จิตรกรรมยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาตอนต้น ของ จิตรกรรมสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาในอิตาลี

งานที่ส่งเข้าแข่งขันของกิเบอร์ติ“ประตูสวรรค์”

ฟลอเรนซ์ ค.ศ. 1401

งานที่มีลักษณะที่เป็นงานของยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาที่แท้จริงในฟลอเรนซ์เริ่มขึ้นในปีแรกของคริสต์ศตวรรษที่ 15 หรือที่รู้จักกันในอิตาลีว่ายุค “ควัตโตรเชนโต” (Quattrocento) ที่มีความหมายเดียวกับคำว่า “ยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาตอนต้น” ในช่วงนั้นก็ได้มีการแข่งขันเพื่อที่จะหาตัวจิตรกรที่จะมาสร้างประตูสัมริดสองประตูสำหรับหอศีลจุ่มซานจิโอวานนิ ที่เป็นคริสต์ศาสนสถานที่เก่าแก่ที่สุดในฟลอเรนซ์ ตัวหอศีลจุ่มเป็นโครงสร้างแปดเหลี่ยมแบบโรมาเนสก์ที่ไม่ทราบที่มาแต่นิยมเชื่อกันว่าสร้างมาตั้งแต่สมัยโรมัน บนเพดานภายใต้โดมตกแต่งด้วยงานโมเสกขนาดมหึมาเป็นภาพ “พระเยซูผู้ทรงเดชานุภาพ[12] (Christ in Majesty) ที่สันนิษฐานกันว่าออกแบบโดยค็อพโพ ดิ มาร์โควาลโด หอมีประตูใหญ่สามประตู ประตูกลางเป็นประตูที่สร้างโดยอันเดรีย ปิซาโนแปดสิบปีก่อนหน้านั้น

ประตูของปิซาโนประกอบด้วยแผงสี่เหลี่ยม 28 แผงที่เป็นบรรยายเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับ “ชีวิตของนักบุญจอห์นแบ็พทิสต์” ผู้ที่เข้าแข่งขันที่มีด้วยกันเจ็ดคนต้องออกแบบแผงสัมริดที่มีลักษณะคล้ายกับของเดิมทั้งขนาดและรูปร่าง ที่เป็นฉากภาพ “การสังเวยไอแซ็ค

แผงสองแผงจากการแข่งขันที่สร้างโดยลอเร็นโซ กิเบอร์ติ และโดยฟีลิปโป บรูเนลเลสกียังคงมีอยู่ให้เห็น แต่ละแผงแสดงลักษณะภาพแบบคลาสสิกที่แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มของการสร้างศิลปะที่กำลังจะเกิดขึ้นในขณะนั้น กิเบอร์ติใช้รูปเปลือยของไอแซ็คในการสร้างงานที่มีลักษณะแบบคลาสสิก ไอแซ็คคุกเข่าบนที่แท่นฝังศพที่ตกแต่งด้วยลวดลายใบอาแคนธัสที่เป็นนัยยะถึงงานศิลปะของโรมันโบราณ ตัวแบบหนึ่งในภาพของบรูเนลเลสกีทำให้นึกถึงรูปปั้นสัมริดโรมันที่มีชื่อเสียงที่เป็นภาพของเด็กชายดึงหนามออกจากฝ่าเท้า งานของบรูเนลเลสกีเป็นงานที่แสดงไดนามิกของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแต่ไม่งามเท่างานของกิเบอร์ติที่เป็นงานที่แสดงความเป็นนาฏกรรมของมนุษย์และแสดงให้เห็นถึงโศกนาฏกรรมที่กำลังจะเกิดขึ้น[13]

กิเบอร์ติเป็นผู้ชนะการแข่งขัน ประตูแรกที่สร้างคือประตูหอศีลจุ่มซานจิโอวานนิที่ใช้เวลาถึง 27 ปีในการสร้าง หลังจากนั้นกิเบอร์ติก็ได้รับจ้างให้สร้างประตูที่สอง ในช่วง 50 ปีที่กิเบอร์ติสร้างประตู ประตูห้องสร้างงานศิลปะของกิเบอร์ติก็เป็นที่ฝึกงานสำหรับศิลปินหลายคนในฟลอเรนซ์ ภาพชุดบนแผงเป็นเรื่องราวต่อเนื่องที่ไม่แต่ต้องใช้ความชำนาญในวางองค์ประกอบของภาพทั้งหมดและการจัดตัวแบบในองค์ประกอบที่วางไว้ แต่ศิลปินยังต้องมีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งถึงการจัดภาพให้มีทัศนมิติ (Linear perspective) ประตูที่กิเบอร์ติสร้างมีอิทธิพลอันมหาศาลต่อการวิวัฒนาการของจิตรกรรมยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยาของฟลอเรนซ์ และเป็นสิ่งที่เป็นที่เชิดหน้าชูตาของชาวฟลอเรนซ์ นอกจากนั้นก็ยังเป็นจุดที่แสดงถึงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของศิลปินในฟลอเรนซ์ ไมเคิล แอนเจโลถึงกับเรียกว่างานชิ้นนี้ว่า “ประตูสวรรค์”

