เบื้องหลัง ของ การประชุมสันติภาพเจนีวา

วันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2533 คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติผ่านมติ 678 ซึ่งมอบอำนาจให้รัฐสมาชิก "ใช้ทุกวิธีการที่จำเป็นเพื่อสนับสนุนและทำให้มติที่ผ่านมาทั้งหมดที่ต้องการให้อิรักถอนกำลังทหารออกจากคูเวตในทันทีเป็นผลสำเร็จ" เป้าหมายของมติดังกล่าวคือ การให้สารแก่ซัดดัม ฮุสเซนอย่างเด็ดขาดครั้งสุดท้ายว่า สหประชาชาติจะไม่ยินยอมให้อิรักคงการยึดครองคูเวตต่อไป แม้ว่าสหภาพโซเวียต พันธมิตรอันใกล้ชิดของอิรักและอดีตศัตรูของสหรัฐอเมริกา จะพยายามเกลี้ยกล่อมให้ซัดดัมพิจารณาการกระทำของเขาอีกครั้งหนึ่งแล้วก็ตาม ผู้นำโซเวียต มิฮาอิล กอร์บาชอฟ พยายามที่จะเปลี่ยนใจซัดดัมที่จะมองข้ามผลประโยชน์ของตนเอง และทำเพื่อประโยชน์ที่ดีที่สุดของอิรัก เขาประสบความสำเร็จในการทำให้รัฐสมาชิกอื่นของสหประชาชาติเพิ่ม "ช่วงเวลาแห่งความปรารถนาดี" ในมติที่ 678 ช่วงเวลาแห่งความปรารถนาดีนี้เพื่อให้อิรักมีโอกาสทบทวนนโยบายและการกระทำของตน โดยหวังว่าอิรักจะตัดสินใจถอนกำลังทหารและหลีกเลี่ยงวิกฤตการณ์ที่กำลังก่อตัวขึ้น[1]

ในสหรัฐอเมริกา ประธานาธิบดี จอร์จ เอช. ดับเบิลยู. บุช ยืนกรานที่จะบรรลุ "ไมล์เพิ่มเติมสำหรับสันติภาพ" การทาบทามดังกล่าวเปิดโอกาสให้มีการสนทนาระหว่างอิรักกับสหรัฐอเมริกา ทัศนะของสหรัฐรวมถึงทางเลือกในการรับการมาเยือนของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอิรัก ฏอริก อาสีส และส่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เบเกอร์ ไปเยือนอิรัก เป้าหมายหลักเบื้องหลังไมล์เพิ่มเติมสำหรับสันติภาพนี้ เพื่อให้ความมั่นใจแก่พลเมืองอเมริกันว่ารัฐบาลกำลังทำทุกวิถีทางเพื่อหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าทางทหารกับอิรัก[2]

อิรักต้อนรับโอกาสที่จะได้พูดคุยโดยตรงกับสหรัฐ นับตั้งแต่การบุกครองคูเวตเริ่มขึ้น ซัดดัมพยายามวิ่งเต้นเพื่อให้เกิดการเจรจาโดยตรงกับสหรัฐ อิรักเคยปฏิเสธการเจรจาแบบตัวต่อตัวในอดีต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสารสนเทศของอิรัก ลาติฟ นุสเซท จะซิม กล่าวว่า อิรักปรารถนาที่จะอภิปรายถึง "วิกฤตการณ์อ่าว [เปอร์เซีย] ทุกด้าน โดยไม่มีข้อแม้ นานตราบเท่าที่อเมริกันเตรียมพร้อมที่จะเจรจาโดยไม่มีการวางเงื่อนไขล่วงหน้า"[3]

กลุ่มประเทศอาหรับอื่น ๆ เรียกร้องให้ซัดดัมยอมปฏิบัติตามมติที่ 678 ประธานาธิบดีอียิปต์ มูฮัมหมัด โฮซนี มูบารัค และพระมหากษัตริย์ซาอุดิอาระเบีย ฟาฮัด ตลอดจนประมุขแห่งรัฐของประเทศเหล่านี้ ได้เรียกร้องอย่างเปิดเผยให้มีการถอนกำลังทหารอย่างไม่มีเงื่อนไขออกจากคูเวต รัฐมนตรีว่าการะทรวงกลาโหมซีเรียกล่าวว่าซีเรียจะเพิ่มการกดดันทางทหารต่ออิรักหากอิรักไม่ปฏิบัติตาม หลังจากการประชุมในไคโร เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2533 ซาอุดิอาระเบีย ซีเรีย และอียิปต์ ได้ออกแถลงการณ์ ความว่า "การทาบทามของบุชสร้างโอกาสสุดท้ายในการขจัดภยันตรายของสงครามจากภูมิภาคนี้ ซัดดัมควรจะฉวยเอาโอกาสนี้ในการถอนกำลังทหารออกจากคูเวต ดีกว่าทำให้ภูมิภาคนี้พัวพันกับสงครามที่นองเลือดและไร้ประโยชน์"[4]

ระหว่างพยายามตัดสินใจหาวันที่ตัวแทนจากอิรักและสหรัฐจะมาประชุมกัน ซัดดัมยืนกรานว่าวันที่นั้นจะต้องใกล้กับเส้นตายของมติที่ 678 เป้าหมายของเขาคือพยายามที่จะหลีกเลี่ยงมติดังกล่าว สหรัฐต้องการให้วันที่ประชุมอยู่ระหว่างวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2533 และ 3 มกราคม พ.ศ. 2534 เพื่อให้เวลาแก่ซัดดัมเพียงพอที่จะถอนกองทัพอิรัก ยิ่งเวลาเข้าใกล้เส้นตายของมติมากยิ่งขึ้นเท่าใด ความยืดหยุ่นของซัดดัมก็จะยิ่งมีมากขึ้นเท่านั้น เพราะเป็นไปไม่ได้ที่จะถอนกำลังทหารจำนวนมากภายในเวลาไม่กี่วัน ขณะที่ซัดดัมยื้อให้การประชุมดังกล่าวมีขึ้นใกล้กับเส้นตายของมติที่ 678 ประธานาธิบดีบุชฝืนใจเสนอให้การประชุมมีขึ้นในเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2534 และสุดท้าย ได้มีการตกลงกันว่า ฏอริก อาสีส และเจมส์ เบเกอร์จะประชุมกันเพื่ออภิปรายถึงการยึดครองคูเวตและมติสหประชาชาติ ประธานาธิบดีบุชได้เคยให้สัญญาต่อรัฐสภาสหรัฐอเมริกาว่าจะไม่มีมติใดเสนอต่อรัฐสภาจนกระทั่งหลังจากการประชุมดังกล่าวสิ้นสุดลง[2]

ใกล้เคียง

การประท้วงในประเทศไทย พ.ศ. 2563–2564 การปรับตัวเป็นสัตว์เลี้ยง การปรับอากาศรถยนต์ การประกวดความงาม การปรับตัว (ชีววิทยา) การประมาณราคา การประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์นานาชาติ การประเมินตัวเองหลัก (จิตวิทยา) การประกันภัย การประกวดเพลงยูโรวิชัน