ภัยคุกคาม ของ ช้าง

การล่า

ภัยคุกคามต่อช้างแอฟริกาปรากฏในรูปการค้างาอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของชนิด สัตว์ที่ใหญ่กว่า มีชีวิตยืนยาวกว่า และเติบโตได้ช้ากว่าอย่างช้าง จะถูกล่าเกินขนาดมากกว่าสัตว์อื่น พวกมันไม่สามารถซ่อนตัว และต้องใช้เวลาหลายปีให้ช้างเติบโตและสืบสายพันธุ์ต่อไป ช้างต้องกินพืชเฉลี่ยวันละกว่า 140 กิโลกรัมเพื่อมีชีวิตรอด และเมื่อสัตว์นักล่าขนาดใหญ่ถูกล่าไป ทำให้ประชากรสัตว์กินพืชขนาดเล็กในท้องถิ่นเพิ่มจำนวนขึ้น (อันเป็นคู่แข่งแย่งอาหารของช้าง) จำนวนที่เพิ่มขึ้นนี้ทำให้ต้นไม้ พุ่มไม้และหญ้าถูกทำลาย ช้างเองมีนักล่าตามธรรมชาติน้อย มีเพียงมนุษย์และสิงโตในบางโอกาสเท่านั้น อย่างไรก็ตาม รัฐบาลแอฟริกาหลายประเทศอนุญาตให้การล่าช้างโดยจำกัดถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งต้องเสียเงินเป็นจำนวนมากเป็นค่าอนุญาตซักมักใช้เพื่อสนับสนุนความพยายามอนุรักษ์ และมีการอนุญาตเพียงน้อยครั้งเท่านั้น (ปกติแล้วให้สำหรับสัตว์ที่มีอายุมากกว่า) เพื่อทำให้แน่ใจว่าประชากรสัตว์จะไม่หมดไป[62]

เมื่อถึงคริสต์ศตวรรษที่ 20 มีการประเมินว่าช้างมีจำนวนระหว่าง 5 ถึง 10 ล้านตัว แต่การล่าและการทำลายถิ่นที่อยู่ลดจำนวนช้างลงเหลือเพียง 400,000 ถึง 500,000 ตัว เมื่อถึงปลายศตวรรษ[63] ในช่วงสิบปีก่อน ค.ศ. 1990 ประชากรช้างลดลงมากกว่าครึ่งจาก 1.3 ล้านตัว เหลือราว 600,000 ตัว ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการค้างาช้าง ทำให้เกิดการห้ามค้างาช้างระหว่างประเทศ[64][65] ขณะที่ประชากรช้างกำลังเพิ่มขึ้นในบางส่วนของแอฟริกาใต้และแอฟริกาตะวันออก[66] ชาติแอฟริกาอื่น ๆ กลับมีรายงานว่าประชากรช้างในประเทศลดลงมากที่สุดถึงสองในสาม และประชากรในพื้นที่คุ้มครองบางแห่งอยู่ในอันตรายว่าจะถูกล่าหมดไป[67] ประเทศชาดมีประวัติศาสตร์การบุกรุกป่าเพื่อล่าช้างนานหลายทศวรรษ ซึ่งทำให้ประชากรช้างในภูมิภาค ซึ่งเคยมีมากกว่า 300,000 ตัว ในปี ค.ศ. 1970 ลดลงเหลือเพียงอย่างน้อย 10,000 ตัวในปัจจุบัน[68] ในอุทยานแห่งชาติวิรุนดา ทางตะวันออกของสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ประชากรช้างที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ซึ่งเข้าชมได้ลดลงจาก 2,889 ตัว ในปี ค.ศ. 1951 เหลือ 348 ตัว ในปี ค.ศ. 2006[69]

มีความเป็นไปได้ว่าการล่าเอาเฉพาะช้างที่มีงาอาจทำให้งาในช้างแอฟริกาหายไปอย่างถาวร แม้ไม่น่าจะเป็นไปได้ก็ตาม ผลกระทบของช้างที่ไม่มีงาต่อสิ่งแวดล้อม และต่อตัวช้างเองนั้น อาจใหญ่หลวงได้ ช้างใช้งาเพื่อขุดเอาแร่ธาตุที่จำเป็นในดิน ฉีกเนื้อพืชออกจากกัน และใช้ในการต่อสู้เพื่อแย่งคู่ หากปราศจากงา พฤติกรรมของช้างอาจเปลี่ยนไปมาก[70]

การสูญเสียถิ่นที่อยู่

อีกภัยคุกคามหนึ่งต่อการมีชีวิตรอดของช้างโดยรวมคือการทำกสิกรรมในถิ่นที่อยู่ของช้างอย่างต่อเนื่องโดยมีความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้นในการขัดต่อผลประโยชน์ต่อมนุษย์ผู้อยู่อาศัยในละแวกเดียวกัน ความขัดแย้งนี้ทำให้มีช้างถูกฆ่าไป 150 ตัว และมีคนเสียชีวิตไปถึง 100 คนต่อปีในศรีลังกา[71] การลดจำนวนของช้างเอเชียส่วนใหญ่เป็นไปด้วยเหตุผลที่ว่าสูญเสียถิ่นที่อยู่

