รัฐธรรมนูญแผ่นดินของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ของ ความเคลื่อนไหวสู่การปฏิวัติสยาม

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

คำว่ารัฐธรรมนูญตรงกับคำภาษาอังกฤษว่า "Constitution" ได้มีการบัญญัติขึ้นภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ผู้ที่บัญญัติศัพท์คำนี้คือ พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ มีความหมายว่า "กฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ" ซึ่งกำหนดรูปแบบและหลักการปกครอง ตลอดจนวิธีการดำเนินการปกครองไว้อย่างเป็นระเบียบ รวมทั้งกำหนดหน้าที่ของประชาชนที่พึงกระทำต่อรัฐกับรับรองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนซึ่งรัฐจะละเมิดมิได้ไว้อีกด้วย

ได้มีผู้สงสัยว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้เป็นพระมหากษัตริย์ที่มีพระปรีชาสามารถ ทรงปรับปรุงการบริหารราชการแผ่นดินให้เป็นแบบอารยประเทศ จะไม่มีกระแสพระราชดำริเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ หรือคำกราบบังคมทูลของกลุ่มบุคคลใน ร.ศ. 103 ไม่บังเกิดผลแต่อย่างไร ต่อมานายปรีดา ศรีชลาลัย ได้เล่าเรื่องการค้นพบ “ร่างรัฐธรรมนูญแผ่นดินของสมเด็จพระปิยมหาราช” ว่า

บังเอิญงานค้นคว้าทางประวัติศาสตร์เป็นผลให้ข้าพเจ้าได้พบสำเนา

ร่างรัฐธรรมนูญ ครั้งรัชกาลที่ 5 ในร่างนั้นมีระบุถึงประธานาธิบดีแต่ไม่ใช่

ประธานาธิบดีแห่งมหาชนรัฐ ข้อความบ่งให้ทราบว่าได้ร่างขึ้นก่อน ร.ศ 112

(คือก่อน พ.ศ. 2436) แต่ไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ร่าง ครั้นต่อมาได้พบสำเนาจดหมาย

ของท่านเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี กราบบังคมทูลพระกรุณาท้าวความถึงสมเด็จ

กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ...สมเด็จกรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ ได้ทรงทราบ

จดหมายของท่านเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีตลอดแล้ว จึงลงลายพระหัตถ์เป็น

การชี้แจงตอบ... ล้วนแต่เกี่ยวกับการเมืองอย่างสำคัญ ๆ ในระหว่างนั้นและ

โดยเฉพาะราชการของที่ประชุมร่างกฎหมายและกฎข้อบ้งคับ ประสบอุปสรรค

ต่าง ๆ เพราะเหตุไร ในส่วนพระองค์ท่าน...ทำการร่างกฎหมายสำคัญไปแล้วมีอะไร

บ้าง เช่น (1) ราชประเพณี (ได้แก่ที่เรียกในปัจจุบันนี้ว่า รัฐธรรมนูญ) (2) พระราช

กฤษฎีกาสำหรับที่ชุมนุมทั้งปวงปรึกษากันในสภา ฯลฯ เป็นอันทราบได้จากสำเนา

ลายพระหัตถ์ดังกล่าวมานี้ว่า ร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งในเวลานั้นเรียกว่าราชประเพณี

สมเด็จกรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการทรงร่างเสร็จ ก่อนวันที่ 9 สิงหาคม

พ.ศ. 2432 (คือเมื่อก่อน 60 ปีมานี้ หรือก่อนสิ้นรัชกาลที่ 5 เป็นเวลา 20 ปีเต็ม)

“ราชประเพณี” ที่กล่าวถึง ชื่อว่า “ร่างพระราชกฤษฎีกาที่ 1 ว่าด้วยราชประเพณีกรุงสยาม” เป็นร่างกฎหมาย 20 มาตรา กำหนดพระบรมเดชานุภาพ ราชสดมภ์คือ (1) รัฐมนตรีสภาหรือลูกขุน ณ ศาลหลวง คือผู้ซึ่งทรงเลือกสรรให้คิดร่างกฎหมาย และคอยระวังไม่ให้เสนาบดีสภาทำผิดพระราชกำหนดกฎหมาย (2) องคมนตรีสภา เป็นผู้ทรงเลือกสรรไว้ต่างพระเนตรพระกรรณ (3) เสนาบดีสภา หรือลูกขุน ณ ศาลา เป็นผู้ซึ่งทรงเลือกสรรไว้ทำนุบำรุงแผ่นดินตามพระบรมราโชบายและตามพระราชกำหนดกฎหมาย ในราชประเพณียังกล่าวถึงการสืบสันตติวงศ์ ผู้รั้งราชการ การประชุม คำวินิจฉัยตกลงเป็นมาตราสุดท้าย

