การบริหารและการจัดการ ของ คณะเภสัชศาสตร์_จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีการบริหารงานเช่นเดียวกับคณะวิชาทั่วไป คือ มีคณะกรรมการบริหารคณะ มีคณบดีเป็นหัวหน้า และรองคณบดีกำกับดูแลฝ่ายงาน 6 ฝ่ายได้แก่ ฝ่ายบริหาร ฝ่ายวิชาการ ฝ่ายกิจการนิสิต ฝ่ายวางแผนและพัฒนา ฝ่ายประกันคุณภาพ และฝ่ายวิจัย[27] มีการแบ่งโครงสร้างในการจัดการเรียนการสอนออกเป็น 7 ภาควิชา ได้แก่วิทยาการเภสัชกรรมและเภสัชอุตสาหกรรม เภสัชกรรมปฏิบัติ อาหารและเภสัชเคมี ชีวเคมีและจุลชีววิทยา เภสัชเวทและเภสัชพฤกษศาสตร์ เภสัชวิทยาและสรีรวิทยา และเภสัชศาสตร์สังคมและบริหาร ส่วนสำนักเลขานุการคณะฯ เป็นหน่วยงานเทียบเท่าภาควิชาแต่มิได้รับผิดชอบด้านการเรียนการสอนโดยตรง[28] นอกจากนี้ยังมีหน่วยสนับสนุนการเรียนการสอนและการวิจัยอีก 12 หน่วยงานร่วมกับสถานปฏิบัติการเภสัชกรรมชุมชน โอสถศาลา (ร้านยา) อีกหนึ่งหน่วยงาน[29]

การเรียนการสอน

คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดการเรียนการสอนใน 3 ระดับการศึกษา คือ ระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก โดยการเรียนการสอนในระดับปริญญาบัณฑิต (ปริญญาตรี) ของคณะใช้ระบบทวิภาคคือ แบ่งปีการศึกษาหนึ่งออกเป็น 2 ภาคการศึกษา ได้แก่ ภาคการศึกษาต้นและภาคการศึกษาปลาย (หรืออาจมีภาคฤดูร้อนก็ได้) ปัจจุบันแบ่งออกเป็น 2 สาขา ได้แก่ สาขาวิชาการการบริบาลทางเภสัชกรรมและสาขาวิชาเภสัชกรรมอุตสาหการ ทั้งสองสาขาใช้ระยะเวลาในการศึกษาทั้งสิ้น 6 ปี แบ่งเป็นการศึกษาวิชาการศึกษาทั่วไปและวิชาพื้นฐานวิชาชีพเป็นเวลา 1 ปีครึ่ง และการศึกษาวิชาเฉพาะวิชาชีพเป็นเวลา 3 ปีครึ่ง และฝึกปฏิบัติวิชาชีพ 1 ปี ในสาขาการบริบาลทางเภสัชกรรมจะเน้นด้านการดูแลผู้ป่วยในกระบวนการใช้ยา และในสาขาวิชาเภสัชกรรมอุตสาหการ จะสามารถเลือกวิชาเฉพาะของสาขาใน 3 สาขา ได้แก่ สาขาเภสัชกรรมและเทคโนโลยี สาขาค้นพบและพัฒนายา และสาขาเภสัชศาสตร์สังคมและบริหาร ซึ่งทั้งสองหลักสูตรได้รับการรับรองจากสภาเภสัชกรรมและสภามหาวิทยาลัย[30][31][32] หลังสำเร็จการศึกษาต้องชดใช้ทุนโดยเป็นเภสัชกรสังกัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นระยะเวลา 2 ปี[33] หรือหน่วยงานราชการอื่นที่ระบุตำแหน่งในแต่ละปีการศึกษา[34]

นอกจากการจัดการศึกษาในระดับปริญญาบัณฑิตนั้น คณะเภสัชศาสตร์ยังได้จัดการเรียนการสอนในระดับบัณฑิตศึกษาโดยใช้ระยะเวลาศึกษาทั่วไป 2 ปี แบ่งเป็นหลักสูตรเภสัชศาสตรมหาบัณฑิต, หลักสูตรเภสัชศาสตรดุษฎีบัณฑิตและวิทยาศาสตรดุษฎีบันฑิต ทั้งนี้ยังมีการเรียนการสอนในหลักสูตรนานาชาติในสาขาเทคโนโลยีเภสัชกรรม และสาขาเภสัชศาสตร์สังคมและบริหาร