“อาดัมและอีฟ” โดยมาซาชิโอ

ชาเปลบรันคาชชิ

ดูบทความหลักที่: ชาเปลบรันคาชชิ

ในปี ค.ศ. 1426 จิตรกรสองคนเริ่มเขียนจิตรกรรมฝาผนังของภาพชุด “ชีวิตของนักบุญปีเตอร์” ภายในชาเปลของตระกูลบรันคาชชิที่วัดคาร์เมไลท์ในฟลอเรนซ์ ศิลปินทั้งสองคนนี้ต่างก็ชื่อโทมมัสโซและได้รับการตั้งชื่อเล่นให้ว่า มาซาชิโอ และ มาโซลิโน -- ทอมใหญ่ และ ทอมเล็ก

มาซาชิโอมีความเข้าใจถึงผลสะท้อนของอิทธิงานเขียนของจอตโต ดี บอนโดเนมากกว่าผู้ใด และดำเนินการเขียนแบบสังเกตธรรมชาติต่อมา ภาพเขียนของมาซาชิโอแสดงให้เห็นถึงความเข้าใจในกายวิภาคของมนุษย์, ทัศนมิติของการเขียนแบบทัศนียภาพ, การใช้แสง และการเขียนความพริ้วของผ้า ในบรรดางานหลายชิ้นที่เขียน “อาดัมและอีฟถูกขับจากสวรรค์” เป็นงานที่มีชื่อเสียงว่าเป็นงานที่แสดงลักษณะที่เป็นจริงของร่างกายและอารมณ์ของมนุษย์ ซึ่งเป็นภาพที่แตกต่างจากงานเขียน “อาดัมและอีฟได้ผลไม้ต้องห้าม” ที่อยู่ตรงกันข้ามกันของมาโซลิโนที่เป็นภาพที่อ่อนโยนและสวย

มาซาชิโอเขียนภาพในชาเปลบรันคาชชิได้เพียงครึ่งเดียวก่อนจะมาเสียชีวิตเมื่ออายุได้เพียง 26 ปี ต่อมาก็มาเขียนเสร็จโดยฟิลิปปิโน ลิปปี งานของมาซาชิโอเป็นงานที่สร้างแรงบันดาลใจให้แก่จิตรกรหลายคนต่อมาที่รวมทั้งเลโอนาร์โด ดา วินชี และ ไมเคิล แอนเจโล[14]

การวิวัฒนาการของการเขียนแบบทัศนียภาพ

“การนำพระแม่มารีเข้าวัด” โดย เปาโล อูเชลโลแสดงให้เห็นการเขียนที่ทดลองการใช้ทัศนมิติและแสง

ระหว่างครึ่งแรกของคริสต์ศตวรรษที่ 15 ความพยายามสร้างงานเขียนให้เหมือนจริงโดยวิธีการเขียนแบบทัศนียภาพก็เป็นสิ่งที่จิตรกรหลายคนมุ่งมั่นที่จะทำให้สำเร็จ ที่รวมทั้งสถาปนิกเช่นฟีลิปโป บรูเนลเลสกี และ ลีออน บาตติสตา อัลเบอร์ติ สถาปนิกทั้งสองนี้คนต่างก็ตั้งทฤษฎีเกี่ยวกับหัวข้อนี้อย่างลึกซึ้ง จนเป็นที่ทราบกันว่าฟีลิปโป บรูเนลเลสกีทำการศึกษาจตุรัสและหอศีลจุ่มแปดเหลี่ยมนอกมหาวิหารฟลอเรนซ์อย่างละเอียด และเชื่อกันว่าเป็นผู้ช่วยมาซาชิโอในการสร้างศิลปะลวงตาทรอมพลุยล์ชิ้นสำคัญในช่องรอบ ที่เป็นภาพ “การนำพระแม่มารีเข้าวัด” ที่มาซาชิโอเขียนในบาซิลิกาซานตามาเรียโนเวลลา[14]

จากบันทึกของวาซารีเปาโล อูเชลโลก็เป็นอีกผู้หนึ่งที่เคร่งเครียดกับการศึกษาทัศนมิติจนไม่มีเวลาคิดถึงสิ่งอื่นใด และใช้ทฤษฎีที่ศึกษาในการทดลองเขียนภาพหลายภาพ แต่ภาพที่สำคัญที่สุดที่เป็นที่รู้จักกันดีคือภาพ “ยุทธการซานโรมาโน” ที่อูเชลโลวางภาพที่ทำให้ดูมีความลึกเช่นจากตำแหน่งของอาวุธที่ถูกทำลายหักกระจายอยู่บนพื้นหน้าภาพ และทุ่งที่ไกลออกไป

