ความคิดและความเคลื่อนไหวเพื่อการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย ของ ความเคลื่อนไหวสู่การปฏิวัติสยาม

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ความคิดและความเคลื่อนไหวเพื่อการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย มีมาจากประชาชนในยุโรป และสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 23 การปกครองของอังกฤษซึ่งค่อย ๆ ดำเนินไปสู่ระบบรัฐสภาแห่งเสรีประชาธิปไตย โดยไม่ต้องมีการปฏิวัติเสียเลือดเนื้อ การเรียกร้องสิทธิในการปกครองตนเองของสหรัฐอเมริกาจากอังกฤษใน พ.ศ. 2319 (ค.ศ. 1776) และการปฏิวัติฝรั่งเศสใน พ.ศ. 2332 (ค.ศ. 1789) หลังจากนั้นความคิดแบบประชาธิปไตยก็แพร่ขยายไปยังประเทศต่าง ๆ ประเทศไทยก็ได้รับแนวความคิดเรื่องการปกครองประเทศระบอบประชาธิปไตย ด้วยการติดต่อกับประเทศในยุโรปและสหรัฐอเมริกา

การติดต่อกับต่างประเทศในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เริ่มตั้งแต่มีพระราชไมตรีทางการค้ากับประเทศอังกฤษ เมื่อ พ.ศ. 2367 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่อมาพวกมิชชันนารีจากสหรัฐอเมริกาเข้ามาเผยแพร่คริสต์ศาสนาในประเทศไทย คนไทยเริ่มศึกษาภาษาอังกฤษ ศึกษาวิทยาการต่าง ๆ โดยเฉพาะพระภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฎ กลุ่มพระบรมวงศานุวงศ์ และกลุ่มข้าราชการก็ศึกษาวิชาการต่าง ๆ ด้วย ดังนั้นสังคมไทยบางกลุ่มจึงได้มีค่านิยมโลกทัศน์ตามวิทยาการตะวันตก

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชย์ใน พ.ศ. 2394 นั้นพระองค์ทรงตระหนักว่าถึงเวลาที่ประเทศไทยจะต้องยอมเปิดสันติภาพกับประเทศตะวันตกในลักษณะใหม่ และปรับปรุงบ้านเมืองให้ก้าวหน้าเยี่ยงอารยประเทศ ทั้งนี้เพราะเพื่อนบ้านกำลังถูกคุกคามด้วยลัทธิจักรวรรดินิยม จึงทรงเปลี่ยนนโยบายต่างประเทศของไทยมาเป็นการยอมทำสนธิสัญญาตามเงื่อนไขของประเทศตะวันตก และพยายามรักษาไมตรีนั้นไว้เพื่อความอยู่รอดของประเทศ

ต่อมา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชประสงค์อย่างแรงกล้าที่จะปฏิรูปประเทศไทยให้เจริญทัดเทียมกับประเทศตะวันตก ปัจจัยที่จะนำไปสู่จุดหมายได้คือ คน เงิน และการบริหารที่ดี มีพระราชดำริว่า หนทางแห่งความก้าวหน้าของชาติจะมีมาได้ก็ต้องอาศัยการศึกษาเป็นปัจจัย จึงทรงตั้งพระราชหฤทัยเด็ดเดี่ยวว่า เยาวชนรุ่นใหม่ทั้งของราชวงศ์และบุตรขุนนางจะต้องได้รับการศึกษาอย่างดีกว่ารุ่นพระองค์เอง ในระยะแรกอิทธิพลของประเทศตะวันตกที่มีต่อประเทศไทยคือ ประเทศอังกฤษ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดให้พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ หม่อมเจ้าเจ๊ก นพวงศ์ กับพระยาชัยสุรินทร์ (หม่อมราชวงศ์เทวหนึ่ง สิริวงศ์) ไปเรียนที่ประเทศอังกฤษเป็นพวกแรก นับว่าเป็นครั้งแรกที่ทรงส่งนักเรียนหลวงไปเรียนถึงยุโรป ต่อมาก็ส่งพระราชโอรสและนักศึกษาไปศึกษาวิชาทหารที่ประเทศเยอรมนี ประเทศฝรั่งเศส ประเทศเดนมาร์ก และประเทศรัสเชีย ก่อนหน้านั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงคัดเลือกหม่อมเจ้า 14 คน ไปเรียนหนังสือที่สิงคโปร์ 2 ปี ระหว่าง พ.ศ. 2413 - พ.ศ. 2415 ในโอกาสที่พระองค์เสด็จพระราชดำเนินไปสิงคโปร์ในปี พ.ศ. 2413 นั่นเป็นการเตรียมคนที่จะเข้ามาช่วยแบ่งเบาพระราชภาระในการปรับปรุงประเทศ การเตรียมปัจจัยการเงินเป็นการเตรียมพร้อมประการหนึ่ง ถ้าขาดเงินจะดำเนินกิจการใดให้สำเร็จสมความมุ่งหมายคงจะเป็นไปได้ยาก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นว่า การจัดการเงินแบบเก่ามีทางรั่วไหลมาก พวกเจ้าภาษีนายอากรไม่ส่งเงินเข้าพระคลังครบถ้วนตามจำนวนที่ประมูลได้ พระองค์จึงทรงจัดการเรื่องการเงินของแผ่นดินหรือการคลังทันทีที่พระองค์ทรงบรรลุนิติภาวะ มีอำนาจในการปกครองแผ่นดินเต็มที่ เริ่มด้วยให้ตราพระราชบัญญัติตั้งหอรัษฎากรพิพัฒน์ จ.ศ. 1235 (พ.ศ. 2416) มีพระราชบัญญัติกรมพระคลังมหาสมบัติในปี จ.ศ. 1237 (พ.ศ. 2418) เพื่อจะได้ใช้จ่ายทุนบำรุงประเทศ ต่อมาทรงให้จัดทำงบประมาณจัดสรรเงินให้แต่กระทรวงต่าง ๆ เป็นสัดส่วน

