บริบท ของ การอนุญาโตตุลาการเวียนนาครั้งที่สอง

ข้อพิพาทเกี่ยวกับทรานซิลเวเนีย

การผงาดขึ้นของไรช์ที่สามและฟาสซิสต์อิตาลีของมุสโสลินี ทำให้ฮังการีเห็นถึงความหวังในการเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจากสนธิสัญญาทรียานง เริ่มมีการชุมนุมสนับสนุนอิตาลี-เยอรมนีสำหรับความทะเยอทะยานด้านดินแดนใน ค.ศ. 1936[1] ในตอนแรก การตอบสนองของอักษะโรม-เบอร์ลินต่อความปรารถนาของฮังการีนั้นไม่ชัดเจน: โดยส่งสัญญาณว่าฮังการีควรประเมินถึงความเป็นไปได้ในการแก้ไขสนธิสัญญาบางฉบับ แต่ไม่แสดงท่าทีว่าจะสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงพรมแดนของยุโรปในทันที[1] เยอรมนีแนะนำให้เน้นการอ้างสิทธิ์เหนือดินแดนเชโกสโลวาเกีย ซึ่งมีดินแดนที่เคยเป็นของฮังการี แต่ปฏิเสธข้อเรียกร้องที่เป็นไปได้ต่อโรมาเนีย[2] สำหรับอิตาลีเอง แม้ว่าเป็นที่ชื่นชอบของรัฐบาลฮังการีมากกว่า[2] แต่ทางโรมก็ยังคงปฏิเสธการแก้ปัญหาด้านดินแดนโดยกำลังของรัฐบาลฮังการี[3]

การสูญเสียดินแดนของฮังการีตามสนธิสัญญาทรียานงใน ค.ศ. 1920 รัฐบาลฮังการีหลายชุดในสมัยระหว่างสงครามได้เน้นนโยบายต่างประเทศไปที่การฟื้นฟูดินแดนเหล่านี้เป็นหลัก

ในเวลาต่อมาฮังการีหยุดการเคลื่อนไหวสนับสนุนเป็นการชั่วคราว เพื่อให้บรรลุการฟื้นฟูทรานซิลเวเนียโดยทันที และมุ่งความสนใจไปที่การแก้ไขสถานการณ์ของชนกลุ่มน้อยฮังการีในโรมาเนีย พร้อมกับการยอมรับเล็ก ๆ โดยกลุ่มติดอาวุธชาวฮังการี[3] ในช่วงปลาย ค.ศ. 1937 ทางเบอร์ลินยังคงแนะนำรัฐบาลบูดาเปสต์ว่าควรรอเวลาเพื่อจัดการปัญหาทรานซิลเวเนียภายหลัง และมุ่งเน้นไปที่การเรียกร้องดินแดนจากเชโกสโลวาเกีย นโยบายต่างประเทศของฮังการีใน ค.ศ. 1938 ถูกแบ่งออกเป็นสองส่วน: ส่วนหนึ่งสำหรับการใช้เยอรมนีเพื่อสนับสนุนการต่อต้านเชโกสโลวาเกีย และอีกส่วนสำหรับการใช้อิตาลีเพื่อฟื้นฟูทรานซิลเวเนียและต่อต้านโรมาเนีย[3]

การเจรจาทวิภาคีระหว่างฮังการีกับโรมาเนียในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1938 ยังคงมุ่งเน้นประเด็นไปที่ชนกลุ่มน้อยเป็นหลัก[4] การเยือนของมุสโสลินีกับนายกรัฐมนตรีฮังการีเบ-ลอ อิมเรดี ในฤดูร้อน ก็ไม่มีความคืบหน้าอย่างใดนอกจากสัญญาที่คลุมเครือสำหรับการสนับสนุนจากดูเช และไม่มีผลลัพธ์ปรากฏอย่างเป็นรูปธรรม[4] อย่างไรก็ตาม วิกฤตเชโกสโลวาเกียที่เลวร้ายลงในช่วงปลายฤดูร้อน นำไปสู่การเติบโตขึ้นของลัทธิปฏิรูปนิยมใหม่ฮังการี ซึ่งการบรรลุผลสำเร็จบางส่วนจากความทะเยอทะยานด้านดินแดนนั้นถูกมองว่าเป็นไปได้[5] การอ้างสิทธิ์ของฮังการีต่อเชโกสโลวาเกียตามความปรารถนาของฮิตเลอร์ ทำให้เขายอมรับข้อเรียกร้องของรัฐบาลบูดาเปสต์มากขึ้น และขณะเดียวกัน เกอริงก็ยืนยันกับเอกอัครราชทูตโรมาเนียว่าเยอรมนีไม่มีความต้องการเสริมกำลังพลในฮังการีแต่อย่างใด[5] ทว่าภายหลังการลงนามในความตกลงมิวนิก เยอรมนีได้พยายามจำกัดการมอบดินแดนแก่ฮังการี ทำให้รัฐบาลบูดาเปสต์ต้องจัดการเรื่องนี้ด้วยตนเอง[6] เยอรมนีเข้าไปมีส่วนร่วมกับการอนุญาโตตุลาการเวียนนาครั้งที่หนึ่งเพื่อยุติข้อพิพาทด้านดินแดนในเดือนพฤศจิกายน อันเป็นผลมาจากการได้รับการยืนยันจากอิตาลี[6] การอนุญาโตตุลาการเวียนนาครั้งนี้ได้ปลดปล่อยดินแดนรูทีเนีย และสโลวาเกียได้รับเอกราชภายใต้การอุปถัมภ์ของเยอรมนี นำไปสู่ความกังวลของนักการเมืองสายกลางฮังการีว่าประเทศจะสูญเสียเอกราชและตกเป็นเบี้ยล่างฝ่ายอักษะ[6] ขณะที่นักปฏิรูปนิยมฮังการีปรารถนาให้นโยบายต่างประเทศของบูดาเปสต์อยู่ภายใต้การควบคุมของเยอรมนีมากขึ้นเรื่อย ๆ[6]

