คางทูม
คางทูม

คางทูม

คางทูม (อังกฤษ: mumps) เป็นโรคติดเชื้อไวรัสชนิดหนึ่งที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสคางทูม[2] อาการแรกเริ่มของผู้ป่วยได้แก่มีไข้ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ เบื่ออาหาร และรู้สึกอ่อนเพลีย[1][6] จากนั้นจึงมีต่อมน้ำลายพาโรทิดบวมโตและเจ็บ อาจโตข้างเดียวหรือทั้งสองข้าง[4][6] อาการเหล่านี้มักเริ่มเป็นหลังจากได้รับเชื้อมาแล้ว 16-18 วัน[1][2] และเมื่อเป็นแล้วมักหายได้เองในเวลา 7-10 วัน[1][2] ผู้ป่วยวัยผู้ใหญ่มักมีอาการรุนแรงกว่าผู้ป่วยวัยเด็ก[1] คนที่รับเชื้อนี้ประมาณหนึ่งในสามจะมีอาการเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีอาการเลย[1] ภาวะแทรกซ้อนที่อาจพบได้ ได้แก่ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ (15%) ตับอ่อนอักเสบ (4%) กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ สูญเสียการได้ยิน และอัณฑะอักเสบ ซึ่งอาจทำให้เป็นหมันได้ แต่พบได้น้อย[1][6] ผู้ป่วยเพศหญิงอาจมีการอักเสบของรังไข่ แต่จะไม่ทำให้เป็นหมัน[4]คางทูมเป็นโรคติดต่อที่ติดต่อได้ง่ายและรวดเร็วในกลุ่มคนที่อยู่ใกล้ชิด[7] โดยจะติดต่อผ่านทางฝอยละอองจากสารคัดหลั่งทางเดินหายใจหรือการสัมผัสโดยตรงกับผู้ป่วย[2] โรคนี้ติดต่อได้กับมนุษย์เท่านั้น[1] ผู้ป่วยที่ติดเชื้อสามารถแพร่เชื้อได้ 7 วันก่อน และ 8 วันหลังเริ่มมีอาการต่อมน้ำลายบวม[8] คนที่หายจากโรคนี้แล้วมักมีภูมิคุ้มกันไปตลอดชีวิต[1] การติดเชื้อซ้ำนั้นพบได้บ้างแต่ผู้ป่วยก็มักจะมีอาการเพียงเล็กน้อย[9] การวินิจฉัยส่วนใหญ่อาศัยจากการตรวจพบต่อมน้ำลายพาโรทิดบวม การตรวจยืนยันทำได้โดยการตรวจหาเชื้อไวรัสจากการป้ายสารคัดหลั่งจากรูเปิดของต่อมน้ำลายพาโรทิด[2] การตรวจหาสารแอนติบอดีชนิดไอจีเอ็มในเลือดเป็นการตรวจที่ทำได้ง่ายกว่าแต่อาจให้ผลลบลวงได้โดยเฉพาะในกรณีที่ผู้ป่วยเป็นคนที่เคยได้รับวัคซีนมาก่อน[2]การป้องกันทำได้โดยรับวัคซีนโรคคางทูมรวมสองครั้ง[1] ประเทศพัฒนาแล้วส่วนใหญ่มีวัคซีนนี้ให้บริการเป็นวัคซีนมาตรฐานในโครงการระดับชาติ ส่วนใหญ่จะให้ร่วมกันกับวัคซีนป้องกันโรคหัดเยอรมัน และวัคซีนโรคหัด เป็นวัคซีนรวมสามโรค และอาจให้ร่วมกันกับวัคซีนโรคอีสุกอีใสอีก