ประวัติ ของ คาร์ล_มาคส์

วัยเด็ก

คาร์ล มาคส์ เกิดในครอบครัวชาวยิวหัวก้าวหน้าในเมืองเทรียร์ ราชอาณาจักรปรัสเซีย (ปัจจุบันอยู่ในเยอรมนี) บิดาของเขา เฮอร์เชล ผู้สืบเชื้อสายมาจากตระกูลที่เป็นราไบ ทำอาชีพทนาย ชื่อสกุลเดิมของมาคส์คือ มาคส์ เลวี ซึ่งแปลงมาจากชื่อสกุลยิวเก่าว่า มาร์โดไค ในปี ค.ศ. 1817 พ่อของมาคส์ได้เปลี่ยนศาสนาเป็นนิกายลูเทอแรนซึ่งเป็นศาสนาประจำรัฐปรัสเซีย เพื่อรักษาอาชีพทนายเอาไว้ ครอบครัวมาคส์เป็นครอบครัวเสรีนิยม และได้รับรองแขกที่เป็นนักวิชาการและศิลปินหลายคนในสมัยที่มาคส์ยังเป็นเด็ก

การศึกษา

มาคส์เมื่อครั้งเป็นนักเรียน

มาคส์ได้คะแนนดีใน ยิมเนเซียม ซึ่งเป็นโรงเรียนระดับมัธยมปลายในปรัสเซีย เขาได้รางวัลจากวิทยานิพนธ์ระดับมัธยมปลายที่มีชื่อว่า "ศาสนา: กาวที่เชื่อมต่อสังคมเข้าด้วยกัน" งานชิ้นแรกนี้เป็นจุดเริ่มต้นให้กับงานวิเคราะห์ศาสนาของเขาต่อไปในภายหลัง

มาคส์เข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยบ็อนในปี ค.ศ. 1833 (พ.ศ. 2376) เพื่อศึกษากฎหมาย ตามคำเรียกร้องของบิดา ที่บ็อนเขาเข้าชมรมนักเดินทางแห่งเทรียร์ (และบางช่วงยังได้เป็นประธานชมรม) ผลการเรียนของเขาเริ่มตกต่ำ เนื่องจากเขาใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการร้องเพลงอยู่ในร้านเบียร์ ปีถัดไปพ่อของเขาจึงให้เขาย้ายไปยังกรุงเบอร์ลินเพื่อเข้าศึกษาที่มหาวิทยาลัยฟรีดรีช-วิลเฮ็ล์ม (Friedrich-Wilhelms-Universität) ที่เอาจริงเอาจังด้านการวิชาการมากขึ้น ปัจจุบันมหาวิทยาลัยนี้คือมหาวิทยาลัยฮุมบ็อลท์แห่งเบอร์ลิน

มาคส์และกลุ่มนิยมเฮเกิลรุ่นใหม่

ที่เบอร์ลิน มาคส์เริ่มหันไปสนใจปรัชญาท่ามกลางความไม่พอใจของบิดา เขาได้เข้าเป็นสมาชิกของกลุ่มนักศึกษาและอาจารย์ที่มีอายุไม่มากที่เป็นที่รู้จักในชื่อ "กลุ่มนิยมเฮเกิลรุ่นใหม่" (Young Hegelians) ซึ่งนำโดยบรูโน บาวเออร์ (Bruno Bauer) สมาชิกหลายคนในกลุ่มพยายามโยงปรัชญาแนวหลังอริสโตเติลเข้ากับปรัชญาหลังเฮเกิล มักซ์ สเตอร์เนอร์ สมาชิกกลุ่มเฮเกิลรุ่นใหม่อีกคนหนึ่ง นำการวิพากษ์แบบเฮเกิลมาใช้เพื่อสร้างคำอธิบายที่แทบจะเป็นแบบสุญนิยม ว่าสุดท้ายแล้วอีโกนิยมคือเป้าหมายสูงสุดของมนุษย์ แนวคิดเช่นนี้ไม่เป็นที่ยอมรับของแทบทุกคนในกลุ่ม และมาคส์ได้โต้แนวคิดนี้บางส่วนใน Die Deutsche Ideologie (อุดมการณ์เยอรมัน)

