เบื้องหลัง ของ กบฏบวรเดช

ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง

พลเอก พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช เป็นเจ้านายผู้กล่าวโจมตีระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 พระองค์มีความชิงชังต่อการปกครองของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่แต่งตั้งคนสอพลอเข้ามาไว้ราชสำนักมากมาย พระองค์เจ้าบวรเดชเคยวางแผนยึดอำนาจจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้า แล้วจะทูลเชิญเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ เจ้านายผู้มากบารมีและมีความเด็ดขาดขึ้นเป็นกษัตริย์แทน แต่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเสด็จสวรรคตเสียก่อน เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์รับตำแหน่งกษัตริย์ เจ้าฟ้าประชาธิปกจึงได้เสวยราชย์

พระองค์เจ้าบวรเดชเป็นทหารมีความสามารถและมีอุปนิสัยแข็งกร้าว และรู้กันดีว่าทรงเป็นผู้นิยมระบอบทหาร จึงเป็นที่เกรงใจของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าซึ่งเคยเป็นทหารรุ่นน้องอย่างมาก พระองค์เจ้าบวรเดชได้เป็นเสนาบดีกลาโหมในรัชกาลใหม่ ถึงกระนั้นก็ยังมีความขัดแย้งกับระบอบการปกครอง พระองค์เจ้าบวรเดชต้องการขึ้นเงินเดือนทหารแต่แพ้มติในที่ประชุมสภาเสนาบดี พระองค์จึงลาออกจากตำแหน่งเสนาบดีกลาโหม

เมื่อลาออกจากราชการแล้ว พระองค์เจ้าบวรเดชพยายามยุให้อดีตลูกน้องในบัญชาให้ยึดอำนาจการปกครอง ทรงเรียกพันเอกพระยาพหลพลหยุหเสนาและพันเอกพระยาศรีสิทธิสงครามมาถามความเห็นเรื่องระบอบการปกครอง ทั้งคู่ต่างลงความเห็นว่าระบอบปัจจุบันไม่เหมาะแก่ยุคสมัย ควรจะเปลี่ยนแปลงเป็นประชาธิปไตย แต่ทั้งคู่มีความเห็นไม่ลงรอยกันในเรื่องของวิธีการที่จะใช้เปลี่ยนแปลงการปกครอง[1]

หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง

พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช อดีตเสนาบดีกลาโหม ผู้นำการกบฏ

เมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองสำเร็จ พันเอกพระยาพหลฯเสนอชื่อพระองค์เจ้าบวรเดชในที่ประชุมคณะราษฎรเพื่อเป็นหัวหน้ารัฐบาล[2] แต่หลวงประดิษฐ์มนูธรรมคัดค้านด้วยเห็นว่าพระองค์เจ้าบวรเดชมีอุปนิสัยเป็นเผด็จการและยังเป็นเจ้า ที่ประชุมจึงปักตก หลวงประดิษฐ์มนูธรรมเสนอชื่อพระยามโนปกรณนิติธาดาเป็นประธานกรรมการราษฎร (เทียบเท่านายกรัฐมนตรี) ตั้งแต่นั้นมาพระองค์เจ้าบวรเดชจึงผิดใจกับพระยาพหลฯ[3] และเกลียดชังหลวงประดิษฐ์มนูธรรม

ทางด้านพระยาศรีสิทธิสงครามก็ถูกเชิญให้เข้าร่วมรัฐบาลคณะราษฎร แต่พระยาศรีสิทธิฯปฏิเสธเพราะไม่พอใจที่คณะราษฎรใช้วิธีการรุนแรงเปลี่ยนแปลงการปกครอง พระยาทรงสุรเดชไม่พอใจที่พระยาศรีสิทธิฯทำตัวเหินห่างกับคณะราษฎร จึงสั่งย้ายพระยาศรีสิทธิฯไปอยู่กระทรวงธรรมการ[4] นัยว่าเป็นการลงโทษทางอ้อม

