ประเภท ของ การุณยฆาต

การจำแนกประเภทตามเจตนา[2]

1. บุคคลซึ่งเจ็บป่วยสาหัสหรือได้รับทุกขเวทนาจากความเจ็บป่วยเป็นต้นสามารถแสดงเจตนาให้บุคคลอื่นกระทำการุณยฆาตแก่ตนได้ การนี้เรียกว่า "การุณยฆาตโดยด้วยใจสมัคร" หรือ "การุณยฆาตสมัครใจ" หรือ "การุณยฆาตจงใจ" (อังกฤษ: Voluntary Euthanasia)

2. ในกรณีที่บุคคลดังกล่าวไม่อยู่ในฐานะจะแสดงเจตนาเช่นว่า ผู้แทนโดยชอบธรรม กล่าวคือ ทายาทโดยธรรม ผู้ใช้อำนาจปกครอง ผู้พิทักษ์ หรือผู้อภิบาลตามกฎหมาย ตลอดจนศาลอาจพิจารณาใช้อำนาจตัดสินใจให้กระทำการุณยฆาตแก่บุคคลนั้นแทนได้ การนี้เรียกว่า "การุณยฆาตโดยไม่เจตนา" หรือ "การุณยฆาตโดยไม่สมัครใจ" (อังกฤษ: Involuntary Euthanasia)

อย่างไรก็ดี การุณยฆาตโดยไม่จำนงยังคงเป็นที่ถกเถียงถึงความชอบธรรมตามกฎหมายอยู่ในขณะนี้ เนื่องจากไม่มีหนทางที่ทุกฝ่ายจะมั่นใจได้ว่า ผู้เจ็บป่วยต้องการให้กระทำการุณยฆาตแก่ตนเช่นนั้นจริง ๆ

การจำแนกประเภทตามวิธีการลงมือ

  1. "การุณยฆาตเชิงรับ" (อังกฤษ: Passive Euthanasia) คือ การุณยฆาตที่กระทำโดยการตัดการรักษาให้แก่ผู้ป่วย วิธีนี้ได้รับการยอมรับมากที่สุดและเป็นที่ปฏิบัติกันในสถานพยาบาลหลายแห่ง
  2. "การุณยฆาตเชิงรุก" (อังกฤษ: Active Euthanasia) คือ การุณยฆาตที่กระทำโดยการให้สารหรือวัตถุใด ๆ อันเร่งให้ผู้ป่วยถึงแก่ความตาย ซึ่งวิธีนี้เป็นที่ถกเถียงอยู่ในปัจจุบันเช่นกัน
  3. "การุณยฆาตเชิงสงบ" (อังกฤษ: Non-aggressive Euthanasia) คือ การุณยฆาตที่กระทำโดยการหยุดให้ปัจจัยดำรงชีวิตแก่ผู้ป่วย ซึ่งวิธีนี้เป็นที่ถกเถียงอยู่ในปัจจุบัน

การจำแนกแบบอื่น ๆ

ในพจนานุกรมกฎหมายของเฮนรี แคมป์แบล แบล็ก (Black's Law Dictionary) ได้จำแนกประเภทการุณยฆาตไว้คล้ายคลึงกับสองประเภทข้างต้น ดังต่อไปนี้[3]

1. "การุณยฆาตโดยตัดการรักษา" (อังกฤษ: Passive Euthanasia หรือ Negative Euthanasia) คือ การปล่อยให้ผู้ป่วยตายไปเอง (อังกฤษ: Letting the patient go) เป็นวิธีที่ปฏิบัติกันทั่วไปในสถานบริการสาธารณสุข โดยใช้รหัส "90" (เก้าศูนย์) เขียนไว้ในบันทึกการรักษา มีความหมายว่าผู้ป่วยคนนี้ไม่ต้องให้การรักษาอีกต่อไป และไม่ต้องช่วยยืดยื้อชีวิตในวาระสุดท้ายอีก ปล่อยให้นอนตายสบาย

2. "การุณยฆาตโดยเร่งให้ตาย" (อังกฤษ: Active Euthanasia หรือ Positive Euthanasia)

2.1 "การุณยฆาตโดยเจตจำนงและโดยตรง" (อังกฤษ: Voluntary and Direct Euthanasia) คือ การที่ผู้ป่วยเลือกปลงชีวิตตนเอง (อังกฤษ: Chosen and Carried out by the patient) เช่น ผู้ประกอบวิชาชีพด้านสาธารณสุขวางยาที่มีปริมาณมากเกินขนาดจนทำให้ผู้รับเข้าไปตายได้ หรือยาอันเป็นพิษ ไว้ใกล้ ๆ ผู้ป่วย ให้ผู้ป่วยตัดสินใจหยิบกินเอง

2.2 "การุณยฆาตโดยเจตจำนงแต่โดยอ้อม" (อังกฤษ: Voluntary and Indirect Euthanasia) คือ การที่ผู้ป่วยตัดสินใจล่วงหน้าแล้วว่าถ้าไม่รอดก็ขอให้ผู้ประกอบวิชาชีพด้านสาธารณสุขกระทำการุณยฆาตแก่ตนเสีย โดยอาจแสดงเจตจำนงเช่นว่าเป็นหนังสือ หรือเป็นพินัยกรรมซึ่งเรียกว่าพินัยกรรมชีวิต (อังกฤษ: Living Will) ก็ได้

2.3 "การุณยฆาตโดยไร้เจตจำนงและโดยอ้อม" (อังกฤษ: Involuntary and Indirect Euthanasia) คือ ผู้ป่วยไม่ได้ร้องขอความตาย แต่ผู้ประกอบวิชาชีพด้านสาธารณสุขสงเคราะห์ให้เพราะความสงสาร