แบ่งตามประเทศ ของ การเสริมสร้างกองทัพในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

บรูไน

ประเทศบรูไนมีสัดส่วนรายจ่ายทางทหารเป็นสัดส่วนต่อจีดีพีสูงกว่าชาติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ส่วนใหญ่ แต่ความผันผวนของราคาน้ำมันทำให้บางปีต้องปรับลดรายจ่ายลง ส่วนใหญ่นำเข้าเรือและอาวุธทางทะเล[25]:20

กัมพูชา

ระหว่างปี 2552 ถึง 2561 ประเทศกัมพูชาเพิ่มรายจ่ายทางทหารทุกปี คิดเป็นเฉลี่ยร้อยละ 2.1 ของจีดีพีในปี 2558–61 ปัญหาข้อพิพาทชายแดนกับไทยในปี 2551 และ 2554 เป็นแรงจูงใจสำหรับการพัฒนากองทัพ ยิ่งไปกว่านั้น อิทธิพลทางการเมืองของกองทัพที่เพิ่มขึ้นหลังปี 2560 อาจมีส่วนด้วย ยุทโธปกรณ์ของกองทัพไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากนักในช่วงนี้ เพราะเป็นการทดแทนอาวุธเก่าที่ปลดประจำการเท่านั้น ในปี 2561 ประเทศได้หันไปถืออาวุธทางบกมากขึ้น แต่อาจเปลี่ยนแปลงได้ในอนาคต[25]:21–3

อินโดนีเซีย

ประเทศอินโดนีเซียมองว่าประเทศจำเป็นต้องพัฒนากองทัพให้ทันสมัยหลังคอมมิวนิสต์ชนะสงครามเวียดนาม และความสามารถสู้รบที่เลวในการบุกครองติมอร์ตะวันออกในปี 2519 หลังการประกาศเขตเศรษฐกิจจำเพาะในคริสต์ทศวรรษ 1980 กระบวนการปรับปรุงกองทัพให้ทันสมัยมุ่งเน้นการพัฒนาความมั่นคงทางทะเลโดยการพัฒนาขีดความสามารถกองทัพเรือ กองทัพอากาศและการวางกำลังอย่างรวดเร็ว เมื่อพิจารณาจากลักษณะภูมิประเทศที่เป็นกลุ่มเกาะขนาดใหญ่ มีเส้นทางเดินเรือและทางน้ำกว้างใหญ่ ในช่วงแรกสัดส่วนรายจ่ายด้านกลาโหมยังค่อนข้างต่ำ โดยคิดเป็นประมาณร้อยละ 1.5 ของจีดีพี ซึ่งต่ำสุดเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งแสดงถึงการให้ความสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจและความเสื่อมของสถานภาพของกองทัพในยุคหลังซูฮาร์โต ความพยายามในช่วงหลังเน้นเหล่านาวิกโยธินและกองทัพเรือ โดยมีการสร้างฐานทัพเรือขนาดใหญ่ใน Teluk Rate[24]:15–8

ประเทศเพิ่มรายจ่ายอยา่งมากในปี 2552–56 โดยมีอัตราเพิ่มขึ้นร้อยละ 109 อยา่งไรก็ดี สัดส่วนรายจ่ายทางทหารต่ตอจีดีพีลดลงเพื่อพยายามแก้ไขปัญหาขาดดุลงบประมาณ ลำดับความสำคัญเป็นไปเพื่อทดแทนระบบอาวุธเก่า ส่วนใหญ่เป็นการซื้ออากาศยานและเรือรบใหม่ และเป้าหมายนโยบายกลาโหมหนึ่งของประเทศคือการขยายการผลิตอาวุธในประเท โดยมีข้อตกลงผลิตภัณฑ์แบบได้รับอนุญาตและการถ่ายโอนเทคโนโลยีบางส่วน[25]:23–5 แผนการระยะยาวมีแผนซื้อเครื่องบินรบใหม่ถึง 230 เครื่อง เรือฟริเกตหลายสิบลำ และเรือดำน้ำมากถึง 12 ลำภายในปี 2573 แต่คงเป็นไปได้ยากเมื่อดูจากอัตรารายจ่ายปัจจุบัน[25]:26–7

