เหตุการณ์สำคัญ ของ การชุมนุมของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ_พ.ศ._2553

การเจรจาระหว่างรัฐบาลกับแกนนำ นปช.

ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้

การปิดดี-สเตชัน

วันที่ 8 เมษายน หลังจากที่สุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง มอบหมายให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ไปแจ้งให้ไทยคมระงับการแพร่สัญญาณภาพและเสียงของดี-สเตชัน ทำให้กลุ่มผู้ชุมนุมปักหลักชุมนุมอยู่ที่บริเวณสถานีดาวเทียมไทยคม ที่ตั้งอยู่ถนนรัตนาธิเบศร์ ตำบลตลาดขวัญ อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี และสถานีบริการภาคพึ้นดินไทยคม ซึ่งตั้งอยู่ถนนสายลาดหลุมแก้ว-วัดเจดีย์หอย ตำบลบ่อเงิน อำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี เพื่อเรียกร้องให้ยุติการระงับการเผยแพร่สัญญาณ[55]

วันที่ 9 เมษายน กลุ่มผู้ชุมนุมเคลื่อนขบวนไปยังสถานีดาวเทียมไทยคม เพื่อเรียกร้องให้ยุติการระงับการเผยแพร่สัญญาณการออกอากาศของดี-สเตชันโดยได้มีการนำกองกำลังทหารเข้าสลายการชุมนุมด้วยแก๊สน้ำตา ทำให้กลุ่มผู้ชุมนุมบุกเข้าไปในสถานีและกองทัพต้องถอนกำลังออกไป[56][57][58] หลังจากที่มีการยืนยันว่าทางดี-สเตชันจะมีการออกอากาศอย่างแน่นอน กลุ่มผู้ชุมนุมจึงเคลื่อนขบวนกลับไปยังที่ตั้ง[59] ทว่าหลังจากนั้นได้มีการระงับการออกอากาศอีกครั้งหลังจากกลุ่มผู้ชุมนุมออกจากพื้นที่[60]

การสลายการชุมนุมบริเวณสะพานผ่านฟ้าลีลาศ

บรรยากาศการจุดเทียนและวางพวงมาลัย บริเวณที่เกิดเหตุ เพื่อรำลึกถึงผู้เสียชีวิตในคืนวันที่ 10 เมษายน เมื่อวันที่ 11 เมษายน

วันที่ 10 เมษายน รัฐบาลได้นำกองกำลังทหารเข้าสลายการชุมนุมของประชาชนบริเวณสะพานผ่านฟ้าลีลาศ โดยในเวลาประมาณ 13.00 น. เจ้าหน้าที่ได้ฉีดน้ำออกจากกองบัญชาการกองทัพภาคที่ 1 และพยายามปิดประตู พร้อมขึงรั้วลวดหนาม นอกจากนี้มีรายงานว่าเจ้าหน้าที่ได้ใช้แก๊สน้ำตายิงด้วย

หลังจากนั้นจนถึงเวลาประมาณ 21.00 น. มีการปะทะกันอย่างต่อเนื่อง ระหว่างผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ในบริเวณต่าง ๆ ใกล้กับที่ชุมนุม เช่น ถนนดินสอ ช่วงวงเวียนอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และถนนตะนาว ช่วงแยกคอกวัว ฝั่งเชื่อมต่อถนนข้าวสาร[61] โดยมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 27 ราย และมีผู้ได้รับบาดเจ็บอย่างน้อย 1,427 ราย[62][63] สื่อต่างประเทศรายงานว่าการสลายการชุมนุมดังกล่าวเป็นความรุนแรงทางการเมืองครั้งเลวร้ายที่สุดในกรุงเทพมหานครในรอบ 18 ปี[64]

การล้อมจับแกนนำผู้ชุมนุมที่โรงแรมเอสซีปาร์ค

เมื่อช่วงเช้าวันที่ 16 เมษายน เจ้าหน้าที่ตำรวจหน่วยอรินทราช บุกเข้าปิดล้อมโรงแรมเอสซีปาร์ค เพื่อพยายามจับแกนนำกลุ่มผู้ชุมนุม ประกอบด้วยอริสมันต์ พงศ์เรืองรอง, สุภรณ์ อัตถาวงศ์, พายัพ ปั้นเกตุ, ยศวริศ ชูกล่อม หรือเจ๋ง ดอกจิก และวันชนะ เกิดดี โดยอริสมันต์ได้โรยตัวออกทางระเบียง โดยมีกลุ่มผู้ชุมนุมกว่า 2,000 รายคอยให้ความช่วยเหลือ[ต้องการอ้างอิง] หลังจากนั้นนายอริสมันต์นำกลุ่มคนเสื้อแดงไปล้อมเจ้าหน้าที่อีกชั้น และชิงตัวแกนนำคนอื่น ๆ ออกมาได้ในที่สุด ซึ่งปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ครั้งนี้ทำให้ทางโรงแรมได้รับความเสียหายบางส่วน ขณะที่การจราจรโดยรอบต้องปิดไปโดยปริยาย[65]

