เหตุการณ์กบฏ ของ กบฏบวรเดช

แผนที่แสดงกองกำลังทหารทั้งสองฝ่าย สีแดงคือกองกำลังกบฏ

11 ตุลาคม "กบฏยึดทุ่งดอนเมือง"

11 ตุลาคม พ.ศ. 2476 เพียงสิบวันหลังหลวงประดิษฐ์มนูธรรมเดินทางกลับประเทศสยาม พระองค์เจ้าบวรเดชได้นำกำลังเข้าแจ้งต่อข้าราชการหัวเมืองว่า รัฐบาลคณะราษฎรจะเอาระบอบคอมมิวนิสต์มาใช้และจะไม่มีกษัตริย์จึงต้องนำทหารเข้าไปปราบปราม อย่าได้ทำการขัดขวาง[6] พระองค์เจ้าบวรเดชเป็นผู้นำกองกำลังกบฏที่ชื่อว่า คณะกู้บ้านเมือง ซึ่งประกอบด้วยทหารโคราช (กองพันทหารราบที่ 15, กองพันทหารราบที่ 16, กองพันทหารม้าที่ 4, กองพันทหารปืนใหญ่ที่ 3 และ กองพันทหารปืนใหญ่ที่ 4) ทหารเพชรบุรี (กองพันทหารราบที่ 14), ทหารอุบลราชธานี (กองพันทหารราบที่ 18)

พันเอกพระยาศรีสิทธิสงครามนำกำลัง 2 กองพันทหารช่างจากสระบุรีเป็นทัพหน้าลงมายึดทุ่งดอนเมือง โดยมีกองทหารม้าของร้อยเอกหลวงโหมรอนราญตามลงมาสมทบ และเข้ายึดกรมอากาศยานที่ดอนเมืองเป็นกองบัญชาการ พระยาศรีสิทธิสงครามส่งกองหน้ามายึดสถานีรถไฟหลักสี่ และส่งนาวาเอกพระยาแสงสิทธิการถือหนังสือถึงพระยาพหลฯความว่า "คณะรัฐมนตรีปล่อยให้คนดูหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และเอาหลวงประดิษฐ์มนูธรรมกลับมาเพื่อดำเนินการปกครองแบบคอมมิวนิสต์ จึงขอให้คณะรัฐบาลถวายบังคมลาออกภายในหนึ่งชั่วโมง มิเช่นนั้นจะใช้กำลังบังคับและจะเข้ายึดการปกครองชั่วคราว"[17]

คณะรัฐบาลประชุมกันที่วังปารุสก์แล้วก็ลงความเห็นว่าเหตุผลของฝ่ายกบฏฟังไม่ขึ้น และสมควรปราบปราม เวลาค่ำ นายกรัฐมนตรีออกประกาศไปยังทั่วประเทศว่า พระองค์เจ้าบวรเดช พระยาศรีสิทธิสงคราม พระยาเทพสงคราม เป็นกบฏต่อแผ่นดิน พยายามล้มล้างระบอบประชาธิปไตยขอเลิกรัฐธรรมนูญ และสถาปนาระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ดังเดิม "ในพระนครเหตุการณ์เรียบร้อย อย่าฟังคำสั่งผู้ใดทั้งสิ้นนอกจากข้าพเจ้า พระยาพหลพลพยุหเสนาฯ"[18]

12 ตุลาคม "กรุงเทพตอบโต้"

เมื่อรัฐบาลทราบว่าทุ่งดอนเมืองโดนทหารกบฏยึดเป็นที่แน่ชัดแล้ว จึงประกาศกฎอัยการศึกในวันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2476 ในพื้นที่จังหวัดใหญ่ทหารบกพระนคร[19] ในวันเดียวกัน รัฐบาลประกาศแก้กฎอัยการศึกขยายพื้นที่บังคับใช้เป็นทั่วมณฑลพระนครกับมณฑลอยุธยา[20] พันเอกพระยาทรงสุรเดชปฏิเสธที่จะเป็นผู้บังคับกองผสม พันโทหลวงพิบูลสงครามจึงรับอาสาเป็นผู้บังคับกองผสมปราบกบฏแทน