ในปี 2559 ประเทศอินโดนีเซียมีกองทัพที่เข้มแข็งที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมีอันดับสูงกว่าออสเตรเลียในการจัดอันดับโกลบอลไฟเออร์พาวเวอร์ (Global Firepower) ยุทโธปกรณ์มีอาวุธทันสมัยจากประเทศตะวันตกและรัสเซีย รวมทั้งเครื่องบินเจ็ตรัสเซีย ซุคฮอย-27/30, เอฟ-16 ของสหรัฐ, เรือดำน้ำชนิด 209 ของเยอรมัน, รถถังรบหลักเลพเพิร์ด 22 อาร์ไอของเยอรมัน, และยานลำเลียงพลหุ้นเกราะสะเทินน้ำสะเทินบกบีทีอาร์-4เอ็มของยูเครน[26]

ลาว

ข้อมูลรายจ่ายทางทหารของลาวเป็นความลับ แต่ยังถือว่าต่ำสุดเป็นอันดับสองในภูมิภาค รายจ่ายดังกล่าวคาดว่าจะเพิ่มขึ้นในปี 2560 และ 2561 โดยการสั่งซื้อเครื่องบินและรถถังใหม่เมื่อถูกคุกคามจากกัมพูชา[26]:27–8

มาเลเซีย

กองทัพมาเลเซียมีประสบการณ์ในการปราบปรามการก่อกบฏและการสงครามป่าจากการก่อการกำเริบคอมมิวนิสต์นานหลายทศวรรษ กองทัพมองเห็นจุดอ่อนจากนแวชายฝั่งที่ยาวและทรัพยากรนอกชายฝั่งอย่างน้ำมันและแก๊สธรรมชาติ ตลอดจนสถานการณ์ในภูมิภาค ประเทศจึงเริ่มโครงการสะสมทางทหาร PERISTA ในปี 2522 นอกจากพักไปช่วงหนึ่งหลังวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 กระบวนการดำเนินต่อและแสดงเจตจำนงในการพัฒนาขีดความสามารถรอบด้านและตอบโต้การสะสมกำลังของสิงคโปร์ เพื่อเพิ่มความมั่นคงทางทะเลและขีดความสามารถในการแสดงอำนาจ (power projection)[24]:8–12

มาเลเซียจัดสรรงบประมาณกองทัพตามภาวะเศรษฐกิจที่มีความผันผวนในช่วงปีหลัง กองทัพยังมุ่งเน้นการสะสมกองทัพเรือ และตีพิมพ์แผนระยะยาวในการพัฒนาขีดความสามารถของกองทัพอากาศ[25]:28–32

เมียนมาร์

กองทัพเมียนมาร์ถูกละเลยจนหลังรัฐประหารปี 2531 คณะรัฐประหารดำเนินโครงการปรับปรุงกองทัพให้ทันสมัยซึ่งมุ่งปิดจุดอ่อนเรื่องอาวุธล้าสมัยและเพิ่มกำลังพล อย่างไรก็ดี โครงการนี้เป็นการเพิ่มจำนวนไม่ใช่การพัฒนาคุณภาพ แม้กองทัพได้กำราบการก่อการกำเริบของชาติพันธุ์ได้มากแล้ว กองทัพยังถือว่าอ่อนแอเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน กองทัพให้ความสำคัญกับการซื้อระบบอาวุธราคาถูก แต่การลงทุนในอุตสาหกรรมอาวุธท้องถิ่นทำให้สามารถผลิตอาวุธเบา พาหนะหุ้มเกราะเบา ทุ่นระเบิดบก ปืนครกและเครื่องกระสุนได้ ในสมัยหลังกองทัพให้ความสนใจภายนอกกับขีดความสามารถทางทหารที่เพิ่มขึ้นของไทยและอิทธิพลของจีนที่เพิ่มขึ้นในประเทศ[24]:18–9

ข้อมูลรายจ่ายของพม่าไม่สมบูรณ์เช่นเดียวกับลาว และคาดว่าลดลงหลังรัฐบาลพลเรือนตั้งแต่ปี 2558 ถึงแม้ประเทศตะวันตกไม่ค่อยบังคับการคว่ำบาตรอาวุธมากเท่าเก่าแล้ว ปัญหาความมั่นคงหลักของประเทศยังเป็นความขัดแย้งชาติพันธุ์ที่กำลังดำเนินอยู่ แต่ความขัดแย้งทางทะเลกับประเทศบังกลาเทศทำให้รายจ่ายกองทัพเรือเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังแสดงความสนใจในการพัฒนาอุตสาหกรรมอาวุธภายในและการถ่ายโอนเทคโนโลยี[25]:31–2

