ลักษณะและขอบเขตของความรุนแรงทางเพศ ของ ความรุนแรงทางเพศระหว่างการรุกรานยูเครนโดยรัสเซีย

ในรายงานที่ครอบคลุมช่วงแรกของการรุกรานยูเครนโดยรัสเซียตั้งแต่วันที่ 24 กุมภาพันธ์ ถึง 26 มีนาคม พ.ศ. 2565 สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (โอเอชซีเอชอาร์) ได้ระบุความเสี่ยง 4 ประเภทที่อาจนำไปสู่ความรุนแรงทางเพศ กล่าวคือ การปรากฏตัวและกิจกรรมทางทหารที่เพิ่มขึ้นในพื้นที่พลเรือน การทำลายบ้านเรือนและโครงสร้างพื้นฐาน การพลัดถิ่นภายในประเทศ และผู้หญิงและเด็กหญิงจำนวนมากที่เดินทางออกจากยูเครนได้ส่งผลให้เกิดความเสี่ยงสูงต่อความรุนแรงทางเพศและการค้ามนุษย์ที่เกี่ยวเนื่องกับความขัดแย้ง สำนักงานฯ ตั้งข้อสังเกตว่ายอดการแจ้งเหตุผ่านสายด่วนระดับชาติชี้ให้เห็นถึงความเสี่ยงสูงต่อความรุนแรงทางเพศ และระบุว่ามีปัจจัยหลายประการที่ส่งผลให้ยอดการแจ้งเหตุต่ำกว่าความเป็นจริง[5][6][7]

หลังจากที่แคว้นเคียฟได้รับการปลดปล่อยเมื่อปลายเดือนมีนาคม พ.ศ. 2565 และหลังจากที่มีรายงานการร่วมกันข่มขืนกระทำชำเรา การประทุษร้ายทางเพศโดยใช้ปืนขู่บังคับ และการข่มขืนกระทำชำเราต่อหน้าเด็ก เดอะการ์เดียน กล่าวว่าผู้หญิงยูเครนกำลังเผชิญกับภัยคุกคามจากการข่มขืนกระทำชำเราในฐานะอาวุธสงคราม[8] เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2565 สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติกล่าวว่าตนได้รับรายงานข้อกล่าวหาว่าด้วยความรุนแรงทางเพศที่เกี่ยวเนื่องกับความขัดแย้ง 108 ข้อกล่าวหา และได้พิสูจน์ยืนยันคดีต่าง ๆ ไปแล้ว 23 คดี[9] เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2565 สำนักงานฯ รายงานว่าได้จดบันทึกคดีความรุนแรงทางเพศที่เกี่ยวเนื่องกับความขัดแย้ง 86 คดี ซึ่งรวมถึงการข่มขืนกระทำชำเรา การร่วมกันข่มขืนกระทำชำเรา การบังคับให้เปลือยกาย และการบังคับให้เปลื้องผ้าในที่สาธารณะ โดยผู้ก่อคดีส่วนใหญ่คือสมาชิกกองทัพรัสเซียหรือเจ้าหน้าที่ตำรวจรัสเซีย[10] สำนักงานฯ ยังรายงานด้วยว่าหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายของยูเครนกำลังสืบสวนคดีความรุนแรงทางเพศ 43 คดี[10]

ความรุนแรงทางเพศในฐานะอาวุธสงคราม

องค์การว่าด้วยความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรป (โอเอสซีอี) ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2565 ประณามการใช้ความรุนแรงทางเพศเป็นอาวุธสงคราม เฮ็ลกา มารีอา ชมิท เลขาธิการองค์การฯ "เรียกร้องให้เร่งยุติการใช้การข่มขืนกระทำชำเราและอาชญากรรมทางเพศอื่น ๆ เป็นยุทธวิธีในการทำสงครามในยูเครน" องค์การฯ เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการสอบสวนอย่างต่อเนื่อง การดำเนินคดีเกี่ยวกับความรุนแรงทางเพศระหว่างสงคราม และเรียกร้องให้ประชาคมระหว่างประเทศให้ความช่วยเหลือแก่ผู้รอดชีวิตจากความรุนแรงทางเพศ[11] ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2565 องค์การฯ เข้าร่วมการรณรงค์ 16 วันแห่งการเคลื่อนไหวต่อต้านความรุนแรงบนพื้นฐานของเพศสภาพ และเรียกร้องให้ "ยุติการใช้การข่มขืนกระทำชำเรา ความรุนแรงทางเพศ และอาชญากรรมทางเพศอื่น ๆ เป็นยุทธวิธีในการทำสงครามในยูเครน"[12]