เกรตเทอร์โรมาเนียที่เกิดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ซึ่งประกอบด้วยชนกลุ่มน้อยจำนวนมาก รวมทั้งชาวฮังการีและชนกลุ่มน้อยเยอรมันในทรานซิลเวเนีย

ในช่วงต้น ค.ศ. 1939 ทัศนคติของฝ่ายอักษะยังคงต่อต้านการแก้ปัญหาโดยกำลังของข้อพิพาททรานซิลเวเนีย ซึ่งเป็นวิธีเดียวที่จะแก้ไขสถานการณ์ที่เป็นอยู่ตามความเห็นของรัฐบาลเยอรมนีและอิตาลี[7] ความสนใจในทรัพยากรของโรมาเนียและความพึงพอใจกับการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองภายในประเทศแบบเผด็จการนำไปสู่การสานสัมพันธ์กับฝ่ายอักษะ ซึ่งไม่ต้องการให้ทั้งสองประเทศเกิดความขัดแย้งในภูมิภาคที่มีข้อพิพาท[7] ชนกลุ่มน้อยเยอรมันในโรมาเนียต่อต้านลัทธิปฏิรูปนิยมใหม่ของฮังการี[8]

ในทางตะวันออกเฉียงเหนือ ฮังการีสามารถยึดครองรูทีเนียได้สำเร็จในวันที่ 15–16 มีนาคม ค.ศ. 1939 ทำให้เชโกสโลวาเกียสูญเสียดินแดนส่วนสุดท้ายของประเทศ[8] ซึ่งการยึดดินแดนดังกล่าวเกิดขึ้นก่อนแถลงการณ์ของนักปฏิรูปนิยมเกี่ยวกับทรานซิลเวเนีย[8] รัฐบาลฮังการีที่นำโดยปาล แตแลกี เพิกเฉยต่อการรับประกันดินแดนโรมาเนียของฝรั่งเศสกับอังกฤษในเดือนเมษายน[9] และมีการประกาศสงครามพร้อมทั้งระดมกองทัพฮังการีบางส่วน แต่แตแลกียังคงรักษาสัญญาที่ให้ไว้กับฝ่ายอักษะว่าจะไม่เผชิญหน้ากับโรมาเนีย จึงมีการเจรจาทวิภาคีอีกครั้งกับรัฐบาลบูคาเรสต์ในเดือนสิงหาคม[9] ทางการฮังการีปฏิเสธข้อเสนอของโรมาเนียต่อการลงนามในสนธิสัญญาการคุ้มครองชนกลุ่มน้อยและการไม่รุกราน เนื่องจากฮังการีต้องการข้อตกลงสำหรับการส่งมอบดินแดนของโรมาเนีย[9]

