ประโยชน์ของชาขาวต่อสุขภาพ ของ ชาขาว

ชาขาวถูกใช้ประโยชน์ทางการแพทย์และสุขภาพ ซึ่งชาขาวถือว่ามีประโยชน์มาทางด้านนี้ เพราะมีสารโพลีฟีอลประเภท EGCG สูงทำให้มีประโยชน์มากกว่าชาชนิดอื่น อีกทั้งชาขาวยังมีคุณสมบัติในการต่อต้านโรคเรื้อรัง การต้านสารก่อมะเร็ง (anticarcinogenicity) [3] การต้านอนุมูลอิสระ (antioxidant activity) และการยับยั้งการเจริญของเชื้อจุลินทรีย์ (antimicrobial activity) [11] ชาขาวกำลังได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งในประเทศสหรัฐอเมริกาและยุโรป

คุณสมบัติต้านมะเร็ง

เป็นที่ทราบกันว่า ชาเขียวมีคุณสมบัติในการต้านสารก่อมะเร็ง เพราะชาเขียวมีปริมาณสารคาเทชินและสารโพลีฟีนอลอื่น ๆ มาก ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ อย่างไรก็ดี จากการศึกษาปริมาณและคุณสมบัติของสารต้านอนุมูลอิสระเปรียบเทียบระหว่างชาขาวและชาเขียวของ มหาวิทยาลัยโอไฮโอเซาเทิร์น (Ohio University Southern) ประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่า ชาขาวมีปริมาณสารโพลีฟีนอลสูงกว่าชาเขียว[12] การดื่มชาขาวจึงน่าจะมีประโยชน์และมีประสิทธิภาพในการต้านโรคมะเร็งที่ดีกว่าชาเขียวหรือชาชนิดอื่น โดยหากอ้างอิงจากคุณสมบัติของชาเขียวที่ช่วยป้องกันมะเร็งหลายชนิด ทั้งมะเร็งปอด ต่อมลูกหมาก เต้านม ลำไส้ใหญ่ ตับ ผิวหนัง และกระเพาะอาหาร ชาขาวก็ย่อมมีประสิทธิภาพในการยับยั้งมะเร็งชนิดต่าง ๆ ได้ดีกว่า เพราะประกอบไปด้วย EGCG ที่มากกว่า ทั้งนี้ข้อมูลวิจัยของมหาวิทยาลัยคิงสตัน ประเทศอังกฤษ เปิดเผยว่า ในชาขาวจะมีสารต้านอนุมูลอิสระ และตัวต้านการเกิดปฏิกิริยาของสารอื่น ๆ กับออกซิเจนทำสามารถช่วยป้องกันการเกิดโรคมะเร็งและโรคเกี่ยวกับหัวใจ [13]

มะเร็งผิวหนัง

จากการทดลองของมหาวิทยาลัยโคเปนไฮเกน (University of Copenhagen) ประเทศเดนมาร์คร่วมกับ Stephens & Associates Inc ประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่า สารสกัดชาขาวสามารถยับยั้งและป้องกันการถูกทำลายของสารพันธุกรรม (DNA) ในเซลล์หลังการสัมผัสแดด[3] เพราะฉะนั้นสารต้านอนุมูลอิสระในชาขาว จะช่วยปกป้องผิวจากภายใน โดยป้องกันการสูญเสียโปรตีนในชั้นผิวจากกระบวนการออกซิเดชั่น มีส่วนในการปกป้องเซลล์ผิว ทำให้สามารถปกป้องผิวจากมลภาวะและแสงแดด อันเป็นสาเหตุของการเกิดริ้วรอยหรือจุดด่างดำ พัฒนาระบบภูมิคุ้มกันผิว ยับยั้งอนุมูลอิสระที่มีสาเหตุมาจากรังสียูวี ซึ่งหากระบบภูมิคุ้มกันของเซลล์ผิวยังทำงานได้อย่างปกติ ถือเป็นส่วนช่วยในการป้องกันการเกิดโรคมะเร็งผิวหนัง[14] และช่วยให้ต่อมน้ำเหลืองขจัดสารพิษออกจากผิว ทำให้ผิวไม่แห้งกร้าน และยังสามารถเสริมสร้างความแข็งแรงของเซลล์ผิวหนัง ช่วยในด้านความยืดหยุ่น ของผิวหนังให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น ส่งผลให้การทำงานของปอด เส้นเลือด เส้นเอ็นต่าง ๆ และผิวหนังทำงานได้ดี

