พิชิตอีกครั้ง ของ จักรพรรดิศิวาจี

สันติสุขระหว่างโอรังเซบกับศิวาจีสิ้นสุดลงหลังปี ค.ศ. 1670 เมื่อโอรังเซบเกิดสงสัยความสนิทชิดเชื้อระหว่างศิวาจีและเจ้าชายมูอัสสัมซึ่งกำลังถูกเพ่งเล็งว่าคิดจะโค่นล้มบัลลังก์ของพระองค์ และยังเรียกคืนทหารที่อยู่ในแถบทักขินคืนแต่ปรากฎว่าทหารเหล่านั้นกลับเข้ากับพวกมราฐาอย่างรวดเร็ว และยังพยายามเอาชาคีร์เบราร์จากศิวาจีเพื่อชดเชยส่วนที่เสียให้แก่พวกมราฐาไป ด้วยเหตุนี้ ศิวาจีจึงทรงเริ่มไม่พอพระทัยกับพวกมุคัล และขอให้คืนดินแดนที่เสียไปให้แก่พวกมุคัลในช่วงสี่เดือนกลับคืนมา ในช่วงนี้เอง ตานาจี มาลุสเร แม่ทัพของศิวาจี ได้ชนะศึกเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1670 ที่สิงหคัท แต่ชัยชนะในครั้งนั้นแลกกับชีวิตของตานาจีเอง หลังจากนั้น ศิวาจีจึงได้ทรงเข้าทำลายเมืองสุรัตเป็นครั้งที่ 2 และระหว่างเสด็จกลับก็ถูกดาวูด ข่าน แม่ทัพมุคัลขวางทัพไว้แต่ก็ตีแตกพ่ายไปได้ที่ วานีดินโดรี (ใกล้เมืองนาศิกในปัจจุบัน)

ต่อรองกับอังกฤษ

ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1670 ศิวาจีส่งทหารไปก่อกวนอังกฤษที่เมืองมุมไบ เนื่องจากอังกฤษปฏิเสธที่จะขายอาวุธให้แก่มราฐา กองกำลังของมราฐาจึงได้ตัดทางขนไม้ของอังกฤษ ต่อมาเดือนกันยายน ค.ศ. 1671 ศิวาจีส่งทูตไปบัมบาอีเพื่อมองหาอาวุธเพื่อทำศึกกับ ดันดา–ราชปุรี อังกฤษเกิดสงสัยผลประโยชน์ที่ศิวาจีจะได้ในศึกครั้งนี้แต่กลับยังไม่ต้องการชดเชยการทำลายโรงงานผลิตอาวุธของอังกฤษที่ราชปุระ อังกฤษจึงส่งร้อยโทสตีเฟน อุสติก ไปหว่านล้อมกับศิวาจี แต่การเจรจาเพื่อชดเชยกลับล้มเหลว หลังจากนั้น ทั้งสองฝ่ายต่างก็ส่งทูตไปมาซึ่งกันและกันอยู่ต่อเนื่อง โดยเฉพาะการทำข้อตกลงในการซื้อขายอาวุธในปี ค.ศ. 1674 แต่ศิวาจีไม่เคยทรงจ่ายค่าชดเชยใด ๆ เลย จนกระทั่งเสด็จสวรรคตและโรงงานก็ปิดตัวลงหลัง ค.ศ. 1682

เมื่อศิวาจีเสด็จไปตันชาวุระเพื่อทำสงครามกับพระอนุชาต่างพระมารดา พระองค์ได้พบกับพวกอังกฤษที่เมืองมัทราส (ปัจจุบันคือเมือง เจนไน) ในวันที่ 3 ตุลาคม ค.ศ. 1677 ตามที่หลักฐานที่จารึกในแผ่นโลหะที่วัดกาลีกัมบัลระบุไว้ เจ้าหน้าที่ของบริษัทอินเดียตะวันออกซึ่งดูแลป้อมเซนต์จอร์จในเวลานั้นอยู่ได้ระบุว่า ศิวาจีได้มาที่ประตูป้อมมาและถามหาช่างอังกฤษแต่ถูกปฏิเสธอย่างสุภาพ

ศึกที่เนสารี

ในปี ค.ศ. 1674 ประตาปราว คุชาร์ แม่ทัพใหญ่ของมราฐาถูกส่งไปตีโต้กองทัพของบาห์โลล์ ข่าน แห่งอทิลศาห์ กองทัพของประตาปราวได้ชัยชนะและจับกุมแม่ทัพฝ่ายตรงข้ามได้ หลังจากที่ได้ตัดเส้นทางส่งน้ำโดยการล้อมรอบทะเลสาบอันเป็นจุดยุทธศาสตร์ โดยบาห์โลล์ ข่าน เรียกร้องขอให้ยุติศึก ประตาปราวเมตตาปล่อยตัวบาห์โลล์ ข่าน ออกไป แม้ว่าศิวาจีจะเตือนเกี่ยวกับเรื่องนี้ก็ตาม ซึ่งหลังจากนั้น บาห์โลล์ ข่าน ก็ได้พยายามคิดจะรุกรานอีกครั้งหนึ่ง

ป้อมรายคัท

ศิวาจีส่งจดหมายแสดงความไม่พอพระทัยให้แก่ประตาปราว และไม่สนพระทัยคำทัดทานของเขาจนกระทั่งสามารถจับกุมบาห์โลล์ ข่าน ได้อีกครั้งหนึ่ง หลังจากนั้นไม่นาน ศิวาจีจึงได้รู้ว่าบาห์โลล์ ข่าน ตั้งค่ายที่มีทหารกว่า 15,000 นาย ที่เนสารีใกล้เมืองโกลหาปุระ เพื่อไม่ต้องเสี่ยงต่อการสูญเสียกองกำลังของมราฐาอันมีน้อยนิด ประตาปราวและข้ารับใช้ 6 คน จึงเสียสละชีวิตด้วยการเข้าโจมตีค่ายของบาห์โลล์ ข่าน เพื่อถ่วงเวลาให้อนันด์ราว โมหิเต ส่งกองกำลังเข้าช่วยเหลือศิวาจี หลังจากนั้น อนันต์ราวจึงเข้าตีทัพของบาห์โลล์ ข่าน แตกพ่ายออกไป และเข้ายึดชาคีร์ของเขา ศิวาจีเสียพระทัยอย่างมากเมื่อได้รู้ข่าวการตายของประตาปราว จึงได้ให้ราชาราม พระโอรสองค์รอง เข้าอภิเษกสมรสกับลูกสาวของประตาปราว อนันด์ราวได้เปลี่ยนชื่อเป็น ฮัมบีร์ราว และแต่งตั้งให้เป็นแม่ทัพใหญ่คนใหม่ของมราฐา และป้อมรายคัทถูกสร้างใหม่โดยฮิโรจี อินทุลการ์ เพื่อเตรียมเป็นเมืองหลวงของว่าที่อาณาจักรใหม่

ใกล้เคียง

จักรพรรดินโปเลียนที่ 1 จักรพันธ์ ครบุรีธีรโชติ จักรพรรดิโชวะ จักรพรรดิเมจิ จักรพรรดิคังซี จักรพันธ์ แก้วพรม จักรพรรดิบ๋าว ดั่ย จักรพรรดิยงเจิ้ง จักรพรรดิเปดรูที่ 1 แห่งบราซิล จักรพรรดิกวังซฺวี่