ปรัชญาของมาคส์ ของ คาร์ล_มาคส์

แนวคิดหลักของมาคส์วางอยู่บนความเข้าใจเกี่ยวกับ แรงงาน โดยพื้นฐานแล้ว มาคส์กล่าวว่ามนุษย์มีความสามารถในการเปลี่ยนแปลงสิ่งรอบข้าง เขาเรียกกระบวนการเปลี่ยนแปลงนี้ว่าการ ใช้แรงงาน และความพลังในการเปลี่ยนแปลงนี้ว่า กำลังแรงงาน สำหรับมาคส์แล้ว การใช้แรงงานนี้นอกจากจะเป็นความสามารถโดยธรรมชาติของกิจกรรมต่าง ๆ ทางกายภาพแล้ว แรงงานยังเกี่ยวข้องอย่างลึกซึ้งกับความคิดและจินตนาการของมนุษย์ด้วย:

แมงมุมทำกิจกรรมที่ไม่ต่างไปจากช่างทอผ้า และการสร้างรังของฝูงผึ้งก็สามารถทำให้สถาปนิกต้องอับอายได้ แต่ความแตกต่างระหว่างสถาปนิกที่แย่ที่สุดกับผึ้งที่เยี่ยมยอดที่สุดก็คือ สถาปนิกนั้นวาดภาพโครงสร้างของเขาในจินตนาการ ก่อนที่จะสร้างมันขึ้นมาในโลกความเป็นจริง

นอกเหนือจากการที่อ้างว่าความสามารถของมนุษย์คือการเปลี่ยนแปลงธรรมชาติแล้ว มาคส์มิได้ใช้ข้ออ้างอื่น ๆ เกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์อีกเลย.

มาคส์สืบทอดแนวคิดแบบวิภาษวิธีของเฮเกิล ดังนั้นเขาจึงมักจะหลีกเลี่ยงความคิดที่ว่ามนุษย์มีธรรมชาติบางอย่างที่ไม่เปลี่ยนแปลง บางครั้งมาคส์สจะอธิบายแนวคิดนี้โดยการเปรียบเทียบระหว่าง "ธรรมชาติ" กับ "ประวัติศาสตร์" หลายครั้งพวกเขาจะกล่าวว่า "สภาพการมีอยู่นำหน้าสำนึก" นั่นคือใครคนหนึ่งจะเป็นอย่างใดนั้นขึ้นอยู่กับตำแหน่งแห่งหนและเวลาที่เขาอยู่ -- สถาพทางสังคมมีอำนาจมากกว่าพฤติกรรมดั้งเดิม หรืออาจกล่าวได้ว่าลักษณะสำคัญของมนุษย์คือการปรับตัวให้เขากับสิ่งต่าง ๆ รอบตัว

มาคส์ไม่เชื่อว่าคนทุกคนจะทำงานในลักษณะเดียวกัน แต่เขาก็ไม่เชื่อเช่นเดียวกันว่าลักษณะที่ใครสักคนทำงานนั้นถูกกำหนดด้วยความคิดส่วนตัวไปทั้งสิ้น เขากลับอธิบายว่าการทำงานนั้นเป็นกิจกรรมทางสังคม และเงื่อนไขรวมถึงรูปแบบของการทำงานนั้นถูกกำหนดโดยสังคมและเปลี่ยนแปลงตามเวลา

การวิเคราะห์ประวัติศาสตร์ของมาคส์นั้นวางอยู่บนความแตกต่างระหว่าง ปัจจัยการผลิต ซึ่งหมายถึงสิ่งของเช่นที่ดินหรือทรัพยากรธรรมชาติ รวมไปจนถึงเทคโนโลยี ที่จำเป็นต่อการผลิตสินค้าที่เป็นวัตถุ และ ความสัมพันธ์เชิงสังคมของการผลิต ที่กล่าวได้ว่าเป็นความสัมพันธ์เชิงสังคมที่ผู้คนถูกดึงเข้าไปร่วม เมื่อเขาได้เป็นเจ้าของและได้ใช้ปัจจัยการผลิต ปัจจัยสองประการนี้รวมเป็น รูปแบบการผลิต มาคส์สังเกตว่าในสังคมหนึ่ง ๆ รูปแบบการผลิตนั้นมีการเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย สำหรับสังคมทางยุโรปนั้นมีรูปแบบในการพัฒนาโดยเริ่มจากรูปแบบการผลิตแบบศักดินา ไปจนถึงรูปแบบการผลิตแบบทุนนิยม โดยทั่วไปแล้ว มาคส์เชื่อว่าปัจจัยการผลิตนั้นเปลี่ยนแปลงได้รวดเร็วมากกว่าความสัมพันธ์ของการผลิต ยกตัวอย่างเช่นเราได้พัฒนาเทคโนโลยีใหม่ เช่นอินเทอร์เน็ต แต่ต้องใช้เวลาหลังจากนั้น ก่อนที่เราจะได้พัฒนากฎหมายที่ควบคุมเทคโนโลยีนั้น สำหรับมาคส์แล้วการไม่เข้ากันของ ฐาน ทางเศรษฐกิจกับ โครงสร้างส่วนบน (superstructure) ทางสังคม คือสิ่งที่ทำให้เกิดความระส่ำระสายและความขัดแย้งในสังคม