การปะทุขึ้นของสงครามโลกครั้งที่สองสร้างผลกระทบอย่างหนักต่อสถานะของฮังการี กล่าวคือรัฐบาลบูดาเปสต์ปฏิเสธที่จะเข้าร่วมในการบุกครองโปแลนด์ของเยอรมนี เนื่องจากรัฐบาลวอร์ซอเป็นพันธมิตรดั้งเดิมของฮังการี[10] ไม่กี่วันหลังการบุกครอง เยอรมนีและอิตาลีให้สัญญาณอย่างชัดเจนถึงการต่อต้านการโจมตีทรานซิลเวเนียของฮังการี[10] ไม่นานหลังจากนั้น ทางการฮังการีสัญญาอย่างเป็นทางการว่าจะไม่โจมตีโรมาเนียโดยปราศจากความยินยอมจากเยอรมนี[10] เพราะในความเป็นจริงแล้ว ฮังการีไม่มีกำลังทหารมากพอที่จะเผชิญหน้ากับประเทศเพื่อนบ้าน แม้ว่าจะมีแถลงการณ์เชิงข่มขู่ก็ตาม[10] เยอรมนีไม่ยินยอมให้การเปลี่ยนแปลงดินแดนขัดแย้งกับผลประโยชน์ของตนในยุโรปตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้ฝ่ายอักษะเข้าไปมีส่วนร่วมต่อข้อพิพาททรานซิลเวเนียและครอบงำนโยบายต่างประเทศของฮังการีให้ตกอยู่ภายใต้ฝ่ายอักษะอย่างชัดเจน[11] มีการแบ่งฝ่ายกันของบรรดาผู้นำของฮังการี ระหว่างผู้ที่เห็นว่าการร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับเยอรมนีเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อให้บรรลุการกู้คืนดินแดนที่สูญเสีย กับผู้ที่เชื่อว่าเยอรมนีจะแพ้สงครามและการเปลี่ยนแปลงพรมแดนอาจจะเกิดขึ้นเมื่อสิ้นสุดความขัดแย้งนี้[12]

ในช่วงปลาย ค.ศ. 1939 ถึงต้น ค.ศ. 1940 ความตึงเครียดระหว่างทั้งสองประเทศเพิ่มขึ้นเนื่องจากการระดมกำลังทหารบางส่วน[11] ในทรานซิลเวเนีย พลเรือนและทหารกว่าครึ่งล้านคนเริ่มสร้างแนวป้องกันเพื่อปกป้องการรุกรานของฮังการีที่อาจเกิดขึ้น[11] สำหรับฮังการีก็มีการเตรียมพร้อมอย่างต่อเนื่องสำหรับการโจมตีทรานซิลเวเนียและกิจกรรมทางการทูตเพื่อสร้างความชอบธรรม[13][14][11] ฝ่ายขวามูลวิวัติฮังการีกล่าวหาว่ารัฐบาลแตแลกีนิ่งเฉย[15] สื่อของทั้งสองประเทศต่างจดจ่ออยู่กับข้อพิพาทเกี่ยวกับทรานซิลเวเนียและมีการเผยแพร่อย่างกว้างขวางสำหรับมุมมองของทั้งสองประเทศ ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการโฆษณาชวนเชื่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่มุ่งเป้าไปยังการโน้มน้าวใจอิตาลีและเยอรมนี[15]

การฟื้นฟูดินแดนดอบรูจา (Dobruja) ของบัลแกเรีย ซึ่งสนับสนุนโดยเยอรมนี และการผนวกเบสซาเรเบียของสหภาพโซเวียต ทำให้สถานะทางการเมืองของโรมาเนียอ่อนแอลงในช่วงต้น ค.ศ. 1940 ระบอบการปกครองของกษัตริย์คาโรลที่ 2 ประสบความล้มเหลวในการรับการสนับสนุนจากประชาชนและเผชิญกับการต่อต้านอย่างแข็งกร้าวจากฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวา โดยส่วนหนึ่งเป็นเพราะความยากลำบากทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการระดมทหาร[16] ในช่วงครึ่งปีแรกของ ค.ศ. 1940 ความตึงเครียดระหว่างรัฐบาลบูดาเปสต์และบูคาเรสต์เริ่มทวีความรุนแรงขึ้น เนื่องจากความไม่ชัดเจนของเยอรมนีที่มีต่อทั้งสองประเทศ[16] เยอรมนียังคงส่งออกอาวุธให้กับทั้งสองฝ่ายและนำเข้าวัตถุดิบที่สำคัญเป็นการแลกเปลี่ยน ในขณะเดียวกันก็ยังคงไว้ซึ่งความสมดุลทางทหารระหว่างทั้งสองประเทศ[17] ขณะที่มุสโสลินีล้มเหลวในการสนับสนุนความทะเยอทะยานของฮังการีอย่างมีประสิทธิภาพ[18]

การใช้ประโยชน์จากความต้องการอาวุธของโรมาเนียและการได้รับอุปถัมภ์จากเยอรมนี ทำให้รัฐบาลเบอร์ลินสามารถลงนามในข้อตกลงทางเศรษฐกิจใหม่ที่น่าพอใจกับรัฐบาลบูคาเรสต์ได้เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม ค.ศ. 1940[19] เพื่อให้ได้รับการสนับสนุนจากฝ่ายอักษะสำหรับสถานะทางการเมือง ทั้งฮังการีและโรมาเนียจึงเพิ่มสัมปทานทางเศรษฐกิจและการเมืองแก่เบอร์ลินและโรม[19] ความพ่ายแพ้ของฝรั่งเศสในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1940 ทำให้ชนชั้นนำทางการเมืองของโรมาเนียเกิดตื่นตระหนก เพราะประเทศได้รับประกันการปกป้องผลประโยช์ด้านดินแดนจากอังกฤษกับฝรั่งเศสตั้งแต่ ค.ศ. 1919 แต่เมื่อฝรั่งเศสพ่ายแพ้ นักการเมืองชาวโรมาเนีย รวมทั้งกษัตริย์คาโรล จึงหาทาง "กระชับความสัมพันธ์" กับอักษะโรม-เบอร์ลินเป็นการเร่งด่วน และยินยอมผ่อนปรนแรงกดดันต่าง ๆ ทุกวิถีทาง

