ประวัติ ของ ครูบาศรีวิชัย

วัยเยาว์

ครูบาศรีวิชัย เดิมชื่อ "เฟือน" หรือ "อินท์เฟือน" "อินตาเฟือน" "ดินเฟือน" บ้างก็ว่า "อ้ายฟ้าร้อง" เนื่องจากในขณะที่ท่านเกิด มีปรากฏฝนฟ้าคะนองอย่างหนัก ส่วนอินท์เฟือนนั้น หมายถึง การเกิดกัมปนาทหวั่นไหวถึงสวรรค์หรือเมืองของพระอินทร์ ท่านเกิดในปีขาล เดือน 9 เหนือ (เดือน 7 ของภาคกลาง) ขึ้น 11 ค่ำ จ.ศ. 1240 เวลาพลบค่ำ ตรงกับวันอังคารที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2421 ฤกษ์ดาวสวาติ ที่บ้านปาง ตำบลแม่ตืน (ปัจจุบันคือตำบลศรีวิชัย) อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน เป็นบุตรของนายควาย นางอุสา มีพี่น้องทั้งหมด 5 คน คือ

  1. นายไหว
  2. นางอ้วน
  3. นายอินท์เฟือน (ครูบาศรีวิชัย)
  4. นางแว่น
  5. นายทา

นายควาย บิดาของท่านได้ติดตามผู้เป็นตาคือ หมื่นปราบ (หมื่นผาบ) ซึ่งมีอาชีพเป็นหมอคล้องช้างของเจ้าดาราดิเรกรัตนไพโรจน์ เจ้าผู้ครองนครลำพูนองค์ที่ 7 (ช่วง พ.ศ. 2414-2431) มีเชื้อสายของกะเหรี่ยงแดง ไปตั้งครอบครัวบุกเบิกที่ทำกินอยู่ที่บ้านปาง บ้านเดิมของนายควายอยู่ที่บ้านสันป่ายางหลวง ทางด้านเหนือของตัวเมืองลำพูนนายอินท์เฟือน อาศัยอยู่ในหมู่บ้านกันดาร มีชนกลุ่มน้อยอาศัยอยู่มากโดยเฉพาะชาวกะเหรี่ยง ในช่วงนั้นบ้านปางยังไม่มีวัดประจำหมู่บ้าน จนกระทั่งเมื่อนายอินท์เฟือนมีอายุได้ 17 ปี ได้มีพระภิกษุรูปหนึ่งชื่อ "ครูบาขัตติยะ" หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า "ครูบาแข้งแคระ" (หมายถึง ขาพิการ เดินขากะเผลก) เดินธุดงค์จากบ้านป่าซางผ่านมาถึงหมู่บ้านนั้น ชาวบ้านจึงนิมนต์ให้ท่านอยู่ประจำที่บ้านปาง แล้วก็ช่วยกันสร้างกุฏิชั่วคราวให้ท่านจำพรรษา

เด็กชายอินท์เฟือน จึงได้ฝากตัวเป็นศิษย์ และเมื่ออายุได้ 18 ปี ก็ได้บรรพชาเป็นสามเณรที่อารามแห่งนี้ โดยมีครูบาสมณะ วัดบ้านโฮ่งหลวง เป็นพระอุปัชฌาย์ 3 ปีต่อมา ก่อนที่จะมาศึกษากับครูบาขัตติยะต่อ เมื่อ พ.ศ. 2442 ได้เข้าอุปสมบทในอุโบสถวัดบ้านโฮ่งหลวง อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน โดยมีครูบาสมณะ วัดบ้านโฮ่งหลวง เป็นพระอุปัชฌาย์ ครูบาปัญโญ วิชโย วัดหนองป่าตึง เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ส่วนพระอนุสาวนาจารย์ สันนิฐานว่าคือ ครูบาไชยา วัดบ้านโฮ่งหลวงได้รับนามฉายาในการอุปสมบทว่า "สีวิเชยฺย"[1] มีนามบัญญัติว่า พระศรีวิชัย

