หัวเรื่อง ของ จิตรกรรมสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาในอิตาลี

จิตรกรรมของยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาส่วนใหญ่เป็นงานที่ได้รับการจ้างจากสถาบันศาสนาของนิกายโรมันคาทอลิก งานที่จ้างมักจะเป็นงานขนาดใหญ่และมักจะเป็นภาพชุดที่เขียนเป็นจิตรกรรมฝาผนังเกี่ยวกับ “ชีวิตของพระเยซู”, “ชีวิตของพระแม่มารี” หรือ ชีวิตของนักบุญโดยเฉพาะนักบุญฟรานซิสแห่งอาซิซิ นอกจากนั้นหัวข้อทางศาสนาแล้วก็อาจจะเป็นหัวเรื่องที่เป็นอุปมานิทัศน์ที่เกี่ยวกับการรอดจากบาป (Salvation) และบทบาทของสถาบันศาสนาในการช่วยให้การรอดจากบาปเกิดขึ้น งานประเภทอื่นที่สถาบันศาสนาสั่งให้ทำก็รวมทั้งฉากแท่นบูชาที่เขียนด้วยสีฝุ่นบนแผง หรือต่อมาสีน้ำมันบนผ้าใบ นอกไปจากการสร้างฉากแท่นบูชาขนาดใหญ่แล้ว ก็ยังมีการสร้างภาพขนาดเล็กที่ใช้ในการสักการะ (devotional pictures) กันเป็นจำนวนมากทั้งสำหรับสถาบันศาสนาเองและสำหรับใช้ในการสักการะส่วนบุคคล หัวเรื่องที่เป็นที่นิยมกันที่สุดในการวาดคือ “พระแม่มารีและพระบุตร”

ตลอดสมัยนี้งานจ้างส่วนบุคคลก็เริ่มมีความสำคัญขึ้น สถานที่ทำการของรัฐบาลท้องถิ่นเช่นพาลัซโซพุบบลิโคในเมืองเซียนาตกแต่งด้วยจิตรกรรมฝาผนังที่เป็นทั้งหัวข้อทางโลกเช่น “อุปมานิทัศน์ของรัฐบาลที่ดี” และทางศาสนาเช่น “มาเอสตา” ที่เขียนโดยซิโมเน มาร์ตินิ

ในคริสต์ศตวรรษที่ 14 และต้นคริสต์ศตวรรษที่ 15 การเขียนภาพเหมือนยังไม่ค่อยเป็นที่แพร่หลายกันเท่าใดนัก เพราะงานเขียนส่วนใหญ่ยังจำกัดอยู่แต่เพียงการเขียนเพื่อเป็นการเฉลิมฉลองโอกาสสำคัญ เช่นการเขียนภาพเหมือนบนหลังม้าของกุยโดริคโค โฟกลิอาโนโดยซิโมเน มาร์ตินิในปี ค.ศ. 1327 ที่เซียนา หรือภาพเหมือนของจอห์น ฮอว์ควูดผู้เป็นทหารรับจ้างจากอังกฤษที่เขียนเมื่อต้นคริสต์ศตวรรษที่ 15 โดยเปาโล อูเชลโลในมหาวิหารฟลอเรนซ์ และภาพคู่กันที่เป็นภาพของนิคโคโล ดา โทเล็นทิโนโดยอันเดรอา เดล คาตานโย

แต่เมื่อมาถึงระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 15 การเขียนภาพเหมือนกลายมาเป็นสิ่งที่นิยมทำกันโดยทั่วไป ภาพเหมือนที่เขียนมักจะเป็นภาพเหมือนอย่างเป็นทางการด้านข้าง แต่ลักษณะนี้ก็ค่อยๆ เปลี่ยนมาเป็นภาพสามในสี่ของใบหน้า และการเขียนภาพเหมือนครึ่งตัวต่อมา ผู้อุปถัมภ์การสร้างงานศิลปะเช่นฉากแท่นบูชา และจิตรกรรมฝาผนังที่เป็นภาพชุดมักจะรวมตนเองและครอบครัวเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของภาพด้วยที่เรียกกันว่าภาพเหมือนผู้อุทิศ เช่นการเขียนบุคคลในตระกูลซาสเซ็ตติในจิตรกรรมฝาผนังภายในชาเปลซาสเซ็ตติโดยโดเมนนิโค เกอร์ลันเดา การเขียนภาพเหมือนกลายมาเป็นหัวข้อสำคัญในการสร้างงานจิตรกรรมในยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาตอนสูง โดยจิตรกรเช่นราฟาเอล และ ทิเชียน และจิตกรในยุคแมนเนอริสม์ต่อมาเช่นโดยบรอนซิโน