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังไม่ทรงทันได้ปรับปรุงการปกครองประเทศให้เป็นไปตามที่พระองค์ทรงตั้งพระราชหฤทัยไว้ ก็มีกลุ่มเจ้านายและข้าราชการทำหนังสือกราบบังคมทูลความเห็นจัดการเปลี่ยนแปลงการปกครองราชการแผ่นดินเมื่อ ร.ศ. 103 (พ.ศ. 2427) ทั้งนี้อาจจะวิเคราะห์ได้ว่า ที่พระองค์ยังไม่ทรงปรับปรุงงบการบริหารประเทศก่อน พ.ศ. 2428 เพราะมีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้น คือ วิกฤติการณ์วังหน้า เมื่อ พ.ศ. 2417 การที่ทรงตั้งหอรัษฎากรพิพัฒน์ให้รวมเงินมาอยู่ที่เดียวกัน กระทบกระเทือนต่อเจ้านาย และข้าราชการ โดยเฉพาะกรมพระราชวังบวรสถานมงคล กรมหมื่นไชยชาญ วิกฤติการณ์วังหน้าเป็นเรื่องของความขัดแย้งระหว่างวังหลวงกับวังหน้า แสดงถึงปฏิกิริยาโต้ตอบ การริเริ่มดึงอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางคือสถาบันกษัตริย์ เห็นได้ชัดเจน ว่าเมื่อกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญทิวงคตในปี พ.ศ. 2428 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงปรับปรุงการบริหารการปกครองส่วนกลางเป็น 12 กรม (ต่อมาเรียกว่า กระทรวง) ในปี พ.ศ. 2432

ความต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศไทยให้เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย ได้เริ่มมีมาแต่ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และมีความเคลื่อนไหวมาตลอดจนถึงวันที่เปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 แนวความคิดและความเคลื่อนไหวต่าง ๆ ได้แก่

  1. การเรียกร้องต้องการรัฐธรรมนูญ ของกลุ่มเจ้านายและข้าราชการใน ร.ศ. 103
  2. ร่างรัฐธรรมนูญ แผ่นดินของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
  3. บทความเกี่ยวกับอุดมการณ์ประชาธิปไตยของเทียนวรรณ
  4. ความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงการปกครองของกลุ่มกบฏ ร.ศ. 130
  5. แนวพระราชดำริและการเตรียมการเรื่องระบอบประชาธิปไตยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

ใกล้เคียง

ความเสียวสุดยอดทางเพศ ความเจ็บปวด ความเหนือกว่าเทียม ความเท่าเทียมทางเพศ ความเอนเอียงเพื่อยืนยัน ความเอนเอียงโดยการมองในแง่ดี ความเครียด (จิตวิทยา) ความเอนเอียงรับใช้ตนเอง ความเสี่ยงมหันตภัยทั่วโลก ความเป็นมาของตัวละครในเพชรพระอุมา