ประวัติ ของ คณะเภสัชศาสตร์_จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

2456 - 2485 แผนกแพทย์ผสมยา โรงเรียนราชแพทยาลัย และแผนกเภสัชกรรมศาสตร์ จุฬาฯ

นักเรียนปรุงยาและคณาจารย์ถ่ายภาพร่วมกัน (รุ่น พ.ศ. 2456 - 2458)

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ เสนาธิการทหารบก มีพระดำริประทานแก่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร ผู้ตรวจการโรงเรียนราชแพทยาลัย ว่าตามกรมกองทหารบกมีแพทย์ประจำหน่วยพยาบาลอยู่แล้ว แต่ยังไม่มีผู้ใดได้เล่าเรียนและได้รับการอบรมไปประจำตามที่จ่ายยา ควรตั้งโรงเรียนแพทย์ปรุงยาขึ้น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทรซึ่งมีพระดำริเห็นพ้องจึงมีพระบันทึกเรื่อง "ความคิดเห็นเรื่อง การฝึกหัดแพทย์ผสมยา" เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2456 เนื้อหาของบันทึกเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับระบบการจัดการเรียนการสอน สถานที่การปฏิบัติการ และครูผู้สอนในการเรียนแพทย์ผสมยา จากแนวพระดำริดังกล่าวจึงได้มีการสถาปนาแผนกแพทย์ผสมยาขึ้นตามประกาศเสนาบดีกระทรวงธรรมการ เรื่อง "ระเบียบการจัดนักเรียนแพทย์ผสมยา พ.ศ. 2457" เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2456 จึงถือว่าวันดังกล่าวเป็นวันสถาปนาวิชาชีพเภสัชกรรมขึ้นในประเทศไทย และถือเป็นวันกำเนิดคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอีกด้วย และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทรจึงได้รับการยกย่องเป็น "บิดาแห่งวิชาชีพเภสัชกรรมแห่งประเทศไทย"[2]

การศึกษาด้านเภสัชศาสตร์เริ่มต้นการสอนแผนกแพทย์ผสมยาหรือในอีกชื่อหนึ่งว่า "โรงเรียนปรุงยา" ในสังกัดโรงเรียนราชแพทยาลัย เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2457 เมื่อจบการศึกษาจะได้รับประกาศนียบัตรแพทย์ปรุงยา โดยมีนักเรียนจบการศึกษาในรุ่นแรก 4 คน ต่อมาได้มีการประดิษฐานจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยขึ้น กระทรวงธรรมการจึงได้ประกาศให้รวมโรงเรียนราชแพทยาลัยเข้ามาสังกัดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2460 เป็นคณะแพทยศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดลในปัจจุบัน) การศึกษาด้านเภสัชศาสตร์จึงได้ยกระดับขึ้นสู่ระดับอุดมศึกษา[2] โดยใช้สถานที่ทำการสอนบริเวณวังวินด์เซอร์ เรือนนอนหอวังและโรงพยาบาลศิริราช ต่อมาในปี พ.ศ. 2475 ปทานุกรมของไทยได้กำหนดให้บัญญัติใช้คำว่า "เภสัชกรรม" แทนคำว่า "ปรุงยา" หรือ "ผสมยา"[4] จึงได้มีประกาศกระทรวงธรรมการให้มีการเปลี่ยนชื่อแผนกเป็น "แผนกเภสัชกรรม" ในสังกัดของคณะแพทยศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย[5] ต่อมาได้มีการตราพระราชบัญญัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2477 บังคับใช้ขึ้น โดยกำหนดจัดตั้งแผนกเภสัชกรรมศาสตร์ มีฐานะเป็นแผนกอิสระในบังคับบัญชาโดยตรงของมหาวิทยาลัยเช่นเดียวกับแผนกสถาปัตยกรรมศาสตร์ และได้ยกระดับวุฒิการศึกษาเป็น "ประกาศนียบัตรเภสัชกรรม (ป.ภ.)" เทียบเท่าอนุปริญญา โดยให้คณบดีคณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รักษาการตำแหน่งหัวหน้าแผนกเภสัชกรรมศาสตร์อีกตำแหน่งหนึ่ง