คำขาดของโซเวียตและการสูญเสียเบสซาเรเบียกับบูโควีนา

วยาเชสลาฟ โมโลตอฟ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของโซเวียต ยื่นคำขาดต่อโรมาเนียโดยการบังคับให้มอบเบสซาเรเบียและบูโควีนาตอนเหนือ เนื่องจากขาดการสนับสนุนจากเยอรมนี

จากชัยชนะของเยอรมนีในฝรั่งเศส ทำให้ผู้นำโซเวียตโจเซฟ สตาลิน ตัดสินใจผนวกรัฐบอลติกและส่วนหนึ่งของคาบสมุทรบอลข่านเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต[20]

ในวันที 17 มิถุนายน ค.ศ. 1940 ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่ฝรั่งเศสขอสงบศึกจากเยอรมนี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของโซเวียตวยาเชสลาฟ โมโลตอฟ ได้แจ้งแก่เอกอัครราชทูตเยอรมนีฟ็อน แดร์ ชูเลินแบร์ค ว่าสหภาพโซเวียตได้ส่งนักการทูตพิเศษไปยังบรรดารัฐบอลติกเพื่อ "ยุติแผนการร้ายของอังกฤษ-ฝรั่งเศสที่พยายามหว่านความบาดหมางระหว่างเยอรมนีและสหภาพโซเวียตในรัฐบอลติก"[20] ในวันที่ 14 ลิทัวเนียได้รับคำขาดที่รุนแรงจากโซเวียต ซึ่งประเทศก็ยินยอมและไม่ได้ขัดขวางการยึดครองของโซเวียตแต่อย่างใด[21] ต่อมาในวันที่ 16-17 เอสโตเนียและลัตเวียก็ถูกยึดครองเช่นเดียวกัน[21] หลังการปราบปรามเสรีภาพสื่อ การสลายตัวของการเมืองทุกฝ่ายยกเว้นคอมมิวนิสต์ และการจับกุมผู้นำทางการเมืองหลัก ได้มีการเลือกตั้งในวันที่ 17 กรกฎาคม ทำให้เกิดรัฐสภาที่สนับสนุนคอมมิวนิสต์ซึ่งร้องขอให้ทั้งสามประเทศเข้าร่วมกับสหภาพโซเวียต และสำเร็จโดยสมบูรณ์ในต้นเดือนสิงหาคม[21]

หนึ่งวันหลังการยอมจำนนของฝรั่งเศสที่กงเปียญในวันที่ 22 มิถุนายน ค.ศ. 1940 โมโลตอฟเข้าพบปะกับเอกอัครราชทูตเยอรมนีอีกครั้ง เพื่อแจ้งให้ทราบว่าเขาไม่สามารถรอได้อีกต่อไปสำหรับการยุติข้อพิพาทเกี่ยวกับเบสซาเรเบีย และทางโซเวียตยินดีที่จะใช้กำลังหากโรมาเนียไม่เห็นด้วย เพื่อมุ่งสู่ทางออกแห่งสันติภาพ[21][22] เขายังชี้แจงอีกว่าสหภาพโซเวียตได้อ้างสิทธิ์เหนือบูโควีนาเช่นกัน[21][22] เบสซาเรเบียกลายเป็นส่วนหนึ่งของโซเวียตตามกติกาสัญญาโมโลตอฟ–ริบเบินทร็อพ[23] แต่สำหรับบูโควีนานั้นไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของอดีตจักรวรรดิรัสเซียเดิม ทำให้ท้ายที่สุดสตาลินตกลงที่จะผนวกเพียงแค่ส่วนเหนือ[21][24] ซึ่งเหตุการณ์นี้ทำให้เกิดความตื่นตระหนกในกรุงเบอร์ลิน เนื่องจากการปิดล้อมทางทะเลของอังกฤษ โรมาเนียจึงกลายเป็นแหล่งน้ำมันหลักของเยอรมนี รวมทั้งแหล่งผลิตอาหารและสินค้าเกษตรรายใหญ่[25]

เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน รัฐบาลโซเวียตยื่นคำขาดต่อโรมาเนีย ซึ่งเรียกร้องให้มอบสองดินแดนดังกล่าว โดยให้เวลาหนึ่งวันในการตอบรับ[26][23][25] ทางเยอรมนีแนะนำให้รัฐบาลโรมาเนียยินยอมต่อข้อเรียกร้องนี้[26][27][25][24] ความพยายามของกษัตริย์คาโรลในการรวบรวมการสนับสนุนจากเยอรมนีล้มเหลว[28] เพราะฮิตเลอร์ได้ตกลงข้อเรียกร้องดินแดนทั้งสองแล้ว[26] คำแนะนำจากเยอรมนีได้รับการเห็นชอบจากคำแนะนำที่คล้ายกันของอิตาลี ตุรกี และรัฐบอลข่านอื่น ๆ[26] ในวันที่ 27 ฮังการีและบัลแกเรียแสดงเจตจำนงอ้างสิทธิ์ในดินแดนของตน[29][14] กษัตริย์คาโรลเตรียมพร้อมสำหรับการต่อต้านการรุกรานจากโซเวียตที่อาจเกิดขึ้นหากปฏิเสธข้อเรียกร้อง ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากเสียงข้างน้อยในสภาระหว่างการประชุมเพื่อการตอบสนองของโรมาเนีย[26] ในการลงคะแนนเสียงครั้งที่สอง ผู้สนับสนุนน้อยลงกว่าครั้งก่อน เพราะการแสดงท่าทีของประเทศเพื่อนบ้านและรายงานของเสนาธิการทหารทั่วไปที่ชี้ให้เห็นถึงความเป็นไปไม่ได้ที่จะต่อต้านการโจมตีครั้งใหญ่ของโซเวียต[26] ความพยายามในการเจรจากับโซเวียตล้มเหลว เนื่องจากโมโลตอฟปฏิเสธที่จะหารือเกี่ยวกับปัญหาใด ๆ ซึ่งเขาให้เวลารัฐบาลโรมาเนียจนถึง 14 นาฬิกา ของวันที่ 28 ในการตอบรับคำขาดนี้[30] กองทัพโรมาเนียจะต้องถอนกำลังออกจากดินแดนทั้งสองภายในสี่วันนับจากสิ้นสุดคำขาด[30] เมื่อไม่มีทางเลือกอื่น รัฐบาลโรมาเนียจึงตัดสินใจยอมแพ้และยอมรับข้อเรียกร้องของโซเวียต[30] ในวันที่ 28 กองทัพโซเวียตเริ่มเคลื่อนกำลังพลมายังดินแดนทั้งสอง[25] และสิ้นสุดปฏิบัติการในวันที่ 3 กรกฎาคม[30] โรมาเนียสูญเสียดินแดน 44,422 ตารางกิโลเมตร กับประชากร 3,200,000 คนในเบสซาเรเบีย และดินแดนอีก 5,396 ตารางกิโลเมตร กับประชากร 500,000 คนในบูโควีนา[30] ในขณะที่รัฐบาลมอสโกได้สนับสนุนการอ้างสิทธิ์เหนือทรานซิลเวเนียของฮังการี[23]

เยอรมนียังรักษาทรัพยากรที่สำคัญของโรมาเนียไว้ได้ เพื่อแลกกับการยอมจำนนชั่วคราวต่อการคุกคามของโซเวียต[25] ซึ่งสิ่งนี้สร้างความผิดหวังแก่ฮิตเลอร์เป็นอย่างมาก[31] เพราะน้ำมันในโรมาเนียมีความสำคัญยิ่งต่อกองทัพเยอรมัน ซึ่งถูกกีดกันจากการปิดล้อมภาคพื้นทวีปของอังกฤษ[31] ในวันที่ 1 กรกฎาคม โรมาเนียยกเลิกการรับประกันดินแดนที่อังกฤษให้ไว้[30] และขอให้ฮิตเลอร์ส่งทหารมาเพื่อป้องกันประเทศ[30][32] คำขอถูกปฏิเสธจากผู้นำเยอรมัน[27] กษัตริย์คาโรลพยายามทุกวิถีทางในการเข้าหาฮิตเลอร์เพื่อหลีกเลี่ยงการยินยอมต่อการอ้างสิทธิ์ดินแดนของฮังการีและบัลแกเรีย[30][28][27] ในวันที่ 4 กรกฎาคม สภารัฐมนตรีชุดใหม่ที่สนับสนุนเยอรมันได้ก่อตั้งขึ้น นำโดยอียอน กีกูร์ตู[30][32] ในวันที่ 11 กรกฎาคม ประเทศฝ่ายอักษะได้ออกจากการเป็นสมาชิกสันนิบาตชาติ[32][30] และยังมีการผ่านกฎหมายต่อต้านยิวด้วย[32] ในวันที่ 15 กรกฎาคม ฮิตเลอร์ชี้แจงว่าทางเยอรมนีจะไม่รับประกันใด ๆ กับโรมาเนีย หากรัฐบาลบูคาเรสต์ยังไม่จัดการปัญหาเกี่ยวดินแดนของฮังการีและบัลแกเรีย[28][30]

