ลักษณะเฉพาะของภาพเขียนของขรัวอินโข่ง ของ ขรัวอินโข่ง

การเขียนภาพแบบตะวันตกที่ใช้แสงและเงาสร้างเป็นภาพ 3 มิติ

งานจิตรกรรมไทยของขรัวอินโข่งในช่วงแรกยังคงเป็นแบบไทยดั้งเดิมดังได้กล่าวมาแล้ว ในระยะหลังแม้จะได้รับอิทธิพลวัฒนธรรมและศิลปะตะวันตกโดยเฉพาะด้านการเขียนภาพหรือจิตรกรรม ซึ่งใช้วิธีการเขียนภาพแบบตะวันตกที่ใช้แสงและเงาสร้างเป็นภาพ 3 มิติทำให้เห็นภาพมีความลึกได้รับแสงไม่เท่ากันตามจริง แต่ภาพไทยที่เขียนแบบตะวันตกของขรัวอินโข่งก็ยังคงลักษณะไทยไว้ได้โดยยังคงแสดงลักษณะท่าทางและความอ่อนช้อยที่เน้นท่าพิเศษแบบไทยดังปรากฏในภาพเขียนแบบไทยทั่วไป นอกจากนี้ขรัวอินโข่งยังแสดงความอัจฉริยะในการสร้างจินตนาการจากความคิดและความเชื่อของไทยที่ยังคงมีอยู่ในสมัยนั้น

นอกจากนั้น น. ณ ปากน้ำก็ยังได้อธิบายเปรียบเทียบงานของขรัวอินโข่งกับช่างเขียนมีชื่อชาวตะวันตกไว้อย่างน่า สนใจว่า

"....ภาพหนึ่งเป็นภาพชีวิตในหมู่บ้าน ผู้คนกำลังตักบาตรในตอนเช้า ไกลออกไปมีกระท่อม ซึ่งปลูกบนเนินใต้ต้นไม้ กลางทุ่งที่เจิ่งไปด้วยน้ำ แสดงถึงชีวิตที่สงบสันติ ชาวนาที่ขยันขันแข็งกำลังไถนาอยู่ นับว่าเป็นชีวิตที่ผาสุกน่าชื่นชม ถัดหมู่บ้านนี้ไปไม่ไกลนักมีอีกหมู่บ้านหนึ่ง ซึ่งในภาพแสดงให้เห็นความชุลมุนวุ่นวาย มีคนกลุ่มหนึ่งกำลังรุมตีกัน และบางคนก็ไล่ตีพระซึ่งวิ่งหนีทิ้งตาลปัตร ล้มลุกคลุกคลาน การเขียนด้วยวิธีนี้ทำให้นึกถึง ยอชโต ศิลปินของอิตาลี ซึ่งเน้นถึงปรัชญาของชีวิต เปรียบให้เห็นความดี ความเลว ให้เป็นคติธรรมที่ดีแก่คน ทั่ว ๆ ไป..."

วิยะดา ทองมิตร กล่าวถึงคุณค่าของผลงานของขรัวอินโข่งไว้ว่า

"....ขรัวอินโข่ง วาดภาพเหมือนจริง และด้วยวิธีวาดแบบทัศนียวิสัย 3 มิติ ทำให้ภาพเกิดความลึก การใช้สีแบบเอกรงค์ (monochrome) ที่ประสานกลมกลืนกัน ทำให้ภาพของขรัวอินโข่งมีบรรยากาศที่ชวนฝัน ทำให้ผู้ดูเกิดจินตนาการฝันเฟื่องตามไปด้วยไม่ว่าจะเป็นภาพวาดรูปต้นไม้ในป่า รูปต้นไม้และโขดเขาที่เพิงผาทางด้านผนังทิศเหนือ ด้านล่างที่มณฑป พระพุทธบาทวัดพระงามนั้นถึงจะไม่มีรูปบุคคลปรากฏอยู่ด้วยเลย แต่ภาพทั้งสองนี้ก็แลดูสวยด้วยธรรมชาติเพียงอย่างเดียว หรือภาพต้นสนที่เอนลู่ตามลมด้วยแรงพายุที่พัดอย่างแรงกล้านั้น ก็แลดูน่ากลัวสมจริงสมจังสัมพันธ์กับความน่ากลัวของภูตผีปีศาจที่มาขอส่วนบุญกับพระเจ้าพิมพิสาร… ภาพวาดทุกภาพของขรัวอินโข่ง แสดงให้เห็นถึงความประสานกลมกลืนของสีและบรรยากาศที่สลัว ๆ เสมือนกับทำให้ความคิดฝันที่ค่อนข้างเลือนลางนั้น ค่อย ๆ กระจ่างชัดในอารมณ์ รวมทั้งบรรยากาศที่อยู่ท่ามกลางขุนเขาและแมกไม้ที่ร่มครึ้ม ทำให้จิตใจเกิดจินตนาการคล้อยไปตามภาพที่ได้เห็น…เมื่อวาดภาพชีวิตทางยุโรป ขรัวอินโข่งจึงพยายามสร้างอารมณ์และบรรยากาศเป็นประเทศเมืองหนาว โดยใช้วิธีแบบทึมๆ”

เว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี เรื่องเดียวกันกล่าวถึงลักษณะเฉพาะในการเขียนภาพของขรัวอินโข่งไว้เช่นเดียวกันว่า

“......ขรัวอินโข่งเป็นจิตรกรหัวก้าวหน้า ผู้พัฒนาแนวทางจิตรกรรมไทยแบบประเพณี สร้างสรรค์งานจิตรกรรมฝาผนังในแนวความคิดใหม่ โดยนำเอารูปแบบจิตรกรรมตะวันตกที่เกี่ยวกับการจัดองค์ประกอบ ผู้คน การแต่งกาย ตึกรามบ้านเมือง ทิวทัศน์ การใช้สี แสงเงา บรรยากาศที่ให้ความรู้สึกในระยะและความลึกมาใช้อย่างสอดคล้องกับเรื่องที่ได้แสดงออกเกี่ยวกับคติและปริศนาธรรม...”

ขรัวอินโข่งเป็นจิตรกรไทยคนแรกที่เขียนภาพคนเหมือนแบบตะวันตก (Portrait) เป็นคนแรก โดยเขียนภาพเหมือนพระบรมสาทิสลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จากการศึกษาหลักฐานด้านประวัติศาสตร์จิตรกรรมของไทย ยังคงถือกันว่างานชิ้นนี้นับเป็นงานภาพคนเหมือนที่มีชื่อเสียงชิ้นแรกของประเทศไทย ปัจจุบันภาพเหมือนพระบรมสาทิสลักษณ์ฯ ดังกล่าวประดิษฐานอยู่ในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