ร่างรัฐธรรมนูญในรัชกาลที่ 5 มีความสำคัญที่จะได้เปรียบเทียบว่า ความมุ่งหมายของคนในสมัยนั้นกับความมุ่งหมายของคนในปัจจุบัน แตกต่างกันอย่างไร ส่วนไหนเป็นประโยชน์และความต้องการของฝ่ายปกครอง และส่วนไหนราษฎรจะได้ผลดีบ้าง ร่างรัฐธรรมนูญในรัชกาลที่ 5 ไม่ได้ปรากฏว่านำมาใช้แต่อยางไรบทความเกี่ยวกับอุดมการณ์ประชาธิปไตยของเทียนวรรณ เทียนวรรณ หรือ ต.ว.ส วัณณาโภ เกิดใน พ.ศ. 2358 หลังจากสึกจากสมณเพศใน พ.ศ. 2411 ได้ลงเรือไปกับฝรั่งท่องเที่ยวในเอเชียและหมู่เกาะแปซิฟิกเป็นเวลาหลายปี เทียนวรรณเคยถวายหนังสือที่เขาพิมพ์ขึ้นพร้อมกับขอรับราชการเมื่อ ร.ศ. 121 (พ.ศ. 2445) เทียนวรรณเป็นที่ปรึกษาของหนังสือพิมพ์สยามออฟเซอรเวอร์ ต่อมาได้ออกหนังสือรายปักษ์ชื่อ ตุลวิภาคพจนกิจ ได้ล้มเลิกเมือ พ.ศ. 2449 แล้วออกหนังสือเล่มใหม่ชื่อ ศิริพจนภาค เป็นรายเดือนในปี พ.ศ. 2451 เทียนวรรณตกลงใจเขียนสิ่งที่ตนคิดออกเผยแพร่ วิจารณ์สภาพการณ์ที่เขาเห็นว่าควรมีการแก้ไข เปลี่ยนแปลงด้วยความรักชาติ ด้วยความบริสุทธิ์ใจ

เรื่องที่เทียนวรรณวิจารณ์รุนแรงที่สุด จนเป็นเหตุให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ต้องทรงโต้ตอบก็คือ เรื่องว่าด้วยกำลังใหญ่ 3 ประการของบ้านเมือง กล่าวคือต้องมีปัญญาและมีความรู้มาทั่วกัน ทั้งเจ้านาย ขุนนาง และราษฎร มีโภคทรัพย์สมบัติมาก และบ่อเกิดของทรัพย์เกิดจากปัญญาและวิชาความเพียรของรัฐบาลและราษฎร มีทหารและพลเมืองมากและกล่าวว่า ชาวยุโรปได้เอาใจใส่ปกครองชาติ ราษฏรมีโอกาสอันดีด้วยความสามัคคีเป็นใหญ่ พูดถึงญี่ปุ่นใช้เวลา 60 ปี ก็เจริญโดยเร็วทั้งมีความรู้ยิ่ง ประเทศอังกฤษยอมให้คนบังคับอังกฤษรับอำนาจวินิจฉัยของศาลญี่ปุ่นตามแต่ญี่ปุ่นจะพิพากษา

ในเรื่องเกี่ยวกับประชาธิปไตย เทียนวรรณเสนอความคิดในข้อเขียนเรื่อง “ว่าด้วยความฝันละเมอแต่มิใช่นอนหลับ” ในข้อที่ 28 กล่าวไว้ว่า

จะตั้งปาลิเมนต์ อนุญาตให้มีหัวหน้าราษฎรมาพูดธุระชี้แจงของตนแก่

รัฐบาลได้ ในข้อที่มีคุณและมีโทษทางความเจริญและไม่เจริญนั้น ๆ ได้

ตามเวลาที่กำหนดอนุญาตไว้

ในความฝันที่เราฝันมานี้ ในชั้นต้นจะโหวตเลือกผู้มีสติปัญญาเป็น

ชั้นแรกคราวแรกที่เริ่มจัด ให้ประจำการในกระทรวงทุกอย่างไปก่อน

กว่าจะได้ดำเนินให้เป็นปรกติเรียบร้อยได้

ต่อมาเทียนวรรณได้เขียนกลอนให้เห็นว่า ราษฎรจำเป็นต้องมีผู้แทน มีรัฐสภา ซึ่งเทียนวรรณใช้คำทับศัพท์ว่า ปาลิเมนต์