เมื่อพระยามโนปกรณนิติธาดาได้เป็นประธานกรรมการราษฎร ก็เกิดความขัดแย้งกับส่วนใหญ่ของคณะราษฎร หลวงประดิษฐ์มนูธรรมเสนอแผนเค้าโครงเศรษฐกิจที่เรียกว่า "สมุดปกเหลือง" ซึ่งจะทำให้ราษฎรทุกคนมีงานทำ ชาวนามีบำนาญเช่นเดียวกับข้าราชการ พระยามโนปกรณฯมองว่าคณะราษฎรคิดก้าวหน้าเกินไป และโจมตีหลวงประดิษฐ์มนูธรรมอย่างรุนแรงว่าเป็นคอมมิวนิสต์ พระยามโนปกรณฯประกาศยุบสภา ออกพระราชบัญญัติว่าด้วยคอมมิวนิสต์และใช้เล่นงานหลวงประดิษฐ์มนูธรรมจนต้องออกไปอยู่ต่างประเทศ คณะราษฎรสายหลวงประดิษฐ์มนูธรรมจึงหมดอำนาจการเมือง ฝ่ายเจ้าเริ่มมีอำนาจเพิ่มขึ้นและยุยงให้พระยามโนปกรณฯแยกตัวจากคณะราษฎร

มีเหตุให้พระยาพหลฯโกรธพระยาทรงสุรเดชถึงขั้นจะใช้มีดทำกับข้าวไล่ฟัน พระยาทรงสุรเดชหลบออกมาหาพระยาฤทธิ์อัคเนย์และพระประศาสน์พิทยายุทธบอกว่า "ไอ่พจน์มันกลัดมันเป็นบ้า อยู่ด้วยกันไม่ได้แล้ว" ทั้งสามยื่นใบลาออกจากตำแหน่งราชการทั้งหมดเมื่อ 10 มิถุนายน 2476 อ้างว่าสุขภาพไม่อำนวย ส่งผลให้พระยาพหลฯต้องลาออกจากผู้บัญชาการทหารบกด้วยเพื่อรักษามารยาท ตำแหน่งทหารที่เคยเป็นของสี่เสือคณะราษฎรจึงว่างลงทั้งหมด กลุ่มเจ้าเห็นเป็นโอกาสที่จะส่งคนของตนขึ้นแทน ในวันที่ 18 มิถุนายน มีพระบรมราชานุญาติให้สี่เสือออกจากตำแหน่งโดยมีผลในวันที่ 24 มิถุนายน พลตรีพระยาพิชัยสงครามจะได้เป็นผู้บัญชาการทหารบก พันเอกพระยาศรีสิทธิสงครามจะได้เป็นเจ้ากรมยุทธการทหารบก พันโทหลวงพิบูลสงครามจะได้เป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก

พันเอกพระยาศรีสิทธิสงคราม รองแม่ทัพกบฏ

มีรายงานลับมาถึงหลวงพิบูลสงครามว่า พระยาศรีสิทธิสงครามเตรียมโยกย้ายนายทหารสายคณะราษฎรออกจากตำแหน่งคุมกำลังทั้งหมด ทำให้ในวันที่ 20 มิถุนายน พระยาพหลฯ หลวงพิบูลฯ และหลวงศุภชลาศัย ชิงก่อรัฐประหารล้มรัฐบาลพระยามโนปกรณนิติธาดาโดยใช้การที่พระยามโนปกรณฯปิดสภามาเป็นข้ออ้างต่อสาธารณชน พันโทประยูรถามว่าทำไมทำเช่นนี้ หลวงพิบูลสงครามตอบพันโทประยูรว่า "ประยูร จำเป็นต้องทำ ไม่มีทางเลี่ยง เพราะเจ้าคุณศรีสิทธิสงครามเล่นไม่ซื่อหักหลัง เตรียมสั่งย้ายนายทหารผู้กุมกำลังทั้งกองทัพ พวกก่อการจะถูกตัดตีนมือและถูกฆ่าตายในที่สุด"[4] ประยูรระบุว่าหลังจากนั้นพระยาศรีสิทธิฯ "หน้าเหี้ยมเกรียม ตาแดงก่ำเป็นสายเลือด นั่งกัดกรามพูดว่าหลวงพิบูลสงครามเล่นสกปรก..."[4]