การปรับปรุงการศึกษาทางเภสัชศาสตร์ดำเนินอย่างต่อเนื่อง โดยในปี พ.ศ. 2479 ได้ยกระดับหลักสูตรเป็น "อนุปริญญาเภสัชศาสตร์" ใช้ระยะเวลาศึกษา 3 ปี เป็นหลักสูตรที่ครอบคลุมเนื้อหาวิชาทางเภสัชศาสตร์อย่างกว้างขวาง และนำเอาวิชาทางการแพทย์สมัยใหม่เข้ามาบรรจุในหลักสูตรดังกล่าวโดยเริ่มใช้ในปีการศึกษาต่อมา และมีการแบ่งแผนกวิชาต่างๆ ขึ้นตามกฎหมาย แม้กระนั้นการศึกษาเภสัชศาสตร์ก็ไม่ได้รับความสนใจต่อผู้เข้าศึกษามากนัก จนกระทั่งเภสัชกร ดร. ตั้ว ลพานุกรม อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเศรษฐการในขณะนั้น ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าแผนกเภสัชกรรมศาสตร์อีกตำแหน่งหนึ่ง เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2482[2] และได้จัดการศึกษาเภสัชศาสตร์ขึ้นอย่างเต็มรูปแบบโดยยกระดับหลักสูตรเภสัชกรรมศาสตร์จนถึงระดับปริญญา (หลักสูตร 4 ปี) และจัดสร้างอาคารเรียนถาวรของแผนกเภสัชกรรมศาสตร์ขึ้นเป็นครั้งแรก โดยเปิดใช้ตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2484 (อาคารคณะศิลปกรรมศาสตร์ในปัจจุบัน)[6]

ห้องสมุด คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ (อาคารคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ในปัจจุบัน)

2486 - 2515 คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์

ในปี พ.ศ. 2486 มีพระราชบัญญัติจัดตั้งมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์หรือมหาวิทยาลัยมหิดลในปัจจุบันขึ้นเป็นกรมหนึ่งของกระทรวงสาธารณสุข และได้โอนย้ายแผนกเภสัชกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไปเป็นคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ พร้อมกับแผนกทันตแพทยศาสตร์และแผนกสัตวแพทยศาสตร์ อย่างไรก็ดี อัตรากำลังและสถานที่ที่ใช้ทำการสอนยังคงอยู่ภายในบริเวณจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเช่นเดิม พร้อมกันนั้นได้เปิดหลักสูตรระดับปริญญาโทและพัฒนาหลักสูตรปริญญาตรี 5 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2500 โดยต้องศึกษาในคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นเวลา 2 ปี และคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์เป็นเวลา 3 ปี มีการกำหนดจำนวนเวลาฝึกงานทั้งในโรงงานเภสัชกรรม ร้านยา และสถานพยาบาล และในช่วง พ.ศ. 2509 มีความต้องการให้เภสัชกรเข้ามาดูแลระบบสาธารณสุขและการใช้ยาของประชาชนมากขึ้น จึงได้มีการเพิ่มเติมวิชาทางเภสัชกรรมคลินิกและโรงพยาบาลในหลักสูตรการศึกษา[7][8]

ในวันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2505 ได้มีหนังสือจากกระทรวงมาถึงอธิการบดีมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ขอให้มีการเปิดรับนักศึกษาสาขาเภสัชศาสตร์เพิ่มมากขึ้น ซึ่งขณะนั้นเปิดรับนักศึกษาปีละประมาณ 100 คน แต่ด้วยสภาพพื้นที่ของคณะเภสัชศาสตร์ไม่สามารถขยายรับนักศึกษาเพิ่มได้อีก จึงได้บรรจุโครงการจัดตั้งคณะเภสัชศาสตร์แห่งใหม่ขึ้นในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระยะที่ 2 และมีพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งคณะเภสัชศาสตร์แห่งใหม่คือ คณะเภสัชศาสตร์พญาไท มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ณ บริเวณถนนพญาไท แล้วให้ใช้หลักสูตรเดียวกับคณะเภสัชศาสตร์เดิม และมีการสับกำลังอัตราคณาจารย์กัน[9]

วันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2512 มีพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหิดลประกาศใช้หลังได้รับพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานนาม "มหิดล" แทนชื่อ "มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์" ต่อมาคณะปฏิวัติได้มีคำสั่ง ให้โอนคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลยมหิดล แห่งนี้ (ณ ตำบลวังใหม่) กลับเข้าสังกัดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยตามประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 118 ลงวันที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2515[10] จึงเปลี่ยนชื่อเป็น "คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย" จวบจนปัจจุบัน และได้มีพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งคณะทันตแพทยศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ และคณะเภสัชศาสตร์ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2538 (ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 118 ลงวันที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2515 ว่าด้วยการจัดตั้งคณะเภสัชศาสตร์และคณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกใช้บังคับในระหว่างที่มีการปกครองโดยคณะปฏิวัติและใช้ชื่อว่าประกาศของคณะปฏิวัติ สมควรปรับปรุงรูปแบบและบทบัญญัติของกฎหมายตามประกาศของคณะปฏิวัติดังกล่าวให้เป็นพระราชกฤษฎีกา เพื่อให้เป็นไปตามวิธีการตรากฎหมายในระบบปกติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้)[11]

2515 - ปัจจุบัน คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

อาคารคณะเภสัชศาสตร์

เมื่อย้ายสังกัดเข้าสู่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแล้ว ได้มีการปรับเปลี่ยนระบบบริหารและระบบติดตามการเรียนการสอน และการนับหน่วยกิตตามจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ส่วนปัญหาด้านสถานที่ของคณะที่ไม่เอื้อต่อการเรียนการสอนและการขยายจำนวนนิสิต ทำให้คณะมีโครงการจัดสร้างอาคารใหม่ขึ้นในบริเวณใกล้เคียงอาคารหลังเดิม แต่อย่างไรก็ดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเคยมีแนวคิดการสร้าง "Medical Square" ในพื้นที่การศึกษาที่ติดต่อกับสยามสแควร์ซึ่งมีคณะทันตแพทยศาสตร์และคณะสัตวแพทยศาสตร์อยู่แล้ว จึงมีโครงการสร้างอาคารคณะเภสัชศาสตร์หลังใหม่ในบริเวณดังกล่าว[12] การก่อสร้างเสร็จสิ้นในปี พ.ศ. 2525 และได้ย้ายสถานที่ทำการเรียนการสอนคณะเภสัชศาสตร์ไปยังอาคารแห่งใหม่บริเวณสยามสแควร์

คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้จัดโครงการเภสัชกรคู่สัญญาโดยใช้ทุนเป็นเวลา 2 ปี ในวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2527[13] โดยคณะเภสัชศาสตร์ยังคงปรับปรุงการศึกษาอย่างสืบเนื่อง ในปี พ.ศ. 2532 ได้เปิดหลักสูตรดุษฎีบัณฑิต 3 สาขา และในปีถัดมาได้ปรับปรุงหลักสูตรเภสัชศาสตรบัณฑิตเป็นลักษณะกึ่งเฉพาะทาง 5 สาขา ประกอบด้วย สาขาเภสัชกรรมโรงพยาบาลและเภสัชกรรมคลินิก, สาขาเทคโนโลยีการผลิตยา, สาขาวิจัยและพัฒนาเภสัชภัณฑ์, สาขาเภสัชกรรมชุมชนและบริหารเภสัชกิจ และสาขาเภสัชสาธารณสุข และมีการจัดสร้างอาคารเรียนและปฏิบัติการแห่งใหม่เพื่อเฉลิมฉลองการสถาปนาเภสัชศาสตร์ในสยามประเทศครบ 80 ปีโดยใช้ชื่อ "อาคาร 80 ปีเภสัชศาสตร์" ในปี พ.ศ. 2536