เป็นวัคซีนรวมสี่โรค[1] ประเทศที่มีอัตราการรับวัคซีนต่ำอาจมีรายงานผู้ป่วยในกลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งกลุ่มนี้หากเป็นโรคแล้วอาจมีผลการรักษาที่ออกมาไม่ดีได้[4] โรคนี้ยังไม่มีการรักษาจำเพาะ[1] การรักษาหลัก ๆ คือการรักษาเพื่อบรรเทาอาการ ได้แก่ ใช้ยาแก้ปวดลดไข้เช่นพาราเซตามอล[4] ในบางรายที่มีภาวะแทรกซ้อนรุนแรงอาจได้ประโยชน์จากการรักษาด้วยอิมมูโนกลอบูลิน[4] รายที่มีภาวะแทรกซ้อนเป็นเยื่อหุ้มสมองอักเสบหรือตับอ่อนอักเสบอาจจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาแบบผู้ป่วยใน[7][9] อัตราการเสียชีวิตจากโรคนี้อยู่ที่ประมาณ 1 ใน 10,000 ของผู้ป่วย[1]ในแต่ละปีหากไม่มีการให้วัคซีนจะมีผู้ป่วยโรคนี้ประมาณ 0.1-1% ของประชากร[1] ก่อนที่จะมีการใช้วัคซีนอย่างกว้างขวางโรคนี้เป็นโรคที่พบได้บ่อยมากในผู้ป่วยเด็กทั่วโลก[1] การให้วัคซีนอย่างทั่วถึงทำให้จำนวนผู้ป่วยโรคนี้ลดลงกว่า 90%[1] โรคคางทูมพบได้บ่อยกว่าในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งอัตราการรับวัคซีนยังต่ำอยู่[5] อย่างไรก็ดียังมีการระบาดเป็นครั้ง ๆ แม้ในกลุ่มประชากรที่รับวัคซีนแล้ว[4] ซึ่งจะมีการระบาดขนาดใหญ่เกิดขึ้นประมาณทุก ๆ 2-5 ปี[1] โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่จะเป็นเด็กอายุ 5-9 ปี[1] หากพิจารณาเฉพาะกลุ่มที่เคยได้รับวัคซีนแล้วผู้ป่วยส่วนใหญ่จะเป็นคนอายุ 20 ปีต้น ๆ[4] ในประเทศแถบเส้นศูนย์สูตรจะพบโรคนี้ได้ตลอดปี ส่วนประเทศนอกเขตนี้มักพบได้ในช่วงฤดูหนาวและฤดูใบไม้ผลิ[1] มีการกล่าวถึงอาการต่อมน้ำลายพาโรทิดและอัณฑะบวมเจ็บไว้ตั้งแต่ 500 ปีก่อนคริสตกาล โดยแพทย์กรีกชื่อฮิปโปเครตีส[2][10]

คางทูม

อาการ ไข้, ปวดกล้ามเนื้อ, ปวดศีรษะ, อ่อนเพลีย, ต่อมน้ำลายพาโรทิดอักเสบ[1]
สาขาวิชา โรคติดเชื้อ
ระยะดำเนินโรค 7–10 วัน[1][2]
สาเหตุ ไวรัสโรคคางทูม[2]
ความชุก พบได้บ่อยกว่าในประเทศกำลังพัฒนา[5]
วิธีวินิจฉัย การเพาะเชื้อไวรัส, การตรวจแอนติบอดีในเลือด[2]
ภาวะแทรกซ้อน เยื่อหุ้มสมองอักเสบ, ตับอ่อนอักเสบ, สูญเสียการได้ยิน, เป็นหมัน (เพศชาย)[1]
ยา ยาแก้ปวด, การรักษาด้วยอิมมูโนกลอบูลิน[4]
การรักษา การรักษาประคับประคอง[3]
ชื่ออื่น Epidemic parotitis
การตั้งต้น ~17 วันหลังได้รับเชื้อ[1][2]
พยากรณ์โรค อัตราเสียชีวิตประมาณ 1 ใน 10,000[1]
การป้องกัน วัคซีนโรคคางทูม[1]