มะเร็งลำไส้ใหญ่

จากงานวิจัยของมหาวิทยาลัยออริกอนสเตท (Oregon State University) ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำแห่งหนึ่งในประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่า ชาขาวมีประโยชน์ในการป้องกันมะเร็งลำไส้ใหญ่ โดยงานวิจัยยังกล่าวเพิ่มเติมว่า ชาขาวมีประสิทธิภาพเช่นเดียวกับการใช้ยาซูลินแด[3][15] เพื่อยับยั้งและป้องการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งในลำไส้ใหญ่ของสัตว์ทดลองที่มีปัจจัยทางพันธุกรรมที่ทำให้มีโอกาสเป็นมะเร็ง นอกจากนี้สารในชาขาวยังช่วยให้แบคทีเรียที่มีประโยชน์ในลำไส้ทำงานได้ดีขึ้น ช่วยลดคลอเรสเตอรอลชนิด LDL หรือไขมันเลว และเพิ่มปริมาณคลอเรสเตอรอล HDL หรือไขมันดี ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคไขมันอุดตันหลอดเลือด

คุณสมบัติป้องกันโรคหัวใจ

ข้อมูลการศึกษาจาก Internal Medicine and Public Health ประเทศอิตาลี พบว่า การทดลองให้สัตว์ทดลองบริโภคสารฟลาโวนอยด์เป็นประจำสามารถชะลอการเกิดการสะสมไขมันที่หลอดเลือดแดงได้ ซึ่งสัมพันธ์กับข้อมูลการบริโภคชากับการป้องกันการเกิดโรคหัวใจ สารฟลาโวนอยด์ในชาสามารถลดการเสื่อมสภาพของกล้ามเนื้อหัวใจซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญในการเกิดโรคท่อเลือดแดงและหลอดเลือดแดงแข็งได้[16] โดยเฉพาะสาร EGCG ในชา สามารถลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ โดยฟื้นฟูการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจ การเพิ่มของไนตริกออกไซด์ในปฏิกิริยา superoxide production (ROS) และช่วยควบคุมความดันโลหิตสูง โดยไปยับยั้ง angiotensis-I converting enzyme (ACE) นอกจากนี้ยังพบว่าสารโพลีฟีนอลในชา สามารถช่วยลดการเกิดออกซิเดชั่นของ LDL และช่วยลดการดูดซึมคลอเลสเตอรอลเข้าสู่ระบบน้ำเหลือง ทำให้ปริมาณ LDL, very low-density lipoprotein (VLDL) และไตรกลีเซอไรด์ลดลง รวมทั้งสามรถเพิ่มปริมาณ HDL ในกระแสเลือด ซึ่งการมีปริมาณที่ไตรกลีเซอไรด์ต่ำและ HDL สูงนี้สะท้อนถึงสุขภาพของระบบหัวใจที่ดี