ในวันเดียวกัน เมื่อชาวพระนครทราบข่าวว่าการกบฏจากทหารหัวเมือง พลเมืองที่เชื่อมั่นในระบอบใหม่ได้ออกมาชุมนุมกันช่วยเหลืองานฝ่ายรัฐบาลเป็นจำนวนมาก ทหารกองหนุนจำนวนมากเข้ามารายงานตัวกับรัฐบาล ทั้งที่ยังไม่มีหมายเรียกระดมพลทหารกองหนุนแต่ประการใด[21]

พันโทหลวงพิบูลสงครามนำกองผสมซึ่งประกอบด้วย 3 กองพันทหารราบ และ 1 กองพันทหารปืนใหญ่ เคลื่อนขบวนทัพจากลานพระบรมรูปทรงม้าไปยังลานสินค้าของบริษัทปูนซีเมนต์สยามที่สถานีรถไฟบางซื่อ ซึ่งอยู่ห่างจากสถานีรถไฟบางเขนไปประมาณ 5 กิโลเมตรเศษ จากนั้นจึงเอาปืนใหญ่ภูเขาแบบ 63 ขนาดลำกล้อง 75 มม. ระยะยิงไกล 6 กิโลเมตร มาตั้งเรียงแถวหน้ากระดานอยู่บนถนนประดิพัทธิ์ ก่อนจะเริ่มระดมยิงใส่ทหารกบฏในเวลาราว 14 นาฬิกา ยิงได้ 40 นัดพบว่ากระสุนลงทุ่งน้ำหมดจึงหยุดยิง กองทหารกบฏของหลวงโหมรอนราญจึงเดินลุยน้ำเคลื่อนลงมายึดสถานีรถไฟบางเขนไว้ได้

13 ตุลาคม "กบฏอ่อนกำลัง"

ฝ่ายรัฐบาลส่งพันตรีหลวงเสรีเริงฤทธิ์เป็นตัวแทนมาเจรจาให้ฝ่ายกบฏเลิกราไปเสียและจะขอพระราชทานอภัยโทษให้ แต่ทางฝ่ายกบฏกลับจับกุมหลวงเสรีเริงฤทธิ์ไปขังไว้ที่อยุธยา ในเวลา 12 นาฬิกา ฝ่ายกบฏส่งนาวาอากาศเอกพระยาเวหาสยานศิลปสิทธิ์, นาวาอากาศโทพระยาเทเวศวรอำนวยฤทธิ์ และเรือเอกเสนาะ รักธรรม เป็นคนกลางถือหนังสือของพระองค์เจ้าบวรเดชมาเจรจากับรัฐบาล โดยยืนเงื่อนไขทั้งหมด 6 ข้อ[22]:

  1. ต้องจัดการในทุกทางที่จะอำนวยผลให้ประเทศสยามมีพระมหากษัตริย์ปกครองประเทศภายใต้รัฐธรรมนูญชั่วกัลปาวสาน
  2. ต้องดำเนินการตามรัฐธรรมนูญโดยแท้จริง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ การตั้งและถอดถอนคณะรัฐบาลต้องเป็นไปตามเสียงของหมู่มาก
  3. ข้าราชการซึ่งอยู่ในตำแหน่งประจำการทั้งหลายและพลเรือนต้องอยู่นอกการเมือง ตำแหน่งฝ่ายทหารตั้งแต่ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือลงไปต้องไม่มีหน้าที่ทางการเมือง
  4. การแต่งตั้งบุคคลในตำแหน่งราชการ จักต้องถือคุณวุฒิและความสามารถเป็นหลัก ไม่ถือเอาความเกี่ยวข้องในทางการเมืองเป็นความชอบหรือเป็นข้อรังเกียจในการบรรจุเลื่อนตำแหน่ง
  5. การเลือกตั้งผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 ต้องถวายให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเลือก
  6. การปกครองกองทัพบกจักต้องให้มีหน่วยผสมตามหลักยุทธวิธี เฉลี่ยอาวุธสำคัญแยกกันไปประจำตามท้องถิ่น มิให้รวมกำลังไว้เฉพาะแห่งใดแห่งหนึ่ง