ปริญญาตรีปริญญาโทปริญญาเอก

หลักสูตรเภสัชศาสตรบัณฑิต ใช้ระยะเวลาศึกษา 6 ปี

  • สาขาวิชาการบริบาลทางเภสัชกรรม
  • สาขาวิชาเภสัชกรรมอุตสาหการ

หลักสูตรเภสัชศาสตรมหาบัณฑิต ใช้ระยะเวลาศึกษา 2 ปี

  • สาขาวิชาเภสัชกรรม
  • สาขาวิชาเภสัชกรรมคลินิก
  • สาขาวิชาเภสัชอุตสาหกรรม
  • สาขาวิชาเภสัชเคมี
  • สาขาวิชาอาหารเคมีและโภชนศาสตร์การแพทย์
  • สาขาวิชาเภสัชพฤกษศาสตร์
  • สาขาวิชาเภสัชเวท
  • สาขาวิชาจุลชีววิทยา
  • สาขาวิชาสรีรวิทยา
  • สาขาวิชาเภสัชวิทยาและพิษวิทยา
  • สาขาชีวเวชเคมี
  • สาขาวิชาเทคโนโลยีเภสัชกรรม (นานาชาติ)
  • สาขาวิชาเภสัชศาสตร์สังคมและบริหาร (นานาชาติ)

หลักสูตรวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต

  • สาขาวิชาวิทยาศาสตร์เครื่องสำอาง

หลักสูตรเภสัชศาสตรดุษฎีบัณฑิต ใช้ระยะเวลาศึกษา 2 ปี

  • สาขาวิชาเภสัชกรรม
  • สาขาวิชาการบริบาล

หลักสูตรวิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิต

  • สาขาวิชาเภสัชเคมีและ ผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ
  • สาขาวิชาเภสัชศาสตร์ชีวภาพ
  • สาขาวิชาชีวเวชเคมี
  • สาขาวิชาเทคโนโลยีเภสัชกรรม (นานาชาติ)
  • สาขาวิชาเภสัชศาสตร์สังคมและบริหาร (นานาชาติ)
  • สาขาวิชาเภสัชเวททางเภสัชกรรม (นานาชาติ)

การวิจัยและการประชุมวิชาการ

คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีหน่วยวิจัยและศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางกว่า 18 หน่วย/ศูนย์[33] เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการวิจัยทางเภสัชกรรมและการพัฒนาการศึกษาทางเภสัชศาสตร์ มีผลงานการตีพิมพ์ทางวิชาการด้านเภสัชกรรมและเภสัชวิทยาในอันดับที่ 2 ของคณะเภสัชศาสตร์ในประเทศไทย[35] นอกจากนี้ยังได้สร้างอาคารนวัตกรรมทางเภสัชศาสตร์ ซึ่งทำพิธีเปิดในวันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2552 เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมกระบวนการวิจัยทางยาให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เพื่อเชื่อมโยงงานเภสัชกรรมระหว่างภาคอุตสาหกรรมยาและภาครัฐในการทางพัฒนาเภสัชภัณฑ์และสมุนไพร เพื่อลดอัตราการนำเข้ายาจากต่างประเทศ[36] ประกอบด้วยหน่วยวิจัย 5 หน่วย[37] ได้แก่ หน่วยวิจัยสมุนไพรและผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ (HERB) หน่วยวิจัยจุลชีววิทยา ชีววิทยาโมเลกุลและเทคโนโลยีชีวภาพ (MMBB) หน่วยประเมินประสิทธิศักย์และความปลอดภัยพรีคลินิก (PESA) หน่วยพัฒนาเภสัชภัณฑ์และการถ่ายทอดเทคโนโลยี (PDTT) และหน่วยวิจัยเครื่องสำอาง (COSM)

คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีการจัดประชุมวิชาการเพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ทางเภสัชศาสตร์แก่เภสัชกร บุคลากรทางสาธารณสุข และบุคคลทั่วไป โดยมีหน่วยการศึกษาต่อเนื่องเป็นผู้รับผิดชอบในการจัดการประชุม[38] และยังมีการจัดการประชุมวิชาการเสนอผลงานวิจัยทางเภสัชศาสตร์เป็นประจำทุกปี[39] นอกจากนี้ยังมีโครงการความร่วมมือกับหน่วยงานทั้งในและต่างประเทศ อาทิ โครงการประชุมวิชาการนานาชาติ (NRCT-JSPS Joint Seminar) ซึ่งร่วมจัดกับสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ภายใต้ความร่วมมือข้อตกลงของสภาวิจัยแห่งชาติ (NRCT) สถาบันสมุนไพร มหาวิทยาลัยโทโยม่า และสมาคมส่งเสริมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศญี่ปุ่น (JSPS) [40] โครงการแลกเปลี่ยนนิสิตคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกับนักศึกษาคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยชิบะ โครงการแลกเปลี่ยนคณาจารย์ นักวิจัย และนิสิต คณะเภสัชศาสตร์กับมหาวิทยาลัยต่างประเทศ อาทิ ประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศอังกฤษ ประเทศญี่ปุ่น และประเทศเกาหลี เป็นต้น โครงการเชิญคณาจารย์และวิทยากรจากต่างประเทศ ร่วมบรรยายและสัมมนา[41]

การรับบุคคลเข้าศึกษาและอันดับของคณะ

คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีเกณฑ์การรับบุคคลเข้าศึกษาในหลักสูตรเภสัชศาสตรบัณฑิต (ปริญญาตรี) ทั้งสิ้น 4 โครงการ ได้แก่ โครงการรับผ่านระบบแอดมิสชันของคณะกรรมการการอุดมศึกษา โครงการรับตรงจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย[42] โครงการพัฒนากีฬาชาติ[43] และโครงการจุฬาฯ ชนบท[44]

จากผลการรายงาน 50 อันดับของคณะทางสาขาชีวการแพทย์ของคณะกรรมการการอุดมศึกษา ประจำปี พ.ศ. 2552 โดยประเมินคุณภาพของการเรียนการสอนและงานวิจัย คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้อันดับที่ 23 และเป็นอันดับที่ 1 ในคณะเภสัชศาสตร์ทั้งหมด[45][46][47] ในส่วนผลการสอบใบประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมโดยสภาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีร้อยละของนิสิตผู้สอบผ่านมากเป็นอันดับต้นๆ ของคณะเภสัชศาสตร์ทั่วประเทศ อาทิ ในปี พ.ศ. 2552 มีนิสิตสอบผ่านร้อยละ 88.9[48] ปี พ.ศ. 2553 มีนิสิตผ่านร้อยละ 81.7[49] ในปี พ.ศ. 2554 มีนิสิตสอบผ่านร้อยละ 96.93 และในปี พ.ศ. 2555 มีนิสิตสอบผ่านร้อยละ 85.9[50] นอกจากนี้เว็บไซต์เด็กดียังจัดอันดับคณะที่มีนักเรียนเลือกมากที่สุด โดยคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในหลักสูตรเภสัชศาสตรบัณฑิต สาขาเภสัชศาสตร์อยู่ในอันดับที่ 5 ในการสอบแอดมิชชันประจำปี พ.ศ. 2555[51]

ใกล้เคียง

คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

แหล่งที่มา

WikiPedia: คณะเภสัชศาสตร์_จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย http://www.chula-alumni.com/scripts/ViewAllPublicN... http://www.chula-alumni.com/scripts/ViewAllPublicN... http://www.dek-d.com/board/view.php?id=1298154 http://www.dek-d.com/board/view.php?id=2451980 http://blog.eduzones.com/cucamp/44594 http://maps.google.com/maps?ll=13.743588,100.53145... http://www.multimap.com/map/browse.cgi?lat=13.7435... http://www.pharm-ce-chula.com/ http://www.pharm-ce-chula.com/about.htm http://www.pharm-ce-chula.com/ce-rpp29/download/sc...