การสิ้นสุดจักรวรรดิออตโตมัน ของ การล้มล้างระบอบสุลต่านออตโตมัน

อำนาจอธิปไตยของจักรวรรดิออตโตมันมีรากฐานมาจากราชวงศ์ของสุลต่านออสมันที่ 1 ผู้ก่อตั้งและเป็นที่มาของชื่อจักรวรรดิ ราชวงศ์ออสมันของพระองค์ทรงสืบทอดการปกครองจักรวรรดิจากรุ่นสู่รุ่นอย่างไม่ขาดสายตลอดประวัติศาสตร์ของจักรวรรดิมาตั้งแต่ ค.ศ. 1299 องค์สุลต่านทรงคงไว้ซึ่งพระราชอำนาจเหนือหน่วยการเมืองของจักรวรรดิ ถือเป็นผู้บริหารของจักรวรรดิอย่างเด็ดขาดแต่เพียงผู้เดียว ทรงเป็นทั้งประมุขแห่งรัฐและหัวหน้ารัฐบาล ทั้งมหาเสนาบดีและหน่วยการเมืองที่ถูกตั้งขึ้นมาตามรัฐธรรมนูญ ดำรงอยู่ตามพระราชอัธยาศัยขององค์สุลต่าน

ฝ่ายสัมพันธมิตรได้ส่งคำเชิญไปให้กับทั้งรัฐบาลคอนสแตนติโนเปิลและรัฐบาลอังการาเข้าร่วมการประชุมที่โลซาน มุสทาฟา เคมัล ยืนยันว่าควรมีการเชิญให้ตัวแทนจากรัฐบาลอังการาเข้ารวมประชุมเพียงฝ่ายเดียว[4]ในวันที่ 1 พฤศจิกายน ค.ศ. 1922 สมัชชาใหญ่แห่งชาติตุรกีได้ออกประกาศว่ารัฐบาลสุลต่านที่คอนสแตนติโนเปิลไม่ใช่ผู้แทนของชาติตามกฎหมาย สมัชชาใหญ่ยังได้สรุปอีกว่าคอนสแตนติโนเปิลไม่ใช่เมืองหลวงของชาติอีกต่อไป นับตั้งแต่ถูกเข้ายึดครองโดยฝ่ายสัมพันธมิตร[5]นอกจากนี้พวกเขายังประกาศอีกว่าสถาบันสุลต่านจะถูกล้มล้าง[6] การประกาศล้มล้างระบอบสุลต่านถือเป็นจุดสิ้นสุดของจักรวรรดิออตโตมัน หลังจากทรงทราบข้อสรุปดังกล่าว สุลต่านเมห์เหม็ดที่ 6 จึงทรงเสด็จลี้ภัยไปกับเรือรบหลวงมาลายา ของสหราชอาณาจักรในวันที่ 17 พฤศจิกายน[7] ในขณะที่เหล่ารัฐมนตรีที่เหลือในคณะรัฐบาลของพระองค์ต่างยอมรับความเป็นจริงข้อใหม่ในทางการเมืองนี้ เนื่องจากไม่มีการออกเอกสารอย่างเป็นทางการจากรัฐบาลออตโตมันหรือองค์สุลต่านว่าจักรวรรดิได้ยอมจำนนแล้ว ฝ่ายสมัชชาแห่งชาติจึงประกาศเอาเอง ในการประชุมที่โลซาน เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน ค.ศ. 1922 ที่ประชุมได้รับรองอำนาจอธิปไตยรัฐบาลสมัชชาใหญ่แห่งชาติตุรกีว่าได้เข้ามาแทนที่จักรวรรดิออตโตมัน

รายชื่อจำนวน 600 ชื่อ ถูกนำขึ้นเสนอต่อที่ประชุม ณ โลซาน รายชื่อดังกล่าวคือ บุคคลไม่พึงปรารถนา ของรัฐบาลสมัชชาใหญ่แห่งชาติตุรกี รายชื่อดังกล่าวประกอบไปด้วยเหล่าคนใหญ่คนโต ของจักรวรรดิออตโตมัน การออกรายชื่อดังกล่าวมีจุดประสงค์เพื่อกำจัดชนชั้นปกครองของจักรวรรดิเดิม การเจรจาต่อรองที่โลซานลดจำนวนรายชื่อลงเหลือเพียง 150 ราย และสนธิสัญญาฉบับใหม่ (สนธิสัญญาโลซาน) ได้รับการลงนามในวันที่ 24 กรกฎาคม ค.ศ. 1923 โดยมีผลแทนที่สนธิสัญญาเซเวร์

