การุณยฆาตและศาสนา ของ การุณยฆาต

ศาสนาพุทธ

ตามพุทธศาสนา ฆราวาสถือเบญจศีลข้อหนึ่งเกี่ยวกับปาณาติปาตาคือการห้ามทำลายชีวิตไม่ว่าของผู้อื่นหรือของตนก็ตาม กับทั้งห้ามยินยอมให้ผู้อื่นทำลายชีวิตของตนด้วย

พุทธศาสนายังถือว่าชีวิตเป็นของประเสริฐสุดที่บุคคลพึงรักษาไว้อีกด้วย โดยมีพุทธวัจนะหนึ่งว่า "ให้บุคคลพึงสละทรัพย์สมบัติเพื่อรักษาอวัยวะ ให้บุคคลพึงสละอวัยวะเพื่อรักษาชีวิต" และ "ตราบใดที่ยังมีชีวิตอยู่ ตราบนั้นชีวิตก็ยังมีค่า ไม่ควรที่ใครจะไปตัดรอนแม้ว่าชีวิตนั้นกำลังจะตายก็ตาม หากไปเร่งเวลาตายเร็วขึ้นแม้จะเพียงแค่วินาทีเดียวก็เป็นบาป"[7]

นอกจากนี้ ภิกษุเถรวาทถือวินัยข้อหนึ่งซึ่งปรากฏในปาฏิโมกข์ว่า "ภิกษุทั้งหลายไม่พึงพรากชีวิตไปจากมนุษย์ หรือจ้างวานฆ่าผู้นั้น หรือสรรเสริญคุณแห่งมรณะ หรือยั่วยุผู้ใดให้ถึงแก่ความตาย ดังนั้น ท่านผู้เจริญแล้วเอ๋ย ท่านหาประโยชน์อันใดในชีวิตอันลำเค็ญและน่าสังเวชนี้กัน ความตายอาจมีประโยชน์สำหรับท่านมากกว่าการมีชีวิตอยู่ หรือด้วยมโนทัศน์เช่นนั้น ด้วยวัตถุประสงค์เช่นนั้น ถึงแม้ท่านไม่สรรเสริญคุณแห่งมรณะหรือยั่วยุผู้ใดให้ถึงแก่ความตาย ผู้นั้นก็จักถึงแก่ความตายในเร็ววันอยู่แล้ว"[8] [9]

ด้วยเหตุนี้ ว่าโดยหลักแล้วพุทธศาสนาถือว่าการุณยฆาตเป็นบาป

ศาสนายูดาห์และศาสนาคริสต์

ในคัมภีร์ฮีบรูและคัมภีร์ไบเบิล กล่าวว่าลมหายใจของมนุษย์ขึ้นอยู่กับพระเจ้า ความตอนหนึ่งว่า "วันเวลาของข้าพระองค์อยู่ในพระหัตถ์ของพระองค์"[10] ดังนั้นการุณยฆาตจึงเป็นการขัดพระประสงค์ของพระเจ้า

ทั้งนี้ ตามศาสนาคริสต์นิกายออร์ทอดอกซ์ ผู้ประกอบวิชาชีพด้านสาธารณสุขที่ให้ยาแก่ผู้ป่วยเกินขนาดจนถึงตายถือว่ามีความผิดและเป็นบาป แต่ในสถานการณ์เดียวกัน หากมีเจตนาเพื่อระงับบรรเทาความเจ็บปวด แม้จะยังผลให้ผู้ป่วยถึงแก่ความตาย ก็ไม่ถือเป็นผิดและเป็นบาป[11] [12]