เหตุแห่งกบฏ

รัฐบาลคณะราษฎรไม่ได้ไว้วางใจในตัวพระองค์เจ้าบวรเดชผู้มีอิทธิพลในสายทหารบกมากเท่าไหร่ รัฐบาลชอบส่งสายไปแย้มพรายให้พระองค์วางตัวอยู่เฉยๆ แล้วจะทรงได้ดิบได้ดีเองในภายหลัง[5] พระองค์เจ้าบวรเดชก็ทราบดีว่าตัวเองตกอยู่ในฐานะไม่เป็นที่ไว้วางใจ ความไม่พอใจเหล่านี้ทับถมอยู่ในใจของพระองค์เจ้าบวรเดชเรื่อยมา

เมื่อพระยาพหลพลพยุหเสนาได้เป็นนายกรัฐมนตรีก็เชิญหลวงประดิษฐ์มนูธรรมกลับประเทศ เมื่อตั้งกรรมการสอบสวนซึ่งประกอบด้วยชาวต่างชาติแล้วพบว่าหลวงประดิษฐ์มนูธรรมไม่มีความคิดเป็นคอมมิวนิสต์ หลวงประดิษฐ์มนูธรรมจึงได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีในรัฐบาลของพระยาพหลฯ พระองค์เจ้าบวรเดชและพวกเจ้ารับไม่ได้ที่หลวงประดิษฐ์มนูธรรมจะกลับมาเป็นรัฐมนตรี มองว่าหลวงประดิษฐ์มนูธรรมจะดำเนินนโยบายที่สร้างความเดือดร้อนต่อเชื้อพระวงศ์และขุนนางเก่า[6] จึงกล่าวโจมตีว่ารัฐบาลเอาคอมมิวนิสต์มาเป็นรัฐมนตรี พันโทหลวงพิบูลสงครามและนาวาตรีหลวงศุภชลาศัยจึงส่งจดหมายมาปรามพระองค์ความว่า:

บัดนี้ปรากฏข่าวตามทางสืบสวนว่าท่านได้มีการประชุมและคิดอยู่เสมอในอันที่จะให้เกิดความไม่สงบแก่บ้านเมือง และทำให้รัฐบาลเป็นกังวล ซึ่งเป็นเหตุให้การบริหารบ้านเมืองไม่ก้าวหน้าไปเท่าที่ควร จะเป็นในฐานะที่ข้าพเจ้าเป็นผู้รับผิดชอบรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง จึงขอเตือนให้ท่านสงบจิตเสีย หากท่านยังขืนจุ้นจ้านอีก คณะก็ตกลงจะกระทำการอย่างรุนแรง และจะถือเอาความสงบของบ้านเมืองเท่านั้นเป็นกฎหมายอันสูงสุดในการกระทำแก่ท่าน ที่กล่าวมานี้ไม่ใช่การขู่เข็ญ แต่เป็นการเตือนมาเพื่อความหวังดี[7]

เมื่อพระองค์เจ้าบวรเดชทรงได้รับจดหมายเช่นนี้ พระองค์ทรงตรัสกับนายทหารที่บ้านว่า "ฉันก็ตั้งใจจะเป็นพลเมืองที่สงบ แต่เขาไม่ให้สงบ"[8] หนังสือทำนองคล้ายกันนี้ยังถูกส่งถึงบุคคลอื่นๆอีกหลายคน อาทิ กรมหมื่นเทวะวงศ์วโรปการ, พระองค์เจ้าทศศิริวงศ์, หม่อมเจ้าไขแสงรพี รพีพัฒน์, หม่อมเจ้าโสภณภราไดย สวัสดิวัตน์, พันตำรวจโทพระยาอธิกรณ์ประกาศ, พันโทประยูร ภมรมนตรี เป็นต้น[9]