ฝ่ายรัฐบาลยืนกรานไม่ยินยอมตามคำขาดดังกล่าว ทำให้การสู้รบดำเนินต่อไป ขณะเดียวกัน ที่แนวหน้าของทหารกบฏที่บางเขนเริ่มเกิดความขัดสน ทหารของร้อยเอกหลวงโหมรอนราญไม่ได้รับเสบียงและกระสุนมาหนึ่งวันเต็ม ขณะนั้นเป็นฤดูน้ำหลาก เนื่องจากสองข้างทางรถไฟถูกน้ำท่วมหมดทำให้การขนส่งกำลังบำรุงมาแนวหน้าของฝ่ายกบฏต้องอาศัยเรือพายเท่านั้น หลวงโหมรอนราญจึงเดินเท้าตามทางรถไฟย้อนขึ้นไปยังกองบัญชาการที่ดอนเมืองเพื่อขอเสบียง เมื่อเข้าไปในกองบัญชาการก็พบนายทหารชั้นผู้ใหญ่ตั้งวงดื่มสุราและเล่นบิลเลียดอยู่

14 ตุลาคม "รัฐบาลรุกไล่"

14 ตุลาคม ทหารฝ่ายรัฐบาลได้เคลื่อนกำลังรุกคืบเข้ามาปะทะทหารฝ่ายกบฏที่ยึดสถานีรถไฟบางเขน โดยใช้หัวรถจักรหุ้มเกราะดันหลังรถข.ต.บรรทุกรถถังเคลื่อนที่เข้าหาพร้อมกันทั้ง 2 ราง นอกจากนี้แล้วยังมีเหล่าทหารราบอยู่ในรถพ่วงคันหลังอีกจำนวนหนึ่ง ผลจากการปะทะในช่วงเช้าส่งผลให้ฝ่ายรัฐบาลสูญเสียพันตรีหลวงอำนวยสงคราม ผู้บังคับกองพันที่มีความสำคัญมากไป หลวงพิบูลสงครามจึงรีบแก้สถานการณ์ที่กำลังจะเพลี่ยงพล้ำทันที โดยสั่งการให้ไปนำรถสายพานติดตั้งปืนใหญ่ต่อสู้อากาศ QF 2-pounder จากประเทศอังกฤษ ที่เพิ่งผ่านการตรวจรับมาแล้วจำนวน 2 คันมาเข้าสู่สนามรบจริงทันที

อำนาจการยิงของปืนกลต่อต้านอากาศยานขนาด 40 มม. อัตรายิง 115 นัดต่อนาที เป็นเรื่องที่น่าตกใจมาก กระสุนปืนทำให้รังปืนกลของฝ่ายกบฏเกิดรูขนาดใหญ่ รวมทั้งปืนก็ยิงได้เร็วและรุนแรงต่อเนื่อง ทหารกบฏทั้งหมดไม่เคยเจออาวุธทันสมัยแบบนี้มาก่อน จึงพากันหนีตายทิ้งที่มั่นวิ่งหนีเอาตัวรอดกลับไปยังหลักสี่ ทหารราบจากฝ่ายรัฐบาลจึงสามารถเข้ายืดพื้นที่ทุ่งบางเขนไว้ได้โดยละม่อม

ขบวนรถไฟฝ่ายกบฏของพันตรีหลวงพลเดชวิสัย กองพันทหารราบที่ 17 อุบลราชธานี เดินทางมาถึงดอนเมืองในช่วงค่ำ ได้ข่าวว่าสถานการณ์ฝ่ายกบฎกำลังเพลี่ยงพล้ำจึงไม่ยอมจอดขบวนรถไฟที่สถานีดอนเมือง ให้ขบวนรถไฟขับเลยสถานีดอนเมืองไปประมาณสามกิโลเมตรแล้วใส่เกียร์ถอยหลังกลับไปที่เมืองโคราช ระหว่างทางได้แวะรื้อทางรถไฟแถวปากช่องออกเพื่อทำคุณไถ่โทษ

15–24 ตุลาคม "กบฏแตกพ่าย"