เกออร์ค เฮเกิล เพิ่งเสียชีวิตไปไม่นานในปีค.ศ. 1831 (พ.ศ. 2374) และในช่วงชีวิตของเขานั้น ได้เป็นผู้ที่ทรงอิทธิพลทางวิชาการในสังคมเยอรมนีมาก กลุ่มที่เชื่อแนวคิดแบบเฮเกิล (รู้จักกันในชื่อว่า กลุ่มเฮเกิลขวา) เชื่อว่าลำดับการวิภาษทางประวัติศาสตร์นั้นเสร็จสิ้นสมบูรณ์แล้ว และสังคมปรัสเซีย ที่ถึงพร้อมด้วยการบริการพลเมือง มหาวิทยาลัยที่ดี การพัฒนาทางอุตสาหกรรม และอัตราการจ้างงานที่สูง เป็นผลสรุปของการพัฒนาการทางสังคมดังกล่าว กลุ่มนิยมเฮเกิลรุ่นใหม่ที่มาคส์สังกัดอยู่ด้วยนั้นเชื่อว่ายังจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงแบบวิภาษอีก และสังคมปรัสเซียในขณะนั้น ยังมีความไม่สมบูรณ์อีกมาก ทั้งนี้เนื่องจากสังคมยังมีความยากจน รัฐบาลยังคงใช้ระบบเซ็นเซอร์ที่เข้มแข็ง และกลุ่มคนที่มิได้นับถือศาสนาคริสต์นิกายลูเทอแรนยังคงโดยกีดกันทางสังคม

มาคส์ถูกเตือนมิให้ส่งวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยฟรีดรีช-วิลเฮ็ล์ม เนื่องจากคาดว่าจะไม่เป็นที่ยอมรับที่นั่นเนื่องจากชื่อเสียงของมาคส์ ว่าเป็นนักคิดแนวถอนรากถอนโคนในกลุ่มนิยมเฮเกิลรุ่นใหม่ มาคส์จึงส่งวิทยานิพนธ์ของเขา ที่เปรียบเทียบทฤษฎีทางด้านอะตอมของดิโมคริตัสกับอีพิคารุสไปยังมหาวิทยาลัยเยนา ในปี ค.ศ. 1840 (พ.ศ. 2383) ซึ่งได้กลายเป็นมหาวิทยาลัยที่มาคส์จบการศึกษา และ ในปี ค.ศ. 1841 คาร์ล มาคส์ เรียนจบปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยเยนา[12]

อาชีพ

เมื่อบาวเออร์อาจารย์ของเขาถูกขับออกจากภาควิชาปรัชญาในปี ค.ศ. 1842 (พ.ศ. 2385) มาคส์จึงเลิกสนใจปรัชญาและหันเหความสนใจไปยังการเป็นนักข่าว เขาได้เข้าทำหน้าที่บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ Rheinische Zeitung หนังสือพิมพ์หัวก้าวหน้าของเมืองโคโลญ อย่างไรก็ตามหนังสือพิมพ์เล่มนั้นโดนสั่งปิดในปี ค.ศ. 1843 (พ.ศ. 2386) ซึ่งเป็นผลบางส่วนจากความขัดแย้งระหว่างมาคส์กับมาตรการเซ็นเซอร์ของรัฐ มาคส์กลับไปสนใจปรัชญา และหันไปเป็นนักกิจกรรมทางการเมือง พร้อมกับทำงานเป็นนักข่าวอิสระ ไม่นานมาคส์ก็ต้องเดินทางลี้ภัย ซึ่งเป็นสิ่งที่มาคส์ต้องกระทำอยู่เรื่อย ๆ เนื่องจากการแสดงความเห็นแบบถอนรากถอนโคนของเขา

มาคส์เดินทางไปยังประเทศฝรั่งเศส ที่นั่นเอง เขาได้ขบคิดเรื่องราวเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของเขากับบาวเออร์และกลุ่มนิยมเฮเกิลรุ่นใหม่ และได้เขียนบทความ ปัญหาชาวยิว (On the Jewish Question) ซึ่งเป็นบทวิพากษ์แนวคิดปัจจุบันเกี่ยวกับสิทธิพลเมืองและการปลดปล่อยทางการเมือง ที่ปารีสเขาได้พบ ฟรีดริช เองเงิลส์ ผู้ซึ่งกลายเป็นผู้ร่วมงานกับมาคส์ไปตลอดชีวิตของเขา เองเงิลส์ได้กระตุ้นให้มาคส์สนใจสถานการณ์ของชนชั้นทำงาน และช่วยแนะนำให้มาคส์สนใจเศรษฐศาสตร์ เมื่อเขาและเองเงิลส์ถูกภัยการเมืองอีกครั้งอันเนื่องมาจากงานเขียน เขาย้ายไปยังเมืองปรัสเซล ประเทศเบลเยียม

พวกเขาได้ร่วมกันเขียนบทความชื่อ อุดมการณ์เยอรมัน (The German Ideology) ซึ่งวิพากษ์วิจารณ์ปรัชญาของเฮเกิลและกลุ่มนิยมเฮเกิลรุ่นใหม่ หลังจากนั้นมาคส์เขียน ความอับจนของปรัชญา (The Poverty of Philosophy) ซึ่งวิพากษ์ความคิดสังคมนิยมสายฝรั่งเศส บทความทั้งสองวางรากฐานให้กับ คำประกาศเจตนาคอมมิวนิสต์ (The Communist Manifesto) อันเป็นผลงานที่โด่งดังที่สุดของมาคส์และเองเงิลส์. หนังสือ คำประกาศเจตนา ซึ่งสมาพันธ์คอมมิวนิสต์ซึ่งเป็นกลุ่มผู้อพยพชาวเยอรมันที่มาคส์ได้พบที่ลอนดอนได้ร้องขอให้เขียน ได้รับการตีพิมพ์เมื่อวันที่ 21 ก.พ. ค.ศ. 1848 (พ.ศ. 2391)

