การร้องขอให้กำหนดวิธีการชั่วคราว ของ กรณีการตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหาร

เนื้อหาคำร้องของกัมพูชา

กัมพูชาได้ยื่นคำร้องเป็นภาษาฝรั่งเศสความยาว 3 หน้า[9] มีใจความสำคัญดังนี้

กัมพูชากล่าวว่า นับตั้งแต่วันที่ 22 เมษายน 2554 เป็นต้นมา มีเหตุการณ์ร้ายแรงเกิดขึ้นบริเวณปราสาทพระวิหารและจุดอื่น ๆ ตามเขตแดนระหว่างไทยและกัมพูชา ส่งผลให้ชาวบ้านในพื้นที่เสียชีวิต ได้รับบาดเจ็บและต้องเดินทางหนีภัย ซึ่งเหตุการณ์ร้ายแรงดังกล่าวได้ดำเนินมาจนกระทั่งเวลาที่กัมพูชาได้ยื่นคำร้องต่อศาลโดยไทยเป็นฝ่ายที่ตั้องรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ทั้งหมด ศาลจึงจำเป็นต้องมีวิธีการอันเร่งด่วนเพื่อคุ้มครองรักษาสิทธิของกัมพูชา และป้องกันมิให้ความขัดแย้งรุนแรงมากขึ้น หากปราศจากวิธีการของศาลและไทยยังคงดำเนินการต่อเนื่อง ก็จะทำให้ปราสาทพระวิหารเสียหาย รวมไปถึงทำให้ผู้คนล้มตายและทุกข์ทรมานจากการปะทะกันโดยอาวุธ ซึ่งจะร้ายแรงยิ่งขึ้น

กัมพูชาจึงขอให้ศาลระบุวิธีการชั่วคราวดังต่อไปนี้

  1. ให้ไทยถอนกำลังจากจุดต่าง ๆ ในบริเวณประสาทพระวิหารอันเป็นดินแดนของกัมพูชาโดยทันทีและปราศจากเงื่อนไข
  2. ห้ามมิให้ไทยดำเนินการทางทหารใด ๆ ในบริเวณประสาทพระวิหาร
  3. สั่งให้ไทยไม่กระทำการใด ๆ ที่อาจแทรกแซงสิทธิของกัมพูชาหรือทำให้ความขัดแย้งรุนแรงมากขึ้น

ลักษณะการพิจารณาคดี

ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศมีอำนาจเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวตามธรรมนูญศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ข้อ 41 ซึ่งไทยเป็นภาคี ประกอบกับระเบียบศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ข้อ 73 ถึง 78 โดยกระบวนพิจารณาเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวถือเป็นส่วนหนึ่งของคดีที่กัมพูชาได้ขอให้ศาลตีความคำพิพากษาเดิม

ก่อนที่ศาลจะสามารถระบุวิธีการชั่วคราว ศาลต้องวินิจฉัยคำร้องว่าได้ปรากฏเหตุที่เข้าเงื่อนไขให้สามารถระบุวิธีการชั่วคราวได้หรือไม่ ซึ่งหากพิจารณาจากแนววินิจฉัยในอดีตแล้ว[10] ศาลจะพิจารณาเงื่อนไขสามประการคือ

  1. กัมพูชาต้องแสดงให้ศาลเห็นถึงมูลคดีในเบื้องต้นว่าการขอให้ตีความคำพิพากษาเดิมนั้นสามารถนำไปสู่การพิจารณาในเนื้อหาต่อไปได้ กล่าวคือศาลต้องพอใจในเบื้องต้นว่ากัมพูชามิได้ขอให้ตีความคำถามใหม่ที่ไม่ได้ถูกพิพากษาตามคำพิพากษาเดิม และกัมพูชาและไทยต่างมีข้อพิพาทเกี่ยวกับความหมายและขอบเขตของคำพิพากษาดังกล่าวอยู่จริง (อย่างไรก็ดี ไทยย่อมมีสิทธิต่อสู้หักล้างมูลคดีเบื้องต้นดังกล่าวในภายหลังได้)
  2. กัมพูชาต้องแสดงให้เห็นว่าวิธีการชั่วคราวจำเป็นเพื่อคุ้มครองสิทธิของกัมพูชาจากความเสียหายที่ไม่สามารถเยียวยาได้ภายหลัง
  3. กัมพูชาต้องแสดงให้เห็นว่ามีความจำเป็นเร่งด่วนเนื่องจากความเสียหายที่ไม่สามารถเยียวยาได้ภายหลังอาจเกิดขึ้นก่อนที่ศาลจะได้พิจารณาคดีที่ขอให้ตีความคำพิพากษาเดิมแล้วเสร็จ

