พระประวัติ ของ กรมหลวงโยธาเทพ

คำให้การชาวกรุงเก่าระบุว่า กรมหลวงโยธาเทพมีพระนามเดิมว่าพระสุดาเทวี เป็นพระราชธิดาเพียงพระองค์เดียวในสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ที่ประสูติแต่พระกษัตรีย์พระมเหสีฝ่ายขวา[1] (บางแห่งออกพระนามว่า เจ้าฟ้าสุริยงรัศมี)[6] หรือพระอัครมเหสี[7] เรื่องราวเบื้องต้นของพระองค์ปรากฏใน คู่มือทูตตอบ เขียนขึ้นโดยราชบัณฑิตไม่ปรากฏนามในสมัยกรุงศรีอยุธยาในปี พ.ศ. 2224 โดยในเนื้อความได้กล่าวถึงพระราชโอรส-ธิดาในสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มีเนื้อความระบุว่า ขณะนั้นพระราชธิดามีพระชนมายุได้ 25 พรรษา[8] จึงสันนิษฐานว่าพระองค์ประสูติในปี พ.ศ. 2199

พระองค์เป็นพระราชธิดาที่โปรดปรานของพระราชบิดา หากมีผู้ใดเสกสมรสด้วยกับเจ้าฟ้าพระองค์นี้ก็ย่อมได้รับสิทธิธรรมเหนือราชบัลลังก์มากขึ้นด้วย[9] และด้วยความที่เป็นพระราชธิดาที่ทรงโปรดปราน สมเด็จเจ้าฟ้าสุดาวดีจึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็น เจ้าฟ้าต่างกรม เป็นพระองค์แรก ๆ พร้อมกับสมเด็จเจ้าฟ้าศรีสุพรรณ กรมหลวงโยธาทิพ พระขนิษฐาของสมเด็จพระนารายณ์[10]ที่ได้รับการจัดตั้งจากเหล่าขุนนางข้าราชการเช่นกัน ซึ่งกรมหลวงโยธาทิพเป็นพระราชธิดาในสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง และเป็นพระขนิษฐาในสมเด็จพระนารายณ์ โดยในเรื่องราวดังกล่าวสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงนิพนธ์ไว้ในหนังสือตำนานวังหน้าเกี่ยวกับที่มาของเจ้าต่างกรม ความว่า

แต่เดิมมาขัตติยยศ ซึ่งสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินทรงตั้งเจ้านายนั้น เป็นตำแหน่งเฉพาะพระองค์ เช่นเป็นพระราเมศวร พระบรมราชา พระอินทราชา พระอาทิตยวงศ์ ส่วนพระองค์หญิงก็มีพระนามปรากฏเป็น พระสุริโยทัย พระวิสุทรกษัตรีย์ เป็นต้น ครั้นในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มีเหตุเป็นอริกับพระเจ้าน้องยาเธอ จึงไม่ได้สถาปนาขัตติยยศพระองค์หนึ่งพระองค์ใด พระราชโอรสก็ไม่มี (มีจดหมายเหตุฝรั่งกล่าวว่า เมื่อพระอัครมเหสีทิวงคต สมเด็จพระนารายณ์มีพระราชประสงค์จะให้ข้าราชการในพระมเหสีคงอยู่แก่เจ้าฟ้าพระราชธิดา) จึงโปรดให้รวบรวมข้าราชการจัดตั้งขึ้นเป็นกรมกรมหนึ่ง เจ้ากรมเป็นที่หลวงโยธาเทพ ให้ขึ้นอยู่ในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าสุดาวดีราชธิดา และให้จัดตั้งอีกกรมหนึ่ง เจ้ากรมเป็นที่หลวงโยธาทิพ ให้ขึ้นอยู่ในสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าศรีสุพรรณอย่างเดียวกัน เจ้าฟ้าทั้งสองพระองค์นั้นจึงปรากฏพระนามตามกรมว่า เจ้าฟ้ากรมหลวงโยธาเทพพระองค์ ๑ เจ้าฟ้ากรมหลวงโยธาทิพพระองค์ ๑ เป็นปฐมเหตุที่จะมีเจ้านายต่างกรมสืบมาจนทุกวันนี้[10]

ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

สมเด็จพระนารายณ์ตามจินตนาการของชาวฝรั่งเศส

สมเด็จเจ้าฟ้าน้อย พระราชอนุชาในสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทรงมีน้ำพระทัยและจรรยามารยาทละมุนละไมเป็นที่นิยมชมชอบของผู้คนในราชสำนักและราษฎรทั่วไป สมเด็จพระนารายณ์เองก็ทรงรักพระอนุชาองค์นี้ประดุจพระโอรส จึงมีพระราชดำริที่จะสถาปนาให้เป็นองค์รัชทายาท และยกสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงโยธาเทพ พระราชธิดาเพียงพระองค์เดียวของพระองค์ให้เป็นพระชายา จนถึงขั้นมีการเตรียมการจัดงานอภิเษกสมรส อีกทั้งเจ้าฟ้ากรมหลวงโยธาเทพเองก็มีพระปรารถนาอย่างลึกซึ้ง แต่ความหวังก็พังพินาศลงในกาลต่อมา[11] เนื่องจากเจ้าฟ้าน้อยทรงลอบเป็นชู้กับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ (แจ่ม) พระสนมเอกของสมเด็จพระนารายณ์ ภายหลังท้าวศรีจุฬาลักษณ์ถูกลงโทษด้วยการโยนให้เสือกิน[12] ส่วนเจ้าฟ้าน้อยได้รับโทษโบย จนเป็นอัมพาตที่พระชิวหา บ้างก็ว่าทรงแสร้งเป็นใบ้[13]

ต่อมาสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มีพระราชประสงค์ให้กรมหลวงโยธาเทพ อภิเษกสมรสกับพระปีย์ พระราชโอรสบุญธรรม แต่กรมหลวงโยธาเทพไม่ทรงยินยอมพร้อมพระทัยด้วย และพระองค์ทรงยึดมั่นในพระราชดำริเดิมที่จะอภิเษกสมรสกับเจ้าฟ้าน้อย และทรงขัดขืนพระราชประสงค์ของพระบิดา[14] โดยปรากฏในบันทึกความทรงจำของบาทหลวง เดอะ แบส เกี่ยวกับชีวิตและการมรณกรรมของก็องสตังซ์ ฟอลคอน ความว่า

ฝ่ายเจ้าฟ้าหญิงนั้น ครั้นทรงได้รับแจ้งพระราชดำริ ก็ทรงไม่ยินยอมพร้อมพระทัยด้วย ชะรอยจะทรงมีความหยิ่งในราชสมภพ ดังที่เธอทรงแสดงอยู่ให้ประจักษ์ จึงไม่อาจลดพระองค์ลงมาอภิเษกกับบุคคลในชั้นไพร่ได้ หรือชะรอยจะเป็นดังที่คนทั้งหลายเข้าใจกันอยู่ กล่าวคือเธอมีน้ำพระทัยโน้มน้าวและผูกพันในทางอภิเษกสมรสมาแต่ก่อนกับพระปิตุลา [สมเด็จเจ้าฟ้าน้อย] อยู่แล้ว ...เธอก็ยังทรงยึดมั่นในพระราชดำริดั้งเดิมของในหลวงที่จะอภิเษกเธอให้แก่เจ้าชายองค์นั้นอยู่เสมอ แต่เรื่องได้ดำเนินไปอย่างลับ ๆ ดังที่กระผมได้ยินเขาพูดกันมา ว่าแม้ในหลวงหรือ มร.ก็องสตังซ์ [เจ้าพระยาวิชาเยนทร์] ก็มิได้ล่วงรู้ระแคะระคายเลย ในหลวงทรงขัดพระทัยเป็นอันมาก ในการที่พระราชธิดาทรงขัดขืนพระราชประสงค์อย่างหนักแน่น ไม่ทรงยินยอมอภิเษกสมรสกับพระปีย์...[15]

ในช่วงปลายรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์ กรมหลวงโยธาเทพมิเคยปรากฏพระองค์ให้ชาวยุโรปคนใดพบเห็นเลย จึงเชื่อว่าในช่วงเวลานั้นพระองค์ทรงถูกหน่วงเหนี่ยวกักขังไว้ด้วยเช่นกันกับพระอนุชาของสมเด็จพระนารายณ์ด้วยเหตุผลทางการเมือง[16] ในช่วงปลายรัชกาลของพระบรมชนกนาถ กรมหลวงโยธาเทพมีพระราชดำรัสสั่งให้ขับไล่คริสต์ศาสนิกชนออกจากราชอาณาจักร ชาวคริสต์จึงถูกจับใส่ตรวน ซึ่งรวมไปถึงสมเด็จพระสังฆราช เดอ เมเตลโลโปลิส เว้นแต่บาทหลวงคณะเยสุอิตที่ได้รับเสรีภาพและได้รับอนุญาตให้เข้าพบและปลอบโยนผู้จองจำ[17] แต่หลังการลอบปลงพระชนม์เจ้าฟ้าน้อย กรมหลวงโยธาเทพโทมนัสนัก เพราะทรงสงวนพระองค์สำหรับอภิเษกสมรส กรมหลวงโยธาเทพทรงรู้สึกผิดหวังที่ต่อต้านฝรั่งเศส โดยนายพลเดฟาร์ฌระบุว่า "...ท้ายที่สุดก็ทรงเลือกที่จำดำรงพระชนม์อยู่ในฐานะพระมเหสีมากกว่าจะสิ้นพระชนม์อย่างไร้ความสุข พระราชพิธีอภิเษกสมรส [กับสมเด็จพระเพทราชา] ไม่ได้จัดขึ้นก่อนที่พวกเรา [นายพลเดฟาร์ฌ] จะเดินทางออกไป"[18]

