กระแสชาตินิยมที่เพิ่มขึ้น ของ การปฏิวัติสยาม_พ.ศ._2231

ฝรั่งเศสพยายามจะชักจูงให้สมเด็จพระนารายณ์เข้ารีตในศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกและสถาปนากำลังรบของตนขึ้นในสยาม เมื่อได้รับพระบรมราชานุญาตจากสมเด็จพระนารายณ์แล้ว ป้อมปราการซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมของกองทหารฝรั่งเศสจึงได้มีการก่อสร้างขึ้นที่เมืองมะริดและบางกอก เพื่อยืนยันสนธิสัญญาทางการค้าในปี พ.ศ. 2228 เพื่อถ่วงดุลอำนาจของดัตช์ (หรือฮอลันดา) ในภูมิภาคนี้ และเพื่อต่อต้านการปล้นสะดมจากกลุ่มโจรสลัด[5] การยกพลขึ้นบกของฝรั่งเศสเช่นนี้ได้นำไปสู่ความเคลื่อนไหวในเชิงชาตินิยมอย่างรุนแรงในสยาม เมื่อถึงปี พ.ศ. 2231 ความรู้สึกต่อต้านต่างชาติซึ่งส่วนใหญ่มุ่งไปที่ฝรั่งเศสและเจ้าพระยาวิชเยนทร์ได้ทะยานขึ้นถึงขีดสุด บรรดาขุนนางชาวสยามต่างชิงชังต่ออิทธิพลในการบริหารราชการแผ่นดินของเจ้าพระยาวิชเยนทร์ โดยรวมไปถึงภรรยาผู้มีเชื้อสายโปรตุเกส-ญี่ปุ่น และวิถีชีวิตแบบชาวยุโรปอีกด้วย ในขณะที่พระสงฆ์ในศาสนาพุทธต่างก็พากันอึดอัดใจกับนักบวชคณะเยซูอิตของฝรั่งเศสที่มีบทบาทสำคัญมากขึ้น ในที่สุดบรรดาข้าราชบริพารจึงได้รวมตัวกันเป็นขั้วอำนาจฝ่ายต่อต้านชาวต่างชาติ ส่วนชาวต่างชาติซึ่งเข้ามาตั้งรกรากยังกรุงศรีอยุธยาก่อนชาวฝรั่งเศส โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้นับถือลัทธิโปรเตสแตนท์ชาวฮอลันดาและชาวอังกฤษ รวมถึงชาวมุสลิมเปอร์เซีย ต่างก็ไม่พอใจต่อการปรากฏตัวของฝรั่งเศสเช่นกัน โดยต่างก็เห็นว่าเป็นการละเมิดสนธิสัญญาทอร์เดสซิลลาส อิทธิพลของฝรั่งเศสที่เพิ่มขึ้นไม่เพียงเป็นการเพิ่มการแข่งขัน แต่ยังเป็นการย้ำเตือนอย่างไม่พึงปรารถนาต่อการเสื่อมอิทธิพลของชาวโปรตุเกสอีกด้วย

เมื่อสมเด็จพระนารายณ์ทรงพระประชวรหนักในเดือนมีนาคมปี พ.ศ. 2231 บรรดาผู้สมรู้ร่วมคิดจึงฉวยโอกาสยึดอำนาจจากพระองค์เสีย ในเดือนเมษายน เจ้าพระยาวิชเยนทร์ได้ขอความช่วยเหลือทางทหารจากฝรั่งเศสเพื่อต่อต้านแผนการดังกล่าว นายพลเดส์ฟาร์จได้นำกำลังทหาร 80 นาย พร้อมด้วยนายทหารอีก 10 นาย ออกจากบางกอก เดินไปยังพระราชวังเมืองลพบุรี[6] อย่างไรก็ตามเขาได้ยับยั้งกำลังพลทั้งหมดอยู่ที่กรุงศรีอยุธยา และได้ตัดสินใจล้มเลิกแผนการและถอนตัวกลับไปยังบางกอก ด้วยเกรงว่าจะถูกซุ่มโจมตีจากกลุ่มกบฏชาวสยามและได้รับข่าวลือเท็จต่าง ๆ ซึ่งส่วนหนึ่งได้มาจากนายเวเรต์ (Monsieur Véret) ผู้อำนวยการบริษัทอินเดียตะวันออกของฝรั่งเศส อันรวมไปถึงข่าวลือที่ว่าสมเด็จพระนารายณ์เสด็จสวรรคตแล้ว[7]

ใกล้เคียง