กระทรวงการต่างประเทศคาดว่าศาลจะนัดฟังการแถลงคดีด้วยวาจาโดยกัมพูชาและไทย ประมาณวันที่ 30–31 พฤษภาคม 2554 เพื่อให้ตัวแทนแต่ละฝ่ายได้ชี้แจงข้อมูลต่อศาลเกี่ยวกับการขอให้มีวิธีการชั่วคราว โดยแต่ละฝ่ายจะมีเวลาแถลงคดีด้วยวาจาประมาณฝ่ายละ 4 ชั่วโมง[11]

การโต้แย้งของฝ่ายไทย

นายวีรชัย พลาศรัย หัวหน้าคณะทนายกฎหมายระหว่างประเทศในการตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหาร พ.ศ. 2554

สำหรับคำร้องขอวิธีการชั่วคราวของกัมพูชานั้น ฝ่ายไทยชี้ว่า คำขอดังกล่าวไม่เข้าเกณฑ์ สถานการณ์ปัจจุบันไม่ได้เร่งด่วนและไม่มีความเสี่ยงจะเกิดความเสียหายที่ไม่อาจแก้ไขได้ การอ้างถึงปราสาทตาเมือนและปราสาทตาควายไม่ได้เกี่ยวข้องกับปราสาทพระวิหาร และสถานการณ์ทั่วไปตามชายแดนของทั้งสองประเทศยังคงเป็นไปอย่างปกติ นอกจากนี้การจัดทำหลักเขตแดนระหว่างสองประเทศยังมีกลไกทวิภาคีอยู่[8]

การแถลงด้วยวาจา

ศาลกำหนดการแถลงด้วยวาจาออกเป็นสองรอบ ในวันที่ 31 พฤษภาคม และ 1 มิถุนายน สำหรับวันที่ 31 พฤษภาคม ได้กำหนดให้กัมพูชาแถลงเวลา 10.00–12.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น และไทยแถลงเวลา 16.00–18.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น และในวันที่ 1 มิถุนายน กำหนดให้กัมพูชาแถลงเวลา 10.30–11.30 น. ตามเวลาท้องถิ่น และไทยแถลงเวลา 17.00–18.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น

ด้านฮอร์ นัม ฮง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศกัมพูชา แถลงด้วยวาจาต่อศาลว่า กัมพูชาเตรียมร้องขอวิธีการชั่วคราวจากศาลเพื่อปกป้องสันติภาพและหลีกเลี่ยงการยกระดับการปะทะในพื้นที่ ยืนยันว่าประเทศไทยอยู่ใต้เงื่อนไขต้องถอนกำลังทหารออกจากพื้นที่รอบปราสาท[12] ส่วนทางด้านฝ่ายไทย วีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งราชอาณาจักรไทยประจำเนเธอร์แลนด์, อิทธิพร บุญประคอง อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย และกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เข้าร่วมการแถลงด้วยวาจาร่วมกับกัมพูชา[13]

คำสั่งศาล

เขตปลอดทหารชั่วคราว ตามคำสั่งศาลฯหลังการแถลงการของศาลได้มีการตั้งป้ายจากฝั่งกัมพูชาแสดงข้อความว่า "ฉันมีความภูมิใจที่เกิดเป็นชาวเขมร" หันหน้ามายังฝั่งไทย

