ยุคก่อนยุคฟื้นฟูศิลปวิทยา ของ จิตรกรรมสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาในอิตาลี

“พระแม่มารีและพระบุตร” โดยดุชโช ราว ค.ศ. 1280 หอศิลป์แห่งชาติ, ลอนดอน ที่เป็นลักษณะการเขียนแบบศิลปะไบแซนไทน์

ลักษณะจิตรกรรมของทัสเคนีในคริสต์ศตวรรษที่ 13

งานในบริเวณทัสเคนีในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 13 มีอิทธิพลมาจากศิลปินเอกสองคนที่มีลักษณะการเขียนแบบศิลปะไบแซนไทน์ -- ชิมาบูเยแห่งฟลอเรนซ์ และ ดุชโชแห่งเซียนา งานเขียนของทั้งสองคนนี้เป็นงานเขียนที่ได้รับจ้างจากสถาบันทางศาสนาในหัวข้อที่เกี่ยวกับคริสต์ศาสนา งานเขียนหลายชิ้นเป็นงานเขียนฉากแท่นบูชาขนาดใหญ่ที่เป็นภาพ “พระแม่มารีและพระบุตร” จิตรกรสองท่านนี้และจิตรกรร่วมสมัยที่รวมทั้งกุยโด ดิ เซียนา, ค็อพโพ ดิ มาร์โควาลโด และจิตรกรปริศนาที่เรียกกันว่า “ครูบาแห่งเซนต์เบอร์นาร์ดิโน” ต่างก็สร้างงานเขียนที่มีลักษณะที่ดูเป็นทางการ (formalised) และเป็นงานเขียนที่มีอิทธิพลมาจากการเขียนไอคอนแบบโบราณ[6] การเขียนด้วยสีฝุ่นทำให้รายละเอียดมีลักษณะแข็ง เช่นลักษณะการวางพระกรของพระแม่มารีและพระบุตร หรือการวางพระเศียรและตำแหน่งพระพาหา หรือรอบพับของฉลองพระองค์ การเขียนเส้นลายต่างๆ แบบไอคอนที่ว่านี้เป็นการเขียนที่ทำกันมาเป็นเวลานานก่อนหน้านั้นโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงเท่าใดนัก ทั้งชิมาบูเยและดุชโชต่างก็พยายามแหวกแนวการเขียนนี้ออกมาให้เป็นธรรมชาติมากขึ้น เช่นเดียวกันกับจิตรกรร่วมสมัยอื่นๆ เช่นเปียโตร คาวาลลินิแห่งโรม[2]

จอตโต ดี บอนโดเน

ไฟล์:Giotto - Scrovegni - -36- - Lamentation (The Mourning of Christ).jpg“ความโทมนัส” โดยจอตโต ดี บอนโดเนราว ค.ศ. 1305, ชาเปลสโครเวนยี ภาพเขียนที่นำมาสู่ยุคฟื้นฟูศิลปวิทยา

จอตโต ดี บอนโดเน (ค.ศ. 1266ค.ศ. 1337) ผู้เชื่อกันว่าเดิมเป็นเด็กเลี้ยงแกะจากเนินเหนือเมืองฟลอเรนซ์ผู้มาเป็นลูกศิษย์ของชิมาบูเยและต่อมากลายมาเป็นจิตรกรคนสำคัญของสมัยนั้น[7] จอตโต ดี บอนโดเนผู้อาจจะได้รับอิทธิพลจากเปียโตร คาวาลลินิและจิตรกรโรมันอื่นๆ มิได้เขียนตามลักษณะการเขียนที่เขียนกันมาแต่เป็นลักษณะการเขียนที่เกิดจากการสังเกตชีวิตรอบข้าง และไม่เช่นจิตรกรไบแซนไทน์ร่วมสมัยตัวแบบในภาพที่จอตโตเขียนมีลักษณะเป็นสามมิติและยืนมั่นติดพื้น ลักษณะทางสรีรวิทยาและเครื่องแต่งกายก็ดูมีโครงสร้างและน้ำหนัก แต่สิ่งที่ทำให้แตกต่างยิ่งไปกว่านั้นคือเป็นตัวแบบที่แสดงอารมณ์ ใบหน้าของตัวแบบของจอตโตเต็มไปด้วยอารมณ์ต่างๆ ที่รวมทั้งความปิติ, ความโกรธ, ความสิ้นหวัง, ความละอาย, ความมีเจตนา และ ความรัก จิตรกรรมฝาผนังภาพชุด “ชีวิตของพระเยซู” และ “ชีวิตของพระแม่มารี” ที่เขียนที่ชาเปลสโครเวนยีในปาดัวเป็นการสร้างมาตรฐานในการเขียนบรรยายเรื่องใหม่หมด “พระแม่มารีโอนิสซานติ” (Ognissanti Madonna) ที่ตั้งแสดงอยู่ที่หอศิลป์อุฟฟิซิในฟลอเรนซ์ในห้องเดียวกับ “พระแม่มารีซานตาทรินิตา” ของชิมาบูเย และ “พระแม่มารีรูชเชลลิ” (Ruccellai Madonna) ของดุชโช ทำให้เห็นถึงความแตกต่างของลักษณะการเขียนของจิตรกรสามคนนี้อย่างเห็นได้ชัด ลักษณะสำคัญที่เด่นของงานของจอตโต ดี บอนโดเนคือการสังเกตทัศนมิติของธรรมชาติ และถือกันว่าเป็นจิตรกรคนสำคัญผู้ริเริ่มยุคฟื้นฟูศิลปวิทยา[8]

