ขึ้นครองราชย์ ของ จักรพรรดิมิญ_หมั่ง

จักรพรรดิซา ล็อง เสด็จสวรรคตในปี ค.ศ. 1820 ท้ายตื๋อ เหงียน ฟุก ด๋าม จึงขึ้นครองราชสมบัติต่อมา ประกาศใช้รัชศก "มิญ หมั่ง" แปลว่า "ชีวิตโชติช่วง" อย่างไรก็ตามพระราชอำนาจที่พระจักรพรรดิมิญ หมั่ง ทรงสืบทอดมาจากพระบิดานั้นไม่มากนัก ในขณะนั้นอาณาจักรเวียดนามแบ่งออกเป็นสามส่วน พระจักรพรรดิทรงมีอำนาจโดยตรงเฉพาะในเวียดนามส่วนกลางอันมีราชธานีอยู่ที่เมืองเว้เท่านั้น ทางส่วนเหนือมีข้าหลวงปกครองเรียกว่า บั๊กถั่ญ (Bắc Thành, 北城) ประจำอยู่ที่เมืองฮานอย และทางส่วนใต้มี ซาดิ่ญถั่ญ (Gia Định Thành, 嘉定城) เป็นข้าวหลวงประจำอยู่ที่เมืองไซ่ง่อน ซึ่งข้าหลวงเหล่านี้มีอำนาจเต็มที่ในการปกครองดินแดนของตนแม้ว่าจะอยู่ภายใต้พระราชอำนาจของฮหว่างเด๊ที่เมืองเว้ก็ตาม โดยเฉพาะผู้ดำรงตำแหน่งซาดิ่ญถั่ญในขณะนั้นคือ เล วัน เสวียต (Lê Văn Duyệt, 黎文悅) หรือที่คนไทยรู้จักในนาม องต๋ากุน ผู้ซึ่งเป็นขุนพลคนสำคัญที่ได้ช่วยเหลือพระจักรพรรดิซา ล็อง ในการรวบรวมประเทศ เล วัน เสวียต เป็นขุนนางที่มีอำนาจอย่างล้นพ้นในทางตอนใต้ของเวียดนามไปจนถึงกัมพูชา และเป็นหนึ่งในผู้คัดค้านการแต่งตั้งเจ้าชายเหงียน ฟุก ด๋าม เป็น ท้ายตื๋อ

เวียดนามใต้อันมีเมืองไซ่ง่อนเป็นศูนย์กลางนั้น ในสมัยราชวงศ์เหงียนเป็นดินแดนที่มีอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมแตกต่างจากส่วนอื่นของเวียดนาม เนื่องจากว่าเวียดนามใต้เป็นดินแดนที่เพิ่งจะเข้ามาอยู่ในการปกครองของเวียดนามในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 ยังคงมีชาวเขมรต่ำ (หรือขแมร์กรอม) และชาวจามอาศัยอยู่จำนวนมาก และยังคงรักษาวัฒนธรรมตามแบบฮินดู-พุทธของตนเองเอาไว้ นอกจากอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมแล้ว ในทางการเมืองเวียดนามภาคใต้ยังอยู่ภายใต้การปกครองของเล วัน เสวียต เจ้าขุนศึกที่มีอำนาจมากเปรียบเสมือนเป็นหอกข้างแคร่สำหรับจักรพรรดิมิญ หมั่ง อยู่เสมอ ประเด็นเรื่องเวียดนามภาคใต้จึงรบกวนพระทัยของพระจักรพรรดิมิญ หมั่ง ไปตลอดรัชสมัย

