ภูมิหลัง ของ การล้มล้างระบอบสุลต่านออตโตมัน

จักรวรรดิออตโตมันเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่หนึ่งในฐานะสมาชิกของฝ่ายมหาอำนาจกลาง เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน ค.ศ. 1914 นำไปสู่การรบในตะวันออกกลาง ซึ่งยุติลงด้วยการสงบศึกที่มูดรอส เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม ค.ศ. 1918 และตามมาด้วยการยึดครองกรุงคอนสแตนติโนเปิล โดยกองกำลังบริติช ฝรั่งเศส และอิตาลีในวันที่ 13 พฤศจิกายน ค.ศ. 1918

การแบ่งจักรวรรดิออตโตมัน เริ่มมีการวางแผนมาตั้งแต่ในสนธิสัญญาลอนดอน[1] และดำเนินการต่อไปควบคู่กับข้อตกลงหลายประการ ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วจะเป็นการเห็นชอบฝ่ายเดียวของฝ่ายสัมพันธมิตร ทหารบริติชเริ่มเข้ายึดครองสถานที่สำคัญของจักรวรรรดิและทำการจับกุมนักชาตินิยม หลังจากที่สถาปนาการยึดครองโดยทหาร ในคืนของวันที่ 15 มีนาคม ค.ศ. 1920 ต่อมาในวันที่ 18 มีนาคม ค.ศ. 1920 รัฐสภาออตโตมันได้ประชุมกันและส่งคำประท้วงการเข้าจับกุมสมาชิกสภา 5 คนของกองกำลังสัมพันธมิตรเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ การประชุมครั้งนั้นนับเป็นการประชุมครั้งสุดท้ายและนับเป็นจุดจบของระบอบการเมืองออตโตมัน สุลต่านเมห์เหม็ดที่ 6 ทรงมีรับสั่งให้ยุบสมัชชาใหญ่แห่งจักรวรรดิออตโตมัน ในวันที่ 11 เมษายน ค.ศ. 1920 รัฐบาลคอนสแตนติโนเบิล ซึ่งยังคงมีโครงสร้างระบบข้าราชการ แต่ขาดรัฐสภา ยังสามารถดำรงอยู่ได้โดยมีองค์สุลต่านเป็นผู้ใช้อำนาจการปกครอง[2]

สนธิสัญญาเซเวร์ ซึ่งลงนามในวันที่ 10 สิงหาคม ค.ศ. 1920 ถือเป็นจุดสิ้นสุดของกระบวนการการแบ่งจักรวรรดิ ในขณะนั้น นักการเมืองราว 150 คน ต่างถูกเนรเทศเป็นระลอก ๆ ไปยังมอลตา ในวันที่ 23 เมษายน ค.ศ. 1920 ขบวนการชาตินิยมตรุกีนำโดย มุสทาฟา เคมัล ได้สถาปนาสมัชชาใหญ่แห่งชาติตุรกีขึ้นในอังการา

สมัชชาใหญ่แห่งชาติตุรกีได้เริ่มสงครามประกาศอิสรภาพตุรกี สงครามดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อต่อต้านรัฐบาลกษัตริย์นิยมคอนสแตนติโนเปิล[3] รัฐบาลคอนสแตนติโนเปิลซึ่งดำรงอยู่โดยไม่มีรัฐสภา ได้จัดตั้งกองกำลังคูวา-ยี อินซิบาติเย (Kuva-yi Inzibatiye) หรือ "กองทัพเคาะลีฟะฮ์" ซึ่งมีที่มาจากการที่สุลต่านเมห์เหม็ดที่ 6 ทรงมีสถานะเป็นเคาะลีฟะฮ์ด้วย เพื่อต่อกรกับกองกำลังคูวา-ยี มิลิเย (Kuva-yi Milliye) ของฝ่ายสมัชชาใหญ่แห่งชาติตุรกี

การสู้รบเกิดขึ้นที่โบลู (Bolu) ดึซแจ (Düzce) เฮนเดก (Hendek) และอดาปาซาริ (Adapazarı) ควบคู่ไปกับการกบฎครั้งอื่น ๆ ระหว่างสงครามประกาศอิสรภาพตุรกี กองกำลังคูวา-ยี อินซิบาติเย ซึ่งจงรักภักดีต่อรัฐเคาะลีฟะฮ์ และได้รับการติดอาวุธโดยสหราชอาณาจักร ผู้มีเป้าหมายทางยุทธศาสตร์เดียวกันกับฝ่ายเคาะลีฟะฮ์ คือ สกัดกั้นมิให้ฝ่ายชาตินิยมข้ามช่องแคบบอสพอรัสได้ แต่ในท้ายที่สุดกองทัพเคาะลีฟะฮ์ก็พ่ายแพ้ให้กับกองกำลังคูวา-ยี มิลิเย กระนั้น แม้กองกำลังคูวา-ยี มิลิเย จะถือเป็นก้าวแรกของฝ่ายต่อต้านในสงครามประกาศอิสรภาพตุรกี การสงครามไม่สม่ำเสมอ (Irregular warfare) ยุติลงในภายหลัง ก่อนที่สงครามกับกรีซจะเริ่มขึ้น กองกำลังคูวา-ยี มิลิเยได้กลายมาเป็นรากฐานให้กับการจัดระเบียบกองกำลังตุรกี ซึ่งพัฒนาไปเป็นกองทัพตุรกี ภายหลังการก่อตั้งสาธารณรัฐ

กองกำลงฝ่ายสุลต่านซึ่งต่อสู้กับสมัชชาใหญ่แห่งชาติตุรกี
พระฉายาลักษณ์สุลต่านเมห์เหม็ดที่ 6 ขณะประทับพระราชบัลลังก์ ถ่ายเมื่อประมาณ ค.ศ. 1920

ใกล้เคียง

การล้อมเลนินกราด การล้อมอยุธยา (พ.ศ. 2309–2310) การล้อมบางกอก การล้างแค้นของผู้กล้าสายฮีล การล้อมออร์เลอ็อง การล้อม การล้มละลายของดีทรอยต์ การล้มล้างระบอบสุลต่านออตโตมัน การล้อมซีราคิวส์ (214-212 ปีก่อนคริสตกาล) การล้างแค้นของรูบิก