การทำลาย ของ การทำลายเขื่อนกาคอว์กา

ภาพเคลื่อนไหวแสดงสภาพเขื่อนก่อนและหลังการถูกทำลาย

ในวันที่ 6 มิถุนายน เขื่อนกาคอว์กายังคงอยู่ภายใต้การควบคุมของรัสเซีย และระดับน้ำได้เพิ่มสูงขึ้นถึงระดับสูงสุดในรอบ 30 ปี[6]

ระหว่างเวลา 02:00 น. ถึง 02:30 น. ตามเวลาท้องถิ่นของเช้าวันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2566 แหล่งข่าวของทั้งยูเครนและรัสเซียรายงานว่ามีเสียงดังคล้ายระเบิดซึ่งดูเหมือนว่ามาจากโรงไฟฟ้าพลังน้ำที่เขื่อนกาคอว์กา[3] ชาวเมืองนอวากาคอว์กาพูดคุยกันเกี่ยวกับการระเบิดในช่องเทเลแกรมช่องหนึ่ง โดยชาวเมืองคนหนึ่งบรรยาย (เป็นภาษายูเครน) ถึง "แสงวาบสีส้ม" และกล่าวว่าเสียงน้ำ "อื้ออึงมาก ... ดังมาก" เมื่อเวลา 02:45 น.[4] ประธานาธิบดีแซแลนสกึยของยูเครนกล่าวว่าเกิด "การระเบิดภายในของโครงสร้าง" ที่เขื่อนนี้เมื่อเวลา 02:50 น.[35]

ชุดเครื่องตรวจวัดแผ่นดินไหวแบบโครงข่ายของนอร์เวย์ (ซึ่งมีเครื่องหนึ่งอยู่ในโรมาเนีย ห่างจากเขื่อน 620 กิโลเมตร) ตรวจพบสัญญาณที่นักวิทยาศาสตร์นอร์เวย์ตีความว่าเป็นเหตุแผ่นดินไหวอย่างอ่อนจากทิศทางของเขื่อนกาคอว์กาเมื่อเวลา 02:35 น. ตามเวลาฤดูร้อนของยูเครน และตรวจพบสัญญาณที่แรงขึ้นเป็นขนาด 1–2 ซึ่งแสดงว่าเกิดการระเบิดหนึ่งครั้งเมื่อเวลา 02:54 น.[5][36]

ดาวเทียมสอดแนมของสหรัฐตรวจพบสัญญาณความร้อนอินฟราเรดซึ่งสอดคล้องกับการระเบิดครั้งใหญ่ครั้งหนึ่งที่เขื่อนกาคอว์กาก่อนที่เขื่อนจะพังทลายไม่นาน[9]

บรรดาผู้เชี่ยวชาญที่ให้คำปรึกษาแก่ เดอะนิวยอร์กไทมส์ กล่าวเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน ว่าสาเหตุที่เป็นไปได้มากที่สุดคือการระเบิดจากภายใน โดยเสริมว่าสาเหตุจากการโจมตีจากภายนอกหรือความล้มเหลวของโครงสร้างมีความน่าเชื่อถือน้อย แม้จะเป็นไปได้ก็ตาม[10] ดิอีโคโนมิสต์ ระบุว่าเกิดการระเบิดที่รุนแรงมากจนรู้สึกได้ไกลจากเขื่อนถึง 80 กิโลเมตร (50 ไมล์)[37] อีฮอร์ ซือรอตา ผู้อำนวยการทั่วไปของบริษัทผลิตไฟฟ้าพลังน้ำอุกร์ฮีดรอแอแนร์ฮอของยูเครน ปฏิเสธสมมุติฐานที่ว่าเขื่อนแตกเพราะถูกยิงโจมตีหรือเพราะความล้มเหลวของโครงสร้างเขื่อน โดยกล่าวว่านั่นคือโฆษณาชวนเชื่อของรัสเซีย ซือรอตาระบุว่า "โรงไฟฟ้าได้รับการออกแบบให้ทนต่อการโจมตีด้วยอาวุธนิวเคลียร์ ในการที่จะทำลายโรงไฟฟ้าจากภายนอกนั้น จะต้องทิ้งระเบิดจากอากาศยานอย่างน้อย 3 ลูก ลูกละ 500 กิโลกรัม ลงไปที่จุดเดียวกัน [ดังนั้น] โรงไฟฟ้าถูกจุดระเบิดจากภายใน"[36]