ในคริสต์ทศวรรษ 1450 การเขียนภาพเช่น “พระเยซูถูกเฆี่ยน” โดยเปียโร เดลลา ฟรานเชสกาแสดงให้เห็นถึงความมีฝีมือในการเขียนภาพแบบทัศนียภาพ และการใช้แสง อีกภาพหนึ่งเป็นภาพภูมิทัศน์เมืองที่ไม่ทราบนามผู้เขียนแต่อาจจะเป็นเปียโร เดลลา ฟรานเชสกาเอง ที่แสดงให้เห็นถึงการทดลองตามแบบที่ฟีลิปโป บรูเนลเลสกีได้ทำไว้ ตั้งแต่นั้นมาการเขียนแบบทัศนียภาพก็เป็นที่เข้าใจกันดีขึ้นและเป็นสิ่งที่ใช้ในการเขียนภาพกันจนเป็นปกติ โดยเฉพาะในงานเขียนภาพ “พระเยซูมอบกุญแจให้นักบุญปีเตอร์” ภายในชาเปลซิสตินโดยเปียโตร เปรูจิโน เป็นต้น[13]

ความเข้าใจในการใช้แสง

พระเยซูถูกเฆี่ยน” แสดงให้เห็นความเชี่ยวชาญในการใช้ทัศนมิติและแสงในการเขียนของเปียโร เดลลา ฟรานเชสกา

จอตโต ดี บอนโดเนใช้โทนสีในการสร้างรูปทรง ทัดดิโอ กัดดีใช้แสงในการสร้างนาฏกรรมในภาพเขียนที่เป็นภาพยามค่ำที่เขียนภายในชาเปลบารอนเชลลิ เปาโล อูเชลโลอีกร้อยปีต่อมาทดลองการใช้แสงที่ทำให้เกิดนาฏกรรมในจิตรกรรมฝาผนังที่เกือบเป็นเอกรงค์ อูเชลโลเขียนภาพที่เรียกว่า “terra verde” หรือ “green earth” และใช้สีส้มแดง (Vermilion) เล็กน้อยในการช่วยทำให้ภาพมีชีวิตชีวาขึ้น งานเขียนที่เป็นที่รู้จักกันดีที่สุดก็คือภาพเหมือนคนขี่ม้าของจอห์น ฮอว์ควูดทหารรับจ้างชาวอังกฤษที่ไปทำงานอยู่ในอิตาลีบนผนังของมหาวิหารฟลอเรนซ์ ทั้งภาพเขียนนี้และหัวสี่หัวของประกาศกที่เขียนด้านในของนาฬิกาในมหาวิหาร อูเชลโลใช้โทนสีที่ตัดกันอย่างจัดที่เป็นนัยยะว่าตัวแบบแต่ละตัวได้รับแสงที่ส่องโดยธรรมชาติราวกับว่าเป็นแสงที่ส่องมาโดยตรงจากหน้าต่างของมหาวิหารจริงๆ[15]

เปียโร เดลลา ฟรานเชสกาศึกษาการใช้แสงต่อไปอีกที่เห็นได้จากภาพ “พระเยซูถูกเฆี่ยน” ในภาพนี้ฟรานเชสกาแสดงให้เห็นถึงความรู้ความเข้าใจถึงการสาดของแสงอย่างเท่าๆ กันจากแหล่งกำเนิด ในภาพนี้ฟรานเชสกาใช้จุดกำเนิดของแสงสองจุดๆ หนึ่งมาจากภายในตัวสิ่งก่อสร้างและอีกจุดหนึ่งจากภายนอก จากจุดภายในแม้ว่ามองไม่เห็นต้นแสง แต่ตำแหน่งของการสาดสามารถคำนวณได้จากทฤษฎีคณิตศาตร์ได้อย่างแน่นอน เลโอนาร์โด ดา วินชีศึกษาการใช้แสงในการเขียนภาพของงานฟรานเชสกาต่อไปอีก[16]

ทอนโด“พระแม่มารีและพระบุตร” โดยอันเดรอา เดลลา รอบเบีย และ จิโอวานนิ เดลลา รอบเบีย“พระแม่มารีและพระบุตร” โดยฟิลลิปโป ลิปปี ค.ศ. 1459

พระแม่มารี

พระแม่มารีผู้ทรงเป็นที่นับถือของคริสต์ศาสนิกชนโรมันคาทอลิกโดยทั่วไปเป็นหัวข้อที่นิยมสร้างเป็นงานศิลปะกันมากในฟลอเรนซ์ ที่เห็นได้จากภาพปาฏิหาริย์บนคอลัมน์ในตลาด ภาพ “พระแม่มารีแห่งดอกไม้” ภายในมหาวิหาร และวัดโดมินิคัน “บาซิลิกาซานตามาเรียโนเวลลา” ที่ตั้งชื่ออุทิศให้พระองค์