ปีนั้นเอง ในยุโรปได้เกิดการลุกฮือครั้งยิ่งใหญ่ กลุ่มคนงานได้เข้ายึดอำนาจจากพระเจ้าหลุยส์-ฟีลิปที่ 1 แห่งฝรั่งเศส และได้เชิญมาคส์กลับปารีส ต่อมาหลังจากที่รัฐบาลคนงานล่มสลายลงในปี ค.ศ. 1849 (พ.ศ. 2392) มาคส์ได้ย้ายกลับไปยังโคโลญ และได้เริ่มพิมพ์หนังสือพิมพ์ Rheinische Zeitung ขึ้นมาใหม่ก่อนจะถูกสั่งปิดลงอีกครั้ง สุดท้ายมาคส์จึงย้ายไปอยู่ที่ลอนดอน ขณะที่อยู่ที่ลอนดอนนั้น มาคส์ทำหน้าที่เป็นผู้สื่อข่าวฝั่งยุโรปให้กับหนังสือพิมพ์นิวยอร์กทรีบูน (New York Tribune) ระหว่างปี ค.ศ. 1852 (พ.ศ. 2395) ถึง 1861 (พ.ศ. 2404) ในปี ค.ศ. 1852 นั้นเอง มาคส์ได้เขียนแผ่นพับ การปฏิวัติของหลุยส์ โบนาปาร์ต (The Eighteenth Brumaire of Louis Bonaparte) เพื่อวิเคราะห์เหตุการณ์ที่หลุยส์-นโปเลียน โบนาปาร์ต (หลานของนโปเลียนที่ 1 แห่งฝรั่งเศส) เข้ายึดอำนาจรัฐในฝรั่งเศสและสถาปนาตนเองเป็นจักรพรรดินโปเลียนที่ 3

สากลที่หนึ่ง และคำพูดของแกลดสตัน

ในปีค.ศ. 1863 (พ.ศ. 2406) รัฐมนตรีคลังของอังกฤษ วิลเลียม แกลดสตันได้กล่าวสุนทรพจน์แก่สภาสามัญชน โดยเขาได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับการเพิ่มขึ้นของความร่ำรวยของประเทศอังกฤษและได้เพิ่มเติม (ตามรายงานจากหนังสือพิมพ์ ไทมส์) ว่า "ผมควรจะมองการเพิ่มขึ้นของความมั่งคั่งและอำนาจอย่างเมามายเหล่านี้ ด้วยความหวาดกลัวและความเจ็บปวด ถ้าผมเชื่อว่ามันเกิดขึ้นเฉพาะกับกลุ่มชนที่มีชีวิตสะดวกสบายเท่านั้น ที่ผมกล่าวมาทั้งหมดนี้ไม่จำเป็นต้องใช้ความรู้เกี่ยวกับสภาพของประชากรที่ใช้แรงงานเลย การเพิ่มขึ้นมาของความมั่งคั่งที่ผมได้อธิบายและที่ผมคิดว่าเกิดขึ้นจากกำไรจากการลงทุนนั้น เป็นการเพิ่มขึ้นที่เกิดเฉพาะกับชนชั้นที่ครอบครองทรัพย์สินเท่านั้น" แต่ในรายงานฉบับกึ่งทางการ แกลดสตันได้ลบประโยคสุดท้ายออก ซึ่งการแก้ไขนี้เป็นสิ่งที่กระทำกันทั่วไปในหมู่สมาชิกสภา

ในปี ค.ศ. 1864 (พ.ศ. 2407) มาคส์ได้ก่อตั้งสมาคมกรรมกรสากล ซึ่งต่อมาถูกเรียกว่าองค์การสากลที่หนึ่ง เพื่อเป็นแกนหลักในการทำกิจกรรมทางการเมือง ในคำสุนทรพจน์เปิดงานนั้น มาคส์ได้อ้างถึงคำพูดของแกลดสตันไปในทำนองที่ว่า "การเพิ่มขึ้นของความร่ำรวยและอำนาจอย่างเมามายนี้ เกิดขึ้นกับเฉพาะชนชั้นที่มีทรัพย์สินเท่านั้น" เขายังอ้างถึงคำพูดนี้อีกในหนังสือ ว่าด้วยทุน ไม่นานนักความแตกต่างระหว่างสิ่งที่มาคส์อ้างกับที่มีบันทึกไว้ในรายงาน (ซึ่งเป็นที่แพร่หลาย) ถูกนำมาใช้เพื่อทำลายความน่าเชื่อถือของแนวร่วมระหว่างประเทศ มาคส์พยายามจะโต้ตอบข้อกล่าวหาเรื่องความไม่ซื่อสัตย์นี้ แต่ว่าข้อกล่าวอ้างนั้นก็กลับมาเรื่อย ๆ