คริส บินนี นักวิจัยสาขาวิศวกรรมน้ำขึ้นน้ำลงและวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมแห่งมหาวิทยาลัยเอ็กซิเตอร์ ระบุว่าเกิดรอยแตกขึ้นสองจุดที่เขื่อนกาคอว์กา "ทั้งสองด้านของโครงสร้าง" เขาให้เหตุผลว่าหากเขื่อนพังทลายด้วยสาเหตุธรรมชาติจริง มวลน้ำเหนือเขื่อนจะก่อให้เกิดรอยแตกเพียงจุดเดียวเท่านั้น นอกจากนี้เขายังปฏิเสธสมมุติฐานที่ว่ายูเครนยิงโจมตีเขื่อนจนเขื่อนพังทลาย เพราะเป็นไปได้ยากที่กระสุนปืนใหญ่จะก่อให้เกิด "การระเบิดขนาดใหญ่ใกล้ฐานราก" ของเขื่อน[38]

อีฮอร์ สแตรแลตส์ วิศวกรที่เคยประจำการที่เขื่อนกาคอว์กาอยู่หลายเดือนและดำรงตำแหน่งรองหัวหน้าฝ่ายทรัพยากรน้ำจากแม่น้ำนีเปอร์ระหว่าง พ.ศ. 2548–2561 กล่าวว่ามวลน้ำขนาดใหญ่ซ่อนอยู่ใต้เส้นระดับน้ำของเขื่อน โดยมีฐานเขื่อนซึ่งเป็นบล็อกคอนกรีตขนาดมหึมาสูง 20 เมตร (66 ฟุต) และหนาถึง 40 เมตร (130 ฟุต) กักน้ำไว้ที่ด้านล่าง นอกจากนี้ยังหมายความว่าเขื่อนที่สร้างในช่วงสงครามเย็นเขื่อนนี้สามารถต้านทานการโจมตีจากภายนอกได้เกือบทุกชนิด[39] ประตูน้ำบานเลื่อนตั้งอยู่บนบล็อกคอนกรีตดังกล่าวและถูกเปิดและปิดเพื่อปรับระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำ หลังจากเขื่อนแตก เป็นที่ชัดเจนว่าฐานคอนกรีตดังกล่าวก็ถูกทำลายไปด้วยไม่เพียงแต่ประตูน้ำบานเลื่อนเท่านั้น ก่อนหน้านี้มีความเสียหายเกิดขึ้นที่ถนนเหนือสันเขื่อนและที่ประตูน้ำบานเลื่อนบางบาน แต่จากข้อมูลของผู้เชี่ยวชาญด้านเขื่อน ความเสียหายที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้และแรงดันจากระดับน้ำสูงเหนือเขื่อนไม่รุนแรงพอที่จะทำให้โครงสร้างฐานเขื่อนเสียหายได้ ภายในฐานรากมีทางเดินที่ผู้เชี่ยวชาญระบุว่าอาจเป็นตำแหน่งที่เหมาะสมในการติดตั้งวัตถุระเบิดที่รุนแรงพอที่จะทำลายโครงสร้างดังกล่าว นิก กลูแม็ก ศาสตราจารย์สาขาวิศวกรรมศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญด้านวัตถุระเบิดแห่งมหาวิทยาลัยอิลลินอย เออร์แบนา-แชมเพน[40] กล่าวว่า "สำหรับผม มันยากที่จะจินตนาการว่าจะมีอะไรที่อธิบายสาเหตุของความเสียหายได้อีกนอกจากการระเบิดภายในทางเดิน การเคลื่อนย้ายบล็อกคอนกรีตที่ใหญ่ขนาดนี้ต้องใช้แรงมหาศาล"[39]

ส่วนกลางของเขื่อนกาคอว์กาซึ่งมีความกว้าง 3.2 กิโลเมตรถูกทำลาย[12][41] ก่อให้เกิดน้ำท่วมเป็นบริเวณกว้างด้านท้ายน้ำ

ใกล้เคียง

การทำให้เป็นประชาธิปไตย การทำฝนเทียม การทำลายเขื่อนกาคอว์กา การทำงานในสมองกับการเข้าสมาธิ การทำแผนที่ การทำให้ไว การทำลายป่า การทำลายล้างวัตถุระเบิด การทำฝันวัยเด็กของคุณให้เป็นจริงได้อย่างแท้จริง การทำเครื่องหมายกางเขน

แหล่งที่มา

WikiPedia: การทำลายเขื่อนกาคอว์กา https://www.aljazeera.com/news/2022/10/21/zelensky... https://www.aljazeera.com/news/liveblog/2023/6/6/r... https://www.aljazeera.com/news/2023/6/6/ukraine-sa... https://www.aljazeera.com/gallery/2023/5/25/damage... https://www.aljazeera.com/news/2023/6/8/bodies-flo... https://www.aljazeera.com/news/2023/6/7/ukraines-z... https://apnews.com/article/ukraine-russia-nuclear-... https://apnews.com/article/russia-ukraine-war-kakh... https://www.bbc.com/russian/news-65828501 https://www.bbc.com/news/world-europe-65835742