ฟิลิปปินส์

ประเทศฟิลิปปินส์หมกมุ่นอยู่กับการก่อการกำเริบในประเทศและการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายภายใน และเมื่อมีพันธมิตรทางทหารกับสหรัฐและมีฐานทัพเรือและอากาศของสหรัฐในประเทศทำให้ไม่มีความกดดันเรื่องการปรับปรุงกองทัพให้ทันสมัย แต่หลังจากความช่วยเหลือของสหรัฐลดลงและมีความขัดแย้งในหมู่เกาะสแปรตลีย์ ทำให้มีการผ่านกฎหมายปรับรุงกองทัพให้ทันสมัยในปี 2538 แต่โครงการจริงเริ่มต้นในปี 2542 หลังวิกฤตเศรษฐกิจ[24]:23–4

รายจ่ายทางทหารเพิ่มขึ้นร้อยละ 50.3 ระหว่างปี 2552 และ 2561 ในจำนวนจริง แต่ภาระต่อเศรษฐกิจยังประมาณเท่าเดิม การเพิ่มขึ้นดังกล่าวส่วนหนึ่งเป็นการเพิ่มค่าตอบแทนให้แก่กำลังพล ลำดับความสำคัญของประธานาธิบดีโรดรีโก ดูแตร์เตได้แก่การรักษาดินแดน เนื่องจากข้อวิจารณ์นโยบายดูแตร์เต ทำให้ประเทศตะวันตกบางประเทศปฏิเสธส่งออกอาวุธให้แก่ประเทศ ทำให้รัฐบาลหันความสนใจไปทำ้อตกลงกับรัสเซีย จีนและอิสราเอล ยุทโธปกรณ์ของประเทศถือว่าล้าสมัยมากเป็นอันดับต้น ๆ ของภูมิภาค และรัฐบัญญัติปรับปรุงกองทัพให้ทันสมัยฉบับทบทวนปี 2556 วางโครงการพยายามปรับปรุงกองทัพให้ทันสมัยภายในปี 2570 ร้อยละ 87 ของการนำเข้าอาวุธเป็นอากาศยานหรือเรือ[25]:32–5

สิงคโปร์

สิงคโปร์พัฒนากองทัพอย่างต่อเนื่อง ไม่ถูกหยุดด้วยวิกฤตปี 2540 ผู้นำถือว่ากองทัพมีความจำเป็นต้องใช้เพื่อสกัดกั้น เมื่อพิจารณาสถานะของประเทศที่เป็นนครรัฐในภูมิภาคที่ผันผวน ประเทศรับแนวคิด RMA และเสริมเทคโนโลยีทหาร สิงคโปร์เป็นประเทศที่มีกองทัพเข้มแข็งที่สุดในภูมิภาคในปี 2547 และมีเจตจำนงทางการเมืองในการปรับปรุงกองทัพให้ทันสมัยอย่างต่อเนื่อง นอกเหนือจากการนำเข้าพาหนะใหม่เข้าสู่กองทัพทุกเหล่าทัพแล้ว กองทัพยังริเริ่มนำพาหนะต่อสู้ทหารราบที่สร้างึข้นเองในประเทศเข้าประจำการด้วย[24]:5–8

ระหว่างช่วงปี 2552 ถึง 2561 ประเทศจัดสรรงบประมาณร้อยละ 1 ของจีดีพีให้แก่กองทัพมาโดยตลอด เป็นประเทศผู้นำเข้าอาวุธรายใหญ่ที่สุดในภูมิภาค และจัดเป็นหนึ่งในสี่ในดัชนีประเทศที่มีความเป็นทหารมากที่สุดจัดโดยศูนย์การอนุรักษ์ระหว่างประเทศบอนน์ตั้งแต่ปี 2550 ประเทศมีอุตสาหกรรมอาวุธที่พัฒนาสูง และสามารถผลิตพาหนะหุ้มเกราะ ปืนใหญ่และเรือได้เอง และยังส่งออกยุทโธปกรณ์บางส่วนด้วย กองทัพอากาศสิงคโปร์มีความสามารถปฏิบัตการทางไกลสูงสุด สิงคโปร์เป็นผู้เข้าร่วมโครงการพัฒนาเอฟ-35 ของสหรัฐตั้งแต่ปี 2546[25]:37–8