ในการพิจารณาความสัมพันธ์เชิงสังคมของการผลิตนั้น มาคส์ไม่ได้มองแค่ความสัมพันธ์ระหว่างปัจเจกแต่ละคน แต่ยังรวมไปถึงความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มคน หรือ กลุ่มชนชั้น มาคส์มิได้นิยาม "ชนชั้น" ขึ้นมาโดยอาศัยใช้เพียงแค่การบรรยายแบบอัตวิสัย (subjective) เท่านั้น หากแต่ว่าเขายังพยายามจะนิยามชนชั้นด้วยเงื่อนไขที่เป็นแบบวัตถุวิสัย (objective) ด้วย เช่นการเข้าถึงทรัพยากรในการผลิต

มาคส์ให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับกำลังแรงงาน ซึ่งเป็นทรัพยากรพื้นฐานที่สุดของมนุษย์เอง ในการอธิบายความสัมพันธ์นี้โดยละเอียด มาคส์ทำโดยผ่านทางปัญหาความแปลกแยก ซึ่งเกิดขึ้นกับผู้ใช้แรงงาน กล่าวคือ เมื่อกำลังแรงงานได้ถูกใช้ไปในการผลิต แต่เมื่อกิจกรรมนั้นสิ้นสุดลงกรรมสิทธิ์ของผลลัพธ์ที่ได้กลับตกไปเป็นของนายทุน นั่นคือมองได้ว่าเป็นการละทิ้งกรรมสิทธิ์ในกำลังแรงงานของตนเอง สภาวะเช่นนี้ก่อให้เกิดความแปลกแยกจากธรรมชาติของตนเอง และก่อให้เกิดความรู้สึกสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ ภาวะเช่นนี้ก่อให้เกิดสภาพการคลั่งไคล้โภคภัณฑ์ (commodity fetishism) ซึ่งผู้คนจะคิดว่าสิ่งสำคัญที่พวกเขาสร้างขึ้นก็คือสินค้า ความสำคัญทุกอย่างจะถูกถ่ายโอนไปที่วัตถุรอบกายแทนที่จะเป็นผู้คนด้วยกันเอง หลังจากนั้นผู้คนจะมองเห็นและเข้าใจตนเองผ่านทางความสัมพันธ์กับทรัพย์สินหรือสินค้าที่ตนเองครอบครองไว้เท่านั้น

การคลั่งไคล้โภคภัณฑ์นี้เป็นตัวอย่างหนึ่งของสิ่งที่เองเงิลส์เรียกว่า สำนึกที่ผิดพลาด ซึ่งเกี่ยวข้องกับความเข้าใจในเรื่องของ อุดมการณ์ ซึ่งมาคส์และเองเงิลส์ได้ให้ความหมายว่าเป็นความคิดที่สะท้อนผลประโยชน์ของบางชนชั้นในบางช่วงเวลาในประวัติศาสตร์ แต่กลับถูกแสดงว่าเป็นความเชื่อที่ถูกต้องสำหรับทุก ๆ ชนชั้นและทุก ๆ เวลา ในความคิดของพวกเขานั้น ความเชื่อดังกล่าวมิได้เป็นเพียงแค่สิ่งที่ผิดพลาดเท่านั้น แต่ยังเป็นสิ่งที่ทำหน้าที่สำคัญทางการเมืองด้วย กล่าวในอีกนัยหนึ่งได้ว่า การควบคุมที่ชนชั้นหนึ่ง ๆ กระทำผ่านทางการครอบครองเครื่องมือการผลิตนั้นมิได้เกิดขึ้นเฉพาะกับกับการผลิตอาหารหรือสินค้าเท่านั้น แต่ยังเกิดขึ้นกับการผลิตความคิดหรือความเชื่อด้วยเช่นกัน ความคิดนี้อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่อธิบายว่าทำไมสมาชิกของชนชั้นที่ถูกกดขี่จึงยังมีความเชื่อที่ขัดแย้งกับผลประโยชน์ของตนเอง ดังนั้นแม้ว่าความเชื่อบางอย่างจะผิดพลาดแต่มันก็ยังเผยให้เห็นความจริงบางอย่างที่ถูกซ่อนไว้เกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางการเมือง ยกตัวอย่างเช่น ความเชื่อที่ว่าสิ่งของที่คนผลิตขึ้นนั้นมีผลิตผลมากกว่าคนที่ผลิตมันขึ้นมานั้นอาจฟังประหลาด แต่มันก็แสดงให้เห็น (ในความคิดของมาคส์และเองเงิลส์) ว่าผู้คนภายใต้ระบบทุนนิยมนั้นถูกทำให้แปลกแยกจากกำลังแรงงานของตนเอง อีกตัวอย่างหนึ่งพบได้ในการทำความเข้าใจเกี่ยวกับศาสนาโดยมาคส์ ที่สรุปได้ในย่อหน้าหนึ่งของ Contribution to the Critique of Hegel's "Philosophy of Right:"