“การประกาศต่อคนเลี้ยงแกะ” (รายละเอียด) โดย ทัดดิโอ กัดดี

จิตรกรร่วมสมัยของจอตโต ดี บอนโดเน

จอตโต ดี บอนโดเนมีจิตรกรร่วมสมัยด้วยกันหลายคน ที่ถ้าไม่ได้รับการฝึกจากจอตโตก็เป็นผู้ที่ได้รับอิทธิพลจากจอตโต หรือเป็นผู้ที่ใช้การสังเกตธรรมชาติในการเขียนภาพ แม้ว่าลูกศิษย์หลายคนจะใช้วิธีการเขียนที่จอตโตใช้ แต่ก็ไม่มีผู้ใดที่มีชื่อเสียงเท่าเทียม ทัดดิโอ กัดดีสร้างงานเขียนชิ้นใหญ่ชิ้นแรกในฉากที่เป็นเวลากลางคืนในภาพ “การประกาศต่อคนเลี้ยงแกะ” ในชาเปลบารอนเชลลิของบาซิลิกาซานตาโครเชในฟลอเรนซ์[2]

ภาพเขียนใน “ชาเปลชั้นบน” ของมหาวิหารเซนต์ฟรานซิสแห่งอาซิซิเป็นตัวอย่างของการเขียนแบบธรรมชาติของช่วงเวลานี้และมักจะกล่าวกันว่าเป็นงานเขียนของจอตโตเอง แต่ก็อาจจะเป็นงานเขียนของจิตรกรกลุ่มเดียวกับเปียโตร คาวาลลินิ[8] งานเขียนในตอนปลายของชิมาบูเยใน “ชาเปลชั้นบน” ที่เป็นภาพ “พระแม่มารีและนักบุญฟรานซิสแห่งอาซิซิ” ก็เป็นภาพที่แสดงให้เห็นได้ชัดถึงความเป็นธรรมชาติมากขึ้นกว่าจิตรกรรมแผงและจิตรกรรมฝาผนังที่ชิมาบูเยเองเขียนก่อนหน้านั้นใน “ชาเปลชั้นบน”

ความตายและความรอดจากบาป

หัวข้อที่นิยมสร้างในการตกแต่งวัดในยุคกลางคือภาพ “การตัดสินครั้งสุดท้าย” ซึ่งมักจะเป็นภาพที่สร้างบนหน้าบันเหนือประตู หรือในกรณีของจอตโต ดี บอนโดเนในชาเปลสโครเวนยีเป็นภาพที่เขียนบนผนังด้านตะวันตกภายในชาเปล กาฬโรคระบาดในยุโรป ของปี ค.ศ. 1348 มีผลทำให้ผู้ที่รอดชีวิตมาได้มีความหมกมุ่นอยู่กับการเผชิญหน้ากับความตายในรูปของความสำนึกผิดและการได้รับการล้างบาปที่ทำมามากขึ้น จิตรกรรมฝาผนังจำนวนมากเป็นภาพที่เน้นถึงความตายที่จะมาถึง ผลของการทำบาปและผลที่ได้จากการได้รับการล้างบาป ภาพที่เขียนกันก็มักจะเป็นภาพที่แสดงความโหดเหี้ยมของความทุกข์ทรมานโดยเฉพาะในฉากจินตนาการที่เกี่ยวกับการทรมานต่างๆ ในนรก

“ชัยชนะของความตาย” (รายละเอียด) โดยออร์ชานยา, ราว ค.ศ. 1350 ที่พิพิธภัณฑ์ซานตาโครเช

ภาพเหล่านี้รวมทั้งภาพ “ชัยชนะของความตาย” โดยออร์ชานยา ลูกศิษย์ของจอตโตที่ปัจจุบันแบ่งเป็นชิ้นๆ อยู่ที่พิพิธภัณฑ์ซานตาโครเช และ ภาพ “ชัยชนะของความตาย” ภายในลานศักดิ์สิทธิ์แห่งปิซาโดยจิตรกรไม่ทราบนามที่อาจจะเป็นฟรานเชสโค ทราอินิ หรือบุฟฟาลมาคโค (Buffalmacco) ผู้เขียนจิตรกรรมฝาผนังอีกสามชุดในหัวข้อความรอดจากบาป ไม่เป็นที่ทราบแน่นอนว่าเริ่มเขียนขึ้นเมื่อใดแต่สันนิษฐานกันว่าเขียนหลัง ค.ศ. 1348[2]