พรามิลา แพตเทิน ผู้แทนพิเศษของเลขาธิการใหญ่สหประชาชาติว่าด้วยความรุนแรงทางเพศในความขัดแย้ง กล่าวว่า "เมื่อผู้หญิงถูกคุมขังไว้หลายวันและถูกข่มขืน เมื่อผู้ชายทั้งเด็กและผู้ใหญ่เริ่มถูกข่มขืน เมื่อคุณเห็น [รายงาน] การตัดอวัยวะเพศอย่างต่อเนื่อง เมื่อคุณได้ยินผู้หญิงให้การเป็นพยานว่าทหารรัสเซียพกไวอากร้ามาด้วย นั่นแหละคือกลยุทธ์ทางทหารอย่างชัดเจน"[13][14][15] เธอยังระบุด้วยว่าคดีต่าง ๆ ที่ได้รับรายงานในปัจจุบันนั้นเป็นเพียง "ยอดภูเขาน้ำแข็ง"[16] อีรือนา แวแนดิกตอวา อัยการสูงสุดยูเครน ให้ความเห็นว่าการกระทำที่รุนแรงทางเพศได้รับการรายงานน้อยมากเนื่องจากความยากลำบากที่ผู้สืบสวนต้องเผชิญในพื้นที่ที่ถูกรัสเซียยึดครองและความหวาดกลัวและความอับอายที่ผู้รอดชีวิตต้องประสบ "การสอบสวนอาชญากรรมทางเพศในดินแดนที่ถูกยึดครองขณะที่เรายังอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งทางทหารนั้นเป็นเรื่องยากมาก" แวแนดิกตอวากล่าว "มันยากมาก เพราะที่จริงแล้วผู้เสียหายก็กลัว"[17][18]

ขอบเขตของความรุนแรงทางเพศ

ในพื้นที่ที่ได้รับการปลดปล่อยจากการยึดครองของรัสเซีย มีรายงานเหตุรุนแรงทางเพศต่อผู้หญิง ผู้ชาย และเด็กผุดขึ้นจำนวนมาก หลักฐานการร่วมก่อเหตุรุนแรงทางเพศเริ่มได้รับการเปิดเผยตั้งแต่ช่วงต้นของความขัดแย้ง[19][20][21] ข้อมูลเกี่ยวกับความรุนแรงทางเพศโดยทหารรัสเซียในพื้นที่ที่ถูกยึดครองสะสมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้อัยการสามารถเริ่มดำเนินคดีทางอาญาและให้ข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อการสอบสวนได้[22] สำนักงานอัยการสูงสุดยูเครนระบุว่าพวกเขากำลังจดบันทึกการกระทำรุนแรงทางเพศต่อพลเรือนในทุกพื้นที่ที่ทหารรัสเซียยึดครอง[23] หลักฐานต่าง ๆ แสดงให้เห็นว่านอกเหนือจากผู้หญิงแล้ว ยังมีการกระทำรุนแรงทางเพศต่อผู้ชายและเด็กด้วย[24][25]

สหประชาชาติ องค์การว่าด้วยความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรป และองค์การด้านมนุษยธรรมต่างยืนยันว่าทหารรัสเซียก่อความรุนแรงทางเพศอย่างกว้างขวางในยูเครน[26][27][28][29] สหประชาชาติรายงานเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2566 ว่าข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติได้จดบันทึกกรณีความรุนแรงทางเพศมากกว่า 90 กรณีในพื้นที่ที่ถูกรัสเซียยึดครอง[30]

เดอะนิวยอร์กไทมส์ รายงาน "หลักฐานที่แพร่หลายของความรุนแรงทางเพศโดยกองทัพรัสเซียซึ่งเจ้าหน้าที่สืบสวนของยูเครนและนานาชาติจดบันทึกไว้" อันนา ซอซอนสกา เจ้าหน้าที่สืบสวนในสำนักงานอัยการสูงสุดยูเครนกล่าวว่า "เรากำลังพบปัญหาความรุนแรงทางเพศนี้ในทุก ๆ ที่ที่รัสเซียยึดครอง ... ทุก ๆ ที่ ทั้งแคว้นเคียฟ แคว้นแชร์นีฮิว แคว้นคาร์กิว แคว้นดอแนตสก์ และที่แคว้นแคร์ซอนนี้ด้วย"[31] บีบีซีนิวส์รายงานหลักฐานเพิ่มเติมเกี่ยวกับความรุนแรงทางเพศที่แพร่หลายในแคว้นเคียฟขณะที่ถูกรัสเซียยึดครอง[32][33]