พระจักรพรรดิมิญ หมั่ง ทรงมีนโยบายรวบรวมอำนาจสู่ศูนย์กลาง ทรงจัดตั้ง เหวี่ยนเกอเหมิต (Viện cơ mật, 院機密) หรือองคมนตรีสภา และฟื้นฟูระบบเก้าชั้นยศตามอย่างจีนขึ้นมาอีกครั้งในราชสำนัก พระจักรพรรดิมิญ หมั่ง ทรงเคร่งครัดในลัทธิขงจื๊อ ทรงฟื้นฟูระบบการสอบจอหงวนขึ้นมาใหม่เพื่อให้บรรดานักปราชญ์ผู้มีความสามารถได้เข้ามารับใช้ราชสำนักเพื่อเป็นการแทนที่ระบบขุนศึกท้องถิ่นเดิม ทรงปรับปรุง โกว๊กตื๋อซ้าม (Quốc Tử Giám, 國子監) หรือราชวิทยาลัยไว้เป็นสถานที่สำหรับกุลบุตรทั่วพระอาณาจักรศึกษาลัทธิขงจื๊อ พระจักรพรรดิมิญ หมั่ง ไม่เพียงแต่มีพระราชประสงค์ให้ขุนนางชนชั้นสูงยึดมั่นในลัทธิขงจื๊อเท่านั้น แต่ยังมีพระราชประสงค์จะให้ราษฎรชาวเวียดนามทุกคนปฏิบัติตามหลักปรัชญาของลัทธิขงจื๊ออย่างเคร่งครัด ใน ค.ศ. 1834 จักรพรรดิมิญ หมั่ง ทรงพระราชนิพนธ์ ฮ้วนดิกเถิปเดี่ยว (Huấn Địch Thập Điều, 訓迪十條) หรือหลักปฏิบัติสิบประการสำหรับราษฎรนำไปปฏิบัติ

ลาวและเชียงขวาง

อาณาจักรเชียงขวางเมืองพวนหรือที่เวียดนามเรียกว่า"บ่นมัน" (Bồn Man, 盆蠻) เป็นอาณาจักรประเทศราชขึ้นแก่อาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์ ความขัดแย้งระหว่างเจ้าน้อยเมืองพวนหรือเจ้าสุทธกะสุวรรนะกุมารแห่งเชียงขวางและเจ้าอนุวงศ์แห่งเวียงจันทน์ทำให้เจ้าน้อยเมืองพวนสร้างสัมพันธไมตรีกับเวียดนาม ในค.ศ. 1826 สงครามเจ้าอนุวงศ์ เจ้าอนุวงศ์หลบหนีมายังจังหวัดเหงะอานเพื่อขอความช่วยเหลือจากเวียดนาม จักรพรรดิมิญหมั่งทรงให้เจ้าอนุวงศ์กลับไปยังเมืองเวียงจันทน์ "...อนุทำความผิดหนีไปหาญวน ญวนเหมือนมารดา กรุงเทพมหานครเหมือนบิดา บิดาโกรธบุตรแล้ว มารดาต้องพามาขอโทษ"[3] แต่เจ้าอนุวงศ์กลับนำกองกำลังลอบเข้าโจมตีสังหารฝ่ายไทยที่เวียงจันทน์ พระยาราชสุภาวดี (สิงห์) ต่อมาคือเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) สามารถเอาชนะทัพฝ่ายลาวได้ทำให้เจ้าอนุวงศ์หลบหนีไปยังเขตเมืองพวนอาณาจักรเชียงขวางในค.ศ. 1828 จักรพรรดิมิญหมั่งทางให้เจ้าเมืองเหงะอานแต่งทูตนำพระราชสาสน์มายังพระยาราชสุภาวดีเพื่อเจรจา พระยาราชสุภาวดีออกอุบายลวงคณะทูตเวียดนามมาสังหารหมู่ในงานเลี้ยง[3]