ไพร่เป็นพื้นยืนร้องทำนองชอบตามระบอบปาลิเมนต์ประเด็นขำ
แม้นนิ่งช้าล้าหลังยังมิทำจะตกต่ำน้อยหน้าเวลาสาย
ขอให้เป็นเช่นเราผู้เฒ่าทกบำรุงรักษาชาติสะอาดศรี
ทั้งเจ้านายฝ่ายพหลและมนตรีจะเป็นศิวิไลซ์จริงอย่านิ่งนาน
ให้รีบหาปาลิเมนต์ขึ้นเป็นหลักจะได้ชักน้อมใจไพร่สมาน
เร่งเป็นฟรีปรีดาอย่าช้ากาล รักษาบ้านเมืองเราช่วยเจ้านาย

จะเห็นว่าข้อเสนอของเทียนวรรณ ก้าวหน้าไปกว่าคำกราบบังคมทูลของกลุ่มเจ้านาย และข้าราชการใน ร.ศ. 103 เพราะได้เรียกร้องให้มีรัฐสภาซึ่งมาจากราษฎร

การเรียกร้องให้มีการปกครองแบบรัฐสภา ทำให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชนิพนธ์เรื่อง “พระบรมราชาธิบายว่าด้วยความสามัคคีแก้ความในคาถาที่มีโนอามแผ่นดิน” ด้วยมีพระราชประสงค์ที่จะอธิบายแนวความคิดอันเป็นพื้นฐานของพระราโชบายของพระองค์เกี่ยวกับการปรับปรุงการปกครองบ้านเมือง ทั้งเป็นการชี้แจงด้วยว่าเหตุใดพระองค์จึงยังไม่ทรงจัดการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองของไทยให้เป็นไปตามแบบฉบับของประเทศในยุโรปโดยทันทีเช่น

เพราะฉะนั้นจะป่วยการกล่าวไปถึงความคิดที่จะตั้งปาลิเมนต์

ขึ้นในหมู่คนซึ่งไม่มีความรู้พอที่จะคิดราชการ และไม่เป็นความต้องการ

ของคนทั้งปวง นอกจากที่อยากจะเอาอย่างประเทศยุโรปเพียงสี่ห้าคน

เท่านั้น … ถ้าจะจัดตั้งปาลิเมนต์ หรือให้เกิดมีโปลิติกัลปาตีขึ้นใน

เวลาที่บ้านเมืองยังไม่ต้องการดังนี้ ก็จะมีแต่ข้อทุ่มเถียงกันจนการอันใด

ไม่สำเร็จไปได้ เป็นเครื่องถ่วงให้บ้านเมืองมีความเจริญช้า… ส่วน

เมืองเราราษฎรไม่มีความปรารถนาอยากจะเปลี่ยนแปลงอันใด …

การที่อยากเปลี่ยนแปลงนั้นกลับเป็นของผู้ปกครองบ้านเมืองอยาก

เปลี่ยนแปลง… ถ้าจะตั้งปาลิเมนต์ขึ้นในเมืองไทย เอาความคิดราษฎร

เป็นประมาณในเวลานี้แล้ว ข้าพเจ้าเชื่อว่าจะไม่ได้จัดการอันใดได้

สักสิ่งหนึ่งเป็นแน่แท้ที่เดียว คงจะเถียงกันป่นปี้ไปเท่านั้น

จากพระบรมราชธิบายของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของพระองค์ว่า ประเทศไทยยังไม่พร้อมที่จะมีการปกครองตามระบอบรัฐสภา พระองค์จึงไม่ทรงเปลี่ยนแปลงการปกครองให้มีรัฐสภาและมีรัฐธรรมนูญ แต่พระองค์ก็ทรงยอมรับว่า การปกครองของประเทศจะต้องเปลี่ยนไปในทางที่จะมีรัฐสภาและรัฐธรรมนูญในภายหน้า ถึงกับมีพระราชดำรัสในที่ประชุมเสนาบดีว่า "ฉันจะให้ลูกวชิราวุธมอบของขวัญให้แก่พลเมืองไทยทันทีที่ขึ้นสู่ราชบัลลังก์กล่าวคือ ฉันจะให้เขามีปาลิเมนต์และคอนสติติวชั่น"

ใกล้เคียง

ความเสียวสุดยอดทางเพศ ความเจ็บปวด ความเหนือกว่าเทียม ความเท่าเทียมทางเพศ ความเอนเอียงเพื่อยืนยัน ความเอนเอียงโดยการมองในแง่ดี ความเครียด (จิตวิทยา) ความเอนเอียงรับใช้ตนเอง ความเสี่ยงมหันตภัยทั่วโลก ความเป็นมาของตัวละครในเพชรพระอุมา