จิตรกรจิตรกรรมฝาผนังสองคนที่มีทำงานอยู่ที่ปาดัวในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 14 คืออัลติเชียโร และ จุสโต เดมนาบวย งานเขียนชิ้นเอกของจุสโตในหอศีลจุ่มของมหาวิหารปาดัวเป็นหัวข้อเกี่ยวกับพระเจ้าสร้างโลก, ความเพลี่ยงพล้ำของมนุษย์ และ ความรอดจากบาป และที่หาดูได้ยากคือภาพชุดเหตุการณ์ล้างโลก (พระธรรมวิวรณ์ (Apocalypse)) ภายในบริเวณพิธีเล็ก ขณะที่งานโดยทั่วไปทั้งหมดเป็นงานที่เด่นทั้งทางด้านหัวข้อที่ใหญ่และคุณภาพ สภาพของงานยังอยู่ในสภาพดี แต่การแสดงอารมณ์ของผู้อยู่ในภาพยังสำรวมเมื่อเทียบกับงาน “การตรึงกางเขนของพระเยซู”[9] โดย อัลติเชียโรในบาซิลิกาซานอันโตนิโอแห่งปาดัว งานของจุสโตยังเป็นการวางภาพที่มีลักษณะเป็นทางการ แต่อัลติเชียโรเขียนสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นรอบเหตุการณ์ของการตรึงกางเขนที่เต็มไปด้วยนาฏกรรมของมนุษย์[10]

ภายใน “ชาเปลสเปน” (Spanish Chapel) ภายในบาซิลิกาซานตามาเรียโนเวลลาในฟลอเรนซ์ อันเดอา โบนัยติ (Andrea Bonaiuti) ได้รับจ้างให้เน้นบทบาทของวัดในกระบวนการไถ่บาปและโดยเฉพาะโดยลัทธิโดมินิกัน จิตรกรรมฝาผนัง “อุปมานิทัศน์ของบทบาทและชัยชนะของสถาบันศาสนา” (Allegory of the Active and Triumphant Church) เป็นงานเขียนที่ดีเด่นที่แสดงภาพมหาวิหารฟลอเรนซ์ที่มีทั้งโดมที่ยังไม่ได้สร้างจนร้อยปีต่อมา[2]

“การประกาศของเทพ” โดย ซิโมเน มาร์ตินิ,ค.ศ. 1333, อุฟฟิซิ เป็นงานเขียนลักษณะกอธิคนานาชาติ

กอธิคนานาชาติ

ระหว่างปลายคริสต์ศตวรรษที่ 14 ศิลปะกอธิคนานาชาติก็เป็นลักษณะการเขียนที่มีอิทธิต่องานจิตรกรรมในทัสเคนี ที่จะเห็นได้จากงานเขียนของเปียโตร และ อัมโบรจิโอ ลอเร็นเซ็ตติที่เป็นงานที่ยังวางตัวแบบในลักษณะที่เป็นทางการแต่มีความอ่อนหวานและความสง่างาม และความงามของการเขียนผ้าแบบปลายสมัยกอธิค ลักษณะการเขียนวิวัฒนาการมาในงานเขียนของซิโมเน มาร์ตินิ และ เจ็นทิเล ดา ฟาบริอาโน ซึ่งเป็นงานที่มีความงดงามและเต็มไปด้วยรายละเอียดอันหรูหรา และความงามในอุดมคติที่ไม่เหมือนกับงานที่ปราศจากรายละเอียดของงานเขียนของจอตโต ดี บอนโดเน[2]

ในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 15 งานเขียนที่เชื่อมระหว่างสมัยกอธิคนานาชาติกับยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาเป็นภาพที่เขียนโดยฟราอันเจลิโค ที่ส่วนใหญ่เป็นฉากแท่นบูชาที่เขียนด้วยสีฝุ่น แสดงลักษณะของความรักการเขียนรายละเอียด การใช้สีทอง และการใช้สีที่สดใสของศิลปะกอธิค แต่งานเขียนจิตรกรรมฝาผนังภายในคอนแวนต์ซานมาร์โคที่ฟราอันเจลิโคจำวัดแสดงถึงลักษณะการเขียนแบบจอตโต ดี บอนโดเน จิตรกรรมสำหรับการสักการะที่ตกแต่งห้องและระเบียงที่ฟราอันเจลิโคพำนักอยู่เป็นภาพชุดชีวิตของพระเยซู อีกหลายภาพเป็นภาพ “การตรึงกางเขนของพระเยซู” ลักษณะการเขียนเป็นลักษณะที่เรียบง่าย, จำกัดการใช้สี แต่แสดงอารมณ์อันมุ่งมั่นในการพยายามที่จะแสดงการบรรลุทางธรรม[2][11]

ใกล้เคียง

จิตรกรรมสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาในอิตาลี จิตรกรรมฝาผนัง จิตรกรรมยุคทองของเนเธอร์แลนด์ จิตรกรรมบารอกแบบเฟลมิช จิตรกรรม จิตรกรรมไทยประเพณี จิตรกรรมเนเธอร์แลนด์เริ่มแรก จิตรกรรมแผง จิตรกรรมภูมิทัศน์ จิตรกรรมไทย