การใช้ประโยชน์ ของ จาก

จากเป็นพืชที่คนไทยรู้จักมานาน และใช้ประโยชน์ของจากได้เป็นอย่างดี ตั้งแต่ใบจนถึงผล ใบจากมีลักษณะคล้ายใบมะพร้าว แต่มีความเหนียว และกว้างกว่า ทำให้สามารถใช้นำมาเย็บเป็นตับ เรียกว่า "ตับจาก" แล้วนำไปมุงหลังคา กันแดดกันฝนได้เป็นอย่างดี แม้ว่าจะใช้งานไปนาน ใบจากกรอบ เปลี่ยนจากสีเขียวเข้ม เป็นสีเหลือง สีน้ำตาล กระทั่งเกือบเป็นสีดำ แต่ก็ยังคงกันฝนและแดดได้ จนกว่าจะแห้งกรอบและผุไป ใช้ทำหมวกที่เรียก "เปี้ยว" พอนจากใช้ทำเชื้อเพลิง ใบจากอ่อนตากแห้งใช้มวนยาสูบ ห่อขนมต้ม ทำที่ตักน้ำเรียก "หมาจาก" ตอกบิด เสวียนหม้อ ใช้ห่อขนมจาก ซึ่งเป็นขนมที่ทำจากแป้ง น้ำตาล และมะพร้าว ผสมกันจนเหลวได้ที่ แล้วนำห่อด้วยใบจาก ปิ้งบนไฟ จนมีกลิ่นหอม แม้อาจมีการใช้ใบมะพร้าวมาห่อ แต่ก็ไม่อร่อยเท่าใช้ใบจาก ใบจากใช้ต้มน้ำดื่มแก้อาการท้องร่วงได้ ในหมู่เกาะโรตีและซาวูใช้ใบจากเป็นอาหารหมูเพื่อให้เนื้อหมูมีรสหวาน

ช่อดอกนำมาทำแกงหรือกินกับน้ำพริก ก้านช่อดอกปาดเอาน้ำหวานมาทำเป็นน้ำตาลได้ เรียก "โซม"[2] หรือนำไปหมักเป็นเหล้าและน้ำส้มสายชู กลีบดอกนั้นนำไปเป็นส่วนผสมของชาสมุนไพรได้ผลจากที่สุกแล้ว จะมีเนื้อในเมล็ดเป็นเยื่อสีขาว ใส นุ่ม มีรสหวาน นิยมรับประทานเป็นของหวาน เรียกลูกจาก ผลอ่อนที่แตกหน่อ จะมีจาวอยู่ข้างใน นำมารับประทานได้เช่นเดียวกับจาวตาล หรือจาวมะพร้าว

การทำน้ำส้มสายชู

ในการทำน้ำส้มสายชู นั้นจะมีขั้นตอนทุกอย่างคล้ายกับการทำน้ำตาล แต่ไม่ต้องนำน้ำหวานขึ้นเตาเพื่อเคี่ยว เพียงแต่หมักไว้ในไหประมาน 10 วัน ก็จะเกิดกรดน้ำส้มเพื่อใช้มาบริโภค หากต้องการเก็บไว้นานเป็นปี มักจะเติมเกลือและกระเทียมลงไปด้วย แต่ถ้าไม่ใส่กระเทียมและเกลือก็จะเก็บไว้ได้เพียง 6 เดือนเท่านั้น จึงเป็นสิ่งที่ควรศึกษา ในกรณีของน้ำตาลสด พืชตระกูลปาล์มอื่นๆ เช่น ตาลโตนด ก็สามารถที่จะนำหมักเป็นน้ำส้มสายชูได้ เช่นเดียวกับน้ำตาลจาก ขั้นตอนในการผลิตมีความคล้ายคลึงกับการทำน้ำตาลจากในช่วงแรก แต่การทำน้ำส้มจะไม่ใส่เปลือกเคี่ยมในกระบอกรองรับน้ำหวาน และไม่ต้องต้มเคี่ยว เพียงแต่หมักในไห 10 วัน ก็จะเกิดรสเปรี้ยว ผู้ที่ทำน้ำส้มสายชูนั้น มักจะทำรวมกันกับอาชีพอื่น สามารถผลิตน้ำส้มได้วันละ 15-20 ลิตร โดยขายส่งในราคาลิตรละ 5 บาท ทำให้มีรายได้วันละ 75-100 บาท ถ้าหากขายปลีกจะขายเป็นขวด หรือลิตรละ 8 บาท รายได้ตะเพิ่มขึ้นเป็นวันละ 120-160 บาท ทำให้มีรายได้ต่อเดือน 2250-3000 บาท[5]