หลังการผลัดแผ่นดินและปลายพระชนม์ชีพ

วัดเตว็ด

หลังจากการสวรรคตของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช สมเด็จพระเพทราชาได้ครองราชย์สืบมา และได้ทรงอภิเษกกรมหลวงโยธาเทพขึ้นเป็นพระมเหสีฝ่ายซ้ายเพื่อสิทธิธรรมแห่งราชบัลลังก์ ซึ่งกรมหลวงโยธาเทพเองเป็นผู้มีส่วนริเริ่มการปฏิวัติผลัดแผ่นดิน และตกเป็นเหยื่อของเหตุการณ์นี้เสียเองทั้งที่ไม่เต็มพระทัยต่อพระเพทราชานัก[4] นอกจากนี้สมเด็จพระเพทราชาได้สั่งให้ปลงพระชนม์พระอนุชาสองพระองค์ของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช การที่ได้กรมหลวงโยธาเทพที่ทรงเป็นสมเด็จพระมเหสีฝ่ายซ้าย จึงทำให้พระเพทราชามีสิทธิธรรมในราชบัลลังก์สมบูรณ์มากขึ้น เมื่อครบถ้วนทศมาสกรมหลวงโยธาเทพก็ได้ให้พระประสูติกาลพระราชโอรสพระนามว่าตรัสน้อย โดยพระราชพงศาวดาร ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ระบุว่าตรงกับเวลารุ่ง เดือน 10 ปีมะเส็ง[19] จ.ศ. 1051 แต่พระราชพงศาวดาร ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน ฉบับตัวเขียน ระบุว่าเป็นปีมะโรง จ.ศ. 1050 (พ.ศ. 2231)[20]

แต่เดิมพระองค์ประทับอยู่ในพระตำหนักคูหาสวรรค์หรือพระตำหนักตึกภายในพระที่นั่งบรรยงก์รัตนาสน์ พระราชวังหลวงอยุธยา หลังจากสมเด็จพระเพทราชาเสด็จสวรรคต พระองค์และเจ้าฟ้าตรัสน้อยทรงย้ายไปประทับ ณ พระตำหนักใกล้วัดพุทไธศวรรย์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเชื่อว่าประทับดังกล่าวปัจจุบันคือวัดเตว็ด เนื่องจากเป็นโบราณสถานที่ตั้งอยู่ไม่ไกลไปจากวัดพุทไธศวรรย์[21] ส่วนพระตำหนักคูหาสวรรค์ได้กลายเป็นที่ประทับของพระมเหสีองค์อื่น ๆ ของราชวงศ์บ้านพลูหลวงต่อไป[22] พระองค์ทรงดำรงพระชนมชีพอย่างสงบสุข จนกระทั่งเสด็จสวรรคตเมื่อปี พ.ศ. 2278 สิริพระชนมายุได้ 79 พรรษา ในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ[23]ขณะที่ผนวชเป็นรูปชี โดยจดหมายเหตุเรื่องสมเด็จพระบรมศพ ระบุว่า[5]

"วัน ๒ ๕ฯ ๖ จุลศักราช ๑๐๙๗ ปีเถาะสัพศก เพลาย่ำฆ้องค่ำแล้ว ๓ บาท สมเด็จพระรูปเจ้าเสด็จนิพพาน ณ วัดพุทไธสวรรย์ฯ [สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ] เสด็จลงไป ณ พระศพ จึงทรงฯ สั่งว่าให้เชิญสมเด็จพระบรมศพขึ้นไปไว้ ณ พระที่นั่งไพชยนต์มหาปราสาทนั้นแล..."

การนี้สมเด็จพระเจ้าบรมโกศโปรดเกล้าฯ ให้ทำพระเมรุขนาดน้อย ขื่อ 5 วา 2 ศอก แล้วเชิญพระศพขึ้นพระมหาพิชัยราชรถแห่ไปยังพระเมรุ ถวายพระเพลิงหน้าพระศพ พระสงฆ์ 10,000 รูป สดับปกรณ์ 3 วัน[24]

ใกล้เคียง

กรมหลวงโยธาเทพ กรมหลวงบาทบริจา กรมหลวงโยธาทิพ กรมหลวงพิพิธมนตรี กรมหลวงอภัยนุชิต กรมหลวงราชานุรักษ์ กรมหลวงสุโขทัยธรรมราชา กรมหลวงสงขลานครินทร์ กรมหลวงชุมพร กรมหลวงพิษณุโลก