การวิพากษ์ระบบทุนนิยมโดยมาคส์ ของ คาร์ล_มาคส์

มาคส์อธิบายว่าสภาวะแปลกแยกของกำลังแรงงาน (ที่ทำให้เกิดการคลั่งไคล้โภคภัณฑ์) นั้นเป็นลักษณะเฉพาะตัวของระบบทุนนิยม หาใช่การเกิดขึ้นของตลาดเพียงอย่างเดียว ทั้งนี้เนื่องจากก่อนหน้าจะมีระบบทุนนิยม ในยุโรปก็มีตลาดที่ผู้ค้าและผู้ผลิตได้ซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าอยู่แล้ว ในทัศนะของมาคส์ รูปแบบการผลิตแบบทุนนิยมพัฒนาขึ้นในยุโรปเมื่อแรงงานถูกเปลี่ยนให้เป็นโภคภัณฑ์---นั่นคือ เมื่อชาวนามีอิสระที่จะขายกำลังแรงงานของตนเอง และอยู่ในภาวะจำเป็นต้องกระทำการดังกล่าวเนื่องจากการขาดที่ดินหรือเครื่องมือสำหรับการผลิต ผู้คนยอมขายกำลังกายของตนเมื่อเขายอมรับค่าตอบแทนสำหรับงานใด ๆ ที่เขาทำในช่วงเวลาหนึ่ง ๆ (ในอีกทางหนึ่งก็คือ พวกเขาไม่ได้ขายผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการผลิต แต่พวกเขากลับขายความสามารถในการทำงาน) ค่าตอบแทนที่แลกมาด้วยกำลังแรงงานคือเงินที่ทำให้พวกเขามีชีวิตรอดต่อไปได้ กลุ่มคนที่ต้องขายกำลังแรงงานเพื่อการยังชีพคือ "ชนชั้นกรรมาชีพ" ในขณะที่คนที่ซื้อกำลังแรงงาน ซึ่งมักจะเป็นผู้ที่ครอบครองที่ดินและเครื่องมือรวมถึงเทคโนโลยีในการผลิตคือ "นายทุน" หรือ "กระฎุมพี" แน่นอนว่าจำนวนของชนกรรมาชีพย่อมมากกว่าจำนวนนายทุน มาคส์เชื่อว่าการอธิบายระบบทุนนิยมในลักษณะนี้เป็นการอธิบายแบบวัตถุพิสัย ซึ่งแตกต่างจากคำกล่าวอ้างอื่น ๆ เกี่ยวกับระบบทุนนิยม ซึ่งมักจะขึ้นกับอุดมการณ์บางอย่าง

มาคส์แยกแยะความแตกต่างระหว่างนายทุนกับผู้ค้าขาย พ่อค้าแม่ค้าซื้อสินค้าจากที่หนึ่งมาเพื่อขายในอีกที่หนึ่ง หรือถ้าจะกล่าวให้ชัดเจนก็คือ พวกเขาซื้อของจากตลาดหนึ่งเพื่อไปขายยังอีกตลาดหนึ่ง เนื่องจากกฎอุปสงค์และอุปทานทำงานภายในตลาดใด ๆ ตลาดเดียว ราคาโภคภัณฑ์ระหว่างสองตลาดอาจมีความแตกต่างกันได้ ผู้ค้าขายจึงใช้ประโยชน์จากความแตกต่างนี้เพื่อหวังกำไร ในความคิดของมาคส์นั้น นายทุนกลับใช้ความแตกต่างระหว่างตลาดแรงงานกับตลาดของโภคภัณฑ์ที่ผลิตขึ้น มาคส์สังเกตว่าในทุก ๆ อุตสาหกรรมที่ประสบผลสำเร็จ ค่าจ้างแรงงานจะมีราคาต่ำกว่าราคาของสินค้าที่ผลิตได้ มาคส์เรียกความแตกต่างนี้ว่า "มูลค่าส่วนเกิน" และอธิบายว่ากำไรของนายทุนนั้นเกิดจากมูลค่าส่วนเกินนี่เอง