เมื่อลัทธิมนุษยนิยมเป็นที่แพร่หลาย ศิลปินก็หันไปหาหัวเรื่องการเขียนที่เป็นคลาสสิกโดยเฉพาะในการตกแต่งที่พำนักอาศัยของผู้มีฐานะมั่งคั่ง ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคืองานเขียนภาพ “กำเนิดวีนัส” โดยซานโดร บอตติเชลลีที่เขียนให้แก่ตระกูลเมดิชิ การใช้หัวเรื่องคลาสสิกเป็นลักษณะการเขียนที่เหมาะสมในการเขียนงานที่มีความหมายทางอุปมานิทัศน์ นอกจากนั้นแล้วลัทธิมนุษยนิยมก็ยังมีอิทธิพลต่อลักษณะการเขียนภาพทางศาสนาเช่นที่เห็นได้ชัดในงานเขียนภาพบนเพดานชาเปลซิสตินของไมเคิล แอนเจโล

ภาพ “วงดนตรี” (the Concert) ที่เขียนลอเรนโซ คอสตา ราวปี ค.ศ. 1490

หัวข้ออื่นๆ ที่เขียนกันในสมัยนี้ก็มาจากฉากชีวิตร่วมสมัยที่อาจจะแสดงเป็นความหมายทางอุปมานิทัศน์ หรืออาจจะเพียงเพื่อการตกแต่งโดยไม่มีความหมายแอบแฝง เหตุการณ์สำคัญที่มีความหมายต่อตระกูลอาจจะได้รับการบันทึกเป็นภาพเขียนเช่น ภาพเขียนของสมาชิกในตระกูลกอนซากาใน “ห้องเจ้าสาว” ที่อันเดรีย มานเทนยาเขียนให้แก่ตระกูลกอนซากาที่มานตัว ภาพนิ่งและภาพชีวิตประจำวันก็กลายมามีความนิยมกันมากขึ้นในการใช้ในการตกแต่งเช่นภาพ “วงดนตรี” (the Concert) ที่เขียนลอเรนโซ คอสตา ราวปี ค.ศ. 1490

เหตุการณ์สำคัญมักจะได้รับการบันทึกไว้เพื่อเป็นงานฉลองความสำเร็จเช่นภาพเขียน “ยุทธการซานโรมาโน” โดยเปาโล อูเชลโล เช่นเดียวกับภาพเขียนที่เกี่ยวกับเทศกาลสำคัญทางศาสนา บุคคลในประวัติศาสตร์มักจะเขียนให้สะท้อนให้เห็นเหตุการณ์ร่วมสมัยหรือของชีวิตของผู้ร่วมสมัย ภาพเหมือนของบุคคลร่วมสมัยมักจะแฝงในรูปของบุคคลในประวัติศาสตร์หรือวรรณคดี งานเขียน “ไตรภูมิดานเต” โดยดานเต อลิเกียริ, “ตำนานทอง” โดยจาโคบัส เด โวราจิเน และ “ตำนานสิบราตรี” โดยจิโอวานนิ โบคคาชโช ก็มามีความสำคัญในการเป็นแหล่งข้อมูลสำหรับเลือกหัวเรื่องสำหรับงานจิตรกรรม

หัวเรื่องทั้งหมดที่กล่าวนี้และงานเขียนของจิตรกรสมัยนี้ทั้งหมดเป็นการแสดงลักษณะการเขียนที่แสดงการวิวัฒนาการของการสังเกตและการศึกษาธรรมชาติรอบตัว, การศึกษาระบบกายวิภาคของมนุษย์, การศึกษาเรื่องแสง และ การศึกษาเรื่องทัศนมิติ[2][3][5]

ใกล้เคียง

จิตรกรรมสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาในอิตาลี จิตรกรรมฝาผนัง จิตรกรรมยุคทองของเนเธอร์แลนด์ จิตรกรรมบารอกแบบเฟลมิช จิตรกรรม จิตรกรรมไทยประเพณี จิตรกรรมเนเธอร์แลนด์เริ่มแรก จิตรกรรมแผง จิตรกรรมภูมิทัศน์ จิตรกรรมไทย