การใช้ใบจากมวนบุหรี่

การตัดยอดจากเพื่อนำมาทำใบจากมวนบุหรี่ มักเป็นผู้ที่อาศัยใกล้ชายฝั่งทะเลซึ้งประกอบอาชีพการทำประมงไปด้วย ดารตัดยอดจากจึงใช้เรือเป็นพาหนะ เนื่องจากอยู่ใกล้ชายทะเล มีน้ำท่วมขัง โดยสามารถตัดยอดจากได้วันละ 150-180 ยอดต่อวัน จะขายส่งให้กับพ่อค้าในตลาดอำเภอปากพนัง หรือตากให้แห้งทำใบจากเอง ปัจจุบันขายได้ราคายอดละ 1 บาท และหลังจากการตัดยอดแล้วอีกประมาน 3 เดือน จึงจะตัดยอดใหม่ได้จึงทำให้มีรายได้ประมาณ 150-180 บาทต่อวัน หรือ 4500-5400 บาทต่อเดือน[6]

การเย็บจาก มุงหลังคาและกั้นฝาผนัง

ในการเย็บจากมุงหลังคาและทำฝาผนัง จะใช้ใบจากแก่มาทำ โดยตัดใบที่ต้องการแล้วปล่อยให้เหลือใบไว้เลี้ยงกอ 3-4 ใบ ในการเย็บจากนิยมใช้ใบดับยาว 1เมตร โดยใช้ใบย่อยของใบจาก 2 ใบ ซ้อนให้ทับกันแล้วเย็บร้อยให้ติดกัน ใบจาก 1 ใบ ทำได้ประมาณ 4 ตับ ใช้วัสดุที่หาได้ในท้องถิ่น ได้แก่ เชือกคล้าหรือเถาหวายลิง ซึ่งพบได้ทั่วไปในป่าจากเป็นเชือกเย็บร้อย สำหรับไม้ดับนั้นก็ได้จากก้านใบหรือ “ทางจาก” ตากแห้ง ซึ่งจะเห็นได้ว่ากิจกรรมประเภทนี้ ไม่จำเป็นต้องหาวัสดุจากภายนอกเลย จากมุงหลังคาส่วนมากจะมีความคงทนอยู่ได้นานถึง 7-8 ปี แต่ถ้าหากเย็บจากโดยใช้ใบ 3 ใบ ซ้อนทับกัน จะอยู่ได้นานไม่น้อยกว่า 10 ปี ในปัจจุบันตลาดมีความต้องการจากมุงหลังคา เพื่อใช้ในธุรกิจร้านอาหารหรือทำโรงเรือนในนากุ้ง เนื่องจากทำให้ไม่ร้อนอบอ้าว จึงมีการประกอบอาชีพนี้มากเพราะสามารถทำได้ทุกฤดู การเย็บจากสามารถทำได้ตลอดทั้งปี โดยตัดใบแก่มาเย็บ ขนาดของตับจากจะมี 2 ขนาดคือ ขนาด 1 เมตร และขนาด 1.20 เมตร แต่ที่นิยมคือ ขนาด 1 เมตรเรียกว่า “จาก 2 ศอก” ผู้ที่ประกอบอาชีพนี้สามารถเย็บจากได้ 80-160 ตับต่อคนต่อวัน เมื่อคิดเป็นรายได้ราคาตับละ 1.50 บาท (พ.ศ. 2540) จะมีรายได้ประมาณ 120-150 บาทต่อคนต่อวัน หรือ 3,600-4,500 บาทต่อคนต่อเดือน เมื่อรวมทั้งปีจะมีรายได้ประมาณปีละ 43,200-54,000 บาทต่อคน ซึ่งเป็นรายได้ที่ดีและสูง เมื่อเปรียบเทียบรายได้เฉลี่ยของเกษตรกรในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังเช่นกัน [7]