รูปแบบการผลิตแบบทุนนิยมนั้นมีศักยภาพในการเติบโตได้มหาศาล ทั้งนี้เนื่องจากนายทุนนั้นสามารถนำผลกำไรที่ได้ไปลงทุนเพิ่มในเทคโนโลยีใหม่ ๆ ได้ และนายทุนเองก็มีแรงจูงใจที่จะการลงทุนเพิ่มเติมในลักษณะเช่นนี้ด้วย มาคส์มองว่าชนชั้นนายทุนเป็นกลุ่มที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมากที่สุดในประวัติศาสตร์ ทั้งนี้เนื่องจากเป็นกลุ่มที่คอยปฏิวัติเครื่องมือในการผลิตอยู่ตลอดเวลา แต่มาคส์เชื่อว่าในระบบทุนนิยมนั้นจะมีการเกิดวิกฤตเป็นระลอก ๆ เขาชี้ให้เห็นว่านายทุนจะลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ในปริมาณที่มากขึ้น ในขณะที่จะลดต้นทุนของแรงงานลงเรื่อย ๆ ด้วยเช่นกัน เนื่องจากมาคส์เชื่อว่ามูลค่าส่วนเกินที่ได้จากการขูดรีดแรงงานคือที่มาของกำไร เขาสรุปว่าการลงทุนดังกล่าวจะทำให้อัตราได้กำไรลดลงแม้ว่าเศรษฐกิจจะเติบโตขึ้นก็ตาม การที่อัตราได้กำไรลดลงต่ำกว่าจุด ๆ หนึ่งจะก่อให้เกิดภาวะถดถอยหรือภาวะตกต่ำที่จะทำให้บางส่วนของระบบเศรษฐกิจจะพังลง มาคส์เข้าใจว่าในช่วงวิกฤตดังกล่าวค่าจ้างแรงงานก็จะเกิดการตกต่ำลงเช่นเดียวกัน และในที่สุดก็จะทำให้การลงทุนในเทคโนโลยีใหม่เป็นไปได้ และทำให้เกิดการเติบโตขึ้นของส่วนใหม่ ๆ ของระบบเศรษฐกิจ

มาคส์เชื่อว่าวงจรของการเติบโต, ทรุด, และเติบโตใหม่ จะก่อให้เกิดภาวะวิกฤตที่เลวร้ายขึ้นเรื่อย ๆ ยิ่งไปกว่านั้นเขาเชื่อว่าผลกระทบในระยะยาวของกระบวนการนี้จะทำให้นายทุนมีความแข็งแกร่งขึ้นเรื่อย ๆ ในขณะที่กรรมาชีพกลับยากจนลงทุกที เขาเชื่อว่าถ้ากรรมาชีพลุกขึ้นสู้และเข้ายึดครองเครื่องมือในการผลิตแล้ว พวกเขาจะสร้างความสัมพันธ์ในสังคมขึ้นมาใหม่ ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์กับทุก ๆ คนอย่างเท่าเทียม และก่อให้เกิดระบบการผลิตแบบใหม่ซึ่งทนทานต่อวิกฤตการณ์มากกว่าแต่ก่อน กล่าวโดยทั่วไปแล้ว มาคส์เชื่อว่าการเจรจาอย่างสันติจะไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้ และการปฏิวัติอย่างรุนแรงของมวลชนขนาดใหญ่ที่มีการจัดการที่ดีเป็นสิ่งที่จำเป็น เขากล่าวว่าเพื่อจะรักษาการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวไว้ รัฐเผด็จการโดยกรรมาชีพจะต้องถูกสร้างขึ้น แต่หลังจากที่ระบบการผลิตแบบใหม่ได้เริ่มขึ้นรัฐดังกล่าวจะค่อย ๆ ลดความสำคัญลงและหายไปเอง


แหล่งที่มา

WikiPedia: คาร์ล_มาคส์ http://www.lsr-projekt.de/poly/eninnuce.html http://www-personal.umd.umich.edu/~delittle/Marxis... http://willamette.edu/cla/classics/careers/marx/in... http://www.iisg.nl/collections/marx/index.html http://www.iisg.nl/collections/marxengels.html http://www.gutenberg.org/author/Marx, http://www.marxists.org/archive/marx/ http://www.marxists.org/archive/marx/works/1845/ge... http://www.marxists.org/archive/marx/works/1875/go... http://arch.oucs.ox.ac.uk/detail/94555/index.html