ภาพปาฏิหาริย์พระแม่มารีที่ตลาดเดิมถูกเพลิงไหม้ทำลายไปแต่มาเขียนแทนที่ในคริสต์ทศวรรษ 1330 โดยเบอร์นาร์โด ดัดดิที่เป็นภาพที่เขียนอย่างหรูหราอยู่ภายใต้ซุ้มที่ประดิษฐ์ประดอยที่ออกแบบโดยออร์ชานยา ชั้นล่างของสิ่งก่อสร้างที่เปิดออกไปล้อมรอบด้วยบริเวณที่เรียกว่าวัดออร์ซานมิเคเล

การเขียนภาพ “พระแม่มารีและพระบุตร” เป็นหัวข้อที่นิยมเขียนกันมากในฟลอเรนซ์ ที่มีทุกอย่างตั้งแต่แผ่นดินเผาขนาดเล็กที่สร้างกันเป็นอุตสาหกรรมไปจนถึงฉากแท่นบูชาเช่นงานเขียนโดยชิมาบูเย, จอตโต ดี บอนโดเน และ มาซาชิโอ

ในคริสต์ศตวรรษที่ 15 และครึ่งแรกของคริสต์ศตวรรษที่ 16 ห้องสร้างงานศิลปะห้องหนึ่งที่มีความสำคัญมากกว่าห้องใดในการสร้างงานเกี่ยวกับพระแม่มารีก็คือห้องสร้างงานศิลปะของตระกูลเดลลา รอบเบียผู้ไม่แต่จะเป็นจิตรกรแต่ยังผู้สร้างงานประติมากรรมจากดินเหนียว ลูคา เดลลา รอบเบียผู้มีชื่อเสียงจากงาน “ระเบียงคันโตเรีย”[17] หรือระเบียงนักร้องที่มหาวิหารฟลอเรนซ์ ลูคาเป็นประติมากรคนแรกที่ใช้ดินเผาเคลือบในการสร้างงานประติมากรรมขนาดใหญ่ งานของตระกูลนี้ยังคงมีเหลือให้เห็นทั่วไปในบริเวณทัสเคนี ความเชี่ยวชาญของตระกูลเดลลา รอบเบียโดยเฉพาะอันเดรอา เดลลา รอบเบียเป็นงานที่แสดงความเหมือนจริงอย่างเห็นได้ชัดในการสร้างพระบุตรและความรู้สึกที่แสดงออกบนพระพักตร์ของพระแม่มารีที่เต็มไปด้วยทั้งความศรัทธา ความกรุณา และความอ่อนหวาน ซึ่งเป็นการสร้างมาตรฐานให้แก่ศิลปินคนอื่นๆ ในฟลอเรนซ์

ในบรรดาจิตรกรที่เขียนภาพพระแม่มารีระหว่างยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาตอนต้นก็ได้แก่ฟราอันเจลิโค, ฟิลิปโป ลิปปี, อันดรีย เดล เวอร์โรชชิโอ และ โดเมนนิโค เกอร์ลันเดา และต่อมาก็ได้แก่ซานโดร บอตติเชลลีผู้สร้างงานหลายชิ้นของพระแม่มารีในช่วงเวลายี่สิบปีสำหรับตระกูลเมดิชิ พระแม่มารีและนักบุญของเปียโตร เปรูจิโนเป็นที่รู้จักกันว่าพระแม่มารีที่แสดงความอ่อนหวาน และของเลโอนาร์โด ดา วินชีที่เขียนเป็นภาพเล็กๆ เช่น “พระแม่มารีเบนัวส์” ก็ยังคงมีอยู่ให้เห็น แม้แต่ไมเคิล แอนเจโลผู้ที่เป็นประติมากรก็ยังถูกหว่านล้อมให้เขียน “พระแม่มารีในกรอบกลม” ขณะที่ราฟาเอลมีชื่อเสียงในการเขียนภาพพระแม่มารีเป็นจำนวนมาก เช่นภาพ “พระแม่มารีอัลบา” หรือภาพ “พระแม่มารีซอลลิ” หรือภาพ “พระแม่มารีคอนเนสตาบิเล” และอื่นๆ อีกมาก

ใกล้เคียง

จิตรกรรมสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาในอิตาลี จิตรกรรมฝาผนัง จิตรกรรมยุคทองของเนเธอร์แลนด์ จิตรกรรมบารอกแบบเฟลมิช จิตรกรรม จิตรกรรมไทยประเพณี จิตรกรรมเนเธอร์แลนด์เริ่มแรก จิตรกรรมแผง จิตรกรรมภูมิทัศน์ จิตรกรรมไทย