วันที่ 7 กรกฎาคม 2554 แผนกข้อมูลข่าวสาร (Information Department) ของศาลแถลงว่า ศาลจะอ่านคำสั่งสำหรับคำร้องของกัมพูชาที่ขอให้ศาลกำหนดวิธีการชั่วคราว ในวันจันทร์ที่ 18 กรกฎาคม 2554 เวลา 10:00 นาฬิกา (เวลาท้องถิ่น) ณ วังสันติ (Peace Palace)[14] ครั้นวันเวลาดังกล่าว ศาลนั่งพิจารณา โดยมี ฮิซะชิ โอะวะดะ ประธานศาลเป็นประธานในการนั่งพิจารณา[14] โอะวะดะอ่านคำสั่งของศาลมีใจความดังนี้[15]

  1. ด้วยมติเอกฉันท์ ให้ยกคำร้องของไทยที่ขอให้ศาลจำหน่ายคำร้องของกัมพูชาซึ่งขอให้กำหนดวิธีการชั่วคราวออกจากสารบบความของศาลฯ
  2. กำหนดวิธีการชั่วคราว ดังต่อไปนี้
    1. ด้วยมติ 11 ต่อ 5 เสียง กำหนดเขตปลอดทหารชั่วคราว แล้วให้คู่ความทั้งสองถอนบุคลากรทางทหารที่ประจำอยู่ในเขตนั้นออกไปทันที และให้งดเว้นจากการส่งทหารใด ๆ เข้าไปยังเขตดังกล่าว ทั้งห้ามดำเนินกิจกรรมใด ๆ ทางทหาร ณ เขตนั้นด้วย
    2. ด้วยมติ 15 ต่อ 1 เสียง ห้ามประเทศไทยขัดขวางกัมพูชาจากการเข้าถึงปราสาทพระวิหารโดยเสรี หรือจากการส่งเสบียงโดยปราศจากบุคลากรทางทหารเข้าไปยังปราสาทนั้น
    3. ด้วยมติ 15 ต่อ 1 เสียง ให้คู่ความทั้งสองร่วมมือกันในอันที่จะให้ผู้สังเกตการณ์จากอาเซียนเข้าถึงเขตปลอดทหารชั่วคราวได้
    4. ด้วยมติ 15 ต่อ 1 เสียง ห้ามคู่ความทั้งสองปฏิบัติการใด ๆ อันจะยังให้ข้อพิพาทย่ำแย่ลงหรือลุกลามขึ้น หรือระงับยากขึ้น
  3. ด้วยมติ 15 ต่อ 1 เสียง ให้คู่ความทั้งสองรายงานให้ศาลทราบเป็นระยะ ๆ ถึงการปฏิบัติตามมาตรการชั่วคราวข้างต้น
  4. ด้วยมติ 15 ต่อ 1 เสียง ให้บรรดามูลคดีอันเป็นเหตุให้มีคำสั่งนี้คงอยู่ในความควบคุมของศาลต่อไป จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาในคำร้องขอให้ตีความ

ปฏิกิริยา

ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้

ใกล้เคียง

กรณีการตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหาร กรณีการเผยแพร่วีดิทัศน์บันทึกภาพโฟร์-มดขณะอาบน้ำ กรณีการรักษาแอชลีย์ กรณีการเรียกร้องให้บัญญัติคำว่าพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติไทยไว้ในรัฐธรรมนูญ กรณีกลิวิซ กรณีการเลี้ยงน้ำชาที่บอสตัน กรณีพิพาทพรมแดนไทย–กัมพูชา กรณีพิพาทอินโดจีน กรณีตากใบ กรณีพิพาทหมู่เกาะคูริล

แหล่งที่มา

WikiPedia: กรณีการตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหาร http://www.naewna.com/news.asp?ID=264633 http://www.icj-cij.org/docket/files/13/1935.pdf http://www.icj-cij.org/docket/files/140/14801.pdf http://www.icj-cij.org/docket/files/151/16471.pdf http://www.icj-cij.org/docket/files/151/16473.pdf http://www.icj-cij.org/docket/files/151/16480.pdf http://www.icj-cij.org/docket/files/151/16481.pdf http://www.icj-cij.org/docket/index.php?p1=3&p2=3&... http://www3.icj-cij.org/docket/files/151/16552.pdf http://www3.icj-cij.org/docket/files/151/16564.pdf