เห็นได้ชัดว่าการก่อการกบฏของพระองค์เจ้าบวรเดชในครั้งนี้ เกิดจากความมุ่งหวังอำนาจทางการเมืองมากกว่าอย่างอื่น นับตั้งแต่สมัยที่ทรงลาออกจากเสนาบดีกลาโหมก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว เมื่อทรงพลาดพลั้งจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่ทรงมุ่งหวัง การถูกกีดกันจากอำนาจทางการเมือง เป็นเหตุที่กระตุ้นให้พระองค์ก่อการยึดอำนาจจากคณะราษฎร[10]

การเตรียมการของทัพกบฏ

คณะผู้ก่อการเริ่มชักชวนหาพรรคพวกทั้งในหมู่ทหารนอกและในประจำการ การประชุมของคณะผู้ก่อการครั้งแรกเกิดขึ้นในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2476 โดยมีพันเอกพระยาศรีสิทธิสงคราม พันโทหลวงพลหาญสงคราม และร้อยโทจงกล ไกรฤกษ์ ที่ร้านอาหารบนถนนราชวงศ์ การประชุมครั้งที่สองเกิดขึ้นในเดือนสิงหาคมที่บ้านหลวงพลหาญสงคราม เป็นการประชุมระหว่างผู้แทนทหารหัวเมืองต่างๆ การประชุมครั้งที่สามเกิดขึ้นในต้นเดือนตุลาคมที่บ้านพันเอกพระยาไชเยนทร์ฤทธิรงค์ในจังหวัดนครราชสีมา[11] ซึ่งที่ประชุมตกลงให้ใช้ชื่อแผนว่า "แผนล้อมกวาง"[12] และตกลงใช้เมืองโคราชเป็นกองบัญชาการใหญ่ เนื่องจากเป็นจังหวัดใหญ่มีอาวุธและกำลังพลมากกว่าหัวเมืองอื่น

ในช่วงวางแผนการ กรมขุนชัยนาทนเรนทร, หม่อมเจ้าวงศ์นิรชร เทวกุล และพระองค์เจ้าบวรเดช ลงไปเข้าเฝ้าในหลวงที่วังไกลกังวล[13] พระองค์เจ้าบวรเดชอาสาเป็นผู้นำ "กองทัพสีน้ำเงิน" และได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตจะเปลี่ยนแปลงใหม่ ในหลวงคัดค้านหนัก พระองค์เจ้าบวรเดชโกรธในหลวงและกลับมาพูดกับนายทหารคนอื่นว่า "ถ้าท่านไม่เล่นกับเราเราก็หาคนใหม่!"[14] อย่างไรก็ตาม ต่อมามีเช็คสั่งจ่ายของพระคลังข้างที่ให้แก่พระองค์เจ้าบวรเดชเป็นจำนวน 200,000 บาท[15]สันนิษฐานว่าเป็นฝีมือของกรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์ หลังจากนั้น หม่อมเจ้าวิบูลย์สวัสดิ์วงศ์ สวัสดิกุล ราชเลขานุการก็เป็นผู้ประสานงานอย่างใกล้ชิดกับผู้นำกองทัพสีน้ำเงิน[15] นอกจากนี้ พระองค์เจ้าบวรเดชยังได้เงินจากมหามกุฏราชวิทยาลัยอีก 200,000 บาท เนื่องจากพระยาเสนาสงคราม แม่ทัพกบฎฝ่ายนครสวรรค์ เป็นลูกพี่ลูกน้องกับสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์

