ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ ของ ชานจา

ชานจาแตกต่างจากไม้ผลอื่นในสกุลฮอว์ธอร์น คือมีหนามสั้น จำนวนไม่มาก กระจัดกระจาย หนามชี้ขึ้นด้านบนและตั้งตรงมากกว่า แต่ดอกและผลมีสีแดงเหมือนที่พบได้ทั่วไปในสกุลฮอว์ธอร์น[8]

ลักษณะ

เป็นไม้ผลขนาดเล็ก[9] สูงได้ถึง 6 เมตร มีหนาม 1–2 เซนติเมตร บางครั้งไม่มีหนาม กิ่งและก้านมีสีน้ำตาลอมม่วงเมื่ออายุน้อย สีน้ำตาลอมเทาเมื่อแก่ ก้านกลม[10] แตกแขนงมาก

ใบรูปไข่กว้าง หรือรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน ยาว 5–10 เซนติเมตร กว้าง 4–7.5 เซนติเมตร สีเขียวเข้ม แฉกหยักลึก ปลายแหลม ขอบใบเรียบเมื่ออ่อน ขอบหยักหรือกึ่งเรียบเมื่อต้นมีอายุมาก แฉกใบ 3–5 คู่[10]

ตาดอกสีม่วงแดง รูปไข่รูปสามเหลี่ยม เกลี้ยงเกลา ประมาณ 8 มิลลิเมตร[10]

ดอกสีขาว เป็นช่อกระจุก ก้านดอกยาว 2–6 เซนติเมตร เรียงรอบแกนก้าน ดอกขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 1.5 เซนติเมตร มีขนสีขาวอมเทาบนฐานดอก กลีบดอกรูปไข่กลับถึงรูปใบหอก 4-5 มิลลิเมตร เกสรตัวผู้ 20 เส้น รังไข่ 5 แฉก[10] ดอกมีกลิ่นไม่พึงประสงค์ คล้ายกับปลาเน่าซึ่งดึงดูดแมลงวันขนาดเล็ก ซึ่งเป็นแมลงผสมเกสรหลักในการปฏิสนธิเกสร แม้ว่าดอกเมื่อบานใหม่ ๆ อาจจะออกกลิ่นหอมมากกว่า[8] ออกดอกเดือนพฤษภาคม–มิถุนายน[10]

ผลสีแดงสด ทรงกลมหรือกลมแป้น ผิวเกลี้ยง มีจุดเหลืองหรือน้ำตาลซีดกระจายทั่วผิวผล เส้นผ่านศูนย์กลาง 1–2.5 เซนติเมตร[10] กินได้ มีรสเปรี้ยวจัด สัมผ้สค่อนข้างสาก และเป็นที่ดึงดูดของสัตว์กินพืช เช่น นก[8] ออกผลเดือนส.ค.–ก.ย.[10] ในแต่ละผลมี 3-5 เมล็ด[11]

การขยายพันธุ์

ชานจาปลูกง่าย ชอบดินร่วนปนชื้นที่มีการระบายน้ำดี เมื่อตั้งตัวได้แล้วหรือปลูกต้นที่อายุหลายปีสามารถทนต่อดินที่มีความชื้นส่วนเกินได้ (ดินเปียก ดินเหนียว ดินน้ำท่วม) และยังทนต่อความแห้งแล้ง ชอบแดดจัด แต่สามารถปลูกในที่ร่มบางส่วนได้ ซึ่งปริมาณแสงแดดที่ได้รับเป็นปัจจัยสำคัญของปริมาณผลที่ผลิดได้[8]

ต้นที่ปลูกจากเมล็ดอาจใช้เวลา 5 ถึง 8 ปีจึงจะเริ่มออกผล ต้นที่ปลูกจากการทาบกิ่งมักจะออกดอกเต็มที่ในปีที่ 3[8]

  • เปลือกต้น
  • ทรงพุ่ม (ในสวน)
  • ใบ
  • ดอก
  • ดอกระยะใกล้
  • ผลแก่
  • ผลสุกสีแดงสด

พันธุ์ปลูก

  • Crataegus pinnatifida var. major N. E. Brown[10][12] เรียก ชานจาใหญ่ (山里红,红果; ชานหลี่หง, หงกั่ว) เป็นพันธุ์ปลูกขนาดใหญ่สูง 8 เมตร เปลือกต้นสีน้ำตาลเข้ม ใบใหญ่ ยาว 6-12 เซนติเมตร กว้าง 5-8 เซนติเมตร แฉกใบ 2–4 คู่ ผลใหญ่ ทรงกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง 2.5 เซนติเมตร สีแดงเข้ม มีจุดสีเหลือง-ขาวขนาดเล็กจำนวนมาก 5 เมล็ด ออกดอกเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายน ระยะติดผลเดือนสิงหาคมถึงตุลาคม มักใช้เป็นวัตถุดิบทางการแพทย์แผนจีน[13]
  • Crataegus pinnatifida var. psilosa C. K. Schneider[10][12]

ชนิดใกล้เคียง

ชานจาป่า หรือ ชานจาญี่ปุ่น (ชื่อวิทยาศาสตร์: Crataegus cuneata; 野山楂[14]) มีลักษณะคล้ายกัน (ผลเล็กกว่าชานจา (Crataegus pinnatifida)) ผลขนาด 1–1.2 เซนติเมตร[15] มีสีแดงถึงเหลือง[14] จุดบนผลมีขนาดเล็กมาก ประปราย และผิวเรียบกว่า นำไปเป็นอาหารและสรรพคุณทางยาแทนกันได้[16]

แหล่งที่มา

WikiPedia: ชานจา http://www.plantsoftheworldonline.org/taxon/urn:ls... https://plants.ces.ncsu.edu/plants/crataegus-pinna... http://oknation.nationtv.tv/blog/print.php?id=9076... http://www.efloras.org/florataxon.aspx?flora_id=2&... https://libproject.hkbu.edu.hk/was40/detail?lang=c... https://web.archive.org/web/20170525105020/http://... http://www.forest.go.kr/kna/special/download/Engli... http://www.pfaf.org/user/Plant.aspx?LatinName=Crat... http://www.theplantlist.org/tpl1.1/record/rjp-1703 https://libproject.hkbu.edu.hk/was40/detail?lang=c...