ทฤษฎีมาร์กซิสต์เกี่ยวกับจักรวรรดินิยม ของ จักรวรรดินิยม

นักมาร์กซิสต์ใช้ศัพท์คำว่า "จักรวรรดินิยม" ในความหมายเช่นที่เลนินให้คำจำกัดความไว้คือ "สภาวะ/ขั้นตอนสูงสุดของลัทธิทุนนิยม" โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่ทุนการเงินผูกขาดได้กลายเป็นปัจจัยสำคัญยิ่ง ในการบีบให้ประเทศจักรวรรนิยมทั้งหลายต้องแข่งขันระหว่างกันเองเพิ่มมากขึ้นเพื่อให้สามารถเข้าควบคุมแหล่งทรัพยากร และตลาดทั่วโลกไว้ได้ การเข้าควบคุมนี้อาจอยู่ทั้งในรูปแบบของการใช้เครื่องมือทางภูมิรัฐศาสตร์, การใช้กองกำลังทหารเข้ายึด หรือการยักย้ายถ่ายเททางการเงินก็ได้

สาระสำคัญของทฤษฎีมาร์กซิสต์ที่เกี่ยวกับลัทธิจักรวรรดินิยม หรือทฤษฎีที่เกี่ยวข้องอื่นๆ เช่น ทฤษฎีพึ่งพา (dependency theory) นั้นต่างก็มุ่งเน้นไปที่ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศต่างๆ มากกว่าความสัมพันธ์ที่ชัดเจนทางการเมือง ดังนั้นลัทธิจักรวรรดินิยมในทฤษฎีของมาร์กซิสต์จึงไม่เพียงแต่ประกอบด้วยการเข้าควบคุมปกครองประเทศใดประเทศหนึ่งโดยตรงเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมไปถึงการกดขี่ขูดรีด แสวงหาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจในภูมิภาคหนึ่ง โดยภูมิภาคอื่น ๆ หรือโดยกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งจากนอกภูมิภาคด้วย ความหมายของจักรวรรดินิยมที่มาร์กซิสต์ใช้นี้ตรงกันข้ามกับความหมายที่คนส่วนใหญ่เข้าใจ ซึ่งโดยปกติมักจะเข้าใจกันว่า "ลัทธิจักรวรรดินิยม" นั้นมีความหมายเกี่ยวข้องกับยุคสมัยที่ประเทศมหาอำนาจขยายอิทธิพลเข้าปกครองควบคุมเหนือดินแดนอันกว้างใหญ่ไพศาลไว้โดยตรง มากกว่าที่จะเป็นการเข้าควบคุมครอบงำทางเศรษฐกิจ อันเป็นลักษณะเหมือนกันกับที่บางประเทศในโลกปัจจุบันนี้เข้ามีอิทธิพลครอบงำเหนือชาติอื่นๆ ซึ่งความเข้าใจในลักษณะนี้ เป็นผลมาจากการผนวกรวมเอาความหมายของลัทธิจักรวรรดินิยม เข้ากับคำว่า ลัทธิอาณานิคม ซึ่งเป็นการขยายอำนาจด้วยการเข้าไปตั้งดินแดนภายใต้ปกครองหรืออาณานิคมขึ้นในดินแดนโพ้นทะเล

แม้ว่าโดยทั่วไปแล้วมาร์กซิสต์จะพิจารณาว่ามหาอำนาจเจ้าจักรวรรดินั้นมักเป็นประเทศทุนนิยมแห่งโลกที่ 1 แต่ก็มีมาร์กซิสต์บางกลุ่ม (เบื้องต้นคือกลุ่มนิยมเหมาและกลุ่มอื่นๆ อีกหลายกลุ่ม) ที่เชื่อว่า ท้ายที่สุดแล้วสหภาพโซเวียต ก็จะพัฒนากลายไปเป็น "สังคม-จักรวรรดินิยม" (social-imperialist) ด้วย --- นั่นคือเป็น "สังคมนิยมโดยคำพูดแต่เป็นจักรวรรดินิยมโดยการกระทำ" ซึ่งหมายถึงการที่สหภาพโซเวียตใช้กำลังอำนาจและอิทธิพลเข้าครอบงำประเทศในกลุ่มยุโรปตะวันออก และประเทศอื่นๆอีกหลายประเทศ

จีน อินเดีย และประเทศขนาดใหญ่อื่น ๆ อีกหลายประเทศที่มีอิทธิพลโดดเด่นในแต่ละภูมิภาคของโลกนั้น บางครั้งก็ถูกกล่าวหาว่ามีพฤติกรรมเป็นผู้นิยมในลัทธิจักรวรรดินิยม ด้วยเช่นกัน

เป็นที่น่าสังเกตว่า มาร์กซเองนั้น ไม่ได้ประกาศหรือเสนอ ทฤษฎีเกี่ยวกับลัทธิจักรวรรดินิยมไว้เลย และมีความเห็นตรงกันข้ามกับนักคิดมาร์กซิสต์รุ่นต่อๆมา ซึ่งโดยทั่วไปมองว่า ลัทธิอาณานิคม ของชาติมหาอำนาจยุโรปเป็นสิ่งที่มีความสำคัญยิ่งในการแพร่ขยายลัทธิทุนนิยมออกไปทั่วโลก มากกว่าที่จะมองว่า เป็นการปล้นสะดมประเทศอาณานิคมเหล่านั้นเพื่อกอบโกยผลประโยชน์ไปให้แก่ประเทศแม่ที่เป็นศูนย์กลางอยู่ในยุโรป

พัฒนาการใหม่ในแนวคิดของมาร์กซิสต์ศึกษาเกี่ยวกับลัทธิจักรวรรดินิยมได้ก่อกำเนิดขึ้นจาก การวางรากฐานครั้งสำคัญของหนังสือ "ยุคแห่งลัทธิจักรวรรดินิยม" (The Age of Imperialism) ซึ่งเขียนขึ้นโดย แฮร์รี แมกดอฟฟ์ (Harry Magdoff) ในปีค.ศ. 1969 ปัจจุบันนี้ มีความเห็นโดยทั่วไปด้วยว่า โลกาภิวัตน์ (Globalization) นั้น แท้จริงแล้วก็คือ การกลับชาติมาเกิดใหม่ของ ลัทธิจักรรดินิยมนั่นเอง

ใกล้เคียง

จักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี จักรวรรดิญี่ปุ่น จักรวรรดิบริติช จักรวรรดิออตโตมัน จักรวรรดิมองโกล จักรวาลภาพยนตร์มาร์เวล จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ จักรวรรดิโรมัน จักรวาลภาพยนตร์มาร์เวล: เฟสสอง จักรวรรดิรัสเซีย