วัคซีนโรคหัด

วัคซีนโรคหัด เป็นวัคซีนที่มีประสิทธิภาพมากในการป้องกันโรคหัด[1] การสร้างภูมิคุ้มกันหลังจากได้รับวัคซีนหนึ่งเข็มของเด็กอายุเก้าเดือนคือ 85% และของเด็กอายุมากกว่าสิบสองเดือนคือ 95%[2] คนเกือบทั้งหมดที่ไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้หลังจากได้รับวัคซีนเข็มแรก ก็มักจะสร้างภูมิคุ้มกันได้หลังจากได้รับวัคซีนเข็มที่สอง เมื่อกลุ่มประชากรมีอัตราของผู้ที่ได้รับวัคซีนจำนวนมากกว่า 93% การแพร่ระบาดของโรคหัดก็มักจะไม่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตามการแพร่ระบาดของโรคอาจเกิดขึ้นได้อีกเมื่ออัตราการได้รับวัคซีนมีจำนวนลดลง ประสิทธิภาพของวัคซีนนี้จะคงอยู่เป็นเวลานานหลายปี แต่ทั้งนี้ไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนว่าประสิทธิภาพของวัคซีนนี้จะลดลงเมื่อเวลาผ่านไปมากน้อยเพียงใด นอกจากนั้นแล้วเมื่อให้วัคซีนนี้หลังจากการติดเชื้อเพียงไม่กี่วันวัคซีนนี้ก็ยังสามารถหยุดยั้งโรคนี้ได้ด้วย[1]โดยทั่วไปการใช้กับกลุ่มผู้ติดเชื้อเอชไอวีนั้นมีความปลอดภัย และผลข้างเคียงของวัคซีนนี้พบเพียงเล็กน้อยและเกิดขึ้นเพียงระยะสั้นๆ ซึ่งอาจได้แก่ความเจ็บปวดที่ตำแหน่งการฉีดวัคซีนหรือมีไข้เล็กน้อย ทั้งนี้มีบันทึกของการเกิดภาวะแอนาฟิแล็กซิสที่ประมาณหนึ่งรายในหนึ่งแสนราย และดูเหมือนว่ากลุ่มอาการกิลแลง-บาร์เร, โรคออทิซึม และโรคลำไส้อักเสบนั้นไม่มีอัตราเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด[1]วัคซีนนี้มีทั้งแบบวัคซีนเดี่ยวและแบบผสมร่วมกับวัคซีนตัวอื่น ซึ่งได้แก่ วัคซีนโรคหัดเยอรมัน วัคซีนโรคคางทูม และวัคซีนโรคอีสุกอีใส (วัคซีนเอ็มเอ็มอาร์และวัคซีนเอ็มเอ็มอาร์วี) วัคซีนทุกสูตรเหล่านี้ให้ผลดีเท่าเทียมกัน องค์การอนามัยโลกแนะนำว่าในพื้นที่ที่พบโรคนี้ได้บ่อยควรมีการให้วัคซีนเมื่อเด็กอายุครบเก้าเดือน ส่วนในพื้นที่แทบไม่พบโรคนี้เลยนั้นก็สามารถอนุโลมการให้วัคซีนเมื่อเด็กอายุครบสิบสองเดือนได้ตามเหตุผล วัคซีนนี้เป็นวัคซีนชนิดตัวเป็น ซึ่งอยู่ในรูปผงแห้งและจำเป็นต้องทำการผสมก่อนการฉีด ทั้งการฉีดเข้าใต้ผิวหนังหรือกล้ามเนื้อ การยืนยันความมีประสิทธิภาพของวัคซีนนั้นสามารถพิสูจน์ได้โดยการทดสอบเลือด[1]นับตั้งแต่เมื่อปี 2556 มีเด็กประมาณ 85% ทั่วโลกได้รับวัคซีนนี้[3] ในปี 2551 ประเทศจำนวนไม่ต่ำกว่า 192 ประเทศได้เสนอการให้วัคซีนจำนวนสองเข็ม[1] วัคซีนนี้นำมาใช้เป็นครั้งแรกเมื่อปี 2506[2] การใช้วัคซีนร่วมระหว่างวัคซีนโรคหัด-โรคคางทูม-โรคหัดเยอรมัน (เอ็มเอ็มอาร์) ครั้งแรกนั้นมีขึ้นเมื่อปี 2514[4] การเพิ่มวัคซีนโรคอีสุกอีใสลงในวัคซีนสามตัวนี้ซึ่งก็ได้กลายเป็นวัคซีนเอ็มเอ็มอาร์วีนั้นมีขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2548[5] วัคซีนนี้อยู่ในทะเบียนยาที่จำเป็นขององค์การอนามัยโลก โดยเป็นยารักษาโรคที่มีความสำคัญมากที่สุดในระบบสุขภาพขั้นพื้นฐาน[6] วัคซีนนี้มีราคาไม่แพงมาก[1]

ใกล้เคียง

วัคซีนโควิด-19 ของไฟเซอร์-ไบออนเทค วัคซีนโควิด-19 วัคซีนอาร์เอ็นเอ วัคซีนโควิด-19 ของออกซฟอร์ด-แอสตร้าเซนเนก้า วัคซีนเชื้อลดฤทธิ์ วัคซีน วัคซีนโควิด-19 ของโมเดอร์นา วัคซีนโควิด-19 สปุตนิกวี วัคซีนโควิด-19 ของจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน วัคซีนโควิด-19 BBIBP-CorV ของซิโนฟาร์ม