คุณสมบัติต้านโรคเบาหวาน

การศึกษาในหนูทดลองพบว่า สารโพลีฟีนอลสามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดของหนูที่เป็นเบาหวาน โดยยับยั้งการทำงานของอะไมเลสซึ่งเป็นเอนไซม์ย่อยแป้งให้เปลี่ยนเป็นน้ำตาล โดยยับยั้งการทำงานของอะไมเลสทั้งในน้ำลายและลำไส้ ซึ่งผลที่เกิดขึ้น คือ แป้งจะถูกย่อยช้าลง ทำให้เกิดการเพิ่มขึ้นของน้ำตาลในเลือดเป็นไปอย่างช้า ๆ ซึ่งสัมพันธ์กับอัตราการดูดซึมกลูโคส มีผลทำให้การทำงานของ glucose transporter ในลำไส้ลดลงและอัตราการดูดซึมกลูโคสเข้าสู่ร่างกาย ลดลงด้วยนอกจากนี้สารโพลีฟีนอล ประเภท EGCG ยังช่วยเพิ่มความไวต่อสิ่งกระตุ้นของอินซูลิน (insulin sensitivity) และ สารที่มีหน้าที่คล้ายอินซูลิน (insulin-like activity) รวมทั้งเพิ่มการป้องกันการทำงานของตับและตับอ่อนซึ่งเป็นอวัยวะที่สำคัญที่เกี่ยวข้องกับการเกิดโรคเบาหวาน[17]

คุณสมบัติต้านจุลินทรีย์

สารโพลีฟีนอลมีคุณสมบัติในการต้านแบคทีเรีย โดยเชื่อกันว่า สารโพลีฟีนอลสามารถทำลายเยื่อหุ้มเซลล์ของแบคทีเรีย จากการศึกษาของ Dyson College of Arts and Sciences มหาวิทยาลัยเพซ (Pace University) ประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่า ชาขาวสามารถยับยั้งการเจริญของเชื้อจุลินทรีย์ได้ดีกว่าชาเขียว[3] โดยการวิจัยพบว่า ชาขาวสกัด (white tea extract) อาจสามารถใช้ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์ที่ก่อให้เกิดที่เกิดจากเชื้อ Staphylococcus, Streptococus นอกจากนี้ชาขาวมีประสิทธิภาพที่ดีในการหยุดการทำงานของไวรัสและเชื้อรา จากผลการทดลองที่พบทำให้คาดว่า ชาขาวสกัดสามารถต้านไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคในมนุษย์ได้ และชาขาวสกัดสามารถยับยั้งการเจริญของเชื้อราประเภท Penicillium chrysogenum และ Saccharomyces cerevisiae[3] ซึ่งปัจจุบัน ชาขาวสกัด ถูกใส่ลงไปในยาสีฟันหลายยี่ห้อที่ประเทศจีนและสหรัฐอเมริกาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการยับยั้งแบคทีเรียและเชื้อรา

คุณสมบัติป้องกันฟันผุ

สารในชาขาวมีฤทธิ์เป็นสารปฏิชีวนะที่สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียหลายชนิดจึงสามารถลดอาการอักเสบและติด เชื้อในช่องปากได้ โดยสารโพลีฟีนอลสามารถช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียในช่องปาก ซึ่งมีทั้งแบคทีเรียที่ก่อโรคในช่องปาก Porphyromonas gingivilis และ แบคทีเรียที่ทำให้ฟันผุ Streptococcus mutans[11] นอกจากนี้สารโพลีฟีนอลยังสามารถยับยั้งการทำงานของเอนไซม์อะไมเลสในน้ำลายช่วยให้การผลิตกลูโคสและมอลโตสน้อยลง ลดปริมาณอาหารของแบคทีเรียที่ทำให้เกิดฟันผุ

