การสวรรคต ของ ฉื่ออี้ไทเฮา

วันที่ 26 มิถุนายน รัชศกเฉิงฮว่าปีที่ 4 (ค.ศ. 1468) ฉื่ออี้ไทเฮาเสด็จสวรรคตด้วยพระอาการประชวร สิริพระชนมายุ 42 ตามพระบรมราชโองการของจักรพรรดิหมิงอิงจง ฉื่ออี้ไทเฮาจะต้องฝังพระบรมศพไว้ในสุสานหลวงร่วมกับพระองค์ แต่โจวไทเฮาต่อต้านการฝังพระบรมศพฉื่ออี้ไทเฮาไว้ในสุสานหลวง และขอให้จักรพรรดิเฉิงฮว่าเลือกสุสานอื่นเพื่อฝังพระบรมศพของฉื่ออี้ไทเฮา

จักรพรรดิเฉิงฮว่าเรียกประชุมเหล่าขุนนาง มหาอำมาตย์เผิ่งซื่อรู้ดีว่าจักรพรรดิต้องการจะกล่าวอะไร จึงกล่าวขึ้นว่า "ฉื่ออี้ไทเฮา และจักรพรรดิผู้ล่วงลับจะต้องฝังพระบรมศพร่วมกันในสุสานหลวง นี่เป็นพระบรมราชโองการของจักรพรรดิผู้ล่วงลับ มีสิ่งใดจะต้องหารืออีก" จักรพรรดิเฉิงฮว่าได้กลับไปครุ่นคิดอย่างหนักตลอดทั้งคืน เพราะไม่สามารถขัดพระบรมราชโองการของพระชนกนาถตามหลักกตัญญูได้

ในวันต่อมาเมื่อจักรพรรดิเฉิงฮว่าเรียกประชุมเหล่าขุนนางอีกครั้ง และมหาอำมาตย์เผิ่งซื่อก็ขัดขวางโดยการกล่าวเช่นเดิมกับการประชุมในครั้งก่อน จักรพรรดิเฉิงฮว่ารู้สึกไม่พอพระทัย สิ่งที่พระองค์ครุ่นคิดมาตลอดทั้งคืนพังทลายลง จักรพรรดิเฉิงฮว่าจึงกล่าวขึ้นว่า ข้าแค่กังวลว่าถ้าฉื่ออี้ไทเฮาถูกฝังในสุสานหลวงแล้ว พระมารดาของเราก็จะไม่สามารถฝังในสุสานหลวงได้

มหาอำมาตย์เผิ่งซื่อรู้สึกโล่งใจเมื่อเห็นว่า จักรพรรดิเฉิงฮว่าทรงถือหลักกตัญญูต่อพระราชมารดาทั้งสอง อย่างไรก็ตามก็มีขุนนานชื่อว่าหลิว ติ้งจือ (刘定之) กล่าวว่า "ความกตัญญูจะต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานจริยธรรม" เมื่อจักรพรรดิเฉิงฮว่าได้ยินก็รู้สึกเสียหน้า จึงกล่าวขึ้นว่า "ถ้าไม่เชื่อฟังมารดาผู้ให้กำเนิด แล้วยังจะถือว่าเป็นบุตรผู้กตัญญูได้อีกหรือ"

เมื่อจักรพรรดิเฉิงฮว่ากล่าวจบ มหาอำมาตย์เผิ่งซื่อก็นึกถึงแผนการในอดีตที่ตนกับหลี่ เซี่ยนได้เคยวางแผนสร้างที่สำหรับฝังไทเฮาทั้งสองภายในสุสานหลวง ดังนั่นเผิ่งซื่อจึงเสนอต่อจักรพรรดิเฉิงฮว่าว่าสามารถฝังฉื่ออี้ไทเฮาไว้ทางด้านซ้ายของจักรพรรดิผู้ล่วงลับได้ และตำแหน่งทางด้านขวาจะได้รับการสงวนไว้สำหรับโจวไทเฮาในอนาคต

อย่างไรก็ตาม โจวไทเฮาทรงไม่ยอมรับการฝังร่วมกัน ทำให้ข้อเสนอของมหาอำมาตย์เผิ่งซื่อ ถูกจักรพรรดิเฉิงฮว่าปัดตกไป ทำให้เหล่าขุนนางต่างไม่พอใจกันเป็นอย่างมาก จึงรวมตัวกันเรียกร้องความยุติธรรมให้กับฉื่ออี้ไทเฮา กดดันให้จักรพรรดิเฉิงฮว่าฝังพระบรมศพฉื่ออี้ไทเฮาในสุสานหลวง

จากการเรียกร้องของเหล่าขุนนาง ทำให้โจวไทเฮารู้สึกไม่พอพระทัยเป็นอย่างมาก และยังคงมีพระเสาวนีย์อย่างแข็งขันที่จะให้หาสุสานอื่นสำหรับฝังพระบรมศพฉื่ออี้ไทเฮา แต่เหล่าขุนนางก็ยังคงรวมตัวกันเรียกร้องจนสุดท้ายโจวไทเฮาก็ต้องยอมต่อแรงกดดันมหาศาลนี้

วันที่ 19 กรกฎาคม จักรพรรดิเฉิงฮว่าถวายพระสมัญญานามแด่ฉื่ออี้ไทเฮาอย่างเป็นทางการว่า "孝肃贞顺康懿光烈辅天承圣睿皇后"

วันที่ 15 กันยายน พระบรมศพของฉื่ออี้ไทเฮาได้รับการฝังในในสุสานหลวงร่วมกับจักรพรรดิหมิงอิงจง

โจวไทเฮาแอบสั่งขันทีให้ขุดอุโมงค์ในสุสานหลวงของฉื่ออี้ไทเฮาไปในทิศทางที่ผิด ไม่เพียงแต่อยู่ห่างจากทิศทางของจักรพรรดิหมิงอิงจง หลายฟุตเท่านั้น แต่อุโมงค์ถูกปิดกั้นไว้ครึ่งทาง ถ้ำหินที่เหลือสำหรับโจวไทเฮาอยู่ตรงข้ามมีอุโมงค์กว้างขวางที่ทอดตรงไปยังสุสานของจักรพรรดิหมิงอิงจง นอกจากนี้ โจวไทเฮาไม่อนุญาตให้ประดิษฐานพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์ของฉื่ออี้ไทเฮาไว้ถัดจากจักรพรรดิหมิงอิงจง ในพระที่นั่ง เฟิ่งเซียน ซึ่งเป็นสถานที่ประดิษฐานพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์ของจักรพรรดิ และจักรพรรดินีแห่งราชวงศ์หมิง[11]