เจ้าน้อยแห่งเมืองพวนด้วยความเกรงว่าทัพฝ่ายไทยจะยกมายังเมืองพวนเพื่อค้นหาเจ้าอนุวงศ์ จึงชี้เบาะแสให้แก่ฝ่ายไทยจนสามารถจับเจ้าอนุวงศ์ส่งลงไปยังกรุงเทพได้ จักรพรรดิมิญหมั่งพิโรธที่เจ้าน้อยเมืองพวนเป็นต้นเหตุให้ฝ่ายไทยสามารถจับเจ้าอนุวงศ์ได้ จึงเรียกเจ้าน้อยเมืองพวนมาเข้าเฝ้าที่เมืองเว้และมีพระราชโองการให้สำเร็จโทษประหารชีวิตเจ้าน้อยเมืองพวนในค.ศ. 1829 และนำเจ้าโป้บุตรชายของเจ้าน้อยมาอยู่ที่เมืองเว้ ทำให้เมืองพวนอาณาจักรเชียงขวางไร้เจ้าปกครองจักรพรรดิมิญหมั่งทรงให้ผนวกเอาดินแดนของอาณาจักรเชียงขวางเข้ามาปกครองโดยตรงเรียกว่า "จังหวัดเจิ๊นนิญ" (Trấn Ninh, 鎮寧) ทรงส่งกองกำลังเวียดนามเข้ายึดครองและแบ่งดินแดนเชียงขวางออกเป็นแปดหน่วยการปกครอง เวียดนามปกครองเชียงขวางอยู่เป็นเวลาหกปี

นโยบายกดขี่ชาวคริสเตียน

เนื่องจากในรัชกาลของจักรพรรดิซา ล็อง ทรงได้รับการสนับสนุนจากขุนพลชาวฝรั่งเศสในการสู้รับกับกบฏเต็ยเซิน หลังจากปราบดาภิเษกแล้วบรรดาขุนนางชาวฝรั่งเศสจึงได้รับการปูนบำเหน็จและขึ้นมามีอำนาจในราชสำนักของจักรพรรดิซา ล็อง ในช่วงต้นรัชสมัยจักรพรรดิมิญ หมั่ง มีขุนนางชาวฝรั่งเศสผู้ทรงอำนาจได้แก่ ฌ็อง-บาติสต์ แชโญ (Jean-Baptiste Chaigneau) และฟีลิป วานีเย (Phillippe Vannier) จักรพรรดิมิญ หมั่ง ทรงเกลียดชังชาวตะวันตกอย่างมาก เนื่องจากชาวตะวันตกนั้นมีจุดมุ่งหมายในการเผยแผ่คริสต์ศาสนาซึ่งขัดแย้งกับลัทธิขงจื๊อในประเด็นเรื่องการเซ่นไหว้บรรพบุรุษ ใน ค.ศ. 1825 จักรพรรดิมิญ หมั่ง มีพระราชโองการห้ามมิให้มีการเผยแพร่คริสต์ศาสนาในพระราชอาณาจักร และทรงห้ามมิให้มิชชันนารีชาวตะวันตกเดินทางเข้าประเทศ ขุนนางฝรั่งเศสทั้งสองทนความกดดันไม่ได้จึงเดินทางออกนอกอาณาจักรเวียดนามไปในที่สุด มีพระราชโองการจับกุมมิชชันนารีชาวฝรั่งเศสจำนวนมากมากักขังไว้ในคุก แต่ทว่าขุนนางเล วัน เสวียต แห่งไซ่ง่อนได้ทูลทัดทานการลงพระอาญาชาวตะวันตก เนื่องจากเขามีความเห็นว่าเวียดนามยังคงต้องการความช่วยเหลือจากชาติตะวันตกในด้านการทหาร พระจักรพรรดิมิญ หมั่ง จึงทรงต้องยอมทำตามคำของของเล วัน เสวียต ปล่อยตัวมิชชันนารีทั้งหลายให้ลงเรือสำเภากลับยุโรปไป แต่ทว่ามิชชันนารีเหล่านั้นต่างลักลอบกลับไปยังสถานศาสนาของตนเองในเวียดนาม

ใกล้เคียง

จักรพรรดินโปเลียนที่ 1 จักรพันธ์ ครบุรีธีรโชติ จักรพรรดิโชวะ จักรพรรดิเมจิ จักรพรรดิคังซี จักรพันธ์ แก้วพรม จักรพรรดิบ๋าว ดั่ย จักรพรรดิยงเจิ้ง จักรพรรดิเปดรูที่ 1 แห่งบราซิล จักรพรรดิกวังซฺวี่