ แต่มาจากระบบดาวเคราะห์อื่นที่โคจรผ่านมาแล้วโดนดวงอาทิตย์จับไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระบบของดาวแคระน้ำตาลที่มีมวล 1/20 เท่าของดวงอาทิตย์[49][50][61][62]

แหล่งที่มา

WikiPedia: 90377_เซดนา http://cds.cern.ch/record/808432 http://cds.cern.ch/record/821965 http://discovermagazine.com/2006/may/cover http://www.scientificamerican.com/article/sun-accu... http://www.spacedaily.com/reports/Evidence_Mounts_... http://www.springerlink.com/content/87v1p11t238327... http://www.springerlink.com/content/w87u54604t2883... http://www.mpg.de/4372308/nemsis_myth?page=1 http://www.astro.caltech.edu/~george/option/candex... http://web.gps.caltech.edu/~mbrown/dwarfplanets/