ตัวอย่างการนำไปใช้ในประเทศไทย ของ การกระจายรายได้

ดัชนีจีนีของประเทศไทย ซึ่งจัดทำโดยสหประชาชาติในปี ค.ศ.2013 อยู่ที่ 0.4 ส่วนสำนักงานข่าวกรองกลางสหรัฐอเมริกาให้ค่าในปีเดียวกันไว้ที่ 0.536 (สำนักข่าวกรองกลาง)[5] ทั้งนี้ค่าความเหลื่อมล้ำในการกระจายรายได้ของประเทศ ถูกตั้งไว้ตั้งแต่ 0 ถึง 1 โดยยิ่งมีค่าเพิ่มจาก 0 มากเท่าไหร่ก็ยิ่งแสดงให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำในการกระจายรายได้มากเท่านั้น

ปัจจัยจำนวนมากสามารถก่อให้เกิดความไม่เท่าเทียมของรายได้ ตั้งแต่โครงสร้างทางสังคม เพศ เชื้อชาติ วัฒนธรรมการศึกษา ทักษะของแรงงาน จนถึงนโยบายของภาครัฐ อย่างนโยบายด้านภาษี นโยบายเศรษฐกิจ นโยบายแรงงาน นโยบายการเงิน รวมถึงระบบเศรษฐกิจ เทคโนโลยีและระบบอัตโนมัติในการผลิต จนถึงอิทธิพลจากโลกาภิวัตน์ แต่โดยพื้นฐานแล้วการกระจายรายได้ที่ไม่เท่าเทียมกันนั้นมีสาเหตุมาจากธรรมชาติของการสั่งสมต้นทุนทางเศรษฐกิจของผู้เข้าแข่งขันในระบบตลาดเสรีที่จะได้เปรียบผู้ที่มีต้นทุนทางเศรษฐกิจที่น้อยกว่าอยู่แล้ว ปัจจัยอื่นๆ จึงเป็นเพียงตัวเร่ง และขยายความไม่เท่าเทียมดังกล่าวนี้ให้มากและรุนแรงมากยิ่งขึ้นไปเท่านั้น สำหรับประเทศไทยนั้น สาเหตุสำคัญที่กระตุ้นให้ความไม่เท่าเทียมดังกล่าวนี้ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นก็คือ ความไม่เท่าเทียมในโอกาสทางการศึกษา ซึ่งส่งผลให้ประชากรส่วนใหญ่ต้องกลายเป็นประชาชนผู้มีรายได้ต่ำ และมีโอกาสเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจขนาดใหญ่เพื่อแสวงหาความมั่งคั่ง และความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจได้น้อยกว่าคนอื่นๆ แม้รัฐบาลจะพยายามแก้ไขปัญหาด้วยการจัดให้มีการศึกษาภาคบังคับ และโครงการค่าเรียนฟรีแล้วก็ตาม แต่ด้วยข้อจำกัดทางเศรษฐกิจของครอบครัวที่บีบบังคับ ทำให้ผู้คนเหล่านี้ท้ายที่สุดต้องผันตัวมาเป็นแรงงานรับจ้างที่มีรายได้ต่ำปัญหาที่ว่านี้ถูกส่งต่อไปยังบุตรหลานรุ่นต่อๆไปของพวกเขา ในขณะที่ผู้มีรายได้สูงก็จะสามารถเข้าถึงและขยับขยายโอกาสในการแสวงหาความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจได้อยู่เสมอ และส่งต่อโอกาสที่ว่านี้ไปยังลูกหลานได้ด้วยเช่นกัน ความแตกต่างในโอกาสทางการศึกษาผลิตซ้ำความเหลื่อมล้ำดังกล่าวนี้ให้ห่างมากขึ้นเรื่อยๆ หลายคนมองว่าความเหลื่อมล้ำที่ถูกผลิตซ้ำส่วนหนึ่งเพราะรัฐไม่มีการจัดเก็บภาษีที่ดิน และภาษีมรดกในอัตราก้าวหน้า หากสามารถบังคับใช้กฎหมายภาษีทั้งสองประเภทได้ ช่องว่างในการถือครองทรัพย์สินคือ ที่ดิน และการส่งต่อความมั่งคั่งคือมรดก ก็จะลดลงจากเดิม และจะสามารถตอบโจทย์ที่เป็นพื้นฐานสำคัญของปัญหาการกระจายรายได้ของประเทศไทยได้เป็นอย่างดี

ใกล้เคียง

การกราดยิงหมู่ การกรีธาทัพขึ้นเหนือ การกระทำอันเป็นโจรสลัดในโซมาเลีย การกระจายรายได้ การกระตุ้น การกระจัด (เวกเตอร์) การกระตุกหัวใจด้วยไฟฟ้า การกรองตัวเลขในขอบเขตแบบธรรมดา การกระจายอย่างเป็นธรรม การกระเจิงแบบเรย์ลี