ความเห็นเกี่ยวกับการุณยฆาตในประเทศไทย ของ การุณยฆาต

ความเห็นสนับสนุน

  1. "รัฐธรรมนูญใหม่ (หมายถึงฉบับ พ.ศ. 2540) บัญญัติไว้ว่า ต้องเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และสิทธิเสรีภาพของบุคคล จึงเกิดความคิดว่า ควรจะให้ผู้ป่วยที่สิ้นหวัง ไม่สามารถรักษาได้แล้ว รอวันจบชีวิตอย่างทนทุกข์ทรมาน มีสิทธิในการตัดสินใจว่าจะมีชีวิตอยู่หรือจบชีวิตลง เพราะการเลือกที่จะตายหรือมีชีวิตอยู่นั้นเป็นสิทธิส่วนบุคคล แต่ในกรณีที่เขาตัดสินใจเองไม่ได้ เช่น ภาวะจิตใจไม่สมบูรณ์ สมองไม่ทำงาน หรือเป็นผู้เยาว์ ก็ต้องมาพิจารณากันว่า ใครจะเป็นคนตัดสินใจแทน ใช้หลักเกณฑ์อะไร ในการตัดสิน และควรจะรับผิดอย่างไรในกรณีที่ตัดสินใจผิดพลาด"
  2. "เราต้องเคารพสิทธิของผู้ป่วย เพราะว่าเขาอยู่อย่างทุกข์ทรมาน แต่การุณยฆาต ต้องใช้กับผู้ป่วยที่สิ้นหวังจริง ๆ ไม่สามารถรักษาได้แล้ว หรืออยู่ไปก็ทรมานมากเท่านั้น ถ้ายังมีโอกาสหายแม้เพียงน้อยนิดก็ไม่ควรทำ"
  3. "แพทย์และนักกฎหมายบางคนคิดว่ากฎหมายน่าจะเปิดโอกาส ให้ทำการุณยฆาตได้ คือ อนุญาตให้ผู้ป่วยมีสิทธิตัดสินใจเมื่อเขาเห็นว่าตัวเองไม่สามารถมีชีวิตอยู่ต่อไปได้ ทุกข์ทรมานมากเกินไป ไม่เหลือศักดิ์ศรีความเป็นคนอยู่แล้ว และบางทีการไม่ปล่อยให้ผู้ป่วยตายอย่างสงบก็ทำให้เกิดปัญหาตามมาจริง ๆ ถ้าเราเปิดโอกาสให้ทำการุณยฆาตได้บ้างก็น่าจะเป็นประโยชน์"

ความเห็นไม่สนับสนุน

  1. "เราคงไม่ต้องมาถกเถียงกันว่าการุณยฆาตเป็นเรื่องถูกต้องหรือไม่...เรารู้ได้อย่างไรว่า แพทย์ทำไปด้วยความบริสุทธิ์ใจ ทำไปด้วยเจตนาดีจริง ไม่ใช่ขี้เกียจทำงาน และเกณฑ์วัดว่าบุคคลนั้นเป็นผู้ป่วยที่สิ้นหวังแล้วอยู่ตรงไหน รู้ได้อย่างไรว่าคนไข้ไม่มีโอกาสรอดแล้วจริง ๆ หมอวินิจฉัยถูกหรือเปล่า พยายามเต็มที่แล้วหรือยัง มีทางรักษาอื่นอีกหรือไม่ แพทยสภาต้องให้คำจำกัดความของคำว่า "สิ้นหวัง" ให้ชัด ๆ สิ้นหวังเพราะแพทย์หมดทางรักษาจริง หรือสิ้นหวังเพราะแพทย์ทำงานไม่เต็มที่ หรือเป็นเพราะญาติไม่เหลียวแล"
  2. "การทำการุณยฆาตมีช่องโหว่อยู่มากและมีโอกาสถูกนำไปใช้ในทางที่ผิด เช่น ทำให้ผู้ป่วยระยะสุดท้ายซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ที่ได้รับอุบัติเหตุตายแล้วเอาอวัยวะไปขาย หรือญาติให้ฆ่าเพื่อเอามรดก เป็นต้น สังคมจึงต้องเข้ามาตรวจสอบในเรื่องนี้ ไม่ควรปล่อยให้เป็นเรื่องระหว่างแพทย์กับคนไข้เท่านั้น เพราะมันอาจจะเอื้อให้แพทย์ทำสิ่งผิดได้ เหมือนกับการวิสามัญฆาตกรรม ตำรวจเป็นผู้ที่ถืออาวุธมีสิทธิทำให้คนตายในขณะถูกจับกุมโดยที่ไม่มีใครเอาผิดได้ ในทำนองเดียวกัน แพทย์ก็เป็นผู้ที่ถือเข็มฉีดยาจะทำให้ผู้ป่วยตายเมื่อไหร่ก็ได้ Active Euthanasia เท่ากับเป็นการวิสามัญฆาตกรรม หรือการฆ่าในอีกรูปแบบหนึ่ง"
  3. "ถ้าจะมีกฎหมายอนุญาตให้ทำได้เหมือนในต่างประเทศ หมอคงค้านร้อยเปอร์เซนต์ ไม่ให้เกิดแน่ เพราะว่ามันขัดกับหลักศาสนาพุทธอย่างแรง ถ้าเกิดได้ก็คงเป็นแบบ Passive คือ หยุดให้การรักษาเท่านั้น แต่ถึงจะเป็นแบบ Passive หมอบางคนก็ยังรู้สึกว่าการหยุดการรักษานั้นเป็นบาปอยู่ดี เหมือนกับให้หมอทำแท้งคือเราไปปลิดชีวิตหนึ่งทิ้ง ฟังดูเจตนาเป็นความกรุณา แต่แท้ที่จริงแล้วไม่แน่ใจว่า มันเป็นความกรุณาจริงหรือเปล่า"