ไทย

ประเทศไทยได้รับความช่วยเหลือทางทหารอย่างมากจากสหรัฐในช่วงสงครามเวียดนาม แต่หลังคอมมิวนิสต์ชนะในปี 2518 และสหรัฐถอนฐานทัพออกจากประเทศได้เพิ่มความพยายามปรับปรุงกองทัพให้ทันสมัย ปัจจัยในประเทศยังมีบทบาทได้ คือ ประเทศเผชิญกับการก่อการกำเริบคอมมิวนิสต์ และความแตกแยกทั้งในและระหว่างเหล่าทัพต่าง ๆ ที่แย่งชิงงบประมาณกัน นับแต่คริสต์ทศวรรษ 1990 ประเทศมุ่งเน้นการพัฒนากองทัพเรือเพื่อพิทักษ์ผลประโยชน์ในเขตเศรษฐกิจจำเพาะ การซื้อเรือบรรทุกเครื่องบิน เรือหลวงจักรีนฤเบศร บ่งชี้ถึงความทะเยอทะยานในการพัฒนาขีดความสามารถน้ำลึก (blue-water) แม้ว่าเกียรติภูมิจะเป็นปัจจัยส่งเสริม กำลังมีความพยายามปฏิรูปกองทัพ ซึ่งเหล่าทัพต่าง ๆ พยายามปรับลดขนาดและปรับปรุงการฝึกให้ดีขึ้น กองทัพดูให้ความสำคัญกับการซื้อปืนใหญ่ พาหนะต่อสู้ทหารราบ รถถัง เรือดำน้ำ เครื่องบินขับไล่และเรือฟริเกต ประเทศมักเลือกซื้อระบบอาวุธมือสองหรืออัปเกรตยุทโธปกรณ์ที่มีอยู่แล้วเดิมซึ่งเป็นตัวเลือกที่ถูกกว่า ความพยายามส่วนหนึ่งเป็นเพราะกังวลว่าอาจตามมาเลเซียไม่ทัน[24]:12–5

การฉ้อราษฎร์บังหลวงของกองทัพมีบันทึกไว้มากในประเทศไทย มีรายงานคิดค่านายหน้าเฉลี่ยร้อยละ 15–20 ในการขายอาวุธ[24]:34 ปัจจัยการเมืองภายในยังมีผลต่อการจัดสรรงบประมาณ เช่น ในคราวรัฐบาลพลเรือนได้เพิ่มงบประมาณให้กองทัพเรือเพื่อตอบแทนที่ไม่ได้เข้าร่วมคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ[24]:33

ระหว่างปี 2552 ถึง 2561 รายจ่ายทางทหารของไทยเพิ่มขึ้นร้อยละ 16 ในรูปตัวเงิน แต่สัดส่วนต่อจีดีพีลดลง อย่างไรก็ดี หลังรัฐประหารปี 2557 รายจ่ายทางทหารเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นต่อไปตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีซึ่งผูกพันทุกรัฐบาลต่อจากนี้ ประเทศตะวันตกไม่ค่อยเต็มใจส่งออกอาวุธสู่ประเทศไทยหลังรัฐประหาร ทำให้หันไปตอบรับข้อตกลงจากประเทศจีน แม้ว่าประเทศตะวันตกยังไม่คว่ำบาตรอาวุธอย่างเป็นทากงาร การลงทุนใหญ่สุดในอาวุธหลักตั้งแต่ปี 2553 ได้แก่ การซื้อเรือดำน้ำเอส-26ที จากประเทศจีนสามลำตามกำหนด รัฐมนตรีกลาโหมหลายคนมักอ้างว่าประเทศเพื่อนบ้านต่างมีเรือดำน้ำกันหมดเป็นสาเหตุว่าประเทศไทยสมควรมีเรือดำน้ำของตนเองบ้าง[25]:8 ทั้งนี้ ปริมาณยุทโธปกรณ์ของไทยเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยในช่วงนี้ เนื่องจากอาวุธเก่า ๆ ถูกปลดประจำการ[25]:39–41 อย่างไรก็ดี ยุทโธปกรณ์สมัยใหม่มีเอฟ-16 และอากาศยานหลายบทบาทเจเอเอส 39 กริพเพน รถถังรบหลักที-84 อ็อบล็อต-เอ็ม เรือฟริเกตขีปนาวุธชั้นน็อกซ์และชนิด 025ที และชนิด 053เอชที[26]

