อรรถาธิบาย ของ การกระจายรายได้

การกระจายรายได้เป็นดัชนีตัวหนึ่งที่ใช้ในการวัดค่าความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจ ซึ่งมิใช่เรื่องเดียวกันกับความยากจน ความไม่เท่าเทียมในเชิงเศรษฐกิจที่วัดโดยใช้การกระจายรายได้นั้นจะดูจากการแบ่งสันปันส่วนผลผลิตมวลรวมของประเทศโดยแบ่งประชาชนออกเป็นส่วนๆ แล้วดูว่าประชาชนส่วนที่ได้รับรายได้สูงสุดนั้นได้รับรายได้มากกว่าประชาชนส่วนที่ได้รับรายได้น้อยที่สุดเท่าไร แล้วคิดออกมาเป็นสัดส่วนที่บ่งชี้ความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจ (Income Inequality Metrics, n.d.)[2]

ดังนั้น แม้จะมีความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจก็มิได้หมายความว่าจะมีความยากจน เพราะประชาชนส่วนที่มีรายได้น้อยที่สุดอาจจะมีรายได้เหนือเส้นความยากจน หรือแม้แต่มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีก็ได้ เพียงแต่มีรายได้น้อยกว่าประชาชนที่มีรายได้มากที่สุดของประเทศอย่างมากเท่านั้น โดยวิธีการคิดคำนวณเช่นนี้อาจมิได้คำนึงถึง หรือ ละเลยสิ่งที่เรียกว่า “ช่องว่างระหว่างรายได้” อันเกิดมาจากการกระจายรายได้ที่ไม่เท่าเทียมกัน ซึ่งทำให้ความแตกต่างระหว่างผู้ที่มีรายได้มากที่สุด กับผู้ที่มีรายได้น้อยที่สุดของประเทศไทยมีความแตกต่างกันหลายเท่า เพราะประเทศที่ประชากรส่วนใหญ่อยู่เหนือระดับเส้นความยากจนก็อาจเป็นประเทศที่มีช่องว่างในการกระจายรายได้สูงหลายสิบเท่าได้ด้วยเช่นกัน

วิธีที่นิยมใช้กันในการวัดการกระจายรายได้คือค่าสัมประสิทธิ์จีนี (Gini Coefficient) ซึ่งเป็นวิธีวัดการกระจายทางสถิติวิธีหนึ่ง ค่านี้จะบ่งชี้การกระจายรายได้โดยคิดออกมาเป็นอัตราส่วนการกระจายรายได้ระหว่าง 0 กับ 1 “0” หมายถึงประชากรทั้งหมดมีรายได้เท่าเทียมกันอย่างแท้จริง และ “1” หมายถึงการเหลื่อมล้ำสมบูรณ์แบบซึ่งมีบุคคลเพียงคนเดียวมีรายได้ทั้งหมดขณะที่คนที่เหลือไม่มีรายได้เลย (องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ)[3] สัมประสิทธิ์จีนีจะถูกเปลี่ยนเป็นร้อยละเพื่อคิดเป็นดัชนีจีนีสำหรับวัดการกระจายรายได้ เช่น ประเทศเยอรมนีมีสัมประสิทธิ์จีนีจากการกระจายรายได้เท่ากับ 0.283 ดัชนีจีนีของเยอรมนีจะเท่ากับร้อยละ 28.3

ดัชนีจีนี จะทำการชี้วัดการกระจายรายได้เพื่อวัดความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจของทั้งประเทศ ส่วนอัตราส่วนคนรวยคนจนที่แบ่งประชาชนออกเป็นกลุ่มๆ นั้นจะให้ข้อมูลของความแตกต่างระหว่างคนที่มีรายได้มากที่สุดกับคนที่มีรายได้น้อยที่สุดว่าความไม่เท่าเทียมมีความรุนแรงเพียงใด (โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ)[4] เมื่อเรานึกถึงรูปภาพแก้วแชมเปญ เราสามารถเห็นภาพของปัญหาการกระจายรายได้และการถือครองทรัพยากรของประชากรโลกที่ไม่เป็นธรรม กล่าวคือ คนรวยที่สุด 20 เปอร์เซ็นต์ของโลกถือครองทรัพยากรกว่า 82 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่ คนจนที่สุด 20 เปอร์เซ็นต์ มีส่วนแบ่งในด้านรายได้และทรัพยากรเพียง 1.4 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ภาพแก้วแชมเปนปากกว้างและก้านเรียวเล็ก สะท้อนความไม่สมดุลในการกระจายรายได้ของประชากรโลกได้เป็นอย่างดี (โปรดดูเพิ่มเติม Champagne Glass Distribution from Conley (2008) You May Ask Yourself)


ใกล้เคียง

การกราดยิงหมู่ การกรีธาทัพขึ้นเหนือ การกระทำอันเป็นโจรสลัดในโซมาเลีย การกระจายรายได้ การกระตุ้น การกระจัด (เวกเตอร์) การกระตุกหัวใจด้วยไฟฟ้า การกรองตัวเลขในขอบเขตแบบธรรมดา การกระจายอย่างเป็นธรรม การกระเจิงแบบเรย์ลี