คุณสมบัติต้านโรคอ้วน

สรรพคุณของชาขาวประการหนึ่ง คือ การช่วยลดน้ำหนัก เนื่องจากสารคาเฟอีนและสารคาเทชินในชาขาว ช่วยให้ระบบเมตาบอลิซึมในร่างกายดีขึ้น เผาผลาญพลังงานได้มาก เป็นผลทำให้น้ำหนักตัวลดลง โดยที่ไม่มีผลกระทบต่ออัตราการเต้นของหัวใจ มีผลการศึกษาทางวิทยาศาสตร์มากมายยืนยันประสิทธิภาพของสารต้านอนุมูลอิสระและสารสกัดทางธรรมชาติเกี่ยวกับคุณสมบัติต้านไขมันและโรคอ้วน สารต้านอนุมูลอิสระจำพวกโพลีฟีนอล สามารถยับยั้ง catechol-O-methyl transferase จึงช่วยกระตุ้นการสร้างความร้อนของร่างกาย ซึ่งช่วยเผาผลาญพลังงานและช่วยจัดการกับโรคอ้วน[6] ทั้งยังมีคุณสมบัติในการชะลอการปล่อยกลูโคสสู่กระแสเลือด ดังที่กล่าวมาแล้วในเรื่องคุณสมบัติต้านโรคเบาหวาน ซึ่งทำให้ชะลอการสร้าง อินซูลินซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ส่งเสริมให้ร่างกายสะสมไขมัน ดังนั้น ร่างกายจึงเผาผลาญไขมันแทนที่จะสะสมไขมัน

ในการทดลองประสิทธิภาพของสารต้านอนุมูลอิสระในชาขาวและชาเขียวต่อการยับยั้งเอมไซม์ pancreatic lipase[18] ซึ่งเอมไซม์ชนิดนี้มีหน้าที่ในการย่อยกรดไขมันให้มีขนาดเล็กและสามารถดูดซึมเข้าสู่ลำไส้เล็กได้ ชาขาวแสดงประสิทธิภาพในการยับยั้งการทำงานของเอมไซม์ pancreatic lipase สูงกว่าชาเขียว พิจารณาได้จากปฏิกิริยาการต้านสารอนุมูลอิสระจากค่า EC50 (Median Effective Concentration) พบว่า ค่า EC50 ของชาขาวมีค่าอยู่ที่ 22 µg GAE/ml ซึ่งน้อยกว่าค่า EC50 ของชาเขียวที่ 35 µg GAE/ml แสดงถึง ประสิทธิภาพของชาขาวในการต่อต้านอนุมูลอิสระที่มีสูงกว่าชาเขียวในการการยับยั้งการทำงานของเอมไซม์ pancreatic lipase ซึ่งเป็นหนึ่งในกลไกที่มีผลต่อโรคอ้วน นอกจากนี้สารต้านอนุมูลอิสระยังมีการเหนี่ยวนำการเกิดกระบวนการทำลายเซลล์ (apoptosis), การลดลงของกระบวนการสะสมไขมันและกระตุ้นกระบวนการทำลายไขมันในเซลล์ในสัตว์ทดลอง มีการศึกษาผลการออกฤทธิ์ของสารสกัดชาขาวต่อเซลล์ไขมัน (pre-adipocytes and adipocytes) [19] ในกระบวนการสร้างเซลล์ไขมัน (adipogenesis) และกระบวนการสลายไขมันในเซลล์ (lipolysis) พบว่า สารสกัดจากชาขาวมีประสิทธิภาพในการลดปริมาณการสร้างเซลล์ไขมัน และสามารถทำลายไขมันในเซลล์ไขมันได้ โดยที่สารสกัดชาขาวสามารถเหนี่ยวนำให้เกิดการเกิดการแสดงออกที่ลดลงของยีนส์ SIR1 ซึ่งเกี่ยวข้องกับเจริญเติบโตของเซลล์ไขมัน และมีผลต่อขั้นตอนการรวมตัวของไตรกลีเซอไรด์ในกระบวนการสร้างเซลล์ไขมันระหว่างกระบวนการเปลี่ยนแปลงเซลล์ จาก pre-adipocytes ไปสู่ adipocytes ซึ่งทำให้มีผลต่อจำนวนเซลล์ไขมันที่มีความสามารถในการเจริญเติบโตได้และในขณะเดียวกันก็มีกระตุ้นกระบวนการสลายไขมันซึ่งเก็บสะสมไว้ในเซลล์โดยเพิ่มกระบวนการเปลี่ยนแปลงไตรกลีเซอไรด์ไปเป็น กรดไขมันและกลีเซอรอล[19] การดื่มชาขาวเป็นประจำจึงอาจเป็นวิธีทางธรรมชาติซึ่งสามารถลดโอกาสที่จะเป็นสาเหตุของโรคอ้วนซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงให้เกิดโรคหลอดเลือดและหัวใจได้อีกด้วย