หลังอุปสมบท

เมื่ออุปสมบทแล้ว พระศรีวิชัย ได้กลับมาจำพรรษาที่อารามบ้านปาง 1 พรรษา จากนั้นได้ ครูบาสมณะได้พาไปศึกษากัมมัฏฐานและวิชาอาคมกับครูบาอุปละ วัดดอยแต อำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน ต่อมาได้ไปฝากตัวเป็นศิษย์ของครูบาโปธา (ครูบาสังฆราช) วัดทาดอยครั่ง และครูบาเมธา วัดทาดอยคำ และอีกท่านหนึ่งที่ถือว่าเป็นครูของครูบาศรีวิชัยคือ ครูบาสมณะ วัดบ้านโฮ่งหลวง ซึ่งเป็นพระอุปัชฌาย์ของท่าน

ครูบาศรีวิชัย ได้รับการศึกษาจากครูบาอุปละ วัดดอยแต เป็นเวลา 1 พรรษาก็กลับมาอยู่ที่อารามบ้านปางจนถึง พ.ศ. 2444 อายุได้ 24 ปี พรรษาที่ 4 ครูบาขัตติยะได้จาริกออกจากบ้านปางไป (บางท่านว่ามรณภาพ) ครูบาศรีวิชัย จึงรักษาการแทนในตำแหน่งเจ้าอาวาส และเมื่อครบพรรษาที่ 5 ได้เป็นเจ้าอาวาสวัดบ้านปาง จากนั้นก็ได้ย้ายวัดไปยังสถานที่ที่เห็นว่าเหมาะสม คือบริเวณเนินเขาซึ่งเป็นที่ตั้งวัดบ้านปางในปัจจุบัน เพราะเป็นที่วิเวกและสามารถปฏิบัติธรรมได้เป็นอย่างดี โดยได้ให้ชื่อวัดใหม่แห่งนี้ว่า วัดศรีดอนไชยทรายมูลบุญเรือง ภายหลังเปลี่ยนเป็น วัดจอมสะหรีทรายมูลบุญเรือง แต่ชาวบ้านทั่วไปยังนิยมเรียกว่า วัดบ้านปาง ตามชื่อของหมู่บ้าน

ครูบาศรีวิชัย เป็นผู้มีศีลาจารวัตรที่งดงามและเคร่งครัด ท่านเคยเจาะหูและสักขาตามธรรมเนียมชาวล้านนา ครองจีวรแบบกุมผ้ารัดอก มักถือลูกประคำ พัดใบตาล พัดขนหางนกยูง และไม้เท้า ท่านงดการเสพหมาก เมี่ยง บุหรี่ โดยสิ้นเชิง ท่านงดฉันเนื้อสัตว์ ตั้งแต่เมื่ออายุได้ 26 ปี และฉันอาหารเพียงมื้อเดียว ซึ่งมักเป็นผักต้มใส่เกลือกับพริกไทย บางครั้งก็ไม่ฉันข้าวทั้ง 5 เดือน นอกจากนี้ท่านยังงดฉันผักตามวันทั้ง 7 คือ

นอกจากนี้ผักที่ท่านจะไม่ฉันเลยคือ ผักบุ้ง ผักปลอด ผักเปลว ผักหมากขี้กา ผักจิกและผักเฮือด-ผักฮี้ (ใบไม้เลียบอ่อน) โดยท่านให้เหตุผลว่า ถ้าพระภิกษุสามเณรรูปใดงดได้ การบำเพ็ญกัมมัฏฐานจะเจริญก้าวหน้า ผิวพรรณจะเปล่งปลั่ง ธาตุทั้ง 4 จะเป็นปกติ ถ้าชาวบ้านงดเว้นแล้วจะทำให้การถือคาถาอาคมดีนัก

ใกล้เคียง

ครูบาศรีวิชัย ครูบาบุญชุ่ม ญาณสํวโร ครูบาอภิชัยขาวปี ครูบาคำหล้า สังวโร ครูบากัญจนอรัญญวาสีมหาเถร ครูบาน้อย เขมปัญโญ ครูสาวยากูซ่า ครูมานิตย์ สังข์พุ่ม ครูบ้านนอก ครูบ้านนอก บ้านหนองฮีใหญ่