การดักฟังการสื่อสาร

นับตั้งแต่ที่รัสเซียเริ่มรุกรานยูเครน หน่วยความมั่นคงยูเครนได้ดักฟังและเผยแพร่คลิปเสียงการสนทนาในรูปแบบต่าง ๆ ของทหารและเจ้าหน้าที่รัสเซีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสนทนาทางโทรศัพท์ คลิปเสียงเหล่านี้หลายคลิปมีการแสดงความคิดเห็นที่เกี่ยวข้องกับการใช้ความรุนแรงทางเพศ

เมื่อวันที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2565 โทรอนโตซัน รายงานการสนทนาทางโทรศัพท์ที่ถูกดักฟัง ที่ซึ่ง "ภรรยาชาวรัสเซียคนหนึ่งตั้งกฎเหล็ก 2 ข้อหลังจากที่อนุญาตให้สามีทหารของเธอข่มขืนผู้หญิงระหว่างการรุกรานยูเครน" เธอบอกสามีว่า "ข่มขืนพวกมันเลย เออ ไม่ต้องเล่าอะไรทั้งนั้น เข้าใจนะ? ... เออ ฉันอนุญาต แค่ป้องกันก็พอ"[34]

เมื่อวันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2565 หน่วยความมั่นคงยูเครนเผยแพร่คลิปเสียงของทหารรัสเซียนายหนึ่งซึ่งเล่าให้คู่สนทนาฟังทางโทรศัพท์ว่า "คนท้องถิ่นเกลียดพวกเราหมด ทหารฝั่งเราไปข่มขืนผู้หญิงที่นี่"[35][36]

เมื่อวันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2566 อูกรายินสกาเปราดา เผยแพร่คลิปเสียงการสนทนาทางโทรศัพท์ที่ถูกดักฟัง ที่ซึ่งทหารรัสเซียนายหนึ่งเล่าประสบการณ์ความรุนแรงทางเพศของกองกำลังฝ่ายตนในยูเครนและขอบเขตอันกว้างขวางของความรุนแรงดังกล่าว:

"ตอนที่พวกเราทิ้งลือมัน พวกเราฆ่าแม่งหมดที่นั่น ... ไอ้พวกคะโคล [คำเรียกชาวยูเครนในเชิงดูหมิ่น] ... พวกเราข่มขืน แทงพวกแม่งที่นั่น ยิงพวกมัน ฆ่าพวกแม่งหมด ที่ลือมัน ที่ตอร์สแก พวกเราเดิน ๆ ไปยิงแม่งหมด ผู้ชายที่อายุน้อย ๆ พวกเราคุมตัวพวกมันไป ส่วนผู้หญิงสาว ๆ พวกนี้ โดนเย็ด โดนแทง โดนยิงทิ้ง"[37][38][39]

ความรุนแรงทางเพศระหว่างวิกฤตการณ์ผู้ลี้ภัย

มีกรณีอย่างน้อย 2 กรณีที่เกี่ยวข้องกับผู้หญิงและเด็กซึ่งมีรายงานว่าถูกฉวยโอกาสระหว่างที่พวกเธอพยายามหนีภัยสงครามในยูเครน ในช่วงกลางเดือนมีนาคม ชายคนหนึ่งถูกจับกุมในโปแลนด์ด้วยข้อหาข่มขืนกระทำชำเราผู้ลี้ภัยอายุ 19 ปีที่แสวงหาที่พักพิงและความช่วยเหลือจากเขา นอกจากนี้ยังมีรายงานว่าชาย 2 คนได้ทำร้ายวัยรุ่นชาวยูเครนคนหนึ่งซึ่งพักอยู่ในที่พักสำหรับผู้ลี้ภัยในเยอรมนี[40] ก่อนที่รัฐบาลสหราชอาณาจักรจะเปิดตัวแผนการเคหะสำหรับผู้ลี้ภัย หญิงคนหนึ่งรายงานเหตุการณ์ที่ซึ่งชายคนหนึ่งพยายามเกลี้ยกล่อมให้เธอไปอยู่กับเขา เขาเสนอที่อยู่อาศัย อาหาร ค่าใช้จ่าย และเบี้ยเลี้ยงรายเดือนฟรีเพื่อแลกกับการมีเพศสัมพันธ์ เธอพยายามปฏิเสธการรุกจีบของชายคนนั้นซึ่งหยุดรังควานเธอก็ต่อเมื่อเธอบอกเขาว่าเธอเดินทางมากับแม่[41]

เด็กและผู้สูงอายุ

สหประชาชาติพบว่าผู้เสียหายจากความรุนแรงทางเพศที่รัสเซียก่อขึ้นในยูเครนนั้นรวมถึงเด็กที่มีอายุเพียง 4 ปี และผู้ใหญ่ที่มีอายุมากกว่า 80 ปี[42]

