วิกฤติการณ์การสืบราชสมบัติ ของ การปฏิวัติสยาม_พ.ศ._2231

กรมหลวงโยธาเทพ พระราชธิดาเพียงพระองค์เดียวในสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2231

ในวันที่ 10 พฤษภาคม สมเด็จพระนารายณ์ซึ่งมีพระอาการประชวรเพียบหนักและใกล้เสด็จสวรรคต ทรงตระหนักถึงปัญหาการสืบราชสมบัติที่ใกล้จะเกิดขึ้น จึงทรงเรียกบุคคลผู้ใกล้ชิดในพระองค์ ซึ่งได้แก่ เจ้าพระยาวิชเยนทร์ อัครมหาเสนาบดีชาวกรีก, พระเพทราชา พี่น้องร่วมพระนมและจางวางกรมพระคชบาล, และพระปีย์ พระราชโอรสบุญธรรม ให้เข้าเฝ้าฯ เฉพาะเบื้องพระพักตร์ ทรงมีพระราชดำริที่จะยกให้กรมหลวงโยธาเทพ พระราชธิดาเพียงพระองค์เดียวของพระองค์ ขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติ และให้บุคคลทั้งสามทำหน้าที่ว่าราชการแทนจนกว่าพระราชธิดาจะทรงตัดสินพระทัยว่าจะทรงเลือกอภิเษกสมรสกับพระปีย์หรือพระเพทราชาเป็นพระราชสวามี[8]

การตัดสินพระทัยของสมเด็จพระนารายณ์ทำให้พระเพทราชาต้องเร่งตัดสินใจลงมือโดยเร็ว จากการที่สมเด็จพระนารายณ์ทรงพระประชวรเพียบหนัก พระเพทราชาจึงได้ดำเนินการทำรัฐประหารตามที่ได้วางแผนไว้มานาน โดยได้รับการสนับสนุนจากบรรดาข้าราชบริพารและพระสงฆ์ในศาสนาพุทธ กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิวัติสยามในปี พ.ศ. 2231 สมเด็จพระนารายณ์ทรงถูกกักบริเวณควบคุมพระองค์เมื่อวันที่ 17-18 พฤษภาคม พ.ศ. 2231 และในวันที่ 5 มิถุนายน ฟอลคอนหรือเจ้าพระยาวิชเยนทร์ ก็ได้ถูกจับกุมด้วยข้อหากบฏและถูกสำเร็จโทษด้วยการตัดศีรษะในภายหลัง พระปีย์ถูกฆ่า พระญาติวงศ์หลายพระองค์ของสมเด็จพระนารายณ์ถูกลอบสังหาร พระอนุชาทั้งสองพระองค์ซึ่งเป็นผู้มีสิทธิ์ในราชสมบัติโดยชอบธรรมต่างถูกปลงพระชนม์ในวันที่ 9 กรกฎาคม[9][10] สมเด็จพระนารายณ์เสด็จสวรรคตระหว่างทรงถูกกักบริเวณเมื่อวันที่ 10-11 กรกฎาคม โดยที่การสวรรคตของพระองค์อาจถูกเร่งให้เร็วขึ้นด้วยการวางยาพิษ พระเพทราชาได้ทรงกระทำการปราบดาภิเษกเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม[11] ออกพระวิสุทธสุนทร (ปาน) ราชทูตผู้เดินทางไปยังฝรั่งเศสเมื่อปี พ.ศ. 2229 และเป็นฝ่ายสนับสนุนพระเพทราชา ได้ดำรงตำแหน่งเสนาบดีกำกับกรมพระคลังและกรมท่า ดูแลด้านการค้าและการต่างประเทศ[12]

กรมหลวงโยธาเทพได้ทรงอภิเษกสมรสกับพระเพทราชา และทรงได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นพระอัครมเหสี

ใกล้เคียง