การเจรจากับบัลแกเรีย

กษัตริย์คาโรลล้มเลิกแผนการจัดการกับประเทศเพื่อนบ้านโดยปราศจากการสนับสนุนจากเยอรมนี[33] การเจรจากับบัลแกเรียเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม และนำไปสู่การลงนามในสนธิสัญญาที่กรายอวาเมื่อวันที่ 7 กันยายน ทำให้โรมาเนียสูญเสียดอบรูจาใต้ (7,412 ตารางกิโลเมตร) ซึ่งเป็นดินแดนที่ได้มาตั้งแต่ ค.ศ. 1912 ก่อนการลงนามในสนธิสัญญาบูคาเรสต์และการแลกเปลี่ยนประชากรของทั้งสองประเทศ โดยชาวบัลแกเรีย 65,000 คน ได้รับการอพยพไปทางใต้ และชาวโรมาเนีย 110,000 คน ไปทางเหนือ[33] ภูมิภาคนี้ไม่ได้รับความสนใจจากประชาชนเท่าใดนัก จึงทำให้เหตุการณ์นี้ถูกมองว่าไม่ใช่การสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่[33]

การเจรจากับฮังการี

ในขณะเดียวกัน รัฐบาลฮังการีพิจารณาถึงความสำเร็จของโซเวียตในการใช้แรงกดดันทางทหารกับโรมาเนีย จึงมีแนวคิดที่จะทำแบบเดียวกันเพื่อฟื้นฟูทรานซิลเวเนีย[29][27] การฟื้นฟูดินแดนที่เสียไปในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่งเป็นเป้าหมายร่วมกันของรัฐบาลฮังการีทั้งหมดในช่วงระหว่างสงคราม[1] แม้ทางการบูดาเปสต์จะมีความปรารถนาที่จะโจมตีในช่วงวิกฤตการณ์โรมาเนีย-โซเวียต แต่ก็ต้องการกำลังสนับสนุนทางทหารของเยอรมนีด้วย ซึ่งได้ทำสัญญาทางเศรษฐกิจและการทหารต่าง ๆ ไว้[27][29] การเตรียมการทางทหารของฮังการีสิ้นสุดลงในปลายเดือนมิถุนายน[27] โดยรัฐบาลปฏิเสธที่จะระดมทหารตามที่เสนาธิการทหารทั่วไปร้องขอ[28] รัฐบาลพยายามหลีกเลี่ยงแรงกดดันจากกลุ่มมูลวิวัติและเลือกที่จะขอเจรจากับบูคาเรสต์ ซึ่งเชื่อมั่นว่ามีความเป็นไปได้ที่จะได้รับสัมปทานดินแดนโดยไม่ต้องใช้กำลัง เนื่องจากความอ่อนแอของกษัตริย์คาโรลและความเต็มพระทัยของพระองค์ที่จะให้สัมปทานดินแดนตามสัญชาติ[34] ในโรมาเนีย กษัตริย์คาโรลมอบอำนาจให้กับฝ่าวขวามูลวิวัติมากขึ้นเรื่อย ๆ กลุ่มผู้พิทักษ์เหล็กเข้าสู่สภารัฐมนตรีเป็นครั้งแรก[34] เอกอัครราชทูตเยอรมนีประจำบูดาเปสต์ระบุว่าเบอร์ลินปฏิเสธถึงความเป็นไปได้ในการุกรานโรมาเนียในวันที่ 2–4 กรกฎาคม เนื่องจากรัฐบาลเยอรมนีทราบเรื่องเกี่ยวกับการเตรียมพร้อมทางทหารของฮังการี[27]

ระหว่างการประชุมไตรภาคี แตแลกีประสบความสําเร็จในการเสนอการจัดการทรานซิลเวเนียในช่วงวิกฤตการณ์โซเวียต-โรมาเนียในเดือนมิถุนายน[35] ฮิตเลอร์ยอมรับคำเสนอของฮังการีอย่างคลุมเครือระหว่างการประชุมกับคณะผู้แทนที่มิวนิกเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม[36] แต่เยอรมนียังคงปฏิเสธการสนับสนุนการโจมตีของฮังการีที่อาจเกิดขึ้น[35][36] ซึ่งตามความเห็นของฮิตเลอร์ เขามองว่าควรแก้ปัญหาอย่างค่อยเป็นค่อยไป[37] ผู้นำอักษะไม่ต้องการความขัดแย้งในคาบสมุทรบอลข่าน ซึ่งทำให้พวกเขาขาดแคลนวัตถุดิบที่จำเป็นสำหรับการผลิตอาวุธสงคราม ดังนั้นผู้นำอักษะจึงแนะนำให้มีการเจรจากันระหว่างสองประเทศ[38][36] ไม่กี่วันต่อมาด้วยข้อตกลงของมุสโสลินี ฮิตเลอร์จึงแนะนำกษัตริย์คาโรลให้ "ปรองดอง" กับฮังการีและบัลแกเรีย พร้อมทั้งยอมรับการแบ่งแยกดินแดนซึ่งไม่อาจหลีกเลี่ยงได้[35][39]