ที่แคว้นเคียฟในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2565 ทหารรัสเซีย 2 นายบุกเข้าบ้านหลังหนึ่งและก่อเหตุล่วงละเมิดทางเพศต่อสมาชิกทุกคนในครอบครัวซึ่งได้แก่สามี ภรรยา และลูกสาวอายุ 4 ปี[43] หญิงอายุ 83 ปีคนหนึ่งถูกทหารรัสเซียนายหนึ่งข่มขืนกระทำชำเราในบ้านต่อหน้าต่อตาสามีพิการของเธอ และหญิงอายุ 56 ปีอีกคนหนึ่งถูกทหารรัสเซีย 2 นายรุมข่มขืนกระทำชำเราหลังจากบุกปล้นบ้าน ไม่กี่สัปดาห์ถัดมาเธอได้ทราบข่าวว่าทหารรัสเซียได้ทรมานและสังหารสามีของเธอ[43][44]

ในช่วงปลายเดือนกันยายน พ.ศ. 2565 คณะผู้สืบสวนจากคณะกรรมการสอบสวนอิสระระหว่างประเทศในยูเครน[45] ออกแถลงการณ์ที่ระบุว่าคณะกรรมการฯ "ได้จดบันทึกคดีที่ซึ่งเด็กถูกข่มขืนกระทำชำเรา ทรมาน และกักขังโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย" และเรียกพฤติการณ์เหล่านี้ว่าอาชญากรรมสงคราม รายงานเดียวกันนี้ยังกล่าวถึงเด็กที่ถูกสังหารและบาดเจ็บจากการโจมตีโดยไม่เลือกเป้าหมายของรัสเซีย ตลอดจนเด็กที่ถูกพรากจากครอบครัวและถูกลักพาตัวไปด้วย[46][44]

รายงานและแถลงการณ์

ตามข้อมูลในชุดข้อมูลความรุนแรงทางเพศระหว่างการขัดกันด้วยอาวุธ มีรายงานความรุนแรงทางเพศโดยกองกำลังรัสเซียในช่วง 3 ปีจาก 7 ปีของความขัดแย้งในภาคตะวันออกของยูเครนนับตั้งแต่ พ.ศ. 2557[47]

  • ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2565 ทางการยูเครนและองค์การสิทธิมนุษยชนต่าง ๆ รายงานว่ากองทัพรัสเซียใช้ความรุนแรงทางเพศขนานใหญ่เป็นเครื่องมือในการทำสงครามกับพลเรือน โดยมีเป้าหมายเพื่อทำลายขวัญกำลังใจของชาวยูเครนและเพื่อขัดขวางไม่ให้พวกเขาต่อต้าน[48] เมื่อวันที่ 3 เมษายน องค์การลาสตราดายูเครนซึ่งเปิดบริการสายด่วนเพื่อช่วยเหลือผู้รอดชีวิตจากการค้ามนุษย์ การประทุษร้ายทางเพศ และความรุนแรงในครอบครัว ระบุว่าเหตุข่มขืนกระทำชำเราได้รับการแจ้งเข้ามาน้อยมากและถูกตีตราทางสังคมในยามสงบ โดยคดีที่องค์การทราบอยู่แล้วอาจเป็นเพียง "ยอดภูเขาน้ำแข็ง" เท่านั้น[8]
  • เมื่อวันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2565 เมลินดา ซิมมอนส์ เอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักรประจำยูเครน กล่าวถึงการข่มขืนกระทำชำเราว่าเป็น "ส่วนหนึ่งของการทำสงครามที่ไม่มีผู้ใดยั่วยุของรัสเซีย ... แม้ว่าเราจะยังไม่ทราบขอบเขตของการข่มขืนกระทำชำเราทั้งหมดในยูเครน แต่ก็ชัดเจนแล้วว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของคลังอาวุธของรัสเซีย ... พวกเขาข่มขืนผู้หญิงต่อหน้าลูกของพวกเธอ ข่มขืนเด็กหญิงต่อหน้าสมาชิกครอบครัวของพวกเธอ เพื่อกดขี่ปราบปรามอย่างจงใจ"[49]
  • เมื่อวันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2565 เมลานี โจลี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศแคนาดา และลิซ ทรัสส์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศสหราชอาณาจักร ร่วมกันเขียนบทความคิดเห็นพิเศษที่ระบุว่าทหารรัสเซียกำลังใช้การข่มขืนกระทำชำเรา "เป็นอาวุธสงคราม" ในยูเครน[50] พวกเธออธิบายการข่มขืนกระทำชำเราในฐานะอาวุธสงครามว่าเป็น "อาวุธที่ใช้ในการควบคุมและแสดงอำนาจเหนือผู้หญิงอย่างเป็นระบบ ... เป็นภัยทำลายล้างในเหตุขัดแย้งเช่นเดียวกับอาวุธเคมีหรือกับระเบิดซึ่งเป็นสิ่งต้องห้ามตามอนุสัญญาระหว่างประเทศ แต่ยังไม่มีการถือปฏิบัติอย่างจริงจัง"[51][52]
  • ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2565 อีรือนา แวแนดิกตอวา อัยการสูงสุดยูเครน กล่าวว่าเธอแน่ใจว่ากองทัพรัสเซียใช้การข่มขืนกระทำชำเราเป็นกลยุทธ์ในการทำสงครามโดยไตร่ตรองไว้ก่อน[53]
  • เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2565 องค์การว่าด้วยความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรปออกแถลงการณ์ประณามความรุนแรงทางเพศในสงครามและเอ่ยถึงการใช้ความรุนแรงทางเพศเป็นอาวุธในการทำสงครามกับยูเครน โดยระบุไว้บางส่วนว่า "ในวันนี้ ในวันขจัดความรุนแรงทางเพศในความขัดแย้งสากล เฮ็ลกา มารีอา ชมิท เลขาธิการองค์การฯ ขอเรียกร้องให้เร่งยุติการใช้การข่มขืนกระทำชำเราและอาชญากรรมทางเพศอื่น ๆ เป็นยุทธวิธีในการทำสงครามในยูเครนและในที่อื่น ๆ ทั้งในภูมิภาคโอเอสซีอีและถัดออกไปจากนั้น"[54]
  • เมื่อวันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2565 รายงานของสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติระบุว่ายังไม่สามารถสรุปผลใด ๆ เกี่ยวกับขอบเขตความรุนแรงทางเพศที่เกี่ยวเนื่องกับความขัดแย้งในยูเครนได้ แต่ได้จดบันทึกคดีที่เกิดขึ้นกับผู้หญิง เด็กหญิง และผู้ชายไว้แล้ว[55] "หลายคดี" สำนักงานฯ ได้จดบันทึกคดีข่มขืนกระทำชำเรา 9 คดี คดีก่อความรุนแรงทางเพศเพื่อทรมาน 15 คดี และคดีบังคับบุคคลที่ถือว่าเป็น "ผู้ฝ่าฝืนกฎหมาย" ให้เปลื้องผ้าในที่สาธารณะ 11 คดี[55]
  • เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2565 เจมส์ เคลเวอร์ลี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหราชอาณาจักร กล่าวว่าทหารรัสเซียในยูเครนมีส่วนรับผิดชอบต่อ "การร่วมกันข่มขืนกระทำชำเรา"[57]
  • ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2566 ฮิวแมนไรตส์วอตช์ได้เผยแพร่ รายงานโลกประจำปี พ.ศ. 2566 ซึ่งเป็นรายงานสิทธิมนุษยชนฉบับที่ 33 และทบทวนเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นใน พ.ศ. 2565 ในส่วนของยูเครน รายงานฉบับนี้ระบุว่า "ในพื้นที่ที่รัสเซียยึดครอง กองกำลังรัสเซียหรือกองกำลังที่ฝักใฝ่รัสเซียได้ก่ออาชญากรรมสงครามอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งรวมถึงการทรมาน การประหารชีวิตอย่างรวบรัด ความรุนแรงทางเพศ และการบังคับบุคคลให้สูญหาย"[58]

ใกล้เคียง

ความรัก ความรุนแรงทางเพศระหว่างการรุกรานยูเครนโดยรัสเซีย ความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก ความรุนแรงต่อสตรีในประเทศไทย ความรู้สึกต่อต้านไทย ความรุนแรงต่อสตรี ความร้อน ความรู้สึกว่าตนเขื่อง ความรู้สึก ความรู้

แหล่งที่มา

WikiPedia: ความรุนแรงทางเพศระหว่างการรุกรานยูเครนโดยรัสเซีย https://www.hrw.org/news/2022/04/03/ukraine-appare... https://archive.today/20220403134007/https://www.h... https://www.ohchr.org/sites/default/files/2022-03/... https://web.archive.org/web/20220401192931/https:/... https://www.osce.org/ukraine/54833 https://web.archive.org/web/20200219113006/https:/... https://www.lastradainternational.org/la-strada-uk... https://web.archive.org/web/20220411193602/https:/... https://www.ohchr.org/en/documents/country-reports... https://web.archive.org/web/20220702112851/https:/...