15 ตุลาคม ฝ่ายรัฐบาลได้หนุนกำลังพร้อมอาวุธหนักนำขึ้นรถไฟ มีทั้งรถเกราะและปืนกล รุกไล่ฝ่ายปฏิวัติจนเกือบประชิดแนวหน้าฝ่ายกบฏที่สถานีหลักสี่ นอกจากนี้ ฝ่ายกบฏขาดกำลังเสริมมาสมทบ เพราะทหารเพชรบุรีที่ร่วมก่อการถูกหน่วยทหารราชบุรีตรึงกำลังไว้ ทหารจากนครสวรรค์และพิษณุโลกก็ถูกขัดขวางจากหน่วยทหารลพบุรีและหน่วยทหารปราจีนบุรี พระองค์เจ้าบวรเดชเห็นว่าสู้ฝ่ายรัฐบาลไม่ได้แล้วจึงสั่งให้ถอนกำลังกลับไปตั้งรับโคราช และมอบหมายพันเอกพระยาศรีสิทธิสงครามเป็นผู้บัญชาการรบหน่วยระวังหลัง ค่อยๆถอยร่อนจากหลักสี่มาดอนเมือง

16 ตุลาคม เวลาตีสาม ทหารกบฏเริ่มถอนกำลังออกจากดอนเมือง ส่วนหน้าทัพกบฏเดินทางถึงสถานีปากช่อง(กม.180)ในเวลาบ่ายโมง ก็ไปต่อไม่ได้เนื่องจากทางรถไฟขาดต้องใช้เวลาซ่อมแซม กองพันทหารราบที่ 4 ฝ่ายรัฐบาลเข้าควบคุมพื้นที่ดอนเมืองในเวลาบ่ายสอง นาวาตรีหลวงศุภชลาศัยคุมเรือสุริยมณฑลไปยึดเมืองอยุธยาไว้ได้[6] ส่วนทหารกบฎทางเพชรบุรีก็ถอยร่นกลับเข้าเมืองเพชรบุรียึดเป็นที่มั่นเอาไว้

17 ตุลาคม เวลาเช้ามืด กบฎคำสำคัญในโคราชตัวปล่อยตัวพันตำรวจเอกพระขจัดทารุณกรรม ผู้บังคับการตำรวจโคราชและพวกจากที่คุมขัง บอกให้รีบหนีไปก่อนที่ทัพกบฏจะมาถึงเมือง ผู้บังคับการตำรวจโคราชนำกำลังเข้ายึดโคราชจากพวกกบฏทันทีอย่างง่ายดาย[6] ต่อมาเวลาสิบนาฬิกา ชาวโคราชต่างตื่นตกใจเมื่อมีขบวนรถไฟบรรทุกทหารของพันตรีหลวงพลเดชวิสัยเคลื่อนเข้ามา พันตรีหลวงพลเดชวิสัยมอบตัวต่อพระขจัดทารุณกรรม อ้างว่าถูกหลอกให้ร่วมก่อการกบฏ ขณะนี้พวกกบฏกำลังถอยร่นมายังโคราช เมื่อผู้การตำรวจโคราชได้หารือกับหลวงพลเดชวิสัยแล้ว เห็นว่ากำลังที่มีอยู่คงจะต้านทานทัพกบฏไม่ไหว ควรถอนกำลังออกจากโคราชไปรวมกับกำลังใหญ่ฝ่ายรัฐบาลที่เมืองอุบล[6] ส่วนทางด้านกรุงเทพ รัฐบาลส่งกองพันทหารราบที่ 6 ขึ้นมาสมทบกองพันทหารราบที่ 4 ที่ดอนเมือง และเริ่มปฏิบัติการกวาดล้างทัพกบฏต่อไป ขณะเดียวกัน หน่วยข่าวกรองของจังหวัดขอนแก่นได้รับทราบข่าวจากแถลงการณ์รัฐบาลว่าฝ่ายกบฏแตกพ่ายไปทางโคราช ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่นจึงทำลายทางรถไฟเพื่อขัดขวางการลำเลียงทหารมาสู่ขอนแก่น

18 ตุลาคม ทหารรัฐบาลเข้ายึดสถานีชุมทางภาชี(กม.90)ในเวลาบ่ายสี่โมง พระองค์เจ้าบวรเดชถอยไปอยู่สระบุรี กองกำลังรักษาเมืองโคราชของพระขจัดทารุณกรรมและหลวงพลเดชวิสัยต้านทานกบฏไม่ไหวจริงตามคาด จึงถอนกำลังออกไปยังเมืองอุบล พระองค์เจ้าบวรเดชแค้นที่พันตรีหลวงพลเดชวิสัยทรยศ จึงให้พลตรีพระเสนาสงครามคุมกำลัง 400 นายไปยึดเมืองบุรีรัมย์เพื่อใช้ตีเมืองอุบลต่อไป