การเตรียมการของฝ่ายรัฐบาล

ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พันเอกพระยาทรงสุรเดช มันสมองด้านทหารของคณะราษฎร มองเห็นความเป็นไปได้ที่จะเกิดการต่อต้านด้วยกำลังจากฝ่ายตรงข้ามขึ้นในไม่ช้าก็เร็ว จึงได้สั่งให้กองทัพหัวเมืองทั้งหมดส่งอาวุธส่วนใหญ่เข้ามาที่กรุงเทพโดยอ้างว่าจะส่งอาวุธที่ใหม่กว่าไปให้ ทำให้ทหารหัวเมืองตกอยู่ในสภาพขาดแคลนอาวุธ

ฝ่ายรัฐบาลก็ได้รู้ล่วงหน้าถึงการกบฏครั้งนี้ถึง 2 วัน เมื่อ พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรีได้ไปตรวจเยี่ยมมณฑลทหารราชบุรี มีนักบินชื่อเรืออากาศโทขุนไสวมัณยากาศ บังคับเครื่องบินลงจอดที่สนามและได้ยื่นจดหมายฉบับหนึ่งให้แก่ พลตรีพระยาสุรพันธเสนี สมุหเทศาภิบาลมณฑล แล้วแจ้งว่าเป็นสาสน์จากพระองค์เจ้าบวรเดช พระยาพหลพลพยุหเสนาเห็นเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นต่อหน้าก็เดาออกทันทีว่าเป็นสาสน์ที่ส่งมาเพื่อเชิญชวนให้ก่อการกบฏ จึงรีบเดินทางกลับจังหวัดพระนครในวันรุ่งขึ้นเพื่อดำเนินการต่อต้านทันที

แผนลอบสังหารที่วังปารุสก์

นอกจากการใช้กำลังทหารเข้าล้มล้างอำนาจของรัฐบาลแล้ว ฝ่ายกบฏยังวางแผนเข้าสังหารบุคคลสำคัญของคณะราษฎรซึ่งพักอยู่ในวังปารุสกวันอีกด้วย[16] เพื่อให้รัฐบาลเกิดภาวะสุญญาก่อนที่คณะกู้บ้านเมืองจะยกทัพลงมาถึงกรุงเทพ แผนสังหารผู้นำรัฐบาลในกรุงเทพถูกดำเนินการจัดแจงโดยนายพโยม โรจนวิภาต สายลับฝ่ายราชสำนักในพระนคร เขาได้รับโทรเลขเป็นรหัสลับจากนครราชสีมาในวันที่ 9 ตุลาคมความว่า คณะกู้บ้านเมืองจะยกทัพออกจากนครราชสีมาในวันที่ 10 ตุลาคม และจะเดินทางถึงกรุงเทพวันที่ 11 ตุลาคม[16]

นายพโยมติดต่อกับนายพันตรีทหารม้าคนหนึ่งซึ่งมีบรรดาศักดิ์ขุน[16] นายพันตรีได้ว่าจ้างยอดมือปืนจากต่างจังหวัดเข้ามาในกรุงเทพเพื่อมากำจัดบุคคลสำคัญคนหนึ่ง โดยวางแผนให้มือปืนลอบเข้าไปเข้าดักรอบริเวณหน้าห้องนอนในวังปารุสก์ เมื่อเสียงสัญญาณของกองทัพหัวเมืองที่ยกมาถึงกรุงเทพดังขึ้น พันโทหลวงพิบูลสงครามจะพรวดพราดออกมาจากห้องนอนและถูกกำจัดทิ้ง ในการนี้ นายพันตรีได้ว่างจ้างมือปืนอีกชุดเพื่อดักรอเก็บมือปืนชุดแรกเพื่อปิดปาก อย่างไรก็ตาม พวกเขารอจนเช้าก็ไม่มีวี่แววของคณะกู้บ้านเมือง จนทราบภายหลังว่า คณะกู้บ้านเมืองเลื่อนแผนการออกไปหนึ่งวัน โดยจะเดินทางถึงกรุงเทพในวันที่ 12 ตุลาคม