การขอพึ่งพระบารมี

เมื่อวันที่ 19 เมษายน พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ และ นาย สมชาย วงศ์สวัสดิ์[66] ได้แถลงการณ์ขอพึ่งพระบารมีพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชที่ทำการพรรคเพื่อไทยต่อมาวันที่ 19 พฤษภาคม จตุพร พรหมพันธุ์[67] ได้แถลงการณ์ขอพึ่งพระบารมีพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

การยิงระเบิด เอ็ม-79 ในย่านสีลม

เมื่อคืนวันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2553 ได้เกิดเหตุระเบิด 5 ครั้งบริเวณถนนสีลม โดยครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อเวลาประมาณ 20.00 น. ระหว่างที่กลุ่มผู้ชุมนุม นปช. รวมตัวการชุมนุมอยู่แยกศาลาแดงฝั่งถนนสีลม ท่ามกลางการรักษาความปลอดภัยของตำรวจ โดยเสียงระเบิดดังขึ้น 3 ครั้ง ที่บริเวณสถานีรถไฟฟ้าศาลาแดง เสียงระเบิดทำให้ประชาชนที่อยู่บนสถานีและกลุ่มต่อต้าน นปช. เกิดความโกลาหล ระเบิดลูกที่ 4 ได้ระเบิดขึ้นบริเวณหน้าโรงแรมดุสิตธานี ใต้ทางเดินลอยฟ้าเชื่อมต่อสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส (สกายวอล์ก) ต่อมา เวลา 20.45 น. ระเบิดลูกที่ 5 ก็ระเบิดขึ้นที่หน้าธนาคารกรุงศรีอยุธยา สาขาศาลาแดง

เหตุระเบิดที่เกิดขึ้นส่งผลให้ผู้บาดเจ็บทั้งหมด 87 คน สาหัส 3 คน โดยผู้บาดเจ็บถูกส่งไปรักษาตัวตามโรงพยาบาลต่าง ๆ โดยรอบบริเวณการชุมนุม มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้ 3 คน[68] ส่วนตัวสถานีรถไฟฟ้าศาลาแดงนั้นได้รับความเสียหายบริเวณหลังคา และตัวรถไฟฟ้าได้รับความเสียหายบริเวณคอมเพรสเซอร์สำหรับระบบปรับอากาศ ทำให้ระบบปรับอากาศภายในตัวรถไฟฟ้าไม่ทำงาน

การสลายขบวนบริเวณอนุสรณ์สถานแห่งชาติ

วันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2553 เมื่อเวลา 09.30 น. ขวัญชัย ไพรพนา แกนนำ นปช. ประกาศจะเคลื่อนขบวนไปยังตลาดไท เพื่อให้กำลังใจกลุ่มคนเสื้อแดงที่ชุมนุมอยู่ ต่อมาเมื่อเวลาประมาณ 13.00 น. กลุ่มผู้ชุมนุมได้มาถึงฐานทัพอากาศดอนเมือง ก่อนจะมุ่งหน้าต่อไปยังอนุสรณ์สถานแห่งชาติ ทางกลุ่มได้หยุดเจรจากับเจ้าหน้าที่ที่ตั้งด่านสกัดอยู่ แต่ไม่เป็นผล เจ้าหน้าที่ได้ยิงกระสุนยางใส่จนกลุ่มผู้ชุมนุมถอยกลับมา[ต้องการอ้างอิง]

ต่อมา จุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยถึงยอดผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์บริเวณหน้าอนุสรณ์สถานแห่งชาติว่า จากรายงานของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติเบื้องต้น พบมีผู้บาดเจ็บ 16 ราย ในจำนวนนี้ 10 ราย ส่งเข้ารักษาที่โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งมีสาหัส 1 ราย บาดเจ็บที่ช่องทองต้องเข้ารับผ่าตัด และอีก 3 ราย เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลแพทย์รังสิต ซึ่งก็มีสาหัส 1 รายที่ต้องผ่าตัดเช่นกัน เนื่องจากถูกยิงที่หน้าอก[69]