นอกจากการพัฒนาด้านการเรียนการสอนและอาคารสถานที่นั้น คณะเภสัชศาสตร์ยังได้รวบรวมเภสัชภัณฑ์, เครื่องยา และเภสัชวัตถุโบราณซึ่งสั่งสมมาแต่ครั้งก่อตั้งคณะจัดสร้างเป็น "พิพิธภัณฑ์สมุนไพร" ขึ้น โดยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ทรงเป็นองค์ประธานในการเปิดพิพิธภัณฑ์ดังกล่าวพร้อมกับเปิดอาคารโอสถศาลาในวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2544[14] และได้มีการจัดตั้งสมาคมนิสิตเก่าคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยขึ้นในปี พ.ศ. 2548 เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์นิสิตเก่าและนิสิตปัจจุบัน ให้มีความแน่นแฟ้น รวมทั้งส่งเสริมกิจกรรมคณะฯ พร้อมทั้งกิจกรรมวิชาชีพเภสัชกรรมอีกด้วย[15]

ปัจจุบันคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ใช้หลักสูตรเภสัชศาสตรบัณฑิตฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2557 โดยแบ่งเป็น 2 สาขา คือ หลักสูตรเภสัชศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเภสัชอุตสาหการ และหลักสูตรเภสัชศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการบริบาลทางเภสัชกรรม โดยใช้ระยะเวลาการศึกษา 6 ปี[16][17] มีการพัฒนาผลงานวิจัยทางเภสัชกรรมโดยจัดตั้งศูนย์พัฒนาเภสัชภัณฑ์และสมุนไพร ณ อาคารนวัตกรรมทางเภสัชศาสตร์ ซึ่งได้ทำพิธีเปิดเมื่อ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2552 โดยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ทรงเป็นองค์ประธานในพิธี[18] และยังมีโครงการต่างๆ อาทิ สถานปฏิบัติการเภสัชกรรมชุมชน คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือ "โอสถศาลา" ศูนย์คอมพิวเตอร์ทางเภสัชศาสตร์ ศูนย์เภสัชสารสนเทศ ศูนย์บริการเทคโนโลยีทางเภสัชอุตสาหกรรม หน่วยวิจัยและพัฒนาสมุนไพรและเครื่องเทศ รายการคลินิก FM 101.5 วิทยุจุฬาฯ ศูนย์ผลิตสื่อประสมคอมพิวเตอร์ ศูนย์สื่อสารการเรียนรู้ด้วยตนเอง ห้องสมุดและระบบคอมพิวเตอร์ทางเภสัชศาสตร์ เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อพัฒนาวิชาชีพเภสัชกรรมให้ปกป้องคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค ตาม "ปรัชญาแห่งวิชาชีพเภสัชกรรม"[19]

ใกล้เคียง

คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

แหล่งที่มา

WikiPedia: คณะเภสัชศาสตร์_จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย http://www.chula-alumni.com/scripts/ViewAllPublicN... http://www.chula-alumni.com/scripts/ViewAllPublicN... http://www.dek-d.com/board/view.php?id=1298154 http://www.dek-d.com/board/view.php?id=2451980 http://blog.eduzones.com/cucamp/44594 http://maps.google.com/maps?ll=13.743588,100.53145... http://www.multimap.com/map/browse.cgi?lat=13.7435... http://www.pharm-ce-chula.com/ http://www.pharm-ce-chula.com/about.htm http://www.pharm-ce-chula.com/ce-rpp29/download/sc...