19 ตุลาคม ทหารรัฐบาลเข้ายึดสระบุรีไว้ได้ แนวหลังของทหารกบฏถอยไปรวมกันสถานีแก่งคอย(กม.125) ขบวนรถไฟของพระองค์เจ้าบวรเดชเดินทางถึงเมืองโคราช พระยาศรีสิทธิสงครามสั่งการหน่วยระวังหลังเร่งถอดรางรถไฟบริเวณหลักกิโลเมตรที่ 141-144 ซึ่งเป็นช่วงทางโค้งและแคบใกล้กับสถานีหินลับ ให้ทหารตั้งรังปืนกลบนหน้าผาเป็นระยะ

20 ตุลาคม ทหารรัฐบาลเข้ายึดสถานีแก่งคอย(กม.125) แนวหลังของทหารกบฏถอยไปรวมกันที่สถานีชุมทางบัวใหญ่(กม.375) ทหารรัฐบาลจากจังหวัดอุดรธานีเจ็ดสิบนายเดินทางมาถึงขอนแก่นและเคลื่อนกำลังพลไปรักษาสะพานรถไฟข้ามแม่น้ำชี เพื่อไม่ให้ทหารกบฏเดินเท้าข้ามมายังเมืองขอนแก่นได้

21 ตุลาคม ทหารรัฐบาลรุกคืบได้ทีละเล็กน้อย แนวหลังของทหารกบฎถอยไปรวมกันที่ปากช่อง(กม.180) ทางพระองค์เจ้าบวรเดชเมื่อทราบว่าทหารขอนแก่นกับอุดรธานีเข้ากับฝ่ายรัฐบาล จึงส่งร้อยเอกหลวงโหมรอนราญนำกำลังไปยึดเมืองขอนแก่น

22 ตุลาคม ร้อยเอกหลวงโหมรอนราญถูกเรียกตัวกลับมานครราชสีมาเพราะมีข่าวว่ากองกำลังของรัฐบาลรุกคืบเข้ามาแล้ว หลวงโหมรอนราญเสนอให้ทหารยึดอำนาจจากข้าราชการฝ่ายพลเรือนในโคราช แต่พระองค์เจ้าบวรเดชดำริว่า "เวลานี้ใครๆ ก็แลเห็นว่าเราแพ้แล้วทั้งนั้น จะยึดอำนาจการปกครองบ้านเมืองเราก็ไม่มีนายทหารมากพอจะให้ไปควบคุม โทษผิดเท่านี้ก็พอแล้ว อย่าให้มากกว่านี้เลย"[18] พระองค์เจ้าบวรเดชเริ่มวางแผนเสด็จลี้ภัยไปยังอินโดจีนของฝรั่งเศส นายทหารชั้นผู้ใหญ่ฝ่ายกบฏก็วางแผนเดินทางหลบหนีออกนอกประเทศตามความถนัด พระยาศรีสิทธิสงครามไม่ทราบความจริงจึงปักหลักที่ผาเสด็จต่อไป[23] ในค่ำวันนั้น กองส่วนหน้าฝ่ายรัฐบาลเริ่มเคลื่อนพลถึงหลักกิโลเมตรที่ 140

23 ตุลาคม เกิดการสู้รบบริเวณหลักกิโลเมตรที่ 141-144 ตลอดทั้งวัน เมื่อตกค่ำ หน่วยของว่าที่ร้อยตรีตุ๊ จารุเสถียร สามารถสังหารพันเอกพระยาศรีสิทธิสงคราม[23]

24 ตุลาคม พันโทหลวงพิบูลสงครามเดินทางถึงแก่งคอยในช่วงสายเพื่อรับฟังรายงาน

25 ตุลาคม พระองค์เจ้าบวรเดชและพระชายาทรงขึ้นเครื่องบินจากนครราชสีมาหนีไปยังเมืองไซ่ง่อน ทหารรัฐบาลเข้ายึดเมืองนครราชสีมาไว้ได้