คณะผู้แทนโรมาเนียขอเข้าพบฮิตเลอร์เพื่อถ่วงดุลอิทธิพลของฮังการีในที่ประชุม โดยการสนทนานี้มีการใช้ภาษาที่อ่อนน้อมและทางโรมาเนียได้แสดงความเต็มใจที่จะยกดินแดน 14,000 ตารางกิโลเมตร ให้แก่ฮังการี (คิดเป็น 11.4 % ของดินแดนฮังการีในอดีต[40] พร้อมทั้งยินยอมการแลกเปลี่ยนประชากรของทั้งสองประเทศ[41] เยอรมนีและอิตาลีเสนอหลักประกันร่วมกันของพรมแดนโรมาเนีย เพื่อยุติข้อพิพาททรานซิลเวเนีย[41] ฮิตเลอร์ได้กล่าวว่าความไม่พอใจของโรมาเนียต่อฮังการีถือเป็นภัยคุกคามต่อผลประโยชน์ของเยอรมนีด้วย[41] ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ฮิตเลอร์กำลังผ่อนปรนข้อตกลงกับโรมาเนียเพื่อเอาใจฮังการี[42] ต่อมาผู้แทนโรมาเนียได้เข้าพบกับมุสโสลินีแต่ผลลัพธ์ที่ได้ยังคงไม่ต่างจากเดิม[42]

ฮิตเลอร์ปฏิเสธที่จะไกล่เกลี่ยให้กับสองประเทศ[42] และได้เสนอการเจรจาโดยตรงกับทั้งสอง[42][39] ซึ่งการเจรจาอย่างเป็นทางการครั้งแรกจัดขึ้นที่ดรอเบตา-ตูร์นูเซเวรินเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม[43][40][43][40][44][33] แต่เกิดความล่าช้าเพราะความพยายามของโรมาเนียที่จะหลีกเลี่ยงการยอมจำนนด้วยการสนับสนุนของเยอรมนี ซึ่งรัฐบาลบูคาเรสต์ไม่ยอมรับ[45] การเจรจาในครั้งนี้มุ่งเน้นประเด็นเกี่ยวกับภูมิภาคที่ถูกสาธารณชนโรมาเนียมองว่าเป็น "แหล่งกำเนิด" ของประเทศ ทำให้การเจรจาในครั้งนี้มีความซับซ้อนมากกว่าการเจรจาในดอบรูจาอย่างยิ่ง[33] ฮังการีได้เสนอข้อเรียกร้องของตนก่อนการเจรจาจะเริ่มขึ้น ซึ่งท้ายที่สุดก็ถูกปัดตกไปภายใต้แรงกดดันของเยอรมนี และการรณรงค์โฆษณาชวนเชื่อของทั้งสองประเทศยังมีส่วนทำให้การเจรจาทวิภาคีล่าช้าออกไปด้วย[46] รัฐบาลกีกูร์ตูกำลังเผชิญกับแรงต่อต้านจากสาธารณชนที่เพิ่มขึ้นต่อการสูญเสียทรานซิลเวเนีย ในช่วงต้นเดือนสิงหาคม นักการเมืองโรมาเนียต่างพากันลงนามในจดหมายประท้วงต่อต้าน "นโยบายยอมจำนน" ของรัฐบาลเกี่ยวกับปัญหาทรานซิลเวเนีย[46] ชาวเยอรมันกลุ่มน้อยในภูมิภาคก็ต่อต้านการแบ่งแยกดินแดนอย่างรุนแรงเช่นกัน[46] รัฐบาลเยอรมนีกังวลว่าโรมาเนียอาจตอบโต้ชนกลุ่มน้อยนี้เนื่องจากบทบาทของเยอรมนีในการแบ่งแยกภูมิภาค[47]

แม้จะมีข้อตกลงระหว่างรัฐบาลทั้งสองเกี่ยวกับความจำเป็นในการกำหนดพรมแดนตามเกณฑ์ชาติพันธุ์ในเดือนสิงหาคม แต่ทางฮังการีกลับเสียเปรียบเทียบเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากประชากรชาวฮังการี (ตามข้อมูลของโรมาเนียใน ค.ศ. 1938 และของฮังการีใน ค.ศ. 1941) เป็นชนกลุ่มน้อยในดินแดนทรานซิลเวเนียทั้งหมด[48] ดังนั้นรัฐบาลบูดาเปสต์จึงส่งผู้แทนเพื่อแสดงเจตจำนงไม่เรียกร้องทรานซิลเวเนียใต้ แต่ต้องการเพียงดินแดนเซแกย (Székely) และพื้นที่เชื่อมต่อระหว่างดินแดนดังกล่าวกับบูดาเปสต์เท่านั้น[40]

คณะผู้แทนโรมาเนียเสนอการแบ่งแยกดินแดนเพียงเล็กน้อยพร้อมกับการแลกเปลี่ยนประชากร[33][49] ซึ่งคณะผู้แทนฮังการีที่ประสงค์ให้คืนดินแดนทรานซิลเวเนียสองในสามนั้นยอมรับไม่ได้[43][44] ความต้องการอย่างสูงของฮังการีสร้างความประหลาดใจแก่โรมาเนียและเยอรมนี[43] หลังการประชุมผ่านไปเกือบครึ่งชั่วโมงและยังหาข้อสรุปที่ลงรอยไม่ได้ คณะผู้แทนจึงปิดการประชุม[43] วัดถัดมา ทางบูดาเปสต์ส่งข้อความถึงบูคาเรสต์ โดยเสนอการแบ่งส่วนทรานซิลเวเนียเท่า ๆ กัน ซึ่งโรมาเนียก็ยอมรับไม่ได้เช่นกัน[50]

เมื่อการเจรจายุติลงในวันที่ 19 สิงหาคม บรรดาคณะผู้แทนจึงเดินทางกลับประเทศเพื่อปรึกษากับรัฐบาลของตน[49] ทั้งสองประเทศร้องขอการไกล่เกลี่ยจากเยอรมนีอีกครั้ง[50] ซึ่งถูกปฏิเสธเช่นเคย[44] เมื่อการเจรจาดำเนินอีกครั้งในวันที่ 24 และไม่มีฝ่ายใดยินยอม คณะผู้แทนฮังการีจึงยุติการเจรจา[51][33][52][49] หลังจากนั้น โรมาเนียได้เสนอที่จะมอบดินแดนเป็น 25,000 ตารางกิโลเมตร แต่ฮังการีเรียกร้องเพิ่มขึ้นอีกเป็นสองเท่า[52] ทำให้เยอรมนีและอิตาลีเชื่อว่าฮังการีจะโจมตีโรมาเนียในอีกเร็ววัน[52]

ในขณะเดียวกัน ความตึงเครียดทางทหารเริ่มทวีความรุนแรงขึ้นกับพรมแดนของโรมาเนียกับสหภาพโซเวียตและฮังการี[33] มีการรวมพลครั้งแรกของกองทัพโรมาเนียบริเวณแม่น้ำปรุต[53] ขณะที่ฮังการีรวบรวมกองทหารใกล้กับชายแดนโรมาเนีย[33] ในส่วนของกองทัพโรมาเนีย ประกอบด้วย 22 กองพันในมอลเดเวียและบูโควีนา กับอีก 8 กองพันในทรานซิลเวเนีย[33] สถานการณ์ภายในฮังการีและโรมาเนียก็ตึงเครียดมากเช่นกัน[54] แตแลกีรู้สึกหมดหวังกับสถานการณ์ในตอนนี้อย่างยิ่ง การยุติความตึงเครียดกับโรมาเนียนั้นมีความเป็นไปได้หลักเพียงสองประการ คือถ้าไม่โจมตีโรมาเนีย (ซึ่งผลลัพธ์อาจไม่เป็นที่พอใจ) ก็ทำตามแนวทางการแก้ไขปัญหาของเยอรมนี[53]

ความเป็นไปได้ในการปะทุของสงครามฮังการี-โรมาเนีย สร้างความกังวลต่อฮิตเลอร์อย่างมากในการจัดหาแหล่งน้ำมัน[55] สำหรับกองทัพเยอรมันและการรุกรานโซเวียตในอนาคต[56][57][31] เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม หลังสถานการณ์ที่ตึงเครียดมากขึ้น เนื่องจากความล้มเหลวของการเจรจาทวิภาคีที่ฝ่ายเยอรมันส่งเสริม ฮิตเลอร์จึงออกคำสั่งให้หลายฝ่ายเตรียมพร้อมที่จะยึดแหล่งน้ำมันของโรมาเนียในวันที่ 1 กันยายน[31][58][53] เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม ฮิตเลอร์ได้ส่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศไรช์และอิตาลีเข้าพบรัฐมนตรีของฮังการีและโรมาเนียในกรุงเวียนนา[55] และพยายามยุติวิกฤตและหลีกเลี่ยงสงคราม[31][56] ซึ่งวัตถุประสงค์ของผู้นำเยอรมันคือเพื่อหลีกเลี่ยงการสู้รบและรับประกันการจัดหาทรัพยากรที่สำคัญในภูมิภาค[56] ฝ่ายอักษะได้เชิญรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศฮังการีและโรมาเนียเข้าร่วมการอนุญาโตตุลาการ[59][55]

ใกล้เคียง