การทำน้ำตาลจาก

ในกรณีของการทำน้ำตาลในอำเภอปากพนัง ซึ่งเป็นพื้นที่ศึกษานั้นจะมีช่วงของการผลิตช่วงละ 3-4 เดือน ซึ่งในรอบปีสามารถเข้าไปปาดน้ำตาลได้ 8 เดือน มีระยะการเตรียมการอยู่ 2 เดือน ซึ่งในรอบปีสามารถเข้าไปใช้พื้นที่ปีละ 10 เดือน โดยจะหยุด 2 เดือน คือ เดือนพฤศจิกายนและธันวาคมของทุกปี ทั้งนี้เนื่องจากในช่วงดังกล่าวเป็นช่วงฤดูฝน มีน้ำท่วมขังในพื้นที่ป่าจาก จึงไม่สะดวกในการเข้าไปใช้พื้นที่ แต่บางรายใช้เรือและใช้ถุงพลาสติกหุ้มปากกระบอกกันฝน จึงปาดน้ำตาลได้ตลอดปี เมื่อถึงเดือนมกราคมซึ่งเป็นช่วงที่ฝนหยุดตก ปริมาณน้ำในป่าจากลดลงจนเกือบแห้ง เกษตรกรก็จะเริ่มเข้าไปใช้ประโยชน์ในฤดูของการผลิตแรก[8]


การใช้ส่วนต่าง ๆ มาประกอบอาหาร

ผลอ่อนอายุประมาณ 4 เดือนของจาก สามารถนำมาหั่นเป็นชิ้นบาง ๆ เพื่อทำเป็นผักดองหรือเป็นผักแกง ส่วนผลจากอายุประมาณ 5-7 เดือนนั้นเนื้อในผลจาก(endosperm)สามารถรับประทานได้โดยทำขนมหวานน้ำเชื่อม ลักษณะคล้ายลูกชิดแต่มีขนาดใหญ่กว่า นอกจากนี้ช่อดอกอ่อนอายุประมาณ 1 เดือน สามารถนำมาหั่น ทำเป็นผักจิ้มน้ำพริกโดยการลวกหรือรับประทานสด และสามารถนำเป็นผักดองกับน้ำส้มที่ทำจากต้นจากใช้รับประทานเป็นผักดองขนมจีน ซึ่งเป็นที่นิยมของประชาชนในท้องถิ่น[9]


การผลิตแอลกฮอล์และทำสุรา

การทำแอลกอฮอล์จากน้ำตาลจากได้เริ่มขึ้นในประเทศฟิลิปปินส์ ในปี พ.ศ. 2454 และในประเทศมาเลเซีย อีก 10 ปีต่อมา โดยเฉพาะในยุคน้ำมันเชื้อเพลิงมีราคาแพง การใช้แอลกอฮอล์ผสมกับน้ำมันปิโตรเลียมในสัดส่วน 1: 4 สามารถกระทำได้ดีโดยไม่ต้องปรับเปลี่ยน สมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง การผลิตแอลกอฮอล์ในประเทศมาเลเซียได้ผลผลิตประมาณ 2,450 ลิตรต่อไร่ต่อปี โดยมีพื้นที่การปาดปีละ 340 วัน ในขณะที่ประเทศฟิลิปปินส์ได้ผลผลิตระหว่าง 1,037 – 1,636 ลิตรต่อไร่ต่อปี แต่ถ้ามีการปรับปรุงประสิทธิภาพ อาจผลิตได้ถึง 2,900 ลิตรต่อไร่ สำหรับในรัฐซาราวัคของมาเลเซียในปี พ.ศ. 2503 ผลิตแอลกอฮอล์ได้ 341,505 ลิตร แต่พอถึงปี พ.ศ. 2523 ผลิตได้เพียง 8,406 ลิตร ทั้งนี้เพราะจำนวนเกษตรกรที่ทำน้ำตาลจากลดลง (Chai , 1982) ที่อำเภอปากพนังนั้น การทำแอลกอฮอล์ 10 ลิตร ต้องใช้น้ำตาลจาก 1 ปี๊บ ซึ่งสู้ราคาขายเป็นน้ำตาลไม่ได้ นอกจากทำเป็นสุราที่ราคาดีกว่า[10]