ในภายหลังมาคส์ได้ระบุแหล่งข้อมูลที่เขาใช้ว่าคือหนังสือพิมพ์ เดอะ มอร์นิง สตาร์

เองเงิลส์ได้ใช้เนื้อที่ในส่วนคำนำในการพิมพ์ครั้งที่สี่ของหนังสือ ว่าด้วยทุน เพื่อพูดถึงเรื่องนี้ แต่ก็ไม่สามารถจบข้อโต้เถียงนี้ลงได้ เองเงิลส์อ้างว่าแหล่งข่าวนั้นไม่ใช่ เดอะ มอร์นิง สตาร์ แต่เป็น ไทมส์ นักวิจารณ์แนวคิดมาคส์เช่นนักข่าว พอล จอห์นสัน ยังคงใช้เรื่องนี้ในการกล่าวหามาคส์ในเรื่องความซื่อสัตย์อยู่

ช่วงปลายชีวิตของมาคส์

ปกในของหนังสือ ว่าด้วยทุน (Das Kapital)

ที่ลอนดอน ในช่วงเวลาเดียวกันกับที่มีการโต้เถียงเรื่องการอ้างคำพูดของแกลดสตันนี้ มาคส์ได้ทุ่มเทเวลาไปกับการวิจัยเชิงประวัติศาสตร์และเชิงทฤษฎีสำหรับการเขียนหนังสือ ว่าด้วยทุน (หรือในชื่อเต็มว่า ทุน: บทวิพากษ์ทางเศรษฐศาสตร์การเมือง และชื่อภาษาเยอรมันว่า Das Kapital). มาคส์ตีพิมพ์เล่มแรกของชุดในปี ค.ศ. 1867 (พ.ศ. 2410), สำหรับอีกสองเล่มที่เหลือนั้น มาคส์ไม่ได้เขียนให้เสร็จสิ้น แต่ได้รับการเรียบเรียงโดยเองเงิลส์จากบันทึกและร่างต่าง ๆ และตีพิมพ์หลังจากที่มาคส์เสียชีวิตลงแล้ว

ช่วงเวลาที่เขาใช้ชีวิตอยู่ที่ลอนดอนนั้น ครอบครัวของมาคส์ค่อนข้างยากจน และยังต้องอาศัยเงินช่วยเหลือจากเองเงิลส์เป็นระยะ ๆ มาคส์เสียชีวิตที่ลอนดอนในปี ค.ศ. 1883 (พ.ศ. 2426) ศพของเขาฝังที่สุสานไฮห์เกต กรุงลอนดอน บนป้ายชื่อของเขาจารึกไว้ว่า: "กรรมาชีพในทุกพื้นถิ่น จงรวมพลัง!" ("Workers of all lands, unite!")

ชีวิตสมรส

เจนนี ฟอน เวสฟาเลน ผู้เป็นภรรยาของมาคส์ มาจากครอบครัวราชการ ลุงของเธอคือไลออน ฟิลิปส์ บิดาของพี่น้องเจอราร์ดและแอนตันผู้ก่อตั้งบริษัทฟิลิปส์ในปีค.ศ. 1891 ครอบครัวมาคส์มีลูกหลายคน แต่ก็มีหลายคนที่เสียชีวิตตั้งแต่ยังเด็ก เอลินอร์ มาคส์ลูกสาวของพวกเขา (1855-1898) ซึ่งเกิดในลอนดอน ก็เป็นนักสังคมนิยมที่ทุ่มเทและช่วยแก้ไขงานของพ่อของเธอ เจนนี มาคส์เสียชีวิตในเดือนธันวาคมปีค.ศ. 1881 (พ.ศ. 2424)

แหล่งที่มา

WikiPedia: คาร์ล_มาคส์ http://www.lsr-projekt.de/poly/eninnuce.html http://www-personal.umd.umich.edu/~delittle/Marxis... http://willamette.edu/cla/classics/careers/marx/in... http://www.iisg.nl/collections/marx/index.html http://www.iisg.nl/collections/marxengels.html http://www.gutenberg.org/author/Marx, http://www.marxists.org/archive/marx/ http://www.marxists.org/archive/marx/works/1845/ge... http://www.marxists.org/archive/marx/works/1875/go... http://arch.oucs.ox.ac.uk/detail/94555/index.html