ความทุกข์ทางศาสนานั้นเป็นทั้งการแสดงออกของความทุกข์ที่แท้จริงและการประท้วงไม่ยอมแพ้ต่อความทุกข์ที่แท้จริง ศาสนาคือเสียงกรีดร้องของสิ่งมีชีวิตที่ถูกกดขี่ หัวใจของโลกที่ไร้หัวใจ และวิญญาณของสภาพไร้วิญญาณ มันคือฝิ่นของมวลชน

แม้ว่าในงานวิทยานิพนธ์ระดับเตรียมอุดมศึกษาเขาเคยอ้างว่าหน้าที่หลักของศาสนาคือการสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แต่ในที่นี้มาคส์มองว่าศาสนานั้นเป็นเครื่องมือทางสังคมสำหรับการแสดงออกและจัดการกับความเหลื่อมล้ำนั่นเอง

เราสามารถสรุปแนวคิดของคาร์ล มาคส์ได้คร่าว ๆ ดังนี้

  1. ประวัติศาสตร์ของมนุษย์เป็นการต่อสู้ระหว่างชนชั้น โดยนับต้องแต่แรกเริ่มจนถึงปัจจุบัน เช่น ทาสกับนาย ไพร่กับผู้ดี นายจ้างกับลูกจ้าง โดยจะมีคนนึงเป็นผู้ข่มเหง และอีกคนหนึ่งเป็นผู้ถูกข่มเหง
  2. โลกของนายทุน ในโลกปัจจุบันเกิดชนชั้นใหม่ที่มีบทบาทในสังคมมาก ได้แก่พวกนายทุน นายทุนเอาเปรียบชนชั้นแรงงานทุกวิถีทาง อำนาจของนายทุนคืออำนาจทางเศรษฐกิจและการเมือง โดยกษัตริย์และผู้ปกครองก็อยู่ภายใต้อิทธิพลนายทุนด้วย
  3. พวกนายทุนทั้งหลายมักเรียกร้องเสรีภาพ เช่น การค้าขายอย่างเสรี การแข่งขันเสรี แต่แท้จริงแล้วเป็นการเรียกร้องให้ตัวเองเอาเปรียบผู้อื่น
  4. นายทุนเป็นพวกไร้ศีลธรรม มองเห็นความสัมพันธ์ของมนุษย์เป็นเพียงการสะสมเงินทอง ส่วนคุณค่าทางจิตใจ ความเมตตาปรานีหรือมนุษยธรรมแทบจะไม่มีอยู่ในสำนึกของนายทุน
  5. ชนชั้นกรรมาชีพจะชนะนายทุนในที่สุด ในตอนแรกสังคมอาจมีหลายชนชั้น แต่สุดท้ายจะเหลือเพียง นายทุน และ กรรมาชีพ ซึ่งจะถูกนายทุนข่มเหงตลอดเวลา จนต้องรวมตัวเป็นสหภาพกรรมกร และกลายมาเป็นพรรคการเมือง จนมีอำนาจเอาชนะนายทุนได้
  6. ไม่มีทรัพย์สินส่วนตัว ลักษณะที่สำคัญที่สุดของระบอบคอมมิวนิสต์คือ การล้มล้างทรัพย์สินส่วนตัว เพราะสิ่งนี้คือ สัญลักษณ์แห่งความเห็นแก่ตัว ของนายทุน

แหล่งที่มา

WikiPedia: คาร์ล_มาคส์ http://www.lsr-projekt.de/poly/eninnuce.html http://www-personal.umd.umich.edu/~delittle/Marxis... http://willamette.edu/cla/classics/careers/marx/in... http://www.iisg.nl/collections/marx/index.html http://www.iisg.nl/collections/marxengels.html http://www.gutenberg.org/author/Marx, http://www.marxists.org/archive/marx/ http://www.marxists.org/archive/marx/works/1845/ge... http://www.marxists.org/archive/marx/works/1875/go... http://arch.oucs.ox.ac.uk/detail/94555/index.html