เมื่อป่าผืนใหญ่หายไปมากขึ้นทุกที ระบบนิเวศจึงได้รับผลกระทบอย่างลึกซึ้ง ต้นไม้มีส่วนสำคัญในการยึดหน้าดินและดูดซับน้ำไหลบ่า อุทกภัยและการพังทลายของหน้าดินขนาดใหญ่เป็นผลกระทบโดยทั่วไปของการตัดไม้ทำลายป่า ช้างต้องการที่ดินผืนใหญ่ เนื่องจากพวกมันคุ้นชินกับการโค่นต้นไม้และไม้พุ่มเพื่อหาอาหาร เหมือนกับชาวไร่เลื่อนลอย แต่ช้างจะค่อยกลับมาในภายหลัง เมื่อพื้นที่ดังกล่าวมีต้นไม้เติบโตขึ้นดังเดิมแล้ว และเมื่อป่าไม้ลดขนาดลง ช้างจึงกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา ซึ่งจะทำลายพืชผลการเกษตรทั้งหมดในพื้นที่ และทำลายทรัพยากรทั้งหมดที่มีอยู่

อุทยานแห่งชาติ

เขตสงวนอย่างเป็นทางการแห่งแรกของแอฟริกา อุทยานแห่งชาติครูเกอร์ กลายมาเป็นหนึ่งในอุทยานแห่งชาติที่มีชื่อเสียงที่สุดและประสบความสำเร็จที่สุดแห่งหนึ่งของโลกในเวลาต่อมา[72] อย่างไรก็ตาม มีหลายปัญหาที่เชื่อมโยงกับการจัดตั้งเขตสงวนเหล่านี้ ยกตัวอย่างเช่น ถิ่นที่อยู่อาศัยของช้างกินอาณาบริเวณกว้างโดยไม่คำนึงถึงพรมแดนระหว่างประเทศ เมื่อมีการจัดตั้งอุทยานแห่งชาติและล้อมรั้ว สัตว์หลายชนิดจึงพบว่าตนถูกตัดขาดจากแหล่งอาหารในฤดูหนาวหรือพื้นที่ผสมพันธุ์ในฤดูใบไม้ผลิ สัตว์บางตัวถึงกับตายไปเลย ขณะที่สัตว์อื่น เช่นช้าง อาจเหยียบข้ามรั้วไปเลย ทำให้เกิดความตื่นตระหนกในไร่นาในละแวกนั้น เมื่อถูกจำกัดอยู่ในอาณาเขตเล็ก ๆ ช้างสามารถก่อความเสียหายใหญ่หลวงต่อภูมิประเทศแถบนั้นได้[73]

ยิ่งไปกว่านั้น เขตสงวนบางแห่ง อย่างเช่นอุทยานแห่งชาติครูเกอร์ ในความเห็นของผู้จัดการสัตว์ป่า กำลังประสบปัญหาจากประชากรช้างแออัดเกินไป ขณะที่สัตว์ป่าชนิดอื่นภายในเขตสงวนมีจำนวนลดลง เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2008 ประเทศแอฟริกาใต้ประกาศว่าจะรื้อฟื้นการยิงลดจำนวนช้าง (culling) อีกเป็นครั้งแรกนับแต่ปี ค.ศ. 1994 เพื่อควบคุมจำนวนช้าง ถึงแม้ว่าจะยังไม่มีการยิงลดจำนวนเกิดขึ้นจนถึงปัจจุบันก็ตาม[74] แต่เมื่อทางนักวิทยาศาสตร์ศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ก็ได้ประจักษ์แล้วว่าอุทยานอาจเป็นความหวังสุดท้ายต่อโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วรอบ ๆ พวกมัน

ปุ๋ย

ในจังหวัดเบงกูลูของอินโดนีเซีย มีช้างสี่ตัวตาย และจากผลการตรวจซากพบว่าหนึ่งในช้างเหล่านี้มีปริมาณไนโตรเจนในร่างกายสูง ข้อสันนิษฐานเบื้องต้นคือช้างได้กินเอาปุ๋ยที่ถูกใส่ต้นไม้ในไร่นา ช้างอาจได้รับเกลือในปุ๋ยเข้าไปและนำไปสู่การตายได้[75]

แหล่งที่มา

WikiPedia: ช้าง http://www.smh.com.au/articles/2006/02/16/11400642... http://www.upali.ch/basler_en.html http://www.upali.ch/ivory_en.html http://www.upali.ch/skin_en.html http://www.antaranews.com/en/news/71260/police-inv... http://www.circuses.com/pdfs/ringlingfactsheet.pdf http://www.eleaid.com/index.php?page=elephanttrunk... http://elephant.elehost.com/About_Elephants/Anatom... http://elephant.elehost.com/About_Elephants/Impact... http://www.elephant-facts.com/elephant-ears-skin-a...