ติมอร์-เลสเต

ติมอร์-เลสเตจัดงบประมาณกองทัพไว้ต่ำกว่าร้อยละ 1 ของจีดีพี และลดลงมากในปี 2561 การส่งมอบอาวุธใหญ่เท่าที่ทราบได้แก่เรือลาดตระเวนจากจีนและเกาหลีใต้ในปี 2553–54[25]:41–2

เวียดนาม

หลังสงครามเวียดนามยุติใหม่ ๆ ประเทศเวียดนามเพิ่มขีดความสามารถหลังยึดยุทโธปกรณ์สหรัฐที่ทิ้งไว้ได้เป็นอันมาก อย่างไรก็ดี เมื่อสหภาพโซเวียตซึ่งสนับสนุนยุทโธปกรณ์และเครื่องกระสุนให้แก่ประเทศช้านานได้ตัดการสนับสนุน และภาวะไม่รู้ผลแพ้ชนะในสงครามกลางเมืองกัมพูชา ทำให้รัฐบาลตัดสินใจเลิกระดมพล และหันเหจากการวางกำลังส่วนหน้า ในคริสต์ทศวรรษ 1990 ประเทศไม่ได้มีกระบวนการปรับปรุงกองทัพให้ทันสมัยมากเท่ากับสิงคโปร์ มาเลเซีย ไทยและเมียนมาร์[24]:19–22

ตัวเลขรายจ่ายทางทหารเป็นความลับของชาติ แต่ประมาณการพบว่ารายจ่ายสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยคิดเป็นเพิ่มร้อยละ 75 ในรูปตัวเงินระหว่างปี 2552 ถึง 2561 อย่างไรก็ดี มีรายงานว่ามีรายจ่ายนอกงบประมาณด้วย เวียดนามมีความร่วมมือทางทหารกับอินเดียและซื้ออาวุธจำนวนมาก ประเทศเวียดนามมีความกรำศึกมาก และจัดเป็นกองทัพที่มีความเข้มแข็งอันดับต้น ๆ ของโลก การป้องกันภัยทางอากาศของเวียดนามถือว่ามีชื่อเสียง[26] ออสเตรเลียและญี่ปุ่นกำลังฝึกกำลังพลให้แก่เวียดนาม อุตสาหกรรมอาวุธท้องถิ่นได้รับการสนับสุนนจากต่างประทเศ และสามารถผลิตเรือรบที่ต่างชาติออกแบบได้ ภัยคุกคามจากจีนเป็นความสนใจหลักของความพยายามปรับปรุงกองทัพ เวียดนามได้ขยายและปรับปรุงกองทัพเรือ ซึ่งได้เปลี่ยนกองทัพเรือใหม่เกือบทั้งหมด เรือดำน้ำและเรือฟริเกตใหม่ทำให้กองทัพเรือมีขีดความสามารถในทะเลลึก[25]:42–5

ใกล้เคียง

การเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง การเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่หนึ่ง การเสกสมรสระหว่างราชวงศ์ การเสียชีวิตของไดอานา เจ้าหญิงแห่งเวลส์ การเสียกรุงคอนสแตนติโนเปิล การเสียชีวิตของไมเคิล แจ็กสัน การเสด็จออกมหาสมาคมในรัชกาลที่ 9 การเสียดินแดนของไทย การเสริมสร้างกองทัพในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การเสียชีวิตของภัทรธิดา พัชรวีระพงษ์

แหล่งที่มา

WikiPedia: การเสริมสร้างกองทัพในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ //doi.org/10.1080%2F04597222.2015.996334 //doi.org/10.1080%2F04597222.2015.996361 //doi.org/10.1080/04597222.2015.996334 //www.worldcat.org/issn/0459-7222 https://www.files.ethz.ch/isn/27014/WP59.pdf https://seasia.co/2017/01/24/which-military-ranks-... https://www.armscontrol.org/factsheets/Nuclearweap... https://www.sipri.org/sites/default/files/2019-12/...