คุณสมบัติเพิ่มภูมิคุ้มกัน

ตูมชาขาวมีสารโพลีฟีนอลอยู่มากที่เป็นสิ่งทรงพลัง ช่วยพัฒนากระบวนการล้างสารพิษและสิ่งสกปรกออกจากร่างกาย จึงช่วยป้องกันเซลล์ของร่างกายจาก การเสื่อมสภาพและถูกทำลายก่อนวัยอันควร ซึ่งเป็นขั้นตอนหนึ่งในระบบภูมิคุ้มกันทางธรรมชาติและปรับสภาพอนุมูลอิสระให้เป็นกลางจากข้อมูลในวารสารวิทยาภูมิคุ้มกันทางการแพทย์และโรคภูมิแพ้ ฉบับประจำเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2546 ระบุว่าสารคาเทชินในชาขาว โดยเฉพาะ EGCG มีสรรพคุณป้องการติดเชื้อเอชไอวีผลจากการทดลองแสดงให้เห็นว่า ชาขาวเข้มข้นช่วยป้องกันไม่ให้เชื้อไวรัสเอชไอทีจับตัวกับเซลล์เม็ดเลือดขาว ชนิดที่มีความสำคัญต่อภูมิคุ้มกันในร่างกายที่เรียกว่า “ ทีเซลล์ ” (T Cells) ซึ่งเป็นด่านแรกที่ทำให้มีโอกาสติดเชื้อเอชไอวีได้[20]

คุณสมบัติชะลอความแก่

ชาขาวมีคุณสมบัติในการต้านอนุมูลอิสระสูงมากและยังสามารถช่วยชะลอความแก่ เซลล์ผิวหนังจะถูกทำลายโดยอนุมูลอิสระภายใต้ภาวะกดดันในการเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชั่น (Oxidative stress) ทำให้เกิดริ้วรอยและจุดด่างดำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายใต้มลภาวะและแสงแดดแดด[3] จากการศึกษาวิจัยของมหาวิทยาลัยคิงสตัน (Kingston University) ประเทศอังกฤษ ในการใช้สารสกัดจากชาขาวต่อการปกป้องโครงสร้างโปรตีนอีลาสตินและคอลลาเจนในชั้นผิวหนัง พบว่าสารที่สกัดจากชาขาวสามารถปกป้องการทำงานของเอนไซม์ที่ทำลายอีลาสตินและคอลลาเจน ซึ่งจะทำให้เกิดริ้วรอยและรอยเหี่ยวย่นทำให้เกิดผลดีต่อโครงสร้างของผิวหนัง คือ เสริมสร้างความแข็งแรงของเซลล์ผิวหนัง ช่วยในด้านความยืดหยุ่นของผิวหนังให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น รวมทั้งส่งผลต่อการทำงานของปอด เส้นเลือด เส้นเอ็นต่าง ๆ และผิวหนังทำงานได้ดีด้วย[13]

ใกล้เคียง

แหล่งที่มา

WikiPedia: ชาขาว http://www.cosmetochem.ch/upload/docs/publications... http://www.biomedcentral.com/1472-6882/9/27 http://findarticles.com/p/articles/mi_m3289/is_9_1... http://issuu.com/crcpress-taylor-and-francis/docs/... http://www.nutritionandmetabolism.com/content/6/1/... http://www.sciencedaily.com http://www.sciencedaily.com/releases/2003/11/03111... http://www.sciencedirect.com/science?_ob=ArticleUR... http://www.springerlink.com/content/pr77v52vk72858... http://www.springerlink.com/content/x3g67g65184q21...