สำนักข่าวต่างประเทศ เช่น ซีเอ็นเอ็นและบีบีซี รายงานเหตุการณ์ปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่ทหารและกลุ่มผู้ชุมนุม ที่บริเวณอนุสรณ์สถานแห่งชาติ โดยอ้างว่า เจ้าหน้าที่ศูนย์เอราวัณเปิดเผยมีจำนวนผู้ชุมนุมบาดเจ็บอย่างน้อย 16 รายระหว่างการปะทะกัน ขณะที่มีเจ้าหน้าที่ทหารเสียชีวิต 1 ราย จากกระสุนปืนของทหารด้วยกัน[70]

การขอเข้าตรวจสอบโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

เมื่อวันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2553 พายัพ ปั้นเกตุ แกนนำ นปช. กล่าวว่าตนได้ไปตรวจสอบภายในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ อ้างว่าภายในตึกโรงพยาบาลมีกำลังทหารพร้อมอาวุธสงครามและปืนซุ่มยิงอยู่ครบมือ หากไม่ถอนกำลังทหารออกไปให้หมดภายในคืนนี้ ตนพร้อมจะนำสื่อมวลชนและกลุ่มคนเสื้อแดงไปตรวจสอบที่โรงพยาบาลทันทีเพื่อไปขอพื้นที่โรงพยาบาลคืนให้กับประชาชน[ต้องการอ้างอิง] รวมทั้งในพื้นที่สวนลุมพินี มีเจ้าหน้าที่ตำรวจกว่า 7 กองร้อยและในถนนสีลม ไม่ว่าจะเป็นตึกซีพี หรือธนาคารกรุงเทพ สาขาสีลมก็มีกำลังทหารจำนวนมาก[ต้องการอ้างอิง] ซึ่งภายหลังได้มีการยืนยันออกมาว่า ไม่ได้มีกำลังทหารตามที่ได้ถูกกล่าวอ้างแต่อย่างใด[ต้องการอ้างอิง]

เวลา 19.00 น. พายัพและกลุ่มคนเสื้อแดงเดินทางไปถึงโรงพยาบาล เพื่อขอตรวจสอบตึกในโรงพยาบาล อย่างไรก็ตาม พายัพได้เจรจากับเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลจะให้การ์ดเดินแถวเรียงหนึ่งตรวจตึก แต่เมื่อเจ้าหน้าที่อนุญาตให้เข้าไป การ์ดเสื้อแดงกลุ่มใหญ่ได้กระจายเข้าค้นทั่วโรงพยาบาล[ต้องการอ้างอิง]

ด้านแกนนำ นปช. หลายคน เช่น เหวง โตจิราการ, ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แถลงขอโทษเหตุการณ์ดังกล่าว ส่วนทางด้านพายัพ ปั้นเกตุ อ้างว่า จากการสังเกตการณ์หลายวัน พบว่ามีการเคลื่อนไหวของทหารในโรงพยาบาลจริง จึงต้องการเรียกร้องโรงพยาบาล และบริษัทเอกชนที่มีอาคารสูงรอบพื้นที่การชุมนุม อย่าให้เจ้าหน้าที่ทหารใช้พื้นที่หรือให้ที่พักพิง[71]

ต่อมาวันที่ 2 พฤษภาคม มติแกนนำ นปช.เปิดสองฝั่งให้รถสามารถกลับรถหน้าโรงพยาบาลได้ พร้อมทั้งรื้อบังเกอร์เกาะกลางถนนในตอนบ่าย แต่ไม่ได้ถอยกลับไปที่แยกสารสินแต่อย่างใด[72]

การยิงระเบิด เอ็ม-79 ที่สวนลุมพินี และยิงปืนที่สีลม

เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม เวลา 22.45 น. บริเวณแยกศาลาแดง เกิดเหตุคนร้ายใช้อาวุธปืนกราดยิงเข้าใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ยืนเฝ้าที่หน้าธนาคารกรุงไทย สาขาย่อย อาคารซูลิก เฮ้าส์ ถนนสีลม ทำให้กระจกหน้าธนาคารกรุงไทย ใกล้ตู้เอทีเอ็ม แตก 1 บาน มีรอยร้าว มีรูกระสุน 1 รู มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 4 ราย[ต้องการอ้างอิง] ทั้งหมดถูกนำส่งโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้าม

เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ตำรวจคาดว่าคนร้ายน่าจะขับขี่รถจักรยานยนต์ออกมาจากสีลม และคนซ้อนท้ายได้ใช้ปืนกราดยิง จากถนนฝั่งตรงข้าม บริเวณร้านแมคโดนัลด์ ก่อนจะขับรถหนีออกไปถนนพระรามที่ 4[ต้องการอ้างอิง] อย่างไรก็ตาม รายการข่าวของสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 รายงานว่า มือปืนได้ยิงกราดเข้ามาใส่บริเวณกลางจุดการชุมนุมของชาวสีลม ซึ่งมีประมาณ 20-30 คน ห่างจากร้านกาแฟโอบองแปงประมาณ 10 เมตร[ต้องการอ้างอิง]

เมื่อเวลาประมาณ 01.25 น. สถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 7 รายงานว่า มีเจ้าหน้าที่ตำรวจเสียชีวิต 1 นาย และมีผู้ได้รับบาดเจ็บรวม 6 ราย ทั้งนี้ แกนนำ นปช. ได้ออกมาปฏิเสธว่าไม่เกี่ยวข้องกับเหตุที่เกิดขึ้น[ต้องการอ้างอิง]

เมื่อเวลา 01.30 น. ได้เกิดเหตุระเบิดที่บริเวณทางเข้าสวนลุมพินี ประตู 4 ถนนพระรามที่ 4 ซึ่งบริเวณดังกล่าวเป็นด่านตรวจของตำรวจและทหาร จำนวน 3 ครั้ง เบื้องต้นคาดว่าเป็นชนิดเอ็ม 79 เบื้องต้นมีตำรวจได้รับบาดเจ็บ 4 ราย ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เบื้องจากการตรวจสอบวิถีกระสุนในเบื้องต้น คนร้ายน่าจะยิงวิถีโค้ง ข้ามสะพานลอย น่าจะเป็นการยิงมาจากทางด้านแยกศาลาแดง[ต้องการอ้างอิง] เมื่อเวลา 05.00 น. พบเจ้าหน้าที่ 1 นายเสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าว[73]

การสลายการชุมนุม 13-19 พฤษภาคม

ระหว่างวันที่ 13-19 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 รัฐบาลได้ส่งกำลังทหารพร้อมอาวุธสงคราม และรถหุ้มเกราะ เข้าปิดล้อมพื้นที่การชุมนุมของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ บริเวณแยกราชประสงค์ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตตั้งแต่วันที่ 13 พฤษภาคม ทั้งสิ้น 56 ศพ[74] ในบรรดาผู้เสียชีวิตมีชาวต่างประเทศรวมอยู่สองศพและเจ้าหน้าที่กู้ชีพอีกสองศพ[75] ได้รับบาดเจ็บ 480 คน[76] และจนถึงวันที่ 8 มิถุนายน กลุ่มผู้ชุมนุมยังสูญหายอีกกว่า 51 คน[77] หลังแกนนำผู้ชุมนุมเข้ามอบตัวกับตำรวจเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม ได้เกิดเหตุเผาอาคารหลายแห่งทั่วประเทศ รวมทั้ง เซ็นทรัลเวิลด์[78] สื่อต่างประเทศบางแห่ง ขนานนามการสลายการชุมนุมดังกล่าวว่า "สมรภูมิกรุงเทพมหานคร"[79][80]

ใกล้เคียง

การชุมนุมของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ พ.ศ. 2553 การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย พ.ศ. 2551 การชุมนุมหน้าอาคารรัฐสภาไทย 7 ตุลาคม พ.ศ. 2551 การชุมนุมของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ แดงทั้งแผ่นดิน การชุมนุมที่เนือร์นแบร์ค การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย พ.ศ. 2554 การชุมนุมโค่นล้มระบอบทักษิณ พ.ศ. 2556 การชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง เมษายน พ.ศ. 2552 การชุมนุมประท้วงที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน พ.ศ. 2532 การชุบโลหะด้วยไฟฟ้า

แหล่งที่มา

WikiPedia: การชุมนุมของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ_พ.ศ._2553 http://www.brisbanetimes.com.au/world/16-dead-more... http://www.smh.com.au/world/Red-Shirts-on-rampage-... http://www.theage.com.au/world/army-declares-shoot... http://www.abc.net.au/news/2010-06-08/thai-king-si... http://www.atnnonline.com/index.php?option=com_con... http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/politics... http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/politics... http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/105233 http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/108670 http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/119852