ราชวงศ์ออสมันทรงเกี่ยวพันกับตำแหน่งเคาะลีฟะฮ์มาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 14 ในรัชสมัยของสุลต่านมูรัดที่ 1 ประมุขของราชวงศ์ออสมันทรงถือครองตำแหน่งเคาะลีฟะฮ์ ประมุขของชาวมุสลิมมาโดยตลอด หลังจากที่สุลต่านเมห์เหม็ดที่ 6 ทรงเสด็จลี้ภัย พระราชภาดา (ลูกพี่ลูกน้องชาย) ของพระองค์จึงขึ้นเป็นเคาะลีฟะฮ์แทนในพระนามอับดุล เมจิดที่ 2 แม้จักรวรรดิออตโตมันจะสิ้นสุดลงไปแล้ว แต่ราชวงศ์ออสมันก็ยังคงมีสถานะทางการเมือง-ศาสนาที่สืบทอดจากนบีมุฮัมมัด และถือเป็นประมุขของชาวมุสลิมทั้งมวล ตำแหน่งเคาะลีฟะฮ์ของราชวงศ์ออสมันเคยถูกอ้างสิทธิ์โดยพระเจ้าฮุสเซน บินห์ อะลี แห่งฮิญาซ ผู้นำของการกบฏอาหรับ ทรงออกมาประณามสุลต่านเมห์เหม็ดที่ 5 แต่ราชอาณาจักรของพระองค์ก็พ่ายแพ้และถูกผนวกโดยสมเด็จพระราชาธิบดีอับดุลอะซีซ อิบน์ ซะอูด ใน ค.ศ. 1925.

ชาวกรีก บัลแกเรีย และเซิร์บแยกตัวออกจากจักรวรรดิระหว่างยุคเสี่อมและการปรับตัวเป็นสมัยใหม่ของจักรวรรดิออตโตมัน (ค.ศ. 1828–1908) ในขณะที่ชาวอัลเบเนียและอาร์มีเนีย (ขบวนการชาตินิยมอาร์มีเนีย และต่อมาคือสาธารณรัฐอาร์มีเนียที่หนึ่ง) แยกตัวออกจากจักรวรรดิหรือถูกสังหารระหว่างช่วงความพ่ายแพ้และการล่มสลายของจักรวรรดิออตโตมัน (ค.ศ. 1908–1922) เมื่อถึง ค.ศ. 1922 ประชากรส่วนใหญ่ที่อาศัยอยู่ในบริเวณประเทศตุรกีปัจจุบันก็เหลือเพียงชาวมุสลิมเชื้อสายตุรกีหรือเคิร์ดเท่านั้น สมัชชาใหญ่แห่งชาติได้ประกาศสถาปนาสาธารณรัฐตุรกีในวันที่ 29 ตุลาคม ค.ศ. 1923

แม้จะมีการประกาศสถาปนาสาธารณรัฐแล้ว แต่ก็ยังคงมีเชื้อพระวงศ์ออตโตมันบางส่วนประทับอยู่ในประเทศตุรกี รายชื่อผู้ถูกสั่งเนรเทศถูกร่างขึ้นและได้รับการประกาศให้มีผลบังคับใช้โดยรัฐบาลสาธารณรัฐ[lower-alpha 1] ในวันที่ 23 เมษายน ค.ศ. 1924 (มีการแก้ไขเพิ่มเติมในวันที่ 1 มิถุนายน ค.ศ. 1924) โดยมีรายชื่อผู้ภักดีต่อราชวงศ์ออสมันรวมอยู่ด้วย 120 ชื่อ[9]

ใกล้เคียง

การล้อมเลนินกราด การล้อมอยุธยา (พ.ศ. 2309–2310) การล้อมบางกอก การล้างแค้นของผู้กล้าสายฮีล การล้อมออร์เลอ็อง การล้อม การล้มละลายของดีทรอยต์ การล้มล้างระบอบสุลต่านออตโตมัน การล้อมซีราคิวส์ (214-212 ปีก่อนคริสตกาล) การล้างแค้นของรูบิก