การุณยฆาตและกฎหมาย ของ การุณยฆาต

ประเทศไทย

ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายรับรองเรื่องการทำการุณยฆาต (Mercy Killing) หรือ Active Euthanasia ที่ถือเป็นการเร่งการตาย การุณยฆาตจึงแตกต่างจากการทำหนังสือแสดงเจตนา (Living Will หรือ Advance Directives) ตามพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 มาตรา 12 ซึ่งถือเป็นการแสดงเจตนาของบุคคลเพื่อที่จะกำหนดวิธีการดูแลรักษาของผู้ป่วยในวาระสุดท้ายของชีวิต เป็นการรับรองสิทธิของผู้ป่วยที่จะตัดสินใจเกี่ยวกับตนเอง (Right to Self-determination) ที่จะขอตายอย่างสงบตามธรรมชาติ ไม่ถูกเหนี่ยวรั้งด้วยเครื่องมือต่าง ๆ จากเทคโนโลยีต่าง ๆ กฎหมายหลายประเทศก็ให้การยอมรับในเรื่องนี้ อาทิ กฎหมายประเทศสหรัฐอเมริกา อังกฤษ เดนมาร์ก ออสเตรเลีย ฝรั่งเศส สิงคโปร์ ดังนั้น จึงถือเป็นความเข้าใจผิดอย่างสิ้นเชิงของแพทย์บางกลุ่มที่เห็นว่า การใช้สิทธิตามมาตรา 12 ตามพระราชบัญญัตินี้เป็นกรณีการุณยฆาต[4]

พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม 2550 เป็นต้นไป ซึ่งพระราชบัญญัติดังกล่าวมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการแสดงเจตจำนงของผู้ป่วยที่จะไม่รับการรักษาดังต่อไปนี้พร้อมบทบัญญัติที่เกี่ยวข้อง[5]

มาตรา 12 บุคคลมีสิทธิทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตตน หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วยได้

การดำเนินการตามหนังสือแสดงเจตนาตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง

เมื่อผู้ประกอบวิชาชีพด้านสาธารณสุขได้ปฏิบัติตามเจตนาของบุคคลตามวรรคหนึ่งแล้ว มิให้ถือว่าการกระทำนั้นเป็นความผิด และให้พ้นจากความรับผิดทั้งปวง

มาตรา 3 ในพระราชบัญญัตินี้

"บริการสาธารณสุข" หมายความว่า บริการต่าง ๆ อันเกี่ยวกับการสร้างเสริมสุขภาพ การป้องกันและควบคุมโรคและปัจจัยที่คุกคามสุขภาพ การตรวจวินิจฉัยและบำบัดสภาวะความเจ็บป่วย และการฟื้นฟูสมรรถภาพของบุคคล ครอบครัว และชุมชน

"ผู้ประกอบวิชาชีพด้านสาธารณสุข" หมายความว่า ผู้ประกอบวิชาชีพตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาล

มาตรา 4 ให้นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจออกกฎกระทรวงเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้

แพทยสมาคมโลก

แพทยสมาคมโลก (World Medical Association) ได้จัดทำแนวปฏิบัติในเรื่องการุณยฆาต เรียก "ปฏิญญาแพทยสมาคมว่าด้วยการุณยฆาต" (World Medical Association Declaration on Euthanasia) ความตอนหนึ่งว่า การกระทำโดยตั้งใจที่จะทำลายชีวิตของผู้ป่วย แม้ว่าจะเป็นการทำตามคำร้องขอของผู้ป่วยหรือญาติสนิทก็ตามถือว่าผิดหลักจริยธรรม แต่ไม่รวมถึงการดูแลของแพทย์ที่เคารพต่อความปรารถนาของผู้ป่วยในวาระสุดท้ายของชีวิตซึ่งประสงค